Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เทคนิคการทำ Portfolio โดดเด่น ถูกใจกรรรมการ

  Favorite

          Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงาน หลายคนถามว่า “จำเป็นต้องมีไหม ?” ซึ่งตรงนี้ก็ต้องแล้วแต่คณะหรือมหาวิทยาลัยที่น้อง ๆ อยากเข้า ว่าเขาต้องการดูผลงานหรือเปล่า แต่สำหรับน้อง ๆ ทำกิจกรรม หรือเข้าร่วมการแข่งขันด้านต่าง ๆ หรือมีความสามารถพิเศษที่ตั้งใจจะใช้ยื่นเข้ามหาวิทยาลัย ในระบบ TCAS รอบที่ 1 ที่ใช้ Portfolio อย่างเดียว น้อง ๆ จำเป็นมากที่จะต้องทำ Portfolio ของตัวเองให้โดดเด่นน่าสนใจ ส่วนน้อง ๆ ที่ไม่มีผลงานอะไรมากมาย และไม่ได้จะยื่นรอบที่ 1 ทำไว้ก็ไม่เสียหายอะไร กลับเป็นการเพิ่มความสนใจให้กับตัวเองตอนไปสัมภาษณ์รอบอื่น ๆ ด้วย แต่จะทำยังไงให้ Portfolio ของเราน่าสนใจ จนคณะกรรมการร้อง “ว้าว” และต้องหยิบมาอ่าน วันนี้พี่มีเทคนิคการทำ Portfolio โดนเด่น ถูกใจกรรรมการ มาฝาก

 

รู้จักตัวเอง

Portfolio เป็นแฟ้มที่รวบรวมประวัติส่วนตัว การสะสมผลงานที่ผ่านมา และนอกเหนือจากนั้นยังรวมถึงความสนใจของตัวเองอีกด้วย น้อง ๆ จำเป็นจะต้องรู้จักตัวเอง และลองดีไซน์มันออกมาในรูปแบบที่เป็นตัวเอง ไม่จำกัดความหนา ไม่จำกัดกระดาษ ของเพียงมีความคิดที่กิ๊บเก๋ ก็โดนใจท่านกรรมการแล้ว และที่สำคัญหากน้อง ๆ คิด “Theme” ของตัวเจ้า Portfolio นี้ได้และมันก็มีดีไซน์ที่ตรงใจกรรมการตั้งแต่หน้าปก การหยิบขึ้นมาอ่านของกรรมการจะเกิดขึ้นง่ายนิดเดียว เอ๊ะ ว่าแต่ Theme นี้คือยังไง ? Theme เกิดจากความสนใจของเรา หรือผลงานส่วนใหญ่ อีกทั้งอาจจะมาจากคณะที่เรากำลังไปสอบสัมภาษณ์ก็ได้ เช่น พี่โบ๊ท เป็นตากล้องและชอบภาพยนตร์ จึงอยากเข้านิเทศศาสตร์ ก็เลยดีไซน์รูปเล่มเป็น “ฟิลม์หนังเก่า” โดยหน้าปกเป็นรูปฟิลม์ภาพยนตร์และเป็นรูปพี่โบ๊ทกำลังแสดงภาพยนต์อยู่ เป็นต้น และ Theme นี้ก็จะครอบคลุมดีไซน์ทั้งเล่ม ลองคิดถึงคณะที่เราอยากเข้านะ ไอเดียดี ๆ มันอยู่ไม่ไกลจากตัวเรา

 

รวบรวมผลงานที่ผ่านมา

การรวบรวมผลงานที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน น้อง ๆ สามารถดึงเกียรติบัตร หรือรูปถ่ายตอนเราทำกิจกรรม เช่น กีฬาสี (เชื่อว่าทุกคนต้อง เคยทำ) การประกวดต่าง ๆ ที่เคยชนะหรือไม่ชนะขอแค่ได้เข้าร่วมก็เอามาได้หมด ซึ่งตรงนี้มันจะหลากหลายมาก ๆ จึงจำเป็นจะต้องแยกเป็นหมวดหมู่ ซึ่งหมวดหมู่ที่สำคัญหลัก ๆ ที่ควรมีได้แก่

1. ผลงานด้านวิชาการ เช่น การเรียน การแข่งขันความรู้ด้านต่าง ๆ การสอบวัดระดับทางภาษา การไปศึกษาดูงาน เป็นต้น

