“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก ที่แห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนานกว่าร้อยปี เป็นมหาวิทยาลัยในฝันของน้อง ๆ หลายคน เพราะการได้เป็นนิสิตของที่นี้ ถือว่าเป็นเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวเลยทีเดียว น้องคนไหนรู้ตัวเองว่าจะได้เรียนที่จุฬาฯ ก็มาอ่านรีวิวนี้เลย จะได้รู้ว่า ชีวิตที่น้องจะได้เจอในรั้วมหาวิทยาลัยตลอด 4 ปีนี้ (บางคณะเรียน 5 หรือ 6 ปี) จะเป็นอย่างไร หรือใครที่ยังอยู่ในช่วงตัดสินใจเลือกมหาวิทยาลัยก็มาอ่านได้เช่นกันจ้า
ความเป็นมาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจาก "โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน" ที่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ "พระเกี้ยว" มาเป็นเครื่องหมายประจำสถานศึกษา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงยกระดับโรงเรียนแห่งนี้ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย และพระราชทานนามว่า "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2460 ซึ่งถือว่าเป็นจุดกำเนิด “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นต้นมา
8 สถานที่สำคัญในจุฬาฯ
หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เด็กจุฬาฯ เรียกสั้น ๆ ว่า “หอประชุมจุฬาฯ” เป็นหอประชุมใหญ่ที่เก่าแก่คู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาอย่างยาวนาน เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของมหาวิทยาลัย เป็นสถานที่ที่ทำพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 อีกทั้งเป็นสถานที่บุคคลสำคัญได้เคยมาเยือน เช่น นายบิล คลินตัน และ นายลินดอน บี. จอห์นสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นต้น สถานที่แห่งนี้ ภายในตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมไทย มีความงดงาม และขลังมาก ๆ ปกติแล้วไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าเยี่ยมชมครับ แต่น้อง ๆ จุฬาฯ ทุกคน จะมีโอกาสได้เข้าไปได้ ในพิธีปฐมนิเทศ ตอนแรกเข้า โดยภายในพิธีก็จะมีการแนะนำมหาวิทยาลัย ฟังการร้องเพลงประสานเสียงเพลงมหาวิทยาลัย ร่วมถึงการกล่าวต้อนรับโดยอธิการบดีจุฬาฯ ซึ่งเป็นการเข้าหอประชุมจุฬาฯ เพียงไม่กี่ครั้งในฐานะนิสิตจุฬาฯ บางคนพลาดพิธีนี้ ก็อาจจะได้เข้าหอประชุมจุฬาฯ อีกทีก็ตอนเป็นบัณฑิตในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรก็เป็นได้ แต่ก็มีกิจกรรมชมรมบางชมรม เช่น CU Chorus (วงนักร้องประสานเสียง สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นต้น ซึ่งคนที่ทำกิจกรรมก็มีโอกาสเข้าหอประชุมจุฬาฯ นั่นเอง
พระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล หรือ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราช และสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เป็นอนุสรณ์สถานที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างเมื่อปี 2530 เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก่อตั้งครบ 70 ปี พระบรมราชานุสาวรีย์นี้เป็นที่เคารพสักการะของเหล่านิสิตจุฬาฯ ทุกคน สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ทำพิธีสำคัญต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ เมื่อแรกเข้าไปจนกระทั่งนิสิตเรียนจบก็จะมีพิธีถวายบังคมลาของบัณฑิต จุฬาฯ นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นสถานที่จัดกรรมต่าง ๆ เช่น การรับน้องก้าวใหม่ งานวันลอยกระทง เป็นต้น
สำนักงานวิทยทรัพยากร หรือที่เด็กจุฬาฯ เรียกสั้น ๆ ว่า “หอกลาง” เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ เป็นอาคารที่เปิดให้บริการทั้งหมด 7 ชั้น แต่ละชั้นก็จะมีวัตถุประสงค์ต่างกันไป เช่น บริการยืม-คืน และยืมระหว่างห้องสมุด บริการคอมพิวเตอร์สืบค้น และใช้งานอินเตอร์เน็ต บริการวารสาร หนังสือพิมพ์บริการส่งเสริมการรู้สารสนเทศ บริการสนับสนุนการวิจัย ห้องค้นคว้าข้อมูลในสาขาวิชาต่าง ๆ เป็นต้น ที่นี่เด็กจุฬาฯ สามารถใช้เป็นที่อ่านหนังสือเตรียมตัวสอบได้ เนื่องจากจะค่อนข้างเงียบกว่า อ่านแล้วมีสมาธิมากกว่า อาคารจามจุรี 9 ที่สำคัญโซฟาที่ชั้น 1 นุ่มมาก น้อง ๆ อาจจะเห็นเพื่อนไปงีบหลับพักผ่อนก็เป็นได้ (แต่บางครั้งก็เสียงดังนะ ฮ่า ๆ และก็แล้วแต่คนด้วย) และในช่วงสอบที่นี่คนจะเยอะมาก ใครมีที่นั่งอ่านถือว่าทำบุญมาดีเลยเดียว และที่นี่ก็จะยืดเวลาเปิดให้บริการให้นานขึ้นถึงเที่ยงคืนด้วยเช่นกัน (แต่ละปีมีนโยบายต่างกัน ต้องติดตามประกาศการให้บริการแต่ละปีด้วย) แต่ขอบอกไว้เลยว่า ถึงยืดเวลาเปิดถึงดึก ๆ แล้ว ก็มีคนมาใช้บริการเยอะจนล้นเลยทีเดียว
ศูนย์กีฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือที่เด็กจุฬาฯ เรียกติดปาก ว่า “Sports Complex” เป็นอาคารสำหรับให้นิสิตมาออกกำลังกายได้ พูดง่าย ๆ ก็คือฟิตเนส นั่นเอง ที่นี้บริการฟรีแต่อาจมีค่าใช้จ่ายบ้าง หากต้องการบริการพิเศษ เช่น บริการให้ยืมและเช่าอุปกรณ์กีฬา เช่าตู้ล็อกเกอร์ บริการฝึกอบรมทักษะกีฬาหลากหลายชนิดกีฬา เป็นต้น นอกจากนี้ เวลาจัดงานแข่งกีฬา โดยเฉพาะงานกีฬาน้องใหม่ หรือ CU Freshy Game การแข่งกีฬาส่วนใหญ่ในแต่ละประเภทก็จะจัดขึ้นที่นี่ด้วย หลายท่านเห็นว่ามันฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งเป็นของรัฐบาลจึงอาจจะคิดว่า ที่นี่เป็นฟิตเนสที่ไม่ทันสมัย เก่า ๆ ถ้าคุณคิดอย่างนั้นก็คิดผิดแล้วละครับ ที่นี่ค่อนข้างทันสมัย ไม่แพ้ฟิตเนตหรู ๆ ตามห้างเลยครับ ไม่ลองก็ไม่รู้นะครับ
