Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
"ไบร์ท" แพทย์ มช. ยื่น Admissions ติด วิศวะ จุฬา คะแนน TOP อันดับ 7 ของประเทศ !

  Favorite

สวัสดีครับ ผมชื่อ ไบร์ท หรือ เศรษฐบุตร ศรีใจอินทร์ ตอนนี้ศึกษาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชั้นปีที่ 2 นะครับ และช่วง Admissions ที่ผ่านมาได้ตัดสินใจยื่นแอดมิชชั่นเข้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีคะแนน Admissions เป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ ปี 2560 และในวันนี้ผมจะเล่าถึงประสบการณ์และเหตุผลของการตัดสินใจเลือกคณะอีกครั้ง ระหว่างวิศวรรมศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ ในมุมมองของผมเอง รวมถึงจะมาเปิดเผยเทคนิคการเรียน การเตรียมตัวและตารางอ่านหนังสือ เอาล่ะ เพื่อความสนุกในการเล่าประสบการณ์ต่าง ๆ ผมขออนุญาตแทนตัวเองว่า “พี่” เพราะเชื่อว่าคนที่เข้ามาอ่านส่วนใหญ่คงเป็นน้อง ๆ มัธยม ที่กำลังเตรียมตัวสอบกันอยู่ ส่วนใครที่ตอนนี้อยู่ในวัยที่ทำงานแล้ว ก็ถือซะว่ามาย้อนวัยพร้อม ๆ กันนะครับ อิอิ

 

 

ความลังเลใจในอนาคตของตัวเอง

 

ต้องขอบอกก่อนเลยว่า พี่เป็นคนหนึ่งที่ตอนเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 6 พี่ยังคงมีความลังเลในคณะที่เข้าศึกษา คณะแรกที่พี่สนใจคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะว่าพี่เป็นคนที่ชอบคำนวณอย่างมาก และชอบอะไรที่มันดูท้าทายลุย ๆ และมีสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาตลอดเวลา อีกอย่างหนึ่งคือ อยากเรียนรู้และเพิ่มสามารถให้ตัวเอง ได้สร้างสรรค์อะไรสักอย่างขึ้นมา ให้สามารถเกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนขยับขึ้นไปถึงการพัฒนาประเทศ

 

คณะที่สอง คือ คณะแพทยศาสตร์ เนื่องจากว่าบ้านของพี่อยู่แถบชนบทมาก่อน และอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ มีผู้สูงอายุอาศัยในครอบครัวจำนวนมาก ทำให้เกิดความคิดที่ว่า วันหนึ่งอยากจะสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ พี่จึงเลือกเข้าคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระบบโควตาครับ แต่ถึงจะได้ที่เรียนแล้ว แต่ก็ยังแอบคิดถึงคณะวิศวะอยู่นะครับ แต่พี่ติดแบบโควตาไปแล้ว เลยยังไม่มีโอกาสลองสมัครคณะวิศวะครับ และในปีนี้พี่เห็นว่าเรายังมีโอกาสในการลง Admissions คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้อีกครั้งหนึ่ง จึงตัดสินใจยื่นแอดมิชชั่นไป เพราะอยากจะเคลียร์ความค้างคาใจในความลังเลเรื่องอนาคตของตัวเอง แล้วพี่ก็แอดมิชชั่นติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจากการตัดสินใจครั้งใหญ่ครั้งนี้ ทำให้พี่มีความชัดเจนในอนาคตของตัวเองมากขึ้น มีทิศทางในการดำเนินชีวิตของตัวเองเพื่อให้ถึงเป้าหมายได้โดยไม่มีความลังเลเรืองนี้อีกครั้ง เพราะพี่ได้ทลายความค้างคาใจของตัวเองไปแล้ว ว่าเราจะทำได้ไหมนะ

 

 

พอสอบติดคณะวิศวะ พี่ก็มาทบทวนตัวเองว่า เราจะเลือกทางไหนดี แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า พี่มีความฝันว่าสักวันหนึ่งพี่จะสามารถกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของพี่ได้ในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงด้านสาธารณสุข ด้วยเช่นกัน พอพี่รู้ถึงความต้องการของตัวเองชัดขึ้น ก็ทำให้พี่ตัดสินใจชัดเจนว่าจะเรียนอะไรกันแน่ ซึ่งเหตุผลทั้งหมดจึงทำให้พี่ตัดสินใจสละสิทธิจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากกที่เพิ่งแอดมิชชั่นติดใหม่ในปี 60 ไปแล้วนั้นเอง (ใช่ครับน้องเข้าใจไม่ผิด พี่กลับไปเรียนคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เหมือนเดิม ตามฝันที่พี่วางไว้ครับ)

