Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
7 เทคนิคขั้นเทพ ! ในการจดแลคเชอร์

  Favorite

          อีกหนึ่งสิ่งที่วัยเรียนควรทำระหว่างเรียนหรือก่อนสอบ คงหนีไม่พ้นการจดแลคเชอร์หรือการทำสรุป เพื่อให้เรานำกลับมาทบทวนอีกครั้งในช่วงอ่านหนังสือสอบ หลายคนอาจจะมีวิธีการจดเลคเชอร์ของตัวเอง แต่รู้ไหม ? มันมีวิธีในการจดแลคเชอร์ให้น่าอ่าน และจำได้ง่ายแบบแทบจะเอาไปสอบได้เต็ม ๆ วันนี้พี่เลยนำ “7 เทคนิคขั้นเทพ ! ในการจดแลคเชอร์” มาฝากให้น้อง ๆ ลองไปทำกันไม่ว่าจะเรียนอยู่ชั้นไหนก็ทำได้

 

1. ปากกาสีช่วยการจำ

จากผลวิจัยต่าง ๆ พบว่าสีมีส่วนช่วยในการจำให้ดีขึ้น ในการจดเลคเชอร์ ถ้าเราใช้ปากกาสีเข้าช่วยในการจดก็จะทำให้เราสามารถแยกส่วนข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบระเบียบ อย่างงานวิจัยของคณะวิจัยจากภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยบริทิช ได้ทำการวิจัยกับบุคคลต่าง ๆ กว่า 600 คน พบว่าการใช้สีแดงทำให้คนจดจำและสนใจรายละเอียดมากขึ้น ส่วนสีฟ้าช่วยในด้านจินตนาการ นอกจากทั้งสองสีที่กล่าวมาขั้นต้นแล้ว เรายังสามารถใช้สีอื่น ๆ ในการจดเพื่อให้เข้าใจง่าย ในส่วนของเนื้อหาต่าง ๆ เช่น ใช้สีแดงในหัวเรื่อง สีม่วงเป็นเนื้อหา สีชมพูเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นต้น ซึ่งวิธีนี้จะช่วยสรุปเนื้อหาของเราให้มีสีสันและน่าอ่านมากยิ่งขึ้น พอเมื่อน้อง ๆ เห็นข้อมูลช่วงไหนที่สำคัญก็ใช้ปากกาสีช่วยเน้นย้ำข้อความนั้น ๆไว้เลย เพื่อเวลาที่มาอ่านทบทวนจะได้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น

 

2. สัญลักษณ์เพิ่มความเร็ว

เรียนไปด้วย จดแลคเชอร์ไปด้วย บางทีเราอาจจะจดไม่ทัน (กรณีจดในหนังสือ) เราจึงต้องหาวิธีที่ใช้เวลาน้อยที่สุด นั้นก็คือ “การใช้สัญลักษณ์” นั้นเอง เช่น การใช้ดอกจันทร์ (*) หมายถึง “หัวข้อที่สำคัญ” การใช้หัวใจสีแดง หมายถึง “ใจความสำคัญที่คุณครูเน้น” การใช้เครื่องหมาย (+) ซึ่งหมายถึง “และหรือกับ” เป็นต้น ซึ่งหลังจากเรียนแล้วเราก็สามารถนำเนื้อหาที่เราเน้นในตอนเรียนมาเขียนสรุปไว้อ่านตอนสอบได้อย่างไม่งงนั้นเอง

 

3. จับใจความแล้วรีบจด

เพราะเราไม่สามารถจดทุกอย่างที่คุณครูพูดออกมาได้ และเนื้อหาในแต่ละบทเรียนก็มีเยอะมาก ดังนั้นเราจึงต้องฟังเพื่อจับใจความสำคัญนั้นเอง ควรเน้นในส่วนที่สำคัญที่คุณครูเน้นย้ำและมีความเป็นไปได้สูงที่จะออกสอบ ซึ่งเมื่อเราได้ฟังอย่างตั้งใจจะเกิดการคิดตาม และการจัดแจงเป็นระบบเพื่อจดลงไปในแลคเชอร์ ซึ่งมันจะทำให้เราเองเข้าใจง่าย พอนำกลับมาอ่านและเขียนสรุปเราก็จะสามารถเข้าใจได้ง่าย เพราะได้มีการผ่านตาและผ่านความคิดมาแล้วนั้นเอง
 