อาคารจามจุรี 9 หรือที่เด็กจุฬาฯ เรียกติดปากว่า “จาม 9” ตั้งอยู่ตรงข้ามตลาดสามย่าน เป็นอาคารสูง 6 ชั้น เป็นอาคารที่เด็กจุฬาฯ จะเข้าไปนั่งอ่านหนังสือ และทำงาน โดยแบ่งเป็นห้องเงียบและห้องใช้เสียง ภายในอาคารมีโต๊ะ กระดาน ปากกาไวท์บอร์ด มีห้องประชุม ไว้ให้บริการ ยิ่งช่วงสอบอาคารนี้จะเต็มไปด้วยนิสิต จนที่อ่านหนังสือไม่พอเลยทีเดียว พูดได้เลยว่าอัตราการแข่งขันในการแย่งที่นั่งนั้นสูงมาก แม้เป็นอาคารที่ใหญ่โตถึง 6 ชั้นก็ตาม ใครไม่สตรองก็แพ้ไป บางคนต้องมาตั้งแต่เช้า ๆ เพื่อมาจองที่นั่งอ่านหนังสือในตอนเย็น ซึ่งผิดกฎนะครับ อย่าไปทำตาม และหากพบสัมภาระวางไว้โดยที่ไม่มีเจ้าของ ดูก็รู้ครับว่าแบบไหนเป็นการวางของเพื่อจองที่ ซึ่งหากเจอ ก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เลยครับ โดยทั่วไปเจ้าหน้าที่จะนั่งอยู่บริเวณประตูที่แตะบัตรนิสิตเข้า ซึ่งอยู่บริเวณชั้น 3 นั่นเอง โดยช่วงสอบการเปิดให้บริการของอาคารจะดึกมากถึงเที่ยงคืนเลยทีเดียว และบริเวณชั้น 1 จะเปิดให้ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ภายในอาคารจามจุรี 9 ชั้น 2 เป็น ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ เปรียบเสมือนโรงพยาบาลหย่อม ๆ โดยบุคลากรที่มาทำงานนั้นจะมีทั้งอาจารย์แพทย์ อาจารย์เภสัช มาคอยให้บริการนิสิตอีกด้วย และที่สำคัญ นิสิตจุฬาฯ สามารถใช้บริการได้ฟรี ดีใช่มั้ยละครับ
ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามหอนาฬิกา ระหว่างคณะวิทยาและวิศวะ เป็นสถานที่ที่จัดนิทรรศการถาวรและชั่วคราว เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเกี่ยวกับประวัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสิ่งของที่มีคุณค่าต่อมหาวิทยาลัยอีกมากมาย
ตั้งอยู่ที่อาคารเปรมบุรฉัตร ตรงข้ามศาลาพระเกี้ยว เป็นสถานที่ที่บริการเสริมทักษะภาษาอังกฤษในกับนิสิตจุฬาฯ และบุคคลทั่วไป โดยมีบุคลากรจำนวนมากทั้งสัญชาติไทยและต่างสัญชาติมาให้บริการ น้อง ๆ นิสิตจุฬาฯ ปี 1 จะต้องผ่านการปรับพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษโดยมีวิชาภาษาอังกฤษบรรจุเข้าไปในหลักสูตรของคณะนั่นเอง นอกจากนี้ทางสถาบันภาษาก็มีห้องสมุด และแหล่งการเรียนรู้ในนิสิตเข้าไปใช้บริการได้ด้วย