 

สำหรับหลักการในการค้นหาตัวเองให้เจอคณะที่ชอบและสนใจ พี่อยากให้น้องลองนึกภาพตัวเองในอนาคตดูก่อน ว่ามีความต้องการจริง ๆ คืออะไรกันแน่ แล้วคิดต่อไปว่า ถ้าเราต้องการความฝันแบบนี้เราต้องทำอย่างไร ต้องเลือกเรียนคณะอะไร อาจได้ออกมาหลายคณะเลยนะ ต่อไปก็เริ่มเข้าสู่การวางแผนว่า คณะแต่ละคณะมีการเรียนในแบบใดบ้าง ที่สำคัญในอนาคตถ้าเราจบคณะนี้ ลักษณะงานเป็นอย่างไร มีจุดไหนที่เราชอบหรือไม่ชอบ แล้วสุดท้ายเราจะมองออกได้ถึงคณะที่เราต้องการออกมาได้ไม่ยากครับ เชื่อพี่สิครับว่า “เมื่อคุณกำลังวิ่งไปสู่เป้าหมาย เป้าหมายก็กำลังวิ่งเข้าหาคุณเช่นกัน”

 

เรียนในห้องอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

 

ถ้าถามถึงเทคนิคการเรียนหนังสือในห้องเรียนของพี่ นั้นก็คือพยายามตั้งใจเรียนในห้องให้ได้มากที่สุด งงใช่ไหมว่าคืออะไร งั้นมาลองนึกภาพตามพี่นะครับ ถ้าปกติเราเรียน 8 ชั่วโมงต่อวัน เวลาหลังจากเลิกเรียนก็คือ 8 ชม. เช่นกัน หากน้องเอาเวลาระหว่างเรียนไปใช้สำหรับทำกิจกรรมอย่างอื่นเช่น เล่นโทรศัพท์ หรือ เล่นอินเทอร์เน็ต จะทำให้น้องมีเวลาที่ใช้ในการเรียนลดลง อาจจะเหลือแค่ 6 ชม. แล้วอีก 8 ชม. ที่เหลือของน้องคือเวลาพัก นั้นก็หมายความว่า เวลาของน้อง ๆ จะหายไป 2 ชม. ฟรี ๆ ต่อวัน (อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว พอนึกภาพออกใช่ไหมครับ) ถ้ารวมทั้งเดือนก็เท่ากับว่า เวลาของน้องจะหายไปฟรี ๆ เลย 60 ชม. ซึ่งควรจะเป็นเวลาสำหรับรับความรู้เพื่อการเข้าศึกษาต่อในอนาคตของน้อง ๆ เพราะฉะนั้นพยายามจัดสรรเวลาให้ถูกด้วยนะครับ เพราะ “ เวลาทุกคนมีเท่ากัน แต่มันอยู่ที่ว่าคุณใช้เวลาเหล่านั้น เพื่อเข้าใกล้ความฝันของคุณแล้วหรือยัง”

 

ตัวอย่างแผนการอ่านหนังสือ

 

จากแผนการอ่านหนังสือของพี่จะเน้นการจดช็อตโน๊ต ซึ่งช็อตโน้ตก็คือการที่อ่านทำความเข้าใจแล้วเขียนออกมาเป็นใจความสำคัญ ตามความเข้าใจของตัวเอง ที่พี่เน้นการทำแบบนี้ เพราะมันจะผ่านทั้งสายตา จากการทบทวนความคิด ผ่านการทำความเข้าใจกับตัวเอง และถ่ายทอดออกมาเป็นบทสรุป สิ่งนี้จะทำให้เราเข้าใจและจำได้ดีขึ้นนะครับ ซึ่งในบางรายวิชา เช่น วิชาภาษาไทย พี่ก็จดแค่ในเรื่องที่ตอนนี้เรากำลังเข้าใจดีในขณะอ่าน จากตารางนี้ จะเห็นได้ว่าการอ่านหนังสือต่อวันเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ชม. 30 นาที - 2 ชม. 30 นาที แต่ในทุก ๆ วันตอนเย็นพี่จะออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาที ด้วย เพราะมันจะทำให้เราได้ผ่อนคลายและยังได้ใช้เวลาคิดทบทวนกับตัวเองอีกด้วย

 

