ถ้าพูดถึงคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คงมีใครหลายคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าคณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไร เรียนไปในแนวไหน ยิ่งถ้าพูดถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครก็ยากเกินไปที่หลายคนจะรู้จัก แต่จะรู้จักกันดีในแทบภูมิภาค เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครเป็นมหาวิทยาลัยในภูมิภาค และยังเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏภาคอีสานแห่งหนึ่งที่มีนักศึกษาให้ความสนใจและถือเป็นตัวเลือกหนึ่งของแถบจังหวัดรอบข้างอย่าง มุกดาหาร นครพนม อุดรธานี และเป็นมหาวิทยาลัยที่ถือว่าตอบโจทย์ชุมชนและท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นคณะที่เปิดสอนมายาวนานโดยมีคณบดีคือ อาจารย์รัฐพล ฤทธิธรรม ก่อตั้งมาได้ 50 ปีแล้ว และได้ผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพมีความเป็นจิตอาสาออกสู่สังคมนับไม่ถ้วน เปิดสอนมีทั้งหมด 11 สาขา
เคยโดนคำถามต่าง ๆ นานา ว่าเรียนจบคณะนี้มาจะไปทำงานอะไร ? ทำไมไม่เรียนครูเป็นข้าราชการไปเลย… สำหรับใครที่ก้าวเข้ามาเรียนในคณะนี้ก็จะได้คำตอบอย่างเดียวกันว่า เราเข้ามาเรียนคณะนี้เพราะเราอยากพัฒนาตัวเองไปในด้านอื่น ๆ บ้างไม่ใช่แค่อาชีพครูที่จะมั่นคงได้ อาชีพอื่น ๆ ก็สามารถมั่นคงได้ และเราจะเรียนเพื่อพัฒนาจากตัวเราเองและไปพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นตามความประสงค์ของคณะ
และคนที่ได้เข้ามาเรียนที่นี่ถือว่าตัวเองโชคดีที่สุด เพราะได้เรียนมหาวิทยาลัยที่ใกล้บ้านใกล้ครอบครัว และยังได้เรียนคณะสาขาที่ตัวเองชอบอีกด้วย เสาร์ – อาทิตย์ สามารถเดินทางกลับมาหาพ่อแม่ได้สะดวก
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีการสร้างเสริมศักยภาพของนักศึกษาทั้ง 11 สาขา เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น สาขาภาษาอังกฤษ, สาขาภาษาอังกฤษธุรกิจ, สาขาการท่องเที่ยวและโรงแรม ทั้ง 3 สาขานี้เรียนเน้นกับภาษาและการบริการเป็นหลัก เน้นภาษาอังกฤษ แต่มีเรียนเพิ่มเติม เช่น เรียนเพิ่มเติมภาษาลาว เวียดนาม จีน เพื่อที่จะพัฒนาการใช้ภาษาของนักศึกษาเพื่อก้าวเข้าสู่ AEC และมีอาจารย์ต่างชาติเข้ามาสอนในคณะคือ ฟิลิปปินส์ อเมริกา อังกฤษ จีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา
สาขาวิชาดนตรี, สาขาวิชาศิลปกรรม จะเรียนศาสตร์ศิลป์เกี่ยวกับการออกแบบและศิลปะ ประติมากรรม การปั้น วาดภาพ จิตกรรมฝาผนัง การเล่นดนตรี กีต้าร์ กลอง ดนตรีไทย โปงลางอีสาน ดนตรีสากล
สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษาเพื่อการพัฒนา, สาขาวิชารัฐศาสตร์, สาขาวิชาพัฒนาชุมชน, สาขาวิชานิติศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับกฎหมาย ศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์ การบริหารชุมชนและท้องถิ่น การออกค่ายจิตอาสาเพื่อชุมชนเยอะแยะมากมายตามวัตถุประสงค์หลักของคณะและมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาและตอบโจทย์ชุมชนและท้องถิ่นมากที่สุด นักศึกษาที่จบไปได้งานตรงตามสายที่เรียนมา 70% จึงทำให้คณะอาจารย์มีกำลังแรงใจที่จะพัฒนานักศึกษาให้มีศักยภาพออกสู่ตลาด ทำงานให้ท้องถิ่นและชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์, สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร 2 สาขาสุดท้ายนี้ จะสอนศาสตร์เกี่ยวกับการสื่อสาร สารสนเทศน์เรียนเกี่ยวกับการเป็นบรรณารักษ์ การจัดหมวดหมู่หนังสือและประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ส่วนภาษาไทยเพื่อการสื่อสารจะเรียนเป็นการสื่อสารทั้งหมด เช่น การสื่อสารระหว่างบุคคล สื่อสารมวลชนเกือบทุกแขนง เรียนเหมือนกับนิเทศศาสตร์เกือบทั้งหมดและแต่ละปีสาขาภาษาไทยจะจัดละครเวทีที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น และสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร มีรุ่นพี่ที่จบไปและได้ทำงานตรงกับสายที่เรียนมา เช่น กิ๊ฟ นัดดา ภูกันดาน และอ้อย นิตติยา บุญตาวัน ทั้ง 2 คน มีความสุขในการทำงานและมีความภาคภูมิใจในสายงานนี้ ลองมาฟังถึงความภาคภูมิใจจากปากของกิ๊ฟ และอ้อยกันค่ะ
กิ๊ฟ นัดดา ภูกันดาน ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร รุ่นที่ 3
ปัจจุบันทำงานพิสูจน์อักษร บ.วัชรพล หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ความคิดครั้งแรกที่เข้ามาเรียนคิดว่าจะได้เรียนแค่พื้นฐาน แค่หลักภาษา วรรณกรรม วรรณคดี ท่องกลอน ขั้นเบสิกอะไรประมาณนี้ที่ต่อจากตอนมัธยม แต่พอได้มาเรียนก็ต่างจากที่คิดไว้เยอะมาก ๆ มันลึกกว่านั้นเยอะ อาจารย์สอนให้เราได้วิจารณ์ทั้งตัวละครทั้งผู้เขียน มีวิชาที่สอนไปในทางสื่อสารมวลชนเยอะมาก ทั้งการเขียน การทำข่าว รายงานข่าว การพูดทางวิทยุกระจายเสียง ได้จัดรายการ และที่ชอบที่สุดเลยคือการได้แสดงละครเวทีที่ยิ่งใหญ่ และสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ตอบโจทย์ตัวกิ๊ฟมากที่สุดเลย เพราะเราเป็นคนกล้าแสดงออกชอบการพูดการสื่อสาร การที่จะสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการมันเป็นสิ่งที่ดีมากเลย นอกจากนี้ก็ยังมีหลายอย่างที่คอยเป็นแรงผลักดันให้ก้าวไปต่อ ทั้งอาจารย์ในสาขาในคณะที่คอยเพิ่มพูนความรู้ใหม่ ๆ ให้เราอยู่ตลอดเวลา ถ้าพูดถึงคณะมนุษยศาสตร์ของเรา เราจะอยู่กันเป็นครอบครัวซะมากกว่า ทุก ๆ คนช่วยกันสามัคคีกันถึงจะสำเร็จและทำให้คณะของเราน่าเรียนมากยิ่งขึ้น และผลักดันให้กิ๊ฟก้าวมาอยู่ ณ จุดนี้ได้
อ้อย นิตติยา บุญตาวัน ภาษไทยเพื่อการสื่อสารรุ่นที่ 3
ปัจจุบันทำงานเจ้าหน้าที่ข่าว SMS และรีไรต์เตอร์ ที่สำนักข่าวทีนิวส์
จุดเริ่มต้นที่ทำให้มาเรียนสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เริ่มจากการที่เรามีความสนใจและชอบภาษาไทยเป็นทุนเดิม และที่สำคัญคือชอบอ่านและเขียน เหตุผลที่เลือกเรียนสาขานี้ก็เพราะความชอบโดยส่วนตัว จึงทำให้อยากเรียนให้ลึก จะได้ใช้ภาษาไทยให้ถูก ทั้งการพูด การอ่าน และรวมทั้งการเขียน การเรียนในสาขานี้สำหรับเราคิดว่าบางวิชาก็ถือว่ายาก แต่ด้วยความที่เราชอบของเราเอง เลยพยายามเอาความยากนี่แหละ มาผลักดันตัวเอง และก้าวมาจึงจุดที่มีงานทำ และเป็นงานที่ชอบมากที่สุดค่ะ
