สวัสค่ะ เราชื่อปาล์ม สุชัญญา ยิ้มอยู่ วันนี้เรามาในฐานะรุ่นพี่คนหนึ่ง เพื่อบอกเล่าประสบการณ์การเตรียมตัวสอบต่าง ๆ ที่เด็กมัธยมปลายทุกคนต้องพบเจอ เราขอแทนตัวเองว่าพี่แล้วกันนะคะ (เพื่อนความเป็นกันเองสำหรับน้อง ๆ ทุกคน อิอิ) พี่ขอเกริ่นก่อนนะคะ ว่าพี่จบการศึกษาจากโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) และสอบติดในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพี่คิดว่าประสบการณ์ของพี่น่าจะให้อะไรดี ๆ กับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เอาล่ะ เราไปเข้าสู่เรื่องของการเตรียมตัวกันเลย
พี่จะขอพูดรวม ๆ สำหรับการสอบทุกอย่างนะคะ เพราะพี่เชื่อว่าการเตรียมตัวของน้อง ๆ หลายคน ก็อาจจะเหมือน ๆ กัน ซึ่งพี่ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เน้นอ่านไปเรื่อย ๆ พี่ไม่ได้ใช้วิธีอ่านแบบหักโหมโต้รุ่งไรขนาดนั้น เพราะพี่คิดว่ามันไม่ดีเท่าไหร่ และดูจะเสียสุขภาพเอาได้ เพราะถ้าเราหักโหมเกินไปแล้ววันสอบเราเกิดป่วย ไปสอบไม่ได้ขึ้นมา มันจะน่าเสียดายมาก ๆ นะคะ เพราะฉะนั้นน้อง ๆ ควรจัดเวลาให้เหมาะสมกับตัวเองจะดีที่สุดค่ะ สำหรับการจัดเวลาของพี่คือ ในช่วง ม. 6 แน่นอนว่าเราก็คงต้องไปโรงเรียนกันตามปกติใช่ไหมค่ะ ช่วงเวลาเรียนพี่ก็เน้นใช้เวลาทั้งหมดให้เต็มที่กับการเรียน และชีวิตในโรงเรียนค่ะ แต่พอหลังเลิกเรียนพี่ก็กลับบ้านมาแล้วก็แบ่งเวลาไว้สำหรับอ่านหนังสือประมาณ 3 ชม. ค่ะ วิธีนี้ถือว่าไม่หนัก เน้นการอ่านไปเรื่อย ๆ
พอช่วงปิดเทอมที่เราจะมีโอกาสได้อยู่บ้านทั้งวัน พี่ก็ใช้เวลาอ่านหนังสือประมาณ 6 - 7 ชม. แต่ถ้าใครที่รู้สึกว่า อ่านไปทั้งวันจนรู้สึกว่าหัวเริ่มตื้อ อ่านเท่าไหร่ก็ไม่รับอะไรเข้าหัวอีกแล้ว พี่แนะนำว่าน้อง ๆ ควรจะหยุดพักก่อนนะคะ ไม่ต้องไปฝืน พักทำไรที่ชอบไปก่อนค่ะ เพื่อเป็นการพักสมองให้ผ่อนคลาย อย่างพี่ก็ชอบเกาหลี พี่ก็จะแวบไปดูเกาหลีนิด ๆ หน่อย ๆ ในช่วงที่เราพัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะดูนานเป็นซีรีย์เลยแบบนี้ไม่ได้นะ ฮ่า ๆ ต้องข่มใจไว้ ๆ ซึ่งพี่ก็จะพักดูสิ่งที่ชอบสักครึ่งชม. กำลังดีค่ะ จากนั้นก็จะกลับไปอ่านต่อ แต่สิ่งสำคัญเลยคือการอ่านแต่ละวันก็ต้องวางแผนล่วงหน้านะ ว่าวันนี้เราจะอ่านวิชาไหน ต้องจัดตารางเวลาของเราให้อ่านทันและมีเวลาทบทวนซ้ำ ฝึกทำข้อสอบด้วย