การเริ่มต้นเพื่อเตรียมตัว Admission แบบง่าย ๆ

ขอบคุณภาพจาก TAO 10 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

สำหรับการเตรียมตัวสอบแอดมิชชั่น อันดับแรก พี่ทำความเข้าใจองค์ประกอบของคะแนน Admissions ก่อนว่า มันประกอบไปด้วยคะแนนสามส่วน คือ O-NET 30% , GPAX 20% , GAT / PAT 50% แต่ในส่วนของ GAT / PAT ของแต่ละคณะจะคิดคะแนนแตกต่างกัน เช่นคณะวิศวกรรม จะใช้ GAT 15% , PAT 2 15% , PAT 3 20% หลังจากนั้นพี่ก็เริ่มเตรียมตัวว่า ช่วงที่ใกล้สอบ GAT / PAT พี่ก็เตรียม GAT / PAT อย่างหนัก โดยเฉพาะ PAT 3 เพราะคิดน้ำหนักคะแนนมากที่สุด เดี๋ยวพี่จะบอกถึงการเตรียมตัวของพี่ตามการสอบแต่ละครั้งนะครับ (ช่วงเตรียมมันก็จะเครียด ๆ หน่อย น้อง ๆ ก็อย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายด้วย เพราะถ้าไปป่วยช่วงใกล้สอบ จะแย่เอาได้นะครับ) ซึ่งแน่นอนว่ามันต้องเครียดแน่ ๆ แต่อย่าลืมนะครับว่า “เครียดได้ ร้องไห้ได้ ล้มได้ แต่ทุกครั้งที่ล้ม อย่าลืมลุกขึ้นมา แล้วสู้ต่อไปจนถึงความฝัน”

 

เทคนิคการสอบ GAT

การเตรียมตัว GAT จะแบ่งเป็น 2 ส่วนนะครับ นั้นคือ GAT เชื่อมโยง และ GAT ภาษาอังกฤษ สำหรับการเตรียมตัวของ GAT เชื่อมโยง พี่เน้นการทำข้อสอบเก่าเยอะ ๆ เลยครับ อาจเริ่มจากโจทย์ในหนังสือแบบฝึกหัดเชื่อมโยงทั่วไป แล้วค่อย ๆ ขยับเป็นข้อสอบ GAT ปีก่อน ๆ ถ้าทำจนคล่องแล้วก็ขยับมาทำข้อสอบเชื่อมโยงของความถนัดแพทย์ จะทำให้น้อง ๆ ได้เจอรูปแบบข้อสอบในหลาย ๆ แบบ และทำออกมาอย่างมีประสิทธิภาพได้ สำหรับในส่วนของ GAT ภาษาอังกฤษ พี่เตรียมตัวจากการฝึกทำข้อสอบ Reading นอกจากจะได้ Part Reading ไปเต็ม ๆ แล้ว มันจะทำให้เห็นทั้ง คำศัพท์ รวมทั้งการวิเคราะห์โจทย์ ทำให้เราได้เห็นการใช้ Grammar ในส่วนของข้อสอบ Reading ซึ่งพี่แนะนำว่าลองฝึกทำข้อสอบ GAT ปีเก่า ๆ หรือจะลองหาหนังสือสำหรับ Reading โดยเฉพาะก็ได้ครับ

 

เทคนิคการเตรียมตัวสอบ PAT

ในการสอบ PAT พี่สอบ PAT 1 , PAT 2 และ PAT 3 ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) และวิชาสำหรับวิศวกรรมศาสตร์ (เน้นฟิสิกส์ เคมีบางเรื่อง และคณิตศาสตร์บางเรื่อง เป็นต้น ) หลัก ๆ ในการเตรียมตัวสอบ PAT ของพี่คือ การนำสรุปที่เคยจดไว้ด้วยความเข้าใจมาอ่าน โดยเน้นทำข้อสอบเก่าควบคู่ไปด้วย เช่น PAT 1 พี่ทำข้อสอบเก่าและ Entrance ปีเก่า ๆ ส่วน PAT 2 พี่ก็ทำข้อสอบเก่าและ Entrance รวมถึง PAT 3 พี่ก็ทำข้อสอบเก่าและข้อสอบพื้นฐานวิศวะ แต่ที่สำคัญเลยสำหรับพี่ ก็คือข้อสอบ PAT นั้นมีอุปสรรคสำคัญรออยู่เลยก็คือ เวลากับสมาธิของเรา เพราะฉะนั้นอย่าลืมจับเวลาแล้วลองทำข้อสอบในเวลาสอบจริง ๆ ดูนะครับ

 

