รู้หรือไม่ ? เรียนการแสดง ไม่ได้เรียนเพื่อเป็นนักแสดงอย่างเดียว ยังมีอีกหลายศาสตร์ให้ศึกษา มาฟังจากปากรุ่นพี่ที่รู้ตัวว่าชอบอะไร และไม่ลังเลที่จะเลือกทำตามสิ่งที่ตัวเองชอบ น้ำตาล-จิณห์วรา โพธิ์รักษา รุ่นพี่ปี 4 สาขาวิชาสื่อสารการแสดง ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเลยว่าการแสดงให้อะไรมากกว่าแค่การแสดง
เลือกในสิ่งที่เป็นตัวเอง
ชอบศาสตร์เกี่ยวกับด้านการละคร ชอบดูหนัง ดูมิวสิกคัล เลยอยากเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ อยากรู้ว่าเขาทำกันยังไง ไม่ลังเลเลยที่จะเลือกเรียนสาขาสื่อสารการแสดง เลือกที่จะเรียนในสิ่งที่เป็นตัวเอง ไม่ใช่ทุกคนที่กล้าออกนอกกรอบของสังคม บางคนทำงานไปทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ชอบ อาจจะเพื่อเงิน หรือมีเหตุผลอื่น ๆ แต่เราเลือกสิ่งที่ชอบจริง ๆ เรียนจบก็อยากเป็นคนแต่งเพลงมิวสิกคัล เพราะว่าชอบทั้งการแสดง ร้องเพลง และการแต่งเพลง
สื่อสารการแสดงคืออะไร
การสื่อสารที่ใช้การแสดงเป็นเครื่องมือ สื่อสารให้ตรงกับผู้รับสารที่แตกต่างกันออกไป ต้องทำให้คนดูเกิดประเด็นความคิดอะไรตาม พร้อมกับได้เสพความงามไปในตัว เราจะได้เรียนตั้งแต่ทฤษฎีการสื่อสาร การละคร การเขียนบท การกำกับ การแสดง รวมไปถึงการจัดการการละคร และได้ลงมือปฏิบัติจริง ทำละครจริง ๆ และยังทำให้รู้จักการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น รู้จักการเลือกใช้วิธีในการสื่อสาร เข้าใจความเป็นไปของโลกมากขึ้น
การเรียนแต่ละชั้นปี
ปี 1 และ ปี 2 เรียนพื้นฐานทางด้านนิเทศศาสตร์เหมือนกันทุกสาขา พอขึ้นปี 3 เริ่มเข้าภาควิชา เทอม 1 ก็เรียนทฤษฎีทั้งหมด การแสดง การเขียนบท เทอม 2 เริ่มปฏิบัติ ในทุก ๆ รูปแบบของละคร และฝึกงาน ปี 4 จะได้เรียนการจัดการด้านโปรดักชั่น การทำละคร สัมมนาการแสดง การทำวิจัย และสุดท้ายก่อนจบทุกคนต้องทำซีเนียร์โปรเจ็กต์คือทำการแสดงโดยนิสิตจะต้องสร้างบทละครขึ้นมาเอง
ละครเวที
มันสำคัญมาก ๆ ต่อสาขาวิชาของเรา เราจะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทำงานกันจริง ๆ เราจะแบ่งกันทำงานในแต่ละฝ่าย และจะได้เห็นการทำงานของทุก ๆ ฝ่าย
กิจกรรมแน่น
เป็นการเรียนที่สนุกมาก อยู่กันเหมือนเป็นครอบครัว ทั้งเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง อาจารย์ก็สอนอย่างใกล้ชิดมาก ให้อะไรเราได้จริง ๆ ทุกวันคือการเรียนรู้ เรียนสาขานี้ต้องแบ่งเวลาให้เป็น เรียนและต้องทำกิจกรรมไปด้วย เป็นภาคบังคับนิดนึง เพราะสาขานี้กิจกรรมเยอะมาก และยังมีไปช่วยงานกิจกรรมอื่น ๆ นอกสาขาด้วย เรียนก็ต้องทำให้ดี กิจกรรมก็ต้องทำให้สำเร็จ เพื่อเป็นการสะสมประสบการณ์ไปด้วย