อีกอย่างหนึ่งที่พี่อยากแนะนำเลยคือการทำสรุปค่ะ ไม่จำเป็นต้องทำทุกวิชาก็ได้นะ น้องต้องพิจารณาเอาเองว่าวิชาไหนที่เรายังสับสน อย่างวิชาคณิตพี่คิดว่าสูตรมันเยอะ เราก็ควรทำสรุปรวบรวมเอาไว้ ดูอย่างคอร์สเอ็นทรานซ์สิค่ะ เนื้อหาแต่ละอย่างที่เราต้องอ่านมันจะเยอะมาก เยอะจนตาลายมือก่ายหน้าผากไปหมด เพราะมันเป็นการรวมเนื้อหาทั้งหมดเอาไว้ ถ้าเราไม่ทำสรุปเอาไว้ การที่เราจะมานั่งจำทีเดียว เชื่อพี่สิค่ะว่าเราคงจำส่วนสำคัญได้ไม่หมดหรอก ส่วนใครที่อยากเรียนเพิ่มเติม ก็ไม่จำเป็นต้องไปเรียนหลายคอร์สจนเปลืองเงินเกินเหตุนะคะ เอาวิชาที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองก็พอ เพราะพี่มั่นใจว่าถ้าเราตั้งใจเรียนหน่อย ทั้งในโรงเรียนและที่เรียนพิเศษ ก็น่าจะเพียงพอแล้วค่ะ การเรียนหลายที่เกินไปไม่ได้แปลว่าจะดีนะคะ ซึ่งส่วนตัวพี่ยอมรับนะว่าการเรียนพิเศษค่อนข้างสำคัญเลย เพราะมันเป็นการเพิ่มทักษะหลาย ๆ ด้าน หลายเทคนิคให้เราได้เป็นอย่างดี ส่วนตัวแล้วพี่คิดว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเรียนตามเพื่อนก็ได้ค่ะ ที่ไหนที่เราสนใจก็ไปเรียนคนเดียวก็ได้นะ เพราะการที่เราไม่ได้ด้วยกันกับเรียนกับเพื่อนเราก็จะไม่มีเพื่อนคุย ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้นนั้นเอง
อย่างเวลาพี่เรียนพี่ก็เรียนคนเดียวค่ะ พอเรียนเสร็จ พี่ก็จะกลับมาทำสรุปไว้ตลอด มันก็เป็นการทบทวนอย่างหนึ่งด้วย เราควรทำสรุปด้วยตัวเองนะ เพราะการทำเองเราจะเข้าใจสิ่งนั้นมากขึ้น ถ้าเราจะอาศัยไปอ่านสรุปสำเร็จรูปที่คนอื่น พี่ไม่ค่อยแนะนำนะ เพราะการทำสรุปเนี่ย มันมีประโยชน์มากในเวลาที่เราไปสอบไกล ๆ ต่างจังหวัด อย่างพี่เองก็เคยไปสอบ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาด้วยแหละ การทำสรุปไว้มันจะพกพาง่าย อยู่ที่ไหนก็อ่านได้ตลอด จะให้แบกหนังสือเรียนทั้งหมดไปอ่านมันก็หนัก พกไปไหนก็ลำบากถูกไหม (ที่นี้พอจะมองออกแล้วใช่ไหมเอ่ย ว่าการทำสรุปสำคัญยังไง) แล้วก็อย่ามัวตั้งหน้าตั้งตาเรียนพิเศษอย่างเดียวนะ อย่าลืมทำข้อสอบเก่า ๆ เด็ดขาด !! เพราะการทำข้อสอบเก่านี่ก็สำคัญมาก ทางที่ดีควรฝึกจับเวลาจริงเลยนะ เราจะได้เคยชินกับสถานการณ์เหมือนในห้องสอบ เพราะตอนสอบส่วนใหญ่หลายคนก็จะพลาดจากการทำไม่ทัน เพราะเวลามีจำกัด ฉะนั้นควรฝึกทำแบบจำกัดเวลาดูนะ