2. ผลงานด้านกิจกรรมนันทนาการ เช่น การนำสันทนาการ การทำแสตนเชียร์ หรือเป็นผู้นำเชียร์ เป็นต้น

3. ผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม เช่น การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งหรือสากล การประกวดภาพวาด การประกวดกลอนวันครู เป็นต้น

4. ผลงานด้านอาสา เช่น การออกค่ายอาสาของโรงเรียน โครงการการเก็บขยะรอบโรงเรียน หรือโครงงานที่ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม เป็นต้น

5.ผลงานด้านกีฬา เช่น การแข่งขันกีฬาด้านต่าง ๆ การนำเต้นแอโรบิค (เฮลตี้สุด) หรือที่กำลังฮิตการวิ่งมาราธอน เป็นต้น


และอีกหนึ่งด้านถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีแล้วจะเก๋ที่สุด ดูดีขึ้นมาทันทีนั้นก็คือ “ผลงานด้านการเป็นผู้นำ” ตรงนี้ไม่ว่าจะเป็น ประธานนักเรียน หัวหน้าห้อง หัวหน้ากลุ่ม อะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากมีจะทำให้เราดูเป็นคนที่ทำงานเป็นทันที

 

ลงมือทำให้กิ๊บเก๋ยูเรก้า

หลังจากที่เรารู้จักตัวเอง และรวบรวมผลงานเป็นหมวดหมู่แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะลงมือทำ ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่เราจะนำไอเดียทั้งหมดของเรามาขมวดเป็นรูปเป็นร่างออกมาให้สมบูรณ์ โดยที่ Portfolio พื้นฐาน จะแบ่งออกเป็น 7 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้

1. หน้าปก

อย่างที่บอกไปข้างต้นเลย ว่าหน้าปกคือหน้าตาของ Portfolio “ทำยังไงให้คณะกรรมการหยิบขึ้นมาอ่าน” ซึ่งหน้าปกก็ควรมีดีไซน์ที่กิ๊บเก๋ แต่ที่ขาดไม่ได้สิ่งที่ต้องมีคือ ชื่อนามสกุล ชื่อโรงเรียน แผนการเรียน และที่สำคัญรูปเก๋ ๆ ของตัวเอง รูปเก๋ ๆ ในที่นี้คือ รูปที่ดู สุขภาพดี มีสติ ดูเป็นมิตร สะอาด และสุภาพหน่อยนะจ๊ะ เพราะเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของ อีกทั้งเป็นการเรียกน้ำย่อยให้คณะกรรมการอยากอ่านอีกด้วย

2. ประวัติส่วนตัว

ในด้านของประวัติส่วนตัวก็แน่นอนว่าพื้นฐานที่เราควรบอกเกี่ยวกับตัวเราและครอบครัว นั้นก็คือ ชื่อ-สกุล ชื่อเล่น วันเดือนปีเกิด สัญชาติ ศาสนา จำนวนพี่น้อง การศึกษาตั้งแต่เด็กจนโต (แบ่งตามช่วง อ. 1 - 3, ป. 1 - 3, ป. 4 - 6, ม. 1 - 3 และ ม. 4 - 6 ) ควรจะใส่ทั้งข้อมูลที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ชื่อบิดาและมารดา สถานที่ทำงานของบิดามารดา ช่องทางการติดต่อ แนวความคิดของตนเอง รวมไปถึงความคาดหวังในอนาคตต่อคณะที่เราจะศึกษาต่อ และอาชีพที่เราอยากจะทำ อีกอย่างที่อยากเสนอให้น้อง ๆ ทำอีกอย่างหนึ่ง คือการทำคลิปแนะนำตัวเอง แสดงความมั่นใจและความเป็นตัวเองได้เต็มที่ คลิปสั้น ๆ 1 – 2 นาที อัพโหลดผ่าน Youtube แล้วทำเป็น QR Code แปะลง Portfolio เก๋ ๆ เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถเด็กยุคเทคโนโลยี 4.0

3. คำนิยม

คำนิยมเป็นอารมณ์คล้าย ๆ จดหมายที่ท่านอาจารย์เขียนถึงตัวเรา ทั้งในด้านของ อุปนิสัย พฤติกรรม การใช้ชีวิตในโรงเรียน กิจกรรม เป็นต้น ซึ่งตรงนี้หากน้อง ๆ ขอให้ท่านอาจารย์เขียนให้กับเราได้ จะเป็นความน่าเชื่อถือที่เป็นเครื่องยืนยันว่า “ฉันเป็นคนแบบนี้นะ” และที่สำคัญ อย่าลืมของลายเซ็น ของท่านอาจารย์ไว้ด้วยหละ

