Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
9 เทคนิคพูดคุย ทำอย่างไร เมื่อเลือกคณะขัดใจพ่อแม่

  Favorite

          คงเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าเราไม่ได้เรียนคณะที่หวัง โดนเหยียบเบรกจากครอบครัวให้เรียนคณะอื่น เพราะไม่ถูกใจคณะที่เราเลือก !! การพูดคุยกับพ่อแม่เพื่อทำความเข้าใจจึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะไม่อย่างนั้นน้อง ๆ คงเรียนอย่างไม่มีความสุขแน่ ๆ กับคณะที่ไม่ใช่สำหรับตัวของน้อง ๆ เอง แล้วเราจะวิธีพูดคุยกับพ่อแม่ยังไงแบบไม่กดดันทั้งสองฝ่าย วันนี้พี่มีเทคนิคดี ๆ มีประโยชน์มาฝากกันเพียบเลยล่ะ 9 เทคนิคพูดคุย ทำอย่างไร เมื่อเลือกคณะขัดใจพ่อแม่ ว่าแต่มีอะไรบ้างตามมาดูพร้อม ๆ กันเลยครับ

 

สาเหตุที่พ่อแม่ไม่ถูกใจคณะที่เราเลือก

ก่อนที่เราจะไปพบเทคนิคที่นำมาฝากกัน พี่ขอพาน้อง ๆ มาว่ากันก่อนถึงสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ของน้อง ๆ หลายคนไม่ถูกใจคณะที่น้องๆ เลือก ตลอดจนบังคับให้เรียนคณะที่ท่านต้องการ พี่เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกของตัวเองได้รับสิ่งที่ดี มีหน้าที่การงานมั่นคงด้วยกันทั้งนั้น จึงอยากให้เรียนคณะที่จบแล้วไม่มีความเสี่ยงในการทำงาน หรือบางครอบครัวอยากให้เรียนคณะที่ตรงกับอาชีพของครอบครัว เช่น บ้านที่ทำธุรกิจก็อยากให้ลูกเรียนบริหารหรือเกี่ยวกับธุรกิจโดยตรงเพื่อสานต่องานของตระกูล ทั้ง ๆ ที่ในใจของน้อง ๆ อาจอยากเรียนสถาปัตย์ฯหรืออักษรศาสตร์จะแย่ (แอบเซ็งใช่ไหมล่ะแต่ไม่ กล้าบอก) เอาล่ะ !! น้อง ๆ อาจเรียนจบคณะตามที่พ่อแม่ต้องการได้สำเร็จ ทำงานได้เงินเดือนเยอะแต่มันมีความหมายแค่ไหนล่ะถ้าน้อง ๆ ไม่มีความสุขตั้งแต่ตอนเรียนจนถึงวัยงานเลย วัน ๆ ก็คิดแต่อยากจะเปลี่ยนงานใหม่ ในมุมกลับกันถ้าเป็นงานที่เราชอบหรือถนัดเราคงหมกมุ่นได้ทั้งวันโดยไม่มีเบื่อว่าไหมล่ะครับ

          ดังนั้น ถ้าน้อง ๆ ไม่อยากทำสิ่งที่ไม่ได้รัก วันนี้ยังไม่สายที่จะเริ่มจากถามตัวเองว่าชอบอะไร อยากเรียนคณะอะไร ให้คำตอบกับตัวเองให้ได้แล้วบอกพ่อแม่ให้ท่านรู้ด้วยจะดีมากเลยครับ บางทีเราอาจได้คำชี้แนะหรือกำลังใจเสริมความเชื่อมั่นมากขึ้นก็ได้ใครจะรู้ล่ะ ส่วนน้อง ๆ คนไหนที่เลือกคณะแล้วไม่ถูกใจพ่อแม่หรือกำลังโดนบังคับให้เรียนคณะที่ไม่ใช่สำหรับตัวเองก็อย่าเพิ่งหมดหวังนะครับ ลองเอาเทคนิคที่พี่นำมาฝากในหัวข้อต่อไปปรับใช้ดูสิ ไม่แน่นะพ่อแม่ของน้อง ๆ อาจใจอ่อน เพราะเห็นความตั้งใจจริงของน้อง ๆ ก็ได้

 

เทคนิคง่าย ๆ ใช้พูดคุยกับพ่อแม่แบบไม่ให้กดดัน

1. ใช้เหตุและผลในการพูดคุย

การที่พ่อแม่ไม่ถูกใจคณะที่น้อง ๆ เลือกพี่คิดว่าท่านน่าจะมีเหตุผลบางอย่าง และพี่ก็เชื่อเช่นเดียวกันครับว่าคณะที่น้อง ๆ เลือกน้อง ๆ ก็มีเหตุผลด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลด้วยกันทั้งสิ้น การพูดคุยกับพ่อแม่ในเรื่องดังกล่าวน้อง ๆ ต้องใช้เหตุผลประกอบที่น่าเชื่อถือ เป็นไปได้ พยายามแสดงให้เห็นวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดและมีเหตุผล พร้อมที่จะออกไปใช้ชีวิตในรั้วมหา’ลัย โดยที่ท่านไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะไปรอดหรือเปล่าในสิ่งที่น้อง ๆ เลือกเรียนยังไงล่ะ

