อยากสร้างหุ่นยนต์ต้องเรียนอะไร และเรียนยากไหม ? แม็ค กฤตธัช สาทรานนท์ รุ่นพี่ชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมมาแชร์ประสบการณ์การเรียนให้น้อง ๆ ที่สนใจหุ่นยนต์ได้ศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ และต้องบอกว่าถ้าอยากศึกษาเรื่องหุ่นยนต์ต้องที่นี่เลย
FIBO KMUTT
สถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรเฉพาะทาง ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ก่อนหน้านี้จะมีแค่ปริญญาโทและปริญญาเอก ปริญญาตรีเพิ่งเปิดมา 3 ปี ผมเป็นรุ่นแรกครับ วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นหลักสูตรที่บูรณาการความรู้ด้านวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เรียนในรูปแบบโมดูล คือการเชื่อมโยงความรู้แขนงต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
หลักสูตร FIBO
ปี 1 อาจารย์จะสอนตั้งแต่พื้นฐานเลย หุ่นยนต์คืออะไร มีกี่ประเภท โลกของเรามีหุ่นยนต์อะไรใช้แล้วบ้าง เทคโนโลยีไปได้ไกลถึงขนาดไหนแล้ว เป็นการเปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้ให้มากขึ้นครับ พอขึ้นปี 2 เรียนระบบการสร้างต่าง ๆ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกล ไฟฟ้า โปรแกรมมิ่ง อิมเมจโปรเซสซิ่ง และกระบวนการคิด ความคิดสร้างสรรค์ ปี 3 นำทักษะความรู้มาประยุกต์เข้าด้วยกันและมีฝึกงาน ส่วนปี 4 ทำโปรเจ็กต์ เตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่อาชีพการทำงาน
พัฒนาตัวเองตลอดเวลา
เรียนไปด้วย ปฏิบัติไปด้วย แต่ละปีจะมีโปรเจ็กต์ให้ทำ ต้องพัฒนาฝีมือในด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะสร้างโปรเจ็กต์ให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ถามว่ายากไหม ผมว่าไม่ยากนะครับ เพราะเราฝึกพื้นฐาน ฝึกกระบวนการต่าง ๆ มาเป็นขั้นตอนอยู่เลย แต่อาจจะเรียนหนักหน่อย เพราะเรามีอะไรทำตลอดเวลา ไม่ค่อยมีเวลาว่างสักเท่าไร ทำโปรเจ็กต์ ทำการบ้าน ที่นี่มีทั้งนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก หากเรามีปัญหาอะไร สามารถไปปรึกษาพี่ ๆ ได้ครับ หรือว่าเราอยากจะไปช่วยงานรุ่นพี่ เพื่อพัฒนาตนเอง ก็สามารถทำได้ครับ
ไม่มีพื้นฐานหุ่นยนต์ก็เรียนได้
เรียนสายวิทย์คณิต ศิลป์คำนวณ หรือ ปวช. เครื่องกล ไฟฟ้า หรือสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานหุ่นยนต์ก็เรียนได้ มันอยู่ที่ใจ ว่าเราต้องการจะศึกษามันจริง ๆ หรือเปล่า ต้องเป็นคนที่ชอบหาความรู้ใหม่ ๆ ชอบเทคโนโลยี เราจะสร้างหุ่นยนต์เราต้องตามติดเทคโนโลยีให้ทัน การสอบเข้าก็เน้นพวกวิชา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์
เรียนในสิ่งที่ชอบ
ตอนมัธยมผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ มันสนุก มันน่าทึ่งที่เราสามารถสั่งการหุ่นยนต์ให้ทำอะไรก็ได้ ถือเป็นเทคโนโลยีที่สุดยอด เลยเป็นความฝันว่าจะเรียนต่อทางด้านหุ่นยนต์ ข้อดีของการได้เรียนสิ่งที่ตัวเองชอบ คือเราจะมีไฟ มีพลังในการทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ไม่เครียดจนเกินไป สนุกในการทำงาน พร้อมที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย
ตลาดงาน
เรียนจบแล้วสามารถไปเป็นนักวิจัย นักพัฒนาซอฟต์แวร์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับหุ่นยนต์ หรือวิศวกรโรงงานที่ทำเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ซึ่งจะผลักดันทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์มากขึ้น เป็นตลาดที่ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยเป็นฐานการผลิตด้านอุุตสาหกรรม หุ่นยนต์สามารถเข้าไปช่วยให้เรามีกำลังในการผลิตมากขึ้น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ครับ
ข้อมูลการสอบเข้า
สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
www.fibo.kmutt.ac.th
รับตรง
• โควตา 2B-KMUTT
• โครงการเรียนดี
• โครงการใช้คะแนน GAT/PAT
• โครงการ Active Recruitment
Admissions
• ใช้คะแนน GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 15%, PAT 1 15%, PAT 3 20%