Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
การเลือกเรียนภาษาที่สาม

  Favorite

          น้อง ๆ เกิดมาคงจะได้ยินคำว่า เดี๋ยวนี้เราควรพูดให้ได้สองภาษาเป็นอย่างน้อย นั้นก็คือภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวันของเราซึ่งก็คือ “ภาษาไทย” และภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับคนต่างประเทศ โดยมันเป็นภาษากลางของโลกนั้นก็คือ “ภาษาอังกฤษ” แต่หากพูดถึงปัจจุบันเพียงแค่ สองภาษามันไม่พอต่อการทำงานในอนาคต และน้อง ๆ เคยได้ยินไหมว่า “ได้ภาษาที่สาม ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง” วันนี้พี่เลยจะมาเล่าเรื่องราวประสบการณ์เกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ต่าง ๆ ของภาษาที่สาม ให้น้อง ๆ ได้อ่านกัน

 

ทำไมต้องเรียนภาษาที่สาม

เรามายกกรณีสักหนึ่งกรณีดีกว่าเนาะ อย่างพี่เองเป็นคนที่เรียนภาษาญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยมัธยมปลายและในปัจจุบันอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยปีที่สี่ ก็ยังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ รวม ๆ แล้วเรียนภาษาญี่ปุ่นมาประมาณ 7 ปีแล้ว ก็เรียกได้ว่าเรียนภาษาที่สามนี้มานาน จึงได้เจออะไรหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับภาษามา และน้อง ๆ รู้ไหมภาษานี้เปรียบเสมือนใบเบิกทางให้แก่น้องได้หลาย อย่างเลย เช่น เวลาเราสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็สามารถยื่น PAT ภาษาได้ และเวลาสัมภาษณ์จะทำให้เราดูเก่งขึ้นอีกเปราะถ้าได้ภาษาและมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราพิเศษกว่าคนอื่น เช่นเดียวกับตอนสมัครงาน (จากประสบการณ์การสมัครงานตรง) การที่บริษัทจะเลือกเราเพื่อเป็นพนักงานต้องดูปัจจัยหลาย ๆ อย่าง และสิ่งที่จะเชิดหน้าเราให้เหนือกว่าคนอื่นเพื่อที่บริษัทจะหยิบใบสมัครเรามาสัมภาษณ์ก็คือภาษาที่สามนั้นเอง เพราะหลายบริษัทต้องการคนที่มีความสามารถในการสื่อสารได้หลายภาษา อีกทั้งภาษาที่สามของน้องอาจจะมีมูลค่าเพิ่มเงินเดือนหรือที่เราเรียกว่า “ค่าภาษา” นั้นเอง

 

เลือกเรียนภาษาที่สามจากอะไรดี

1. ความชอบ

แน่นอนอยู่แล้วก็อย่างที่ใคร ๆ ก็รู้กันว่า “ถ้าเราชอบอะไรเราจะทำสิ่งนั้นได้ดี” ถามว่าเรียนไปเรื่อย ๆ มันก็ต้องมีเบื่อบ้าง อย่างพี่เรียนญี่ปุ่นมา 7 ปี ช่วงแรก ๆ นี้เบื่อมากแต่เรียนเพราะความชอบมันทำให้เราอยากรู้ อยากค้นคว้า จนกลายเป็นแรงจูงใจไปโดยปริยาย

2. อาชีพในอนาคต

อยากเป็นนักธุรกิจระหว่างประเทศ ก็จะต้องปูพื้นฐานทางด้านภาษานั้น ๆ อยากทำงานในแวดวงบริษัทญี่ปุ่นก็เลยเลือกเรียนภาษาญี่ปุ่น ในข้อนี้ง่าย ๆ เลยอนาคตอยากทำอะไรก็เลือกภาษาที่สามารถสนับสนุนสายงานที่เราอยากจะทำได้ อ๊ะ อย่าคิดว่านักธุรกิจอย่างเดียวถึงจะใช้ภาษา สมัยนี้หลายอาชีพก็มีความจำเป็นในการใช้ภาษาแล้วนะครับ