ภาพ : Shutterstock


4. เว้นที่ว่างพักสายตา

ในรายวิชาที่เนื้อหาเยอะไม่ว่าจะเป็นวิชาวิทย์ คำนวณ หรืออะไรก็ตามที่มีเนื้อหาเยอะจนไม่อยากอ่าน หากจดเนื้อหาทั้งหน้าโดยไม่มีช่องว่างหรือบรรทัดที่ว่าง อาจจะส่งผลให้ถึงอาการเหนื่อยล้าสายตาได้ เพราะฉะนั้นต้องมีบรรทัดที่ว่าง เว้นไว้ อาจจะทำเป็นตัวการ์ตูนน่ารัก ๆ แล้วเขียนว่า ”พักหน่อย” ก็น่ารักไปอีกแบบแถมอ่านแล้วยังสบายตาอีก หรือจะเขียนคำให้กำลังใจตัวเอง

 

5. วาดภาพประกอบเพิ่มความสนใจ

ถ้าในกระดาษแลคเชอร์หรือสมุดที่เราสรุปมีแต่ตัวหนังสือเราก็ไม่ค่อยอยากจะหยิบขึ้นมาอ่าน แต่ถ้าหากมีตัวการ์ตูน โดยการวาดภาพประกอบเป็นเรื่องเป็นราว สร้าง Story ขึ้นมา จะช่วยทำให้เข้าใจได้ง่าย และสามารถเพิ่มแรงจูงใจในการอ่านได้มากขึ้นด้วย โดยแต่ละวิชาอาจจะมีตัวการ์ตูนประจำตัววิชา เช่น วิชาที่เกี่ยวกับชีวะ อาจจะเป็นตัวการ์ตูนคุณหมอมาอธิบายนั้นเอง หรือจะสรุปเป็น Mind Mapping 

 

6. ใช้อักษรย่อลดเวลาและลดพื้นที่

การใช้อักษรย่อเป็นสิ่งที่ฮิตในการแชทในปัจจุบันแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อการจดแลคเชอร์อีกด้วย เพราะการใช้อักษรย่อจะทำให้เราลดเวลาและพื้นที่ในการดาษจดอีกด้วย ซึ่งทำให้สร้างความสะดวกและรวดเร็วในการจด แต่ควรใช้อักษรย่อตามความเข้าใจของเรานะ จะได้ไม่งงกันเวลานำมาสรุปหรืออ่านตอนก่อนสอบ และสามารถใช้ตัวย่อหรือสัญลักษณ์ที่เราถนัดได้ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น ค. (ความ), คสพ. (ความสัมพันธ์), บ. (บริษัท), รฐบ. (รัฐบาล), OK. (โอเค), B4 (before), inc. (including) เป็นต้น

 

7. วิชามารยืมรวบรวมของเพื่อน

เราอาจจะไม่สามารถจดใจความสำคัญได้อย่างครบถ้วนตามที่คุณครูพูดมา แต่เราไม่ได้เรียนอยู่คนเดียว เรายังมีเพื่อน ๆ ที่คอยจดอีก เพราะฉะนั้นเราอาจจะยืมสมุดจดของเพื่อนมาเทียบดูว่าเราขาดเหลือตกหล่น หรือเนื้อหาส่วนไหนที่แตกต่างจากเพื่อน หากขาดก็อาจจะขอยืมสมุดเพื่อนมาดูเพื่อจดสิ่งที่ขาดนั้นไปก็ได้ นอกเหนือจากนั้นเราก็สามารถบอกเพื่อนว่าเพื่อนขาดอะไร หรือถ้าเราไม่เข้าใจในส่วนไหนก็สามารถให้เพื่อนอธิบายเพิ่มเติมได้อีกด้วย ก็เป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันได้อีกด้วย วิน ๆ ทั้งคู่จ้า
 

ภาพ : Shutterstock

         

          การจดแลคเชอร์และการทำสรุปให้น่าอ่านไม่ได้ยากและน่าเบื่ออย่างที่คิด เราควรใส่ความคิดสร้างสรรค์ของเรา บวกกับความเป็นตัวเอง เพื่อสร้างสีสันและก่อให้เกิดความอยากอ่านในเวลาทบทวนบทเรียน เพียงเท่านี้เราก็สามารถอ่านเข้าใจง่ายและสอบผ่านแน่นอนจ้า

 

เรื่อง : ศิรศักดิ์ ชัยสิทธิ์

 

 

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us