2. บอกเป้าหมายให้พ่อแม่รู้

“เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” การบอกเป้าหมายในอนาคตของตัวเองให้ทางบ้านได้รู้ตั้งแต่เนิ่น ๆ พี่ว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยเลยครับ เพราะเป็นการแสดงจุดยืนของน้อง ๆ เองว่าจะเดินต่อไปในทิศทางใด เมื่อพ่อแม่รู้ก็อาจจะเห็นใจน้อง ๆ ที่ชอบ-รัก และแน่วแน่ในสิ่งที่น้อง ๆ เลือก ฉะนั้นตอนที่น้อง ๆ คุยกับท่านเรื่องนี้ก็ลองบอกเป้าหมายของตัวเองให้ท่านได้รู้ด้วยนะครับ อย่างน้อยท่านก็ได้รู้ตัวตนและความสนใจของเราที่ท่านอาจไม่เคยรู้มาก่อนยังไงล่ะ

3. แสดงออกในสิ่งที่อยากเรียน ให้พ่อแม่เกิดความเชื่อมั่นและยอมรับ

ถ้าการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวไม่ทำให้พ่อแม่เห็นความตั้งใจในสิ่งที่น้อง ๆ อยากเรียนได้สำเร็จ ทำไมไม่ลองออกไปทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งที่อยากเรียนบ้างล่ะ เช่น น้อง ๆ อยากเรียนอักษรศาสตร์ อยากเป็นนักเขียน อยากเป็นบรรณาธิการ ก็ลองเขียนงานส่งไปประกวด ส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ หากผลงานของน้องได้รางวัลได้รับการตีพิมพ์พี่เชื่อว่าพ่อแม่จะเห็นความสามารถและให้การสนับสนุนมากขึ้นเลยล่ะ และน้อง ๆ ก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาอวดท่านได้ “เห็นไหมล่ะครับแม่ว่าลูกแม่เก่งขนาดไหน เห็นไหมล่ะครับพ่อว่าลูกพ่อก็ทำได้” พี่เชื่อว่าท่านคงดีใจมากแน่ ๆ แม้จะไม่แสดงออกให้เรารู้ และการพูดคุยกับท่านครั้งต่อ ๆ ไปจะง่ายขึ้นอีกด้วย พี่เชื่ออย่างนั้นนะครับ

4. ยกตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จ

เทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่น้อง ๆ น่าจะทำได้ คือการพูดยกตัวอย่างบุคคลที่ประสบความสำเร็จซึ่งจบคณะเดียวกับที่น้อง ๆ หวังไว้ เป็นการให้น้ำหนัก ความน่าเชื่อถือว่าคนที่เรียนคณะนี้ก็เจ๋งเหมือนกันนะ มีความสามารถไม่แพ้ใคร ถ้าคนที่ประสบความสำเร็จคนนั้นเป็นคนมีชื่อเสียงด้วยแล้วละก็พี่ว่า น้อง ๆ อาจมีความหวังขึ้นมาเลยล่ะ

5. ยกข้อดีของคณะที่เลือก

เหตุผลที่พ่อแม่ไม่ถูกใจคณะที่น้อง ๆ เลือกอาจมีสาเหตุหนึ่งจากการที่ท่านไม่มีข้อมูลว่าคณะเหล่านั้นเรียนอะไรบ้าง วิธีการเรียนการสอนเป็นยังไง ดีแค่ไหน หรือโอกาสการทำงานในอนาคตมั่นคงมีมากน้อยเพียงใด ดังนั้นน้อง ๆ ต้องยกข้อดีของคณะที่เลือกให้ท่านได้รู้มากที่สุด เพื่อให้เห็นศักยภาพและบทบาทของคณะที่น้อง ๆ สนใจยังไงล่ะครับ