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หนทางที่จะเข้ามาศึกษาต่อที่นี่คือ การสอบตรงค่ะ ซึ่งเมื่อก่อนจะสอบเข้าอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้มีแบบโควตาของคณะ เช่นโควตาเรียนดี กิจกรรมดี และจะแบ่งว่าใน 11 สาขานี้ จะรับโควตาเรียนดี กิจกรรมดี กี่คน อย่างสาขาวิชาภาษาไทย ปีการศึกษา 2559 ที่ผ่านมา รับโควตาเรียนดี กิจกรรมดี อย่างละ 5 คน รวมเป็น 10 คน และ
นอกนั้นจะเป็นการสอบตรง ซึ่งสาขาวิชาภาษาไทยจะรับนักศึกษาแต่ละปีในจำนวนที่ไม่เท่ากัน และรับในจำนวนจำกัด บางปีรับไม่เกิน 50 คน บางปีรับไม่เกิน 40 คน สาขาวิชาภาษาไทยในบางปีจะมีอยู่ 2 ห้อง ห้อง 1 เป็นนักศึกษาไทย ห้อง 2 เป็นนักศึกษาจีนประมาณ 10 คน และในสาขาอื่น ๆ ก็จะมีการรับที่ไม่เหมือนกัน อย่างสาขาพัฒนาชุมชน รัฐศาสตร์ การท่องเที่ยวและโรงแรม จะรับนักศึกษาเยอะทั้งโควตาและสอบตรง ทั้ง 3 สาขานี้ จะมีสาขาละ 3 ห้อง ตกห้องละ 30 กว่าคน เป็นนักศึกษาไทยทั้งหมด ส่วนสาขาที่เหลือจะรับนักศึกษาไม่เกินสาขาละ 1 ห้อง ตกห้องละ 40-50 คน
แต่ถ้าเป็นการสอบตรง ทางมหาวิทยาลัยจะเปิดสอบตรงด้วยกันอยู่ 2 รอบ ไม่ใช้คะแนน O-NET และคะแนน GAT PAT จะเอาคะแนนสอบตรงอย่างเดียว ในขั้นตอนการสมัครสอบนั้น จะกำหนดไว้ว่า 1 คนยื่นใบสมัครได้ 1 ใบ ในใบสมัครสอบนั้นสามารถลงได้ 3 สาขาวิชา เป็นลำดับที่ 1, 2, 3 อยากเรียนสาขาไหนมากที่สุดให้ลงไว้ลำดับที่ 1, 2, 3 ตามลำดับ โดยจะสอบทั้งหมดคือ 5 หมวดสาระการเรียนรู้ คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ใช้เกณฑ์การตัดสินให้คะแนนผู้ที่มีสิทธิ์สอบเข้าสัมภาษณ์ คือ ถ้าสมมติเลือกลงสาขาวิชาภาษาไทยไว้ลำดับที่ 1 รัฐศาสตร์ลำดับที่ 2 การท่องเที่ยวลำดับที่ 3 ต้องได้คะแนนสอบตามที่สาขาวิชาภาษาไทยกำหนดไว้ แต่ถ้าคะแนนไม่ถึงก็จะไปพิจารณาในลำดับที่ 2 ว่าคะแนนถึงไหม ถ้าไม่ถึงก็จะพิจารณาลำดับที่ 3 แต่ถ้าไม่ผ่านการสอบ คะแนนสอบไม่ถึง สามารถไปรอสมัครสอบในรอบที่สองได้ ถ้ารอบที่ 2 ยังไม่ผ่านการสอบ โค้งสุดท้ายจะเป็นรอบเก็บตกให้ผู้ที่มีความประสงค์อยากจะเข้าศึกษาต่อที่นี่เข้ามายื่นความจำนงและทางมหาวิทยาลัยจะรับพิจารณาอีกรอบ สรุปแล้วรวมทั้ง 11 สาขาในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จะรับนักศึกษาประมาณ 500 กว่าคนต่อปีการศึกษาทั้งโควตาและรับตรง สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.snru.ac.th และ http://hms.snru.ac.th/th
ฝากถึงน้อง ๆ นะคะ อยากให้คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีสำหรับน้อง ๆ ที่กำลังหาที่เรียน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ยินดีต้อนรับน้อง ๆ ทุกคนที่มีความตั้งใจและมีความใฝ่ฝันค่ะ
เรื่อง : จากรุ่นพี่คณะสามสาวสุดสวย
เกศราภรณ์ พลศรีดา
แคทรีญา พรหมรินทร์
สุปรียา เสริมมติวงศ์