ที่นี่ก็คล้าย ๆ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือไม่ก็เมืองทองธานี เพราะเป็นอาคารที่ใช้จัดนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น งานเปิดโลกกิจกรรม ก็จะมีชมรมต่างมาเปิดบูธ มานำเสนอกิจกรรมชมรมของตนเอง หรือไม่ก็เป็นงาน Job Fair ก็จะมีบริษัทต่าง ๆ มาแนะนำบริษัทตนเองเพื่อดึงดูดให้นิสิตจุฬาฯ ไปสมัครงานอีกทั้งบริเวณชั้นล่างของศาลาพระเกี้ยวยังเป็นที่ตั้งของร้านสหกรณ์จุฬาฯ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ และจุดบริการนิสิต (CU Student Corner) นอกจากนี้ บริเวณด้านหน้าศาลาพระเกี้ยวยังเป็นจุดปล่อยรถ Shutter Bus หรือรถป๊อปทุกสายตั้งแต่ สาย 1 ถึง 5 และ 5A ซึ่งทำให้ทุกเช้าเย็นจะมีนิสิตเยอะมากบริเวณนี้ เนื่องจากรอขึ้นรถป๊อปเพื่อไปยังบริเวณต่าง ๆ รอบมหาวิทยาลัย ในช่วงเวลาเร่งด่วนนั้น คิวจะยาวมาก อีกทั้งรถติดแบบสาหัสมาก โดยเฉพาะที่สยามและหน้ามาบุญครอง พี่ว่าเดินเองเร็วกว่า ฮ่า ๆ
น้อง ๆ หลายคนที่รู้ตัวว่าได้เรียนที่จุฬาฯ และต้องหาที่พักอยู่ก็ไม่ต้องกังวลไป หอในของจุฬาฯ สะดวก ปลอดภัย แถมราคาประหยัด ลองดูเผื่อเก็บเก็บไว้เป็นตัวเลือกนะ หอพักนิสิตจุฬาฯ มีจำนวนทั้งหมด 5 อาคาร โดยแบ่งได้ดังนี้
หอพักหญิง 3 อาคาร
1. ตึกจำปา เป็นอาคาร 5 ชั้น มีจำนวนห้องพักสำหรับนิสิต 70 ห้อง ห้องละ 4 คน รวมรับได้ 280 คน ค่าหอราคา 4,500 บาท เทอมต่อคน 1 ห้องมีรูมเมทรวม 4 คน
2. ตึกพุดตาน เป็นอาคาร 14 ชั้น (ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุง)
3. ตึกพุดซ้อน เป็นอาคาร 14 ชั้น มีห้องพักสำหรับนิสิต 223 ห้อง ห้องละ 4 คน รวมรับได้ 892 คน ค่าหอราคา 5,500 บาท เทอมต่อคน 1 ห้องมีรูมเมทรวม 4 คน
หอพักชาย 1 อาคาร
1. ตึกจำปี เป็นอาคาร 14 ชั้น มีจำนวนห้องพักสำหรับนิสิต 248 ห้อง ห้องละ 4 คน รวมรับได้ 992 คน ค่าหอราคา 4,500 บาเทอมต่อคน 1 ห้องมีรูมเมทรวม 4 คน
หอพักที่รับนิสิตทั้งชายและหญิง
1. หอพักชวนชม เป็นอาคารหอพัก 17 ชั้น มีจำนวนห้องพักสำหรับนิสิต 578 ห้อง พักห้องละ 2 คน โดยแบ่งเป็น
- นิสิตหญิงพักชั้น 2 – 12 จำนวน 390 ห้อง พักห้องละ 2 คน รวมรับได้ 780 คน
- นิสิตชายพักชั้น 13 – 17 จำนวน 188 ห้อง พักห้องละ 2 คน รวมรับได้ 376 คน
ตอนพี่เข้าปี 1 มีการเปิดหอพักชวนชมขึ้นมาใหม่ ทำให้พี่ตัดสินใจสมัคร โดยต้องดาวน์โหลดใบสมัครในเว็บไซต์ แล้วเข้าไปอ่านระเบียบการสมัครให้เรียบร้อย หลังจากนั้นนัดวันสัมภาษณ์แล้วรอการประกาศผลว่าจะได้สัมภาษณ์วันไหน โดยตอนพี่สัมภาษณ์ อาจารย์ก็จะถามเรื่องทั่วไป เช่น เรียนคณะอะไร ที่บ้านทำอาชีพอะไร รายได้พ่อแม่เท่าไหร่ มีความจำเป็นมากขนาดไหนถึงเข้ามาอยู่หอใน เราก็ตอบตามความจริง