เทคนิคการแพทย์ (Medical technologist หรือ Medical Laboratory Scientist หรือ Medical laboratory technologist) เป็นอาชีพที่มีบทบาทสำคัญในระบบสุขภาพเป็นอย่างมาก แต่คนจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่า เทคนิคการแพทย์ (หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “หมอแลป”) นั้น มีหน้าที่อะไร ทำงานอะไรกันบ้าง สำคัญต่อระบบสุขภาพอย่างไร ซึ่งในการเลือกคณะนั้น น้องจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ครบถ้วน ดูว่าเหมาะกับตัวน้องเองหรือไม่ เพราะนี่คือตัวกำหนดเส้นทางชีวิตของน้องเอง และอาชีพเทคนิคการแพทย์นี้ก็ไม่ได้เรียนสบาย ๆ ง่าย ๆ แต่กลับต้องใช้ความพยายาม มานะ อุตสาหะ มากพอสมควร เพราะอาชีพนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้ความรู้และทักษะเป็นอย่างมาก อีกทั้งเมื่อจบการศึกษา ยังต้องสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อประกันคุณภาพแต่ละบุคคลก่อนเข้าทำงานจริงอีกด้วย ดังนั้นบทความนี้ จะให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบทบาทของอาชีพนี้ ไว้ให้น้องพิจารณาเลือกศึกษาต่อนะครับ
จุดประสงค์หลักของเทคนิคการแพทย์ คือ การค้นหาและตรวจสอบสาเหตุความผิดปกติต่าง ๆ หรือ การเกิดโรคในร่างกายผู้ป่วย แล้วบันทึกเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการวินิจจัยโรคโดยแพทย์ต่อไป ซึ่งข้อมูลที่ได้นั้น ส่วนมากจะเป็นข้อมูลที่เป็นค่าทางห้องปฏิบัติการ (หรือที่เรามักคุ้นกับคำว่า “ผลแลป” นั่นเอง) เช่น การตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ การหาค่ากรดยูริกในกระแสเลือด การหาชนิดเชื้อจากเสมหะของผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งค่าทางห้องปฏิบัติการนั้นมีมากมาย นับไม่ถ้วนเลย ขึ้นอยู่กับสภาวะโรค และความเจ็บป่วยของผู้ป่วย ทั้งนี้ค่าทางห้องปฏิบัติการสามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยได้ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น
เช่น หากพบว่าค่าน้ำตาลในกระแสเลือดของผู้ป่วยมีค่าสูง แพทย์ก็สามารถใช้ข้อมูลนี้ ในการทำนายโรคและวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยรายนี้มี “อาจจะ” เป็นโรคเบาหวาน หรือถ้าหากตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะ แพทย์ก็อาจจะวินิจฉัยได้ว่า ผู้ป่วยรายนี้อาจมีภาวะไตอักเสบ หรือโรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคมะเร็งบางชนิด หรืออีกหลายโรคที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งต้องใช้องค์ความรู้อีกหลายแขนงมาประกอบการวินิจฉัยโรค เห็นมั้ยว่า ถ้าขาดข้อมูลทางห้องปฏิบัติการมาประกอบการวินิจฉัย แพทย์จะไม่ทราบเลยว่า สภาวะสารภายในร่างกายผู้ป่วยเป็นอย่างไร มีความผิดปกติอะไรบ้าง ซึ่งบางสภาวะโรคนั้น อาจจะไม่สามารถเห็นจากภายนอกได้โดยง่าย เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
อีกทั้งค่าทางห้องปฏิบัติการนั้นยังสามารถดูความคืบหน้าของการรักษาของผู้ป่วยได้ ว่ามีทิศทางเป็นอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะดีขึ้น แย่ลง หรือไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีค่าน้ำตาลในกระแสเลือดเมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน เป็นต้น ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีค่าน้ำตาลในกระแสเลือดที่มากขึ้น (อาการแย่ลง) แพทย์จะต้องหาสาเหตุว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น อาจจะเกิดจากการรักษาไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือผู้ป่วยไม่ให้ความร่วมมือในการรับประทานยา หรือไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินอาหาร เป็นต้น และปรับเปลี่ยนการรักษาต่อไปเพื่อให้ผู้ป่วยได้หายจากโรค หรือบรรเทาโรคของผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
บทบาทของเทคนิคการแพทย์ นอกเหนือจากการทำงานหาค่าทางห้องปฏิบัติการ ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น การเป็นนักวิจัย ค้นคว้า หาวิธีตรวจวิเคราะห์ใหม่ ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการใหม่ ๆ เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคในประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ เทคนิคการแพทย์ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้คนที่มีบุตรยาก มีบุตรได้ง่ายขึ้นผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น GIFT, IVF, ZIFT, หรือ ICSI เป็นต้น อีกทั้งการสืบคดีบางอย่างที่ต้องหา DNA ของคนร้ายในสถานที่เกิดเหตุ หรือ เพื่อพิสูจน์หาความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก ก็ทำได้เช่นกัน
น้อง ๆ คงจะเห็นแล้วว่า เทคนิคการแพทย์มีบทบาทสำคัญต่อระบบสุขภาพเป็นอย่างมาก การรักษาผู้ป่วยจากโรคใด ๆ จำเป็นต้องใช้ทีมสหวิชาชีพในการช่วยวินิจฉัย ดูแลรักษา เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งทุกอาชีพนี้มีความสำคัญด้วยกันทั้งนั้น ขาดอาชีพใดอาชีพหนึ่งไปไม่ได้เลย สุดท้าย น้อง ๆ คงเห็นบทบาทของอาชีพเทคนิคการแพทย์ไปพอสังเขปแล้ว พี่หวังเล็ก ๆ ว่ามันจะเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ เลือกคณะที่น้องต้องการเข้าศึกษาได้นะครับ สวัสดีครับ
เรื่อง : พี่บอส วรุตม์ เก่งกิตติภัทร