หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเด็กไทยที่คว้าแชมป์การแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลอัตโนมัติ World RoboCup 2008 มาได้คือเขาคนนี้ ช้าง-มหิศร ว่องผาติ ประธานบริษัท Hiveground ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ไทยสมัยใหม่และมีความมุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและสร้างหุ่นยนต์เพื่อส่งออกไปทั่วโลก
จุดเริ่มต้นที่ทำให้สนใจหุ่นยนต์
การ์ตูนเรื่องโดราเอมอนที่ชอบอ่านตอนเด็ก ๆ ทำให้เรารู้สึกอยากมีหุ่นยนต์บ้าง แล้วทำให้เราได้อ่านหนังสือ ได้ทำโน่นทำนี่ และรู้สึกว่าอยากประดิษฐ์ของ ก็เริ่มหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาประดิษฐ์ แล้วก็พัฒนามาเรื่อย ๆ เป็นเครื่องยนต์กลไก รถบังคับต่าง ๆ สุดท้ายก็กลายเป็นหุ่นยนต์
หุ่นยนต์ตัวแรกที่ประดิษฐ์
ถ้าเป็นตอนสมัยเรียนอยู่ที่ภูเก็ตน่าจะเป็นเรือเล็ก ๆ ที่ติดมอเตอร์และมีใบพัด ให้มันเคลื่อนที่ไปเอง อาจจะดูไม่ใช่หุ่นยนต์เท่าไร แต่ถ้าหุ่นยนต์ที่ค่อนข้างจริงจังก็จะเป็นหุ่นยนต์เตะฟุตบอลที่ทำสมัยอยู่จุฬาฯ เริ่มทำตอนที่อยู่ปีสองครับ ผมอยู่ชมรมนักประดิษฐ์วิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พวกเราก็จะส่งหุ่นยนต์เข้าแข่งขันเรื่อย ๆ หลายรายการ เผอิญว่าตอนนั้นมีการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งเป็นการแข่งขันที่จะหาตัวแทนประเทศไทยไปแข่งที่ต่างประเทศ แล้วพอดีมีพี่ที่ชมรมสนใจเราก็เลยฟอร์มทีมกันขึ้นมา
นิยามคำว่าหุ่นยนต์
มีคนให้คำนิยามเยอะมาก เราแบ่งเป็นคร่าว ๆ ได้ 2 ลักษณะ คือ หุ่นยนต์ที่อยู่ในอุตสาหกรรม พวกแขนกล หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือ หุ่นยนต์ที่อยู่ในบ้านคน เรียกว่า หุ่นยนต์บริการ ส่วนอะไรเป็นหุ่นยนต์ อะไรไม่เป็นหุ่นยนต์ ขึ้นอยู่กับว่าใครตีความมากกว่าครับ แต่โดยหลัก ๆ แล้วคือถ้าพูดถึงหุ่นยนต์คนจะนึกถึงเครื่องจักรที่เคลื่อนที่เองได้โดยที่ไม่ต้องมีคนควบคุม โดยการเคลื่อนที่นั้นอาจจะเป็นลักษณะของการใส่โปรแกรมไว้ก่อนก็ได้ หรือมีการใช้ข้อมูลจากข้างนอก เช่น ใช้เซ็นเซอร์ ใช้กล้อง ใช้สวิตซ์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ตามโปรแกรมที่วางไว้ล่วงหน้า ส่วนอนาคตอันใกล้นี้ ก็เป็นหุ่นยนต์ที่เริ่มเคลื่อนที่ได้เองโดยที่ไม่ต้องมีการตั้งโปรแกรม ตั้งแต่ต้นจนจบไว้ล่วงหน้า เช่น พวกรถยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ พวกนั้นเราสามารถจะบอกจุดเริ่มต้นจุดสุดท้าย แล้วรถก็จะเริ่มเคลื่อนที่ไปเอง จะตอบสนองกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นอัตโนมัติ
เพราะอะไรจึงตัดสินใจทำบริษัทเกี่ยวกับหุ่นยนต์
ช่วงที่เรากำลังจะเริ่มตั้งบริษัทนั้น ทุกคนเรียนต่ออยู่ต่างประเทศ ตัวผมเองอยู่ที่ญี่ปุ่น เวลาที่เราจะประดิษฐ์อะไรก็จะมีปัญหาไม่มีชิ้นส่วนนั้นไม่มีชิ้นส่วนนี้ เราก็เลยเริ่มหางานสักงานเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำของร่วมกัน พอเริ่มทำร่วมกันมันเหมือนกับว่าไม่มีจุดมุ่งหมายว่าทำไปเพื่ออะไร เหมือนกับการแข่งที่เหมือนกับว่าเราไม่ได้แชมป์โลกสักที เราก็เลยมาตั้งบริษัทให้เป็นจุดมุ่งหมายร่วมกันว่าเราจะทำบริษัทหุ่นยนต์ของคนไทยกัน
ไอเดียในการสร้างหุ่นยนต์แต่ละตัวได้มาจากอะไร
HiveGround เป็นบริษัทที่เรียกว่าอยากทำหุ่นยนต์ โดยที่เราไม่ได้ระบุว่าอยากทำหุ่นยนต์อะไร ในช่วงแรก เป็นช่วงที่เราค้นหาว่าหุ่นยนต์ที่เหมาะสมกับประเทศไทยคืออะไร ก็ทำอยู่หลายโปรเจ็กต์ซึ่งก็ทำให้ได้เรียนรู้หลาย ๆ อย่าง แต่หลังจากนั้นมันก็มีโจทย์ที่ค่อนข้างจริงขึ้น เป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีคนควบคุม เช่น โดรน เรามีโอกาสร่วมมือกับบริษัทมาร์ซันในการทำให้กับกองทัพอากาศ และเรามีโอกาสร่วมมือกับม.เกษตรศาสตร์ทำให้กับปตท. โดยทำยานดำน้ำอัตโนมัติ ก็เริ่มชัดขึ้นว่าประเทศเราต้องการหุ่นยนต์ที่เป็นฟังก์ชันทำอะไรที่คนทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นการทำงานคือ เอามาจากโจทย์จริง ตอบสนองกับความต้องการจริงของลูกค้าเป็นหลัก
สิ่งสำคัญในการสร้างหุ่นยนต์
น่าจะแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ เทคโนโลยี กับ บุคลากร ถ้าพูดถึงเทคโนโลยี ก็คือพวกอุปกรณ์ต้นน้ำ อย่างอุปกรณ์มอเตอร์ เกียร์ รวมถึงการออกแบบ เพื่อให้มันทำงานอย่างที่เราต้องการและมีความปลอดภัยในการใช้