เพราะอาจารย์จะดูความเหมาะสมว่าควรหรือไม่ควรอยู่หอใน เสร็จแล้วก็จะประกาศผล ถ้ามีชื่อก็เตรียมเช็คอินหอใหม่ได้เลย ตึกชวนชมเป็นหอใหม่ล่าสุดที่เปิดให้บริการ โดยมีทั้งหมด 17 ชั้น ราคาห้องละ 3,500 บาท เดือน/คน (ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ) ใน 1 ห้องพักได้ 2 คน มีเครื่องอำนวยความสะดวก คือ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ลิฟท์ 24 ชั่วโมง กล้อง CCTV เตียง ตู้เสื้อผ้าโต๊ะทำการบ้าน เครื่องปรับอากาศ ระเบียงและห้องน้ำในตัว ถือว่าสะดวกสบายมากในราคาเท่านี้ แถมยังใกล้คณะที่เรียนอีกด้วย แต่ระบบหอในมีข้อจำกัดคือ ห้ามกลับหอเกิน 4 ทุ่ม ถ้าเกิดต้องลงชื่อทุกครั้งและต้องเข้าร่วมกิจกรรมตามที่หอพักกำหนด โดยจำนวนของกิจกรรมและการเข้าหอ จะเป็นหนึ่งในวิธีการคัดเลือกสำหรับอยู่หอในปีถัดไป รายละเอียดอื่น ๆ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ www.rcu.sa.chula.ac.th
ร้านอาหารเด็ดในรั้วจุฬาฯ
คณะนี้พี่ภูมิใจนำเสนอมากกกกกกก (ก.ไก่ล้านตัว) อาหารหลากหลายและอร่อยเกือบทุกร้านเลย โดยเฉพาะผู้ชาย เอ้ยไม่ใช่ แต่เป็นร้านบะหมี่จะบอกว่ารสชาติอร่อยไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนยังไงน้อง ๆ ต้องลองไปทดสอบดูนะ แต่ที่แน่ ๆ บรรยากาศแซ่บมากกก แซ่บลืม แซ่มจนลืมว่าต้องกลับคณะไปเรียนต่อกันเลยทีเดียว
มาถึงร้านที่สอง ขอบอกว่ายังคงอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่แต่อยู่ด้านนอกโรงอาหาร หลังจากกินของคาวในโรงอาหารเสร็จแล้วนั้น เรามาต่อกันด้วยของหวานที่เหมาะกับอากาศร้อน ๆ ในประเทศไทยมากกกกก มีไอศกรีมทั้งหมด 3 รส คือ รสโยเกิร์ต ชาโคล และทูโทน ส่วนตัวพี่ชอบทูโทนมากมีท็อปปิ้งให้เลือกด้วยทั้งผลไม้และขนมหลายชนิด
กินวนไปจ้า ไอติมหมดเดินร้อน ๆ ข้ามฝั่งมาเที่ยวหอกลาง เดินไม่ถึงสักทีผ่านคณะครุศาสตร์แวะกินปังเย็นชื่อดังก่อนดีกว่า ปังเย็นร้านนี้บอกเลยว่าอร่อยและได้เยอะมาก มีหลายรสให้เลือกไม่ว่าจะเป็นนมเย็น ชาเขียว โกโก้ ชาไทย (อันนี้เด็ดมากนึกว่าลูกไก่ทองมาเอง) และมีท็อปปิ้งที่หลากหลาย ปล. ถ้วยใหญ่มาก ถ้าใครมาเป็นคู่แนะนำให้ชวนเพื่อนมาเพิ่มช่วยกันกินช่วยกันหารแคล แบ่ง ๆ กันอ้วน ฮ่า ๆ
มาถึงร้านรองสุดท้ายที่พี่ยกให้ว่า เด็ด เด็ด เด็ด และเด็ด เพราะนอกจากจะอร่อยแล้วคนต่อคิวต้องมีความอดทนมากๆ น้อง ๆ อาจจะงงว่านี้คือร้านอะไร แนะนำเลยแล้วกัน นี่คือร้านก๋วยเตี๋ยวอดทน อดทนสมชื่อจริง ๆ เพราะว่าพี่ได้ไปจับเวลาแล้วเฉลี่ย 5 ทีต่อชาม การปรุงแต่ละชามเค้าจะใส่ใจมากจริง ๆ ปรุงทุกชามแต่ละชามจะมีความอร่อยที่เท่าเทียมมาก ๆ ส่วนตัวพี่ชอบร้านนี้มีเวลาว่าทีไรต้องหาทางไปกินเสมอ ๆ เราสามารถเลือกเครื่องบะหมี่เองได้ เครื่องพิเศษ ๆ ที่พี่ชอบเลยก็จะมี ปู เป็ด หมูแดง และบะหมี่จานแนะนำคือ บะหมี่แห้งเครื่องแล้วแต่ชอบเลย เด็ดตรงน้ำหมูแดงที่ราดบะหมี่แห้งนี่แหละ กลมกล่อมอร่อยจนเกือบเลียชามกันเลยทีเดียว