4. ผลงานหรือกิจกรรมที่เคยทำ

ตรงนี้แหละเป็นหัวใจของ Portfolio น้อง ๆ สามารถนำผลงานที่น้องแบ่งออกเป็นหมวดหมู่มาดีไซน์อาจจะทำเป็นตาราง หรือใส่รูปตามด้วยแคปชั่นเท่ ๆ แต่ขออย่าหลุด Theme ที่เราวางไว้ จัดเรียงลำดับตาม พ.ศ. และเรียบเรียงให้อ่านง่ายและชัดเจน

5. ผลงานหรือกิจกรรมที่ประทับใจ

ส่วนนี้สามารถเรียกคะแนนได้เยอะเลย เนื่องจากตรงนี้จะเป็นคีย์หลักรองลงมาจาก Themeในการบ่งบอกความเป็นตัวเองของน้อง ๆ เพราะกิจกรรมที่ประทับใจ “เกิดจากการที่เราทำและมีความสุข และความสุขเกิดจากการที่เรารักที่จะทำมัน” ซึ่งตรงนี้ยังรวมถึงอนาคตว่าอยากเป็นอะไรได้อีกด้วย โดยผลงานที่ประทับใจพี่แนะนำให้เลือกมา 2 - 3 ชิ้นและควรที่จะเกี่ยวข้องกับคณะที่เราไปสอบสัมภาษณ์ด้วยจ้า

6. ภาคผนวก

มาถึงส่วนสุดท้าย นั้นก็คือ “ภาคผนวก” เป็นส่วนที่รวบรวมเอกสารทุกอย่างที่สำคัญที่เราอยากจะแสดง ไม่ว่าจะเป็นผลการศึกษา รูปภาพ(ที่อยากโชว์) เกียรติบัตร รางวัลต่าง ๆ เป็นต้น ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน อารมณ์คล้าย ๆ แบบ “มีหลักฐานมาโชว์นะ ไม่ได้โม้ เชื่อหนูเถอะ !” ประมาณนั้นอ่ะจ้า


โปรแกรมที่ใช้ทำ Portfolio ส่วนใหญ่จะเน้นไปทาง Photoshop ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่ไม่ยากจนเกินไป มีลูกเล่นที่หลาหหลายให้น้อง ๆ ให้สร้างสรรค์แฟ้มผลงานสวย ๆ ของตนเอง แต่ถ้าใครไม่ถนัด พี่แนะนำใช้ PhotoScape หรือ Word ก็ได้จ้า ขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของแต่ละคน
 

ตรวจเช็คความเรียบร้อย

ถึงขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ “การตรวจทาน” ซึ่งตรงนี้ควรใช้ความรอบคอบเป็นอย่างมาก เพราะเราต้องดูทั้ง ตัวหนังสือให้มีขนาดไม่โดดไปจากกัน เลือกลักษณะ Font ให้อ่านง่าย สีของตัวหนังสือไม่ให้กลืนกับพื้นหลัง แม้กระทั้ง คำผิดก็ต้องห้ามมี ซึ่งหากน้อง ๆ ตรวจทานและแก้ไขเรียบร้อยแล้ว มันจะเป็น Portfolio ที่สมบูรณ์แบบแน่นอน นอกจากตรวจด้วยตัวเองแล้ว สามารถให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่คณะ หรือแม้กระทั้งคุณครูที่โรงเรียน ให้ตรวจทานและขอความคิดเห็นมาปรับปรุงได้อีก ตรงนี้แหละเราจะได้ Comment ที่ตรงและชัดเจนที่สุดเลยนะ

          และนี้คือทั้งหมดของเทคนิคการทำ Portfolio ที่พี่นำมาให้น้อง ๆ ได้อ่านกัน เห็นได้ว่าไม่เพียงแต่เป็นการรวบรวมผลงานของเราเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถบ่งบอก ความสนใจ ลักษณะLife style ของเจ้าของ Portfolio ได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น รู้จักตัวเองและสร้าง Portfolio สุดกิ๊บเก๋ ที่กรรมการเห็นต้องร้อง “Wow Amazing”

 

เรื่อง : ศิรศักดิ์ ชัยสิทธิ์

Tags
Posted by
Plook TCAS
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us