Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
[รีวิว] นิเทศศาสตร์เกษตร สองศาสตร์ที่ไปด้วยกันได้ แชร์การเรียนจากรุ่นพี่ ลาดกระบัง

  Favorite
นิเทศศาสตร์เกษตร ลาดกระบัง

 

“นิเทศศาสตร์ กับ การเกษตร” เรียนด้วยกันมีด้วยเหรอ ? เป็นแบบไหนอะไรยังไงทำไมมาเรียนด้วยกันได้ หรือจะเป็นการบูรณาการศาสตร์ของนิเทศเรื่องของการสื่อสารมาใช้ในแวดวงของการเกษตร พบกับคำตอบจากรุ่นพี่ปี 2 แนท-ฐิติชญา ลิ้มสุเวช สาขานิเทศศาสตร์เกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมมาเล่าให้น้อง ๆ ฟังแบบเจาะลึก ลงลึกชีวิตในรั้วเด็กเกษตรลาดกระบัง

แรงบันดาลใจ

ด้วยความชอบทางด้านนิเทศศาสตร์อยู่แล้ว ตอนที่จะสอบเข้าก็ไปศึกษาข้อมูลแล้วเห็นว่ามีสาขานิเทศศาสตร์เกษตรด้วย ก็มีความสนใจ อยากรู้ว่านิเทศศาสตร์กับเกษตรจะไปด้วยกันได้ยังไง อยากรู้ว่าเรียนอะไรบ้าง เลยเลือกเรียนสาขานี้ค่ะ เรียนไปเรียนมาก็รู้สึกว่าใช่เลย เราค้นหาตัวเองเจอแล้วทางนี้แหละ มุ่งเป้าเรียนเต็มที่ แต่การเรียนก็ยากพอสมควรเลยเพราะเป็นเด็กสายศิลป์ภาษา มาเรียนสาขานี้ต้องเรียนวิทยศาสตร์ด้วย ต้องทำการบ้านหนักกว่าคนอื่น ต้องอ่านหนังสือเยอะพอสมควรค่ะ

เรียนอะไรในนิเทศศาสตร์เกษตร

สาขาวิชานิเทศศาสตร์เกษตร เป็นสาขาวิชาที่มีการบูรณาการ ศาสตร์ทางด้านของนิเทศศาตร์ ในเรื่องของการสื่อสารมาใช้ในแวดวงของการเกษตร สาขานี้เรียนเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์และเกษตรควบคู่กัน แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การเกษตร พื้นฐานเกษตรทั้งหมดเลย เรื่องพืชเรื่องสัตว์ งานส่งเสริมการเกษตร อีกส่วนเรียนด้านการสื่อสารอย่างครอบคลุม เช่น ทฤษฎีพื้นฐานการวิเคราะห์สื่อ สิ่งพิมพ์ สื่อกราฟิกต่าง ๆ อย่างทางด้านนิเทศศาสตร์ เราก็จะมีเรียนวิเคราะห์การสื่อสาร ผู้รับสาร ช่องทางการสื่อสารด้วยค่ะ 
 

 


จุดเด่นของการเรียนสาขานี้

ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างก้าวไกล ข้อมูลก็เผยแพร่ไปถึงมือได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีคนให้ความสนใจทางด้านเกษตรมากขึ้น ข้อมูลหรือสื่อด้านการเกษตรจึงจำเป็นที่กลุ่มเป้าหมายจะได้รับซึ่งต้องเข้าใจง่ายด้วย การเรียนสาขานี้จึงเป็นอะไรที่แปลกใหม่และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เป็นการใช้ความรู้แบบบูรณาการด้านสื่อกับงานทางด้านการเกษตร ซึ่งเราจะทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวกลางที่จะนำทักษะ ความรู้ ความสามารถหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางด้านเกษตร หรือเป็นเกษตรกรในรูปแบบของสื่อ ส่งไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งนั้นก็คือเกษตรกร ที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากนัก ส่วนอุปกรณ์การเรียนที่นี่เราก็มีพร้อมเช่น สตูดิโอริมน้ำ

