วัยเรียนอย่ามองข้าม สัญญาณเตือนภัยเมื่อเครียดเกินไป ความเครียด คำสั้น ๆ 2 พยางค์ ที่ส่งผลลบใครหลายอย่างมหาศาล จึงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไร เมื่อเวลาพิมพ์ค้นหาความเครียดในอากู๋ จะเจอแต่คำถามว่าทำยังไงไม่ให้เครียด มีวิธีอะไรช่วยผ่อนคลายความเครียดบ้าง นี่แสดงให้เห็นได้ดีเลยว่าความเครียดเป็นเรื่องที่ไม่ดี ควรหลีกเลี่ยง แต่ความเครียดก็มีข้อดีอยู่บ้าง แต่จะดีอย่างไร และอย่างไหนคืออาการของการเครียดเกินไป ตามไปอ่านกันเลยค่ะ
ถ้าพูดง่าย ๆ เลย ความเครียด คือ หนึ่งอารมณ์ที่มนุษย์ไม่พึงปรารถนาให้เกิดขึ้น เกิดจากเผชิญการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม อากาศ สังคม และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จึงก่อเกิดความเครียดขึ้นมานั้นเอง เมื่อเกิดความเครียด จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลัก ๆ อยู่ 2 ด้าน ได้แก่
ด้านร่างกาย เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือนให้พวกเรารับรู้ และรีบดูแลตัวเองซะก่อนที่ทุกอย่างจะแย่ไปกว่านี้ โดยจะเริ่มเตือนแบบเบา ๆ ก่อน เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นแรงและเร็ว ท้องอืด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้หรือปั่นป่วนในท้อง แต่ถ้าหากยังไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ ร่างกายจะเริ่มเตือนหนักขึ้น บางคนเป็นในกระเพาะอาหารและลำไส้ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน โรคอ้วน
ด้านจิตใจและอารมณ์ นอกจากส่งสัญญาณไปเตือนที่ร่างกายแล้ว ยังแอบส่งสัญญาณเตือนไปที่จิตใจด้วย ช่วงที่เกิดความรู้สึกเครียด มักจะรู้สึกโกรธและหงุดหงิดง่าย มีอะไรมากวนใจนิดหน่อยก็จะอารมณ์เสีย มีความวิตกกังวล รู้สึกซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไร มองโลกในแง่ร้าย ไม่มีสมาธิ รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่า สิ้นหวัง สำหรับบางคนถ้าตกอยู่ในภาวะอารมณ์ดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการ ความผิดปรกติทางด้านจิตใจได้ด้วยนะ
พอได้อ่านมาถึงตรงนี้ คงแปลกใจน่าดูว่าความเครียด คำที่ฟังดูแล้วรู้สึกแย่ จะแอบมีเรื่องราวดี ๆ แฝงอยู่ด้วยเหมือนกัน ถ้าหากมีความเครียดในระดับที่เหมาะสมจะช่วย “กระตุ้น” ให้มีแรงบันดาลใจ ให้มีพลังที่จะทำทุกอย่างรอบ ๆ ตัวให้ดีขึ้น เหมือนกับ ตัวละครน้ำ ในภาพยนตร์เรื่องสิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก เกิดความรู้สึกกลัวและเครียดว่าถ้าไม่ได้เกรดดี ๆ จะไม่ได้ไปอยู่กับพ่อที่ต่างประเทศ จึงตั้งใจอ่านหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นความจำ มีทักษะความคิดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้ดีขึ้น โดยความเครียดในระดับที่เหมาะสม ตามเกณฑ์วัดของกรมสุขภาพจิต จะอยู่ในช่วยระดับที่ 1 ความเครียดในระดับต่ำ และ 2 ความเครียดในระดับปานกลาง คือ มีความเครียด แต่ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เป็นความเครียดที่ช่วยทำให้กระตือรือร้น
1. ขี้เหวี่ยง ขี้วีน
อีกหนึ่งผลกระทบจากความเครียดที่ส่งผลต่อร่างกาย ทำให้ขาดความสามารถในการควบคุมและจัดการกับอารมณ์ของตนได้ จนกระทั่งเผลอแสดงอารมณ์ขี้เหวี่ยง ขี้วีนออกมาโดยไม่รู้ตัว ปกติอารมณ์เหล่านี้ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ควรมั่นสังเกตว่าแสดงอาการเหล่านี้มากกว่าปกติหรือไม่ ถ้าแสดงอารมณ์แบบนี้บ่อย ๆ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างจะแย่เอานะ
2. กินเยอะขึ้น
เมื่อตกอยู่ในวงวนของความเครียด หลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้ตัว และแก้ปัญหาด้วยการกิน คิดว่ากินแล้วหายเครียด กินแล้วมีความสุข ซึ่งดูแล้วเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ค่อยน่ากลัว แต่ความจริงเป็นวิธีการแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมา เช่น โรคอ้วน ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งมากกว่าปกติ กระตุ้นให้หาอะไรกินเพื่อทดแทนพลังงานที่สูญเสียไปจากการเครียดนั้นเอง
3. รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
อ่านมาถึงข้อนี้ อาจจะรู้สึกไม่แปลกเท่าไร เพราะว่าเหนื่อยตลอดเวลาอยู่แล้ว(ฮ่า ๆ ) แต่กรณีนี้พบว่าความเครียดจะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งมากกว่าปกติ ยิ่งฮอร์โมนคอร์ติซอลหลั่งมาก ต่อมหมวกไตก็จะทำงานมากขึ้น ส่งผลให้ต่อมหมวกไตทำงานหนัก และเกิดภาวะความอ่อนล้าขึ้น จึงทำให้รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา ถึงแม้จะหลับสนิทครบ 8 ชั่วโมง
4. นอนไม่หลับ
ตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนส่วนใหญ่ ถ้าทำงานมาหนัก ๆ ใช้พลังงานเยอะ ๆ พอหัวถึงหมอนปุ๊บจะหลับทันที แต่ถ้ายังไม่สามารถนอนหลับได้ภายใน 15 นาที – 1 ชั่วโมง แถมยังคิดนู้นคิดนี่ตลอดเวลา หรือ ขณะหลับก็รู้สึกได้ว่าสมองยังทำงาน คิดอะไรบางอย่างตลอดเวลา นี่คือสัญญาเตือนดี ๆ ให้รู้ว่าต้องรีบจัดการกับความเครียดด่วน!
5. รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข
หากพบว่าตนเองไม่ได้ค่อยยิ้ม ไม่ได้ยินเสียงหัวเราะของตัวเองมาสักระยะหนึ่งแล้ว เตรียมตั้งข้อสงสัยได้เลยว่าสาเหตุอาจจะมาจากเจ้าความเครียดนี่เอง เมื่อเกิดความเครียดขึ้น ความเครียดจะส่งผลต่อจิตใจ ทำให้เกิดความรู้สึกทางลบ ทั้งความรู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า หมดหวัง มองโลกในแง่ร้าย จนทำให้เราไม่มีความสุขนั้นเอง
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
รู้จัก ความเครียด สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560 จาก https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1085
อาการของความเครียด สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560 จาก http://www.chulapedia.chula.ac.th/index.php/อาการของความเครียด
10 Signs You're Under Too Much Stress สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560 จาก http://www.lifehack.org/296095/10-signs-youre-under-too-much-stress
ความเครียด และวิธีแก้ความเครียด สืบค้นเมื่อ 18 ตุลาคม 2560 จาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/47/
เรื่อง : พิชญา เตระจิตร