3. พื้นฐานครอบครัว

แน่นอนถ้าครอบครัวไหนเน้นภาษาไหนก็จะให้ลูก ๆ หลาน ๆ ตัวเองเรียกภาษานั้น เช่นครอบครัวของเพื่อนพี่ ฝ่ายแม่เป็นเชื่อญี่ปุ่นเลยให้ลูกตัวเองเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อที่จะสื่อสารกับญาติทางฝ่ายแม่ได้นั้นเอง และที่สำคัญครอบครัวเป็นคนส่งเสียจ่ายตังค์ให้เราเรียนเราเลยขัดไม่ได้ ฮ่า ๆ

4. ประเทศที่ฉันไฝ่ฝัน

ครั้งหนึ่งในชีวิตฉันอยากจะไปพิชิตประเทศในฝัน พร้อมใช้ภาษาประเทศนั้นเกร๋ ๆ นี้ก็เป็นอีกแรงจูงใจหนึ่งที่ดีมาก ๆ สำหรับการเลือกเรีนภาษาเพราะมันก็คล้าย ๆ ความชอบ แต่มันเป็นความฝันที่อยากไปเยือน เรียกได้ว่าใช้การท่องเที่ยวเป็นแรงจูงใจนั้นเอง

 

เรียนยังไงเพื่อให้ประสบความสำเร็จ

ภาษาที่หลายคนบอกว่ายากนักยากหนา เรียนกี่ทีก็ง่วง แต่ในส่วนตัวของพี่ที่เรียนมา หากเราจับจุดมันถูกมันจะกลายเป็นเรื่อง สบม. สบายมาก จะบอกกุญแจลับในการเรียนภาษาที่พี่ใช้มาตลอด 7 ปีที่ผ่านมาให้ เอาง่าย ๆ เลยท่องในใจนะว่า “เปิดใจ ไม่ขี้เกียจ ต้องอยากรู้”

“เปิดใจ” เปิดใจที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ไม่อคติกับตัวเองว่า โอ้ย ฉันทำไม่ได้หรอก มันยากเกินไป หากน้อง ๆ คิดแบบนี้ให้เลิกคิดซะ เพราะมันเป็นมารตัวร้ายที่คอยมาบั่นทอนจิตใจน้อง ๆ นั้นเอง

“ไม่ขี้เกียจ” ขึ้นชื่อว่าภาษาไม่พ้นแน่เรื่องการท่องจำ แต่พอท่องไปเรื่อย ๆ ชักจะขี้เกียจขึ้นมา พอขี้เกียจหนึ่งครั้งก็จะเริ่มขี้เกียจยาว เพราะฉะนั้นเลิกขี้เกียจ และท่องจำคำศัพท์ให้มาก ๆ อาจจะใช้ตัวช่วยเช่นการ์ดคำศัพท์ เพิ่มความสนุกได้อีกแบบ

“ต้องอยากรู้” นี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนเรียนภาษาต้องมี คือความอยากรู้อยากเห็น แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชอบเผือกนะ แต่หมายถึงความสงสัยในสิ่งที่เราไม่รู้ เช่นเราเห็นคำนี้ แล้วไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร จึงกลับมาหาคำตอบให้กับตัวเองนั้นเอง ถ้าทำไปเรื่อย ๆ ได้ศัพท์มาบานแน่นอน

 

          ภาษาที่สามที่น่าเรียน และในปัจจุบันมีผู้นิยมเรียนกัน อย่างเช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส สเปน รัสเชีย เป็นต้น สุดท้ายนี้การเลือกเรียนภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาไหน หากมีความตั้งใจและความพยายามเราก็สามารถทำมันออกมาได้ดีอย่างแน่นอน ไม่เพียงแค่ใช้เพื่อความกิ๊บเก๋อย่างเดียว แต่ยังมีประโยชน์ในอาชีพที่น้อง ๆ ฝันในอนาคตได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น “ไปเรียนภาษาที่สามกันเถอะ !”

 

เรื่อง : ศิรศักดิ์ ชัยสิทธิ์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us