การเตรียมตัวสอบ O-NET

ในการสอบ O-NET น้อง ๆ จะได้สอบทั้ง 7 วิชาหลัก ต้องขอเตือนก่อนว่า น้อง ๆ หลายคนเริ่มรู้สึกอยากพักแล้ว ไม่อยากเตรียมตัวแล้ว (นี่ชีวิตต้องสอบอะไรมากมายขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย) แต่อย่าลืมนะครับว่า คะแนนสอบ O-NET คิดเป็น 30% ของคะแนนทั้งหมด สามารถเป็นตัวแปรสำคัญ ในการตัดสินคณะได้เลยนะครับ เพราะฉะนั้น อดทนอีกนิด เพื่อพิชิตคณะที่ฝันนะครับ ตอนที่พี่เตรียมตัว พี่เตรียมจากการทำข้อสอบ O-NET เก่า จะทำให้เราทราบแนวทางของข้อสอบ ซึ่ง O-NET อาจจะต่างจากข้อสอบที่ผ่าน ๆ มา เมื่อเรารู้แนวทางของข้อสอบแล้วเราก็จะสามารถทบทวนตัวเองในเนื้อหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกจุด

 

เทคนิคการสอบ 9 วิชาสามัญ

การสอบ 9 วิชาสามัญ เป็นการสอบที่น้อง ๆ หลายคนจะเจอวิชาภาษาไทยและสังคมเป็นครั้งแรก เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวมากกว่าการสอบครั้งที่ผ่าน ๆ มาอยู่ไม่น้อย สำหรับเทคนิคการสอบของพี่ หลักการเช่นเดิมเลยครับ พี่เน้นฝึกทำข้อสอบของปีเก่า ๆ หลาย ๆ ปีเลยครับ และมีหนึ่งวิชาสอบในทั้งหมด 9 วิชา ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง นั้นก็คือวิชาฟิสิกส์ ที่คำตอบของข้อต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นตัวแปรทั้งหมด ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจในเนื้อหาของฟิสิกส์ในการตอบ สำหรับคนที่ไม่ชอบคิดตัวเลขให้ปวดหัว คงกำลังยิ้มแห้งเหนื่อยใจอยู่ใช่ไหมล่ะ ฮ่า ๆ (ใจเย็น ๆ นะครับอย่าเพิ่งท้อ) แต่พี่คิดว่ายังมีน้อง ๆ บางคนที่คิดว่าฟิสิกส์ต้องใช้ความเข้าใจในเนื้อหา ซึ่งมันยากเกินไป พี่อยากให้น้อง ๆ ลอง พยายามนำภาพที่เรียนฟิสิกส์ในห้อง มาสร้างความเข้าใจร่วมกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าทำได้แล้วน้องจะสามารถตัดช้อยบางข้อของฟิสิกส์ ใน 9 วิชาสามัญได้อีกด้วยครับ (รับรองว่าวิธีนี้ช่วยให้ทำข้อสอบได้ดีขึ้นจริง ๆ ครับ) พี่ขอเอาใจช่วยน้อง ๆ นะครับ

 

สรุปชีวิตสุดหินของมัธยมปลาย

 

สำหรับชีวิตช่วงม.ปลายของพี่ พี่เป็นเด็กที่ชอบทำกิจกรรมมาก ๆ ทำให้พี่ต้องแบ่งเวลาสำหรับ จัดการเรื่องกิจกรรมและการเรียนของตัวเอง โดยที่เริ่มจากการฝึกจัดลำดับความสำคัญ และต้องมีวินัยในลำดับสำคัญที่วางไว้แล้วด้วย ตัวอย่างการจัดลำดับความสำคัญ เช่น มีกิจกรรมที่เราต้องรับผิดชอบ พยายามจัดลำดับความสำคัญให้ถูกว่า กิจกรรมที่ใกล้จะถึง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เราต้องรับผิดชอบคืออะไร แล้วเราสอบเข้ามหาลัยเมื่อไหร่

 