ลองค้นหาตัวเอง
อยากให้น้อง ๆ ไปค้นหาตัวเอง ค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ทำแล้วมีความสุข และถ้าการแสดงคือความสุข ก็เลือกเรียนสาขานี้เลย เพื่อที่จะเราจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขต่อไป สำหรับคนที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ก็ลองดูว่าตัวเองทำอะไร ถนัดอะไร ลองต่อยอดจากตรงนั้น เช่น ชอบฟังเพลง ชอบร้องเพลง ก็ลองทำเพลง เขียนเพลง ซึ่งถ้าเราไม่ได้ลองไปศึกษา เราก็จะไม่มีวันรู้เลย บางทีเราอาจจะเขียนบทเป็น อาจจะคิดคอนเทนต์ได้ ลองฝึกฝนแล้วเราจะค้นพบตัวเองได้มากขึ้น
การเตรียมตัวสอบ
อยากให้ตั้งใจเรียน และสะสมประสบการณ์การทำกิจกรรมบ้างก็ดี การสอบเข้ามีทั้งรับตรงและแอดมิชชั่น เลือกยื่นคะแนนได้หลายแบบ แล้วแต่ความถนัดของตัวเอง ตอนนั้นเราถนัดฝรั่งเศส เลยยื่นแอดมิชชั่นที่ใช้คะแนน PAT 7 ภาษาฝรั่งเศส เน้นติวภาษาฝรั่งเศส พยายามทำคะแนนให้ได้เยอะ ๆ น้อง ๆ ควรรู้ว่าตัวเองถนัดวิชาอะไร ถ้าทำ GAT ได้ดี ก็มุ่งมั่นวิชาไปเลย ทบทวนบ่อย ๆ และไม่ท้อค่ะ
ตลาดงาน
จบแล้วต้องเป็นนักแสดงหรือเปล่า มันก็เป็นความใฝ่ฝันของอย่างหนึ่งของผู้เรียนการแสดงอยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดว่าไม่ได้เป็น หรือสนใจด้านอื่น ๆ ก็ยังมีงานอีกหลากหลาย ตลาดค่อนข้างกว้างมาก งานวงการบันเทิง หรือทุกอย่างที่เราผลิตเป็นคอนเทนต์ออกมาในสื่อ เราก็ทำได้หมด อย่างตอนนี้ก็ภาพยนตร์ ซีรีส์ แคสติ้ง มีรุ่นพี่ให้ไปช่วยงานมากมาย เรามีสกิลการแต่งเพลง พี่ ๆ ก็จะให้ไปช่วยแต่งเพลง เพลงโฆษณา เพลงละคร เพลงโปรโมท เหมือนยังขาดคนที่มีความสามารถด้านนี้อยู่ ยิ่งตอนนี้มีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นเยอะมากเขาก็ยิ่งต้องการคนผลิตคอนเทนต์ มีตลาดการทำงานรองรับแน่นอนค่ะ
ข้อมูลการสอบเข้า
สาขาวิชาสื่อสารการแสดง ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
www.commarts.chula.ac.th
รับตรง
- รับตรง (แบบปกติ)
- โครงการจุฬาฯ - ชนบท
- โครงการผู้มีความสามารถดีเด่นระดับชาติทางกีฬา
Admissions
พื้นฐานวิทยาศาสตร์ GPAX 20% O-NET 30% GAT 30% PAT 1 20%
พื้นฐานศิลปศาสตร์ รูปแบบที่ 1 GPAX 20% O-NET 30% GAT 50%
พื้นฐานศิลปศาสตร์ รูปแบบที่ 2 GPAX 20% O-NET 30% GAT 30% PAT 7 20% (ฝรั่งเศส/เยอรมัน/ญี่ปุ่น/จีน)