เรื่องต่อไปนี้พี่คิดว่าสำคัญมาก ๆ ก่อนอื่นพี่ต้องเล่าก่อนว่าจริง ๆ แล้วพี่สอบติดแพทย์ศิริราช ช่วงนั้นพี่สับสนมาก ๆ คือพี่ไม่รู้ว่าพี่อยากเป็นอะไร ชอบอะไรกันแน่ จนประกาศผลแล้วก็ยังไม่รู้ตัวเลย ว่าความต้องการของเราคืออะไร ซึ่งที่ผ่านมาพี่ก็ปรึกษากับพ่อแม่ตลอด คิดจนเครียดมากเลย ตอนนั้นสิ่งที่พี่คิดก็คือ คนเรียนหมอต้องมีใจรักหน่อยรึเปล่า เพราะเป็นอาชีพที่เรียนก็หนักทำงานก็หนัก แต่พี่ดันรู้สึกเฉย ๆ อ่ะ แต่พี่ไม่ได้บอกนะว่าพี่ชอบบัญชีหรืออะไรมากกว่า คือช่วงนั้นพี่รู้สึกเฉย ๆ กับทุกอย่างจริง ๆ (เป็นคนแปลกไหม ฮ่า ๆ) หลังจากนั้นก็เลยคิดทบทวนว่า หรือเราอาจจะไปสายอื่นดีกว่ามั้ย ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง พี่ก็เลยสละสิทธิ์แพทย์ศิริราช แล้วเลือกบัญชีแทน !! แต่ยังไม่จบนะตอนนั้นพี่มาคิดได้ก็ตอนที่มันหมดเขตรับตรงไปแล้วอ่ะ คือตอนแรกพี่สมัครแล้วแต่อยากเปลี่ยนภาค ซึ่งมันไม่ทัน หลังจากนั้นพี่ก็เลยคิดว่า เดี๋ยวรอเข้ารอบแอดแทนแล้วกัน แล้วสุดท้ายความพยายามทั้งหมด ก็ทำให้พี่สอบติด “คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้คะแนนสูงสุดของคณะ/สาขาวิชา ประจำปี 2560”
น้องจะเห็นว่า จากเรื่องที่พี่เล่าเนี่ย สาเหตุของทุกอย่างเกิดจากความไม่รู้จักตัวเองของพี่ถูกไหม ถ้าพี่รู้ตัวเองเร็วกว่านี้พี่ก็คงวางแผนการสอบของพี่ได้ แล้วก็คงไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น บางคนอาจจะคิดว่า ดูแล้วเหมือนจะเฉย ๆ นะคะพี่ ก็ไม่ได้ดราม่าอะไรมากมาย แต่เชื่อพี่สิถ้าน้องเข้าสู่ช่วงชีวิต ม. 6 ที่กำลังเผชิญอยู่กับเหตุการณ์ที่กดดันจากหลายอย่างแบบนี้ด้วยตัวเองละก็ พี่บอกเลยว่ามันทรมานมากนะจริง ๆ และสิ่งที่ทำให้พี่เอาเรื่องนี้มาเล่าเป็นประสบการณ์ เพราะพี่ไม่อยากให้น้องเป็นแบบพี่ !! ดังนั้นน้องต้องรีบหาตัวเองให้เจอให้เร็วที่สุด น้องต้องให้ความสำคัญกับทุกอาชีพ และเปิดใจหาตัวเองให้เจอว่าเราชอบไรกันแน่ พี่เชื่อว่ามีเด็กอีกหลายคนที่ยังหาตัวเองไม่เจอ พี่เองตอนนี้พี่ก็ตอบตรง ๆ ว่าพี่ก็ยังหาเจอแบบไม่สุด มันคงต้องมีบางอย่างที่เรายังไม่เจออยู่อีกมาก ซึ่งพี่ก็กำลังใช้เวลาที่เหลือเผื่อใจสำหรับการหาตัวเองในด้านอื่น ๆ อยู่เหมือนกัน มาค่ะน้อง ๆ ทุกคน งั้นเรามาหามันไปพร้อมกัน หาความฝันที่อยู่ในตัวตนและความสามารถของเรา แล้วอย่าลืมว่าอย่ายอมแพ้นะ สำหรับใครที่หาตัวเองเจอแล้วน้องโชคดีมากนะ อยากให้น้องตั้งใจ อดทนหน่อย นึกถึงหน้าพ่อแม่ไว้ ตอนพี่เหนื่อยพี่ท้อ พี่ก็มีครอบครัวและเพื่อน ๆ คอยเป็นกำลังใจ ถ้าไม่มีพวกเค้าพี่ก็อาจจะผ่านมันมาไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่น้องก้าวไปในจุดที่น้องประสบความสำเร็จแล้ว อย่าลืมกลับมาตอบแทนพวกเค้านะ