6. ระงับอารมณ์ตัวเองให้ได้ระหว่างพูดคุย

สิ่งหนึ่งที่วัยรุ่นอย่างเราควรใจใส่คือการใช้คำพูดคำจาหรือระงับอารมณ์ของตัวเองเมื่อคุยกับผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ใหญ่ แม้จะเป็นคนในครอบครัวของเราเองก็ตาม พี่เชื่อว่าหากน้อง ๆ พูดคุยกับพ่อแม่ในเรื่องดังกล่าวต้องมีการโต้เถียงกันตอบโต้กันอย่างแน่นอน ฉะนั้นน้อง ๆ ต้องระวังคำพูด วางตัวให้เหมาะนะครับ อย่าเสียมารยาทหรือเอะอะโวยวายขึ้นมาเด็ดขาด เพราะพี่เชื่อว่าบทสรุปของการพูดคุยครั้งนั้นล้มเหลวแน่นอน แต่หากน้อง ๆ รับฟังอย่างตั้งใจ สิ่งไหนเห็นด้วยก็ตอบรับ สิ่งไหนไม่เห็นด้วยก็แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม อ้อ !! รอยยิ้มเป็นสิ่งหนึ่งที่อย่าลืมเด็ดขาด พี่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คงทำให้พ่อแม่เห็นคุณค่าในตัวเรามากกว่าการเอะอะโวยวายแน่นอน เพราะหากทำเช่นนั้นแสดงให้เห็นว่าน้อง ๆ ยังไม่พร้อมที่จะใช้ชีวิตในสังคมภายนอกหรือเส้นทางที่ตัวเองเลือกได้ด้วยตัวเอง

7. ให้คำมั่นสัญญา

พี่เชื่อว่าการให้คำมั่นสัญญากับพ่อแม่ว่าจะตั้งใจเรียนและมุ่งมั่นในเส้นทางที่น้อง ๆ เป็นผู้เลือกเองน่าจะทำให้ท่านเชื่อมั่นในตัวของน้อง ๆ มากขึ้นไม่มากก็น้อย เพราะถ้าน้อง ๆ ผิดสัญญาก็ต้องรับผิดชอบต่อพูดของตัวเอง ฉะนั้นเมื่อพูดออกไปแล้วได้รับโอกาสนั้นก็ควรรักษาไว้ให้ดีเพราะสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่การันตีว่าน้อง ๆ จริงใจในคำพูดที่เอ่ยออกมา อ้อ !! อีกอย่างหนึ่งที่พี่อยากบอก คืออย่ากดดันตัวเองและพ่อแม่มากเกินไปจนกลายเป็นความเครียดและกลายเป็นปัญหาครอบครัว ค่อย ๆ พูดคุยและแก้ปัญหา พี่เชื่อว่าทุกสิ่งจะผ่านไปได้ด้วยดีแน่นอน

8. เลือกสถานที่ / เวลาให้เหมาะสม

การพูดคุยไม่ว่าจะรูปแบบใดหรือกับบุคคลนั้นจะเป็นใครสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้คือเวลาและสถานที่หรืออย่างที่หลายคนใช้ว่า “กาลเทศะ” ถ้าน้อง ๆ เข้าไปพูดคุยขณะที่พ่อแม่ยุ่งเรื่องงาน กำลังเคร่งเครียดหรือกำลังมีแขก อันนี้พี่ไม่แนะนำนะครับ เพราะประสิทธิผลจากการพูดคุยย่อมเกิดขึ้นได้ยาก เพราะท่านไม่สามารถให้เวลาได้ไม่เต็มที่และดีพอ ดังนั้นน้อง ๆ ต้องเลือกช่วงเวลาที่ท่านไม่ติดภารกิจ พร้อมพูดคุยได้เต็มที่ ส่วนเรื่องของสถานที่ควรมีความเป็นส่วนตัว สบาย ๆ ไม่อึดอัด เหมาะแก่การพูดคุยปรึกษาหารือ

9. ให้ครูอาจารย์ช่วยพูดอีกทางหนึ่ง

ถ้าน้อง ๆ ไม่กล้าพูดกับพ่อแม่โดยตรงก็ลองขอคำปรึกษาครูที่ปรึกษาหรือครูแนะแนวให้ช่วยพูดคุยกับพ่อแม่ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะพี่เชื่อว่าเป็นกลุ่มครูที่สนิทและเข้าใจสิ่งที่น้อง ๆ กำลังเผชิญเป็นอย่างดี ความเป็นครูผู้มีวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่ มีความคิดกว้างไกล พ่อแม่ของน้อง ๆ น่าจะรับฟัง ใจอ่อนที่จะเข้าใจในคณะที่น้อง ๆ เลือกเรียน และให้อิสระทางความคิดกับน้อง ๆ มากขึ้น

 

          เทคนิคเหล่านี้ที่มาแนะนำเป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งพี่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ ทุกคนเพื่อใช้เป็นแนวทางพูดคุยปรับความเข้าใจกับพ่อแม่กรณีที่ท่านไม่ถูกใจคณะที่น้อง ๆ เลือกสำหรับการเรียนต่อมหา’ลัย รวมถึงสร้างความมั่นใจสำหรับน้อง ๆ เอง และพี่ก็ยังเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีประโยชน์ต่อพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องเข้าใจตัวตนลูกของตัวเองเช่นเดียวกัน พี่ขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนผ่านอุปสรรคไปได้ด้วยดี และครอบครัวเข้าใจสิ่งที่น้อง ๆ อยากที่จะเรียนนะครับ

 

เรื่อง : ภานุวัฒน์ มานพ

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us