สมมติว่าอีก 15 วันจะกีฬาสี กับ 45 วันจะต้องสอบ ถามว่าอะไรสำคัญกว่า (ให้น้องลองคิดจัดลำดับความสำคัญไว้ในใจก่อนนะครับ) แน่นอนว่าต้องเป็นสอบเข้ามหาลัยใช่ไหมครับ เราก็วางแผนการอ่านหนังสือของเราไปก่อน แล้วมาดูว่า ช่วง 15 วันแรกเราจะจัดการงานส่วนกีฬาสีที่เรารับผิดชอบยังไงให้ได้ผลลัพธ์ออกมาแล้วแฮปปี้ทุกฝ่าย และในช่วงที่พี่เรียนอยู่ในช่วงม. 6 พี่ได้รับบทบาทในกิจกรรมที่ต้องให้เวลาและใช้ความรับผิดชอบมากกว่าเดิมมาก ๆ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรณ์ต่าง ๆ ภายในจังหวัด ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำยาวถึง 8 เดือน ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากทางจังหวัดเสมอมา จนเกิดความคิดที่ว่าจะสามารถตอบแทนอะไรจังหวัดได้บ้างนะ ซึ่งต้องขอขอบคุณ ทุกองค์กร ทุกกิจกรรม ทุกโอกาสและทุกประสบการณ์ที่ทำให้ผมได้มีแนวคิดในการเรียนและการจัดการ จนสามารถส่งต่อสิ่งเหล่านี้เพื่อคนอื่นได้ ซึ่งผมหวังว่าอาจจะเป็นประโยชน์กับน้อง ๆ ทุกคนได้นะครับ

 

บทสรุปสุดท้าย และข้อคิดถึงทุกคน

 

หลาย ๆ คนมองว่า การเรียนหนังสือมันยาก เรียนยังไงก็ไม่เข้าใจ หนูทำไม่ได้หรอก ผมทำไม่ได้หรอก ไม่แปลกหรอกครับที่เราจะมีความคิดแบบนั้น เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะเกิดความท้อเกิดขึ้นในความคิด เช่น หลาย ๆ คนอยากลดความอ้วน อยากจะเตะฟุตบอลเก่ง ๆ อยากเล่นดนตรีให้เชี่ยวชาญ แต่ติดอยู่ที่ความคิดเดิม ๆ ว่า ยังไงก็เป็นไปไม่ได้หรอก ใครที่กำลังมีความคิดแบบนี้อยู่ พี่อยากบอกน้องที่กำลังตกอยู่กับปัญหาแบบนี้อยู่ว่า อย่าให้คำว่า “เป็นไปไม่ได้ หรือ ยังไงก็ทำไม่ได้” มาเป็นกำแพงหรืออุปสรรค ในการไปถึงเป้าหมายของน้อง พี่อยากให้น้องเปลี่ยนจากคำว่า ยังไงก็ทำไม่ได้ เป็น “เราจะทำยังไงให้ได้”

 

 

หลายคนเริ่มแย้ง ๆ พี่ในใจแล้วใช่ไหมล่ะ ว่าคนอื่นเขามีพรสวรรค์อยู่แล้ว เรียนเก่งอยู่แล้วนิ เตะบอลเก่งอยู่แล้วนิ เล่นดนตรีเก่งอยู่แล้ว ต้นทุนของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน แน่นอนครับ ถ้าเป็นเรื่องต้นทุนทางด้านร่างกายและสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่ามันต้องต่างอยู่แล้ว เช่น บางคนสูงใหญ่ บางคนเตี้ย บางคนมีฐานะ บางคนหน้าตาดี บางคนผอมอยู่แล้วกินยังไงก็ไม่อ้วน (ดูไปแล้วก็เหมือนจริงนะครับที่ทุกคนมีต้นทุกต่างกัน) แต่ถ้ามองต้นทุนที่เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับความสำเร็จ พี่คิดว่าทุกคนมีเท่ากันครับ !! ต้นทุนที่พี่กำลังพูดถึง นั้นก็คือ “ความกล้า” กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าที่จะเริ่มต้นโดยไม่กลัวความล้มเหลว กล้าที่จะเริ่ม กล้าที่จะเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ กล้าที่จะขอความช่วยเหลือโดยไม่ต้องกลัวว่าเพื่อนจะมองว่าเราอ่อนแอ กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นภายใต้สิทธิที่ตัวเองมี กล้าที่จะเปลี่ยนคำว่า “ยังไงก็ทำไม่ได้ เป็น เราสามารถทำมันได้” และเราจะเริ่มทำมันตั้งแต่ตอนนี้ โดยเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ และสานต่อมันจนไปถึงตามความคาดหวังของเรา ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พี่พยายามจะบอกกับน้อง ๆ ทุกคนว่า ถ้าเรามีฝัน เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้ครับ เชื่อพี่สิครับว่า “ความสำเร็จทั้งหมดมาจากความกล้าที่จะเริ่มต้น” และเราต้องเริ่มก้าวแรกตั้งแต่วันนี้ครับ 

 

เรื่อง : เศรษฐบุตร ศรีใจอินทร์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us