เอาล่ะ เราได้เนื้อหาการเตรียมตัวสอบกันแบบเน้น ๆ ได้สาระกันมาแล้ว จากนี้เรามาเข้าสู่เรื่องราวชีวิตกันเลยดีกว่า พี่จะเล่าประสบการณ์ช่วงม.ปลายของพี่ให้ทุกคนได้รู้กันนะคะ ชีวิตม.ปลายมันสั้นมาก ๆ ยุ่งมากด้วย กิจกรรมเอย เรียนเอย ทุกสิ่งทุกอย่างมีให้เราทำเยอะไปหมด มีเหนื่อยบ้าง เบื่อบ้าง เสียใจบ้าง แต่สุดท้ายแล้วแล้วมันคือสิ่งที่สนุกมาก ๆ สมคำร่ำลือเสมอเลยค่ะ แต่มีเรื่องหนึ่งที่พี่อยากบอก พี่เคยได้ยินเรื่องนี้มาตลอด แต่ไม่รู้น้องจะเคยได้ยินไหมว่า ม. 4 คือช่วงเวลาเก็บเกรด ส่วน ม. 5 คือช่วงเวลาเก็บกิจกรรม และ ม. 6 คือช่วงเวลาเก็บความทรงจำ (มีใครเคยได้ยินเรื่องราวเหล่านี้กันบ้างไหมเอ่ย) เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงตอนนี้แล้ว ตอนที่พี่ได้จบออกมาแล้ว พี่ก็ยังรู้สึกว่าพี่ยังใช้ชีวิตช่วงม.ปลาย ได้ไม่คุ้มเท่าไหร่ มองย้อนกลับไปตอนนี้ ดูเหมือนว่าช่วงชีวิตวัยนั้นมีอะไรอีกหลายอย่างที่อยากจะทำและไม่ได้ทำอีกเยอะ ระยะเวลา 3 ปี สำหรับชีวิตม.ปลาย พี่มีความทรงจำเยอะมาก ๆ ไม่อยากให้จบลงเลย แต่ยังไงชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อ เพราะฉะนั้นเวลาที่น้องมีตอนนี้ น้องใช้มันให้คุ้มค่านะ ช่วงชีวิตแบบนี้มีแค่ครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อน้องโตขึ้นน้องไม่สามารถย้อนกลับไปอยู่ในช่วงเวลาเหล่านั้นได้อีกแล้ว อย่าลืมความรู้สึก ความทรงจำตอนม.ปลาย สิ่งต่าง ๆ อะไรหลาย ๆ อย่างที่เราทำที่โรงเรียน และใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน เก็บมันไว้ให้ดี ๆ นะคะ เพราะเมื่อน้องโตขึ้น ช่วงเวลานั้นจะเป็นหนึ่งความทรงจำที่น้องต้องย้อนกลับไปนึกถึงเสมอแน่นอน
สุดท้ายนี้พี่เชื่อว่ามนุษย์เราทุกคนเกิดมาพร้อมกับศักยภาพในตัวนะ เมื่อไหร่ก็ตามถ้าเรามีความตั้งใจจริง พี่เชื่อว่าทำได้แน่นอน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร จะยาก จะง่ายแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเรามีใจที่รัก มีความพยายามและความตั้งใจไว้อยู่ตลอด แม้ว่าบางครั้งชีวิตน้องจะพลาดเลือกผิดหรือถูกก็ตาม เชื่อเถอะว่ามันไม่เป็นอะไรหรอก ยังไงเราก็ยังเริ่มใหม่ได้เสมอ ขอแค่เรามีทุกอย่างนี้ แล้วใช้ใจ ให้เวลากับตัวเอง เลือกหนทางชีวิตของตัวเองให้เจอด้วยตัวเราเอง พี่เชื่อเสมอว่าเราจะพบกับความสุขและอนาคตที่ดีแน่นอน พี่ขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนนะคะ ชีวิตม.ปลาย มีแค่ 3 ปีเท่านั้น จงใช้เวลาเหล่านี้ให้คุ้มค่า เพื่อตามหาอนาคตของเราให้เจอนะคะ
เรื่อง : สุชัญญา ยิ้มอยู่