Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เคยไหม รู้สึกว่า “ตัวเองเรียนไม่เก่ง”

  Favorite

          หลาย ๆ ครั้งที่เรามักรู้สึกท้อแท้จนตัดกำลังใจตัวเองว่า ก็เราไม่เก่ง โดยเฉพาะเรื่องการเรียน ที่เป็นเหมือนปัญหาใหญ่ของชีวิต บางทีก็รู้สึกว่า ตัวเองเรียนไม่เก่งเอาซะเลย ตัดพ้อไปแบบนั้นแล้วก็ถอยเลย อย่าเพิ่งถอย! อยากให้ทุกคนลองมาดูอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ ใครชอบคิดว่าตัวเองเรียนไม่เก่ง ลองอ่านบทความนี้ เริ่มจาก มองภาพข้างล่างนี้ “เส้นตรงกลางของ รูป A และ B อันไหนยาวกว่ากัน” 
 

ภาพ : วรุตม์ เก่งกิตติภัทร

 

น้องคงจะสงสัยว่า รูปข้างบนนี้ คืออะไร ทำไมต้องเอามาให้ดูด้วย ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับบทความนี้เลย แต่ช้าก่อนครับ! พี่บอสตั้งใจเอารูปนี้มา เพื่อให้น้องเปรียบเทียบดูว่า เส้นตรงกลางของ รูป A และ B อันไหนยาวกว่ากัน มองผ่าน ๆ แล้วเหมือนเส้นตรงกลางของรูป B จะยาวกว่า รูป A แต่พี่ก็เชื่อว่าน้อง ๆ ก็น่าจะตอบได้ ว่ามันยาวเท่ากัน เพราะอะไรหรอครับ ? ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ที่จริงแล้ว ใจคนเราเปรียบรูป A ว่าเป็นมุมของกล่องที่มีขนาดเล็กกว่ากล่องของรูป B ดังนั้นเราสมองเราจึงแปลผลเหมือนกับว่า เส้นตรงกลางของรูป A จึงมีความยาวสั้นกว่าของรูป B ทั้ง ๆ ที่มันมีความยาวเท่ากันเป๊ะ


ไม่ได้จะเน้นเรื่องจิตวิทยาของภาพลวงตา แต่สิ่งที่ต้องการสื่อ ก็คือ “มุมมอง” และ “วิธีคิด” ครับ น้องคนไหนที่กำลังมองหรือคิดว่าตนเอง “เรียนไม่เก่ง” หรือ “หัวไม่ดี” นั่นเป็นเพราะว่า น้องกำลังเปรียบเทียบระหว่างตัวเองกับคนที่เก่งกว่า หรือดูเหมือนจะเก่งกว่า ทั้ง ๆ ที่น้องอาจจะ “เรียนเก่ง” หรือ “หัวดี” ไม่ต่างจากเพื่อนที่น้องกำลังเปรียบเทียบเลยสักนิด และนั่นก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้น้องกังวลและเครียด ซึ่งมันจะยิ่งบั่นทอนกำลังใจในการอ่านหนังสือ และมีน้อยคนนักที่จะเก็บความเครียดนี้เป็นแรงผลักดันตัวเองได้ ซึ่งแน่นอนว่าก็จะมีความเครียดสะสมเพิ่มขึ้นไปอีก เห็นมั้ยว่า การที่น้องเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ก็เหมือนกับเส้นตรงกลางของรูป A และ B ที่ดูเหมือนว่าจะมีความยาวต่างกัน แต่จริง ๆ แล้ว มันยาวเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเปรียบเทียบกับอะไรเท่านั้นเอง


แล้วทีนี้ จะให้เปรียบเทียบกับคนที่เรียนเก่งน้อยกว่าใช่มั้ย ? ไม่ใช่ครับ ! อย่าเชียวนะ ! การทำแบบนั้นจะทำให้เราพัฒนาถอยหลังลงคลองไปเลย เราควรเปรียบเทียบกับตัวเองในอดีตครับ พี่จะยกตัวอย่างเหตุการณ์ เช่น เดือนก่อนหน้านี้ เราเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ บทที่ 1 อยู่ แล้วเดือนนี้ เราเข้าใจเนื้อหาบทนั้นอย่างถ่องแท้แล้วหรือยัง ง่าย ๆ ก็เหมือนดูการพัฒนาของตัวเองในปัจจุบันกับอดีต และเปรียบเทียบเอาครับ การเปรียบเทียบมีหลายวิธี ถ้านึกไม่ออกก็เปรียบเทียบโดยเอาโจทย์มานั่งทำดูก็ได้ครับ แล้วดูผลคะแนนว่าแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ที่นี้พอรู้ผลแล้ว ก็กลับมาดูตัวเองว่าควรแก้ไขปรับปรุงอะไรบ้าง แล้ววางแผน ตั้งเป้าหมายต่อไป โดยกำหนดระยะเวลา ทีนี้เราก็จะมีการพัฒนาโดยไม่เครียดแล้วครับ เทคนิคนี้ สามารถประยุกต์ใช้กับเรื่องอะไรก็ได้ครับ ไม่ว่าจะเป็น การท่องศัพท์ การอ่านหนังสือบทยาก ๆ งานอดิเรกต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการฝึกฝน การหัดเล่นกีฬา เป็นต้น
 

ภาพ : Shutterstock

         

          สุดท้าย ก็อย่าเปรียบเทียบแต่ตัวเองอย่างเดียว ต้องเปรียบเทียบกับเพื่อนคนอื่นบ้าง ย้ำว่า “บ้าง” แค่พอรู้ว่าเราอยู่ตรงไหนก็พอ ไม่ต้องเยอะ เดี๋ยวจะเครียดจนบั่นทอนกำลังใจกันพอดี ทีนี้ก็ประเมินดูว่า เราต้องพัฒนาเพิ่มอีกหรือไม่ ต้องตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้นมั้ย เราปฏิเสธไม่ได้ครับว่า สุดท้ายแล้วเราก็ต้องแข่งขันกับคนทั้งประเทศในสนามสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะเครียดบ้างเป็นธรรมดา แต่การใช้เทคนิคข้างต้นเป็นการช่วยลดความเครียดได้ เพราะเป็นการแข่งกับตัวเองในอดีต ซึ่งต้องชนะอยู่แล้ว ถ้าหากแพ้ก็ต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ซะ หาสาเหตุว่าทำไมถึงแพ้ เราประมาทมั้ย เล่นมากเกินไปรึเปล่า อ่านหนังสือผิดวิธีมั้ย แล้วแก้ไขปรับปรุงตัวเอง พยายามเอาชนะตัวเองในอดีตให้ได้ครับ คนเราต้องมีการพัฒนาครับ สู้ ๆ นะ น้อง ๆ ทุกคน

 

เรื่อง : พี่บอส วรุตม์ เก่งกิตติภัทร

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us