การเรียนแต่ละชั้นปี

สาขานี้เรียน 4 ปี ตามหลักสูตรค่ะ ปี 1 เรียนพื้นฐานด้านการเกษตร เช่น ชีววิทยา การประมง และพื้นฐานทางด้านนิเทศศาสตร์ การวิเคราะห์สื่อ เน้นวิทยาศาสตร์และจะสอดแทรกวิชาการทางด้านนิเทศศาสตร์ลงไป ปี 2 เรียนการผลิตสื่อ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ ส่วนด้านเกษตรเรียนเรื่องการผลิตสัตว์ ประมง แล้วก็เรียนเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เยอะมาก เช่น Photoshop Illustrator InDesign Blender ปี 3 จะเรียนเฉพาะทางให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น มีวิชาโทให้เลือก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก (วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์) กลุ่มที่สอง (กราฟิก สิ่งพิมพ์ สื่อดิจิตอล) กลุ่มที่สาม (กลุ่มโฆษณาผลิตภัณฑ์) ซึ่งเป็นปีที่เรียนหนักและงานเยอะมาก ปี 4 เทอมหนึ่งเรียนพื้นฐานทางด้านกฎหมาย บทความวิชาการ เทอมสองจะเป็นฝึกงานแบบสหกิจและกลับมาทำโปรเจ็กต์จบค่ะ
 

 


ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

เราอยู่เหมือนเป็นครอบครัว รุ่นพี่รุ่นน้องจะคอยช่วยเหลือกัน อาจารย์ก็คอยให้คำปรึกษาตลอด ไม่ว่าเราจะมีงานอะไร ทำงานอะไร เรียนสาขานี้ก็ยากนะแต่ท้าทาย เรียนไม่ดึกแต่ทำงานดึก ทำที่หอเพื่อนบ้าง ทำที่คณะบ้าง ได้ทำงานกลุ่มเยอะมาก อย่างตอนที่ทำงานกลุ่มในสตูดิโอ เราก็ร่วมแรงร่วมใจกันเลยทำให้เราได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเพื่อน มีงานประกวดมีกิจกรรมทำให้เราแอคทีฟมากขึ้น แต่ความรู้ที่ได้มันคุ้มค่าที่เราเหนื่อย เพราะการที่เราได้เรียนและทำกิจกรรมไปด้วย มันเป็นการฝึกประสบการณ์ให้เราเก่งขึ้นค่ะ

สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจ

สาขานิเทศศาสตร์เกษตร จะต้องมีทักษะความรู้ความสามารถทางด้านการสื่อสาร ชอบถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ รักธรรมชาติ มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบความแปลกใหม่ น้อง ๆ ที่เรียนสายวิทย์ สายศิลป์ ก็สามารถเรียนได้ แต่น้อง ๆ ที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้วจะดีมาก ที่สำคัญต้องชอบนิเทศศาสตร์และสนใจการเกษตรด้วย การสอบเข้าเน้นวิทย์และเทคโนโลยี เราต้องวางแผนอาจจะศึกษาข้อมูลของคณะ สาขา ถามจากรุ่นพี่ ถ้ายังหาตัวเองไม่เจอเราลองทำดู แล้วถ้าเราเหนื่อยแต่ยังสู้กับมัน แสดงว่าเราชอบจริง ๆ ก็เลือกที่จะเดินทางนั้นได้เลย
 


ตลาดงาน

จะทำเกี่ยวกับสื่อทางด้านการเกษตรในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น หน่วยงานภาครัฐ ก็กระทรวงเกษตร สามารถทำสื่อหรือส่งข้อมูลข่าวสารไปยังตัวเกษตรกรได้ หรืออาจจะมีบางกลุ่มประกอบอาชีพส่วนตัวด้านการสื่อสารพัฒนาอาชีพ ซึ่งการเรียนทางด้านนิเทศศาสตร์ค่อนข้างจำเป็นในแต่ละหน่วยงานอยู่แล้ว สามารถทำงานนิเทศศาสตร์เกษตร เพราะว่าประเทศไทยอาชีพด้านเกษตรกรรมมีอยู่เยอะ ความต้องการความรู้ข้อมูลข่าวสารที่จะเผยแพร่ออกไปก็ได้รับความสนใจอยู่แล้ว หรือทำงานด้านนิเทศศาสตร์ไปเลยก็ได้ เช่นกราฟิก ถ่ายภาพ ตัดต่อ 

ข้อมูลการสอบ

สาขาวิชานิเทศศาสตร์เกษตร
คณะเทคโนโลยีการเกษตร
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
www.kmitl.ac.th

TCAS 61

- รอบที่ 1 ใช้ Portfolio
- รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน
- รอบที่ 4 Admissions
- รอบที่ 5 รับตรงอิสระ
*รอบที่ 2 ไม่เปิดรับ
*เกณฑ์การคัดเลือกในรอบที่ 3 และ 5 เป็นไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด

คะแนนที่ใช้ในรอบ ที่ 3 Admissions

GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10%, PAT 1 10%, PAT 2 30%
 


เรื่อง : พีชยา คงเสาร์ และวรรณวิสา สุภีโส

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us