และแล้วก็มาถึงร้านสุดท้าย ร้านนี้พี่เชื่อว่าทุกรีวิวต้องมี นั่นคือร้านไก่ทอด อักษร ด้วยความกรอบของไก่ที่ถูกจริตใครหลาย ๆ คนจนต้องกลับมากินอีกและน้ำจิ้มที่อร่อยกว่าแม่ปรานอม สุดท้ายไม่มีอะไรจะรีวิว เพราะต้องมาชิมด้วยตัวเองไม่ใช่เพียงไก่ทอดอักษรนะ แต่ทุกร้าน เพราะร้านเหล่านี้ใครมาจุฬาใครเรียนจุฬา แนะนำเลย ต้องมากินนะ จริงจังจากใจ ฮ่า ๆ และต้องขอบคุณภาพสวย ๆ จากเพจ CU FOR FRESHMEN เพจเพื่อน้อง ๆ นิสิตใหม่ทุกคน ไปติดตามกันได้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอาณาเขตต่อกับสี่แยก 2 แห่ง คือแยกสามย่านและแยกปทุมวัน อีกทั้งแหล่งช้อปปิ้งชั้นนำของประเทศ เช่น สยามสแควร์ จามจุรีสแควร์ ก็ถือว่าเป็นพื้นที่ของจุฬาฯ เช่นกัน ดังนั้นเด็กจุฬาฯ อาจถูกเรียกว่า “นิสิตสามย่าน” หรือ “นิสิตสยาม” ก็ได้ ถือว่ารู้กันว่านี้คือเด็กจุฬาฯ ส่วนการเดินทางมาจุฬาฯ นั้นง่ายแสนง่าย จะมีเส้นทางไหนบ้าง มาดูกันเลย
- รถส่วนตัว, รถเมล์ (วิ่งมาตามถนนพญาไท ซึ่งจะผ่านและจอดที่ป้ายหน้าจุฬาฯ, ป้ายหน้าคณะวิทยาศาสตร์, ป้ายหน้าคณะบัญชี, ป้ายหน้าคณะนิเทศ และป้ายหน้าหอใน สาย 11 25 29 34 36 36ก. 40 47 50 93 113 141 163 172 177 501 และ 529, ถนนอังรีดูนังต์ สาย 16 21 และ 141, ถนนพระราม 1 สาย 11 15 25 40 54 73 204 และ 501, ถนนพระราม 4 สาย 4 21 34 47 50 67 93 109 141 163 172 และ 177)
- รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT (ลงสถานีสามย่าน ซึ่งจะใกล้คณะบัญชี)
- รถไฟฟ้า BTS (ลงสถานีสยาม ซึ่งจะใกล้คณะทันตะ, คณะเภสัช และคณะสัตวแพทย์)
- รถตู้ (ซึ่งคิวรถตู้จะอยู่ตรงบริเวณหน้าอาคารโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ ฝั่งถนนข้ามมาบุญครองนั่นเอง)
ถ้าพูดถึงสภาพการจราจรนั้น ยิ่งช่วงเย็น ๆ ประมาณ 16.00 น. เป็นต้นไป การจราจรค่อนข้างหนาแน่นมาก เพราะมีสถานศึกษาและห้างสรรพสินค้ามากมายตั้งอยู่ที่นี่ สำหรับผู้ที่มารถส่วนตัวนั้น การหาที่จอดรถ ภายในจุฬาฯ นั้นไม่ง่ายนัก เพราะพื้นที่ในมหาวิทยาลัยมีค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะช่วงเปิดเทอม พูดเลยว่าแล้วแต่ดวงจริง ๆ หรือไม่ก็ไปจอดที่ห้างรอบ ๆ จุฬาฯ ก็ได้ แต่ขอบอกไว้ก่อนว่า ค่าจอดนั้นแพงแสนแพง
ทางมหาวิทยาลัยเปิดให้บริการ “รถโดยสารปรับอากาศขนาดเล็ก” (Shuttle Bus) หรือรถ ปอ.พ. (เด็กจุฬาฯ จะเรียกติดปากว่า รถป๊อป) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้บริการตั้งแต่วันจันทร์ – เสาร์ เวลา 7.00 - 9.00 น. (วันเสาร์ให้บริการเฉพาะสาย 1 และ 2) เส้นทางการเดินรถมี 6 สาย คือ สาย 1, 2, 3, 4, 5 และ 5A โดยเส้นทางการเดินรถแต่ละสาย มีดังนี้
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยใจกลางเมืองใจกลางย่านธุรกิจ ห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่าง ๆ สนามกีฬา วัด พิพิธภัณฑ์ เป็นต้น อีกทั้งมีวิธีการเดินทางเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถยนต์ รถตู้ รถเมล์ ส่งผลให้ที่นี่สามารถดึงดูดคนให้หนาแน่นได้ตลอดปี เรามาดูกันดีกว่าครับ ว่าในพื้นที่โดยรอบของจุฬาฯ ที่กว้างใหญ่นั้น มีอะไรบ้าง ตามหมายเลขที่ระบุในแผนที่ภาพถ่ายทางดาวเทียม
1. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
2. ห้าง Siam Paragon
3. ห้าง Siam Center
4. ห้าง Siam Discovery
5. ห้าง Siam Square
6. ห้าง Siam Square One
7. ห้าง มาบุญครอง
8. สนามกีฬาแห่งชาติ
9. ห้าง Central World
10. ศาลพระพรหม เอราวัณ
11. วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร
12. ห้าง จามจุรีสแควร์
13. ตลาดสามย่าน
14. ห้าง I’m Park
15. สวนลุมพินี
น้อง ๆ ดูแล้วก็คงร้อง “โอโห ที่ช้อปปิ้งเยอะขนาดนี้” พี่ก็จะบอกว่า “ใช่ครับ เยอะมาก ๆ เลย” ต้องระวังกระเป๋าตังค์แฟบให้ดีเลย ต้องมั่นรักษาสุขภาพกระเป๋าตังค์อยู่เสมอ เพราะสิ่งยั่วยวนใจเยอะเหลือเกินครับ ไม่ว่าจะเป็นอาหารอร่อย ๆ เสื้อผ้าสวย ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย อยากได้อะไรก็มีแทบทุกอย่าง หากใครมาแถวนี้ช่วงเย็น ๆ ก็จะเห็นเด็กจุฬาฯ เต็มไปหมด ซึ่งคนอื่นอาจมองว่าเป็นเด็กมหาลัยไฮโซ เที่ยวสยามทุกวัน แต่ประทานโทษครับ เราไม่ได้ไฮโซ หรือตังค์เยอะอย่างที่ทุกคนคิดนะครับ และตังค์เก็บเราก็ไม่มีด้วย T_T แต่เราไม่มีที่ไปแล้วครับ เพราะมหาวิทยาลัยเราตั้งอยู่ที่นี่ บางคนถึงกับเบื่อแหล่งช้อปปิ้งแถวสยามซะด้วยซ้ำ และนี่คือความจริงครับ
สุดท้ายนี้พี่อยากฝากถึงการใช้ชีวิตในช่วงมหาวิทยาลัย ขอให้น้อง ๆ ตั้งใจและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งการเรียนและกิจกรรมเอาไว้ให้มาก ๆ พี่เชื่อว่าในรั้วจามจุรีแห่งนี้มีหลายสิ่งให้น้องได้เรียนรู้มากมายเอาเป็นว่าไม่ว่าจะเรียนหรือเล่น ขอให้น้อง ๆ ทำอย่างมีความสุขและสนุกไปกับสิ่งที่ทำ ที่อย่างน้อยเราได้เข้ามาเป็นเด็กจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง : พี่บอส วรุตม์ เก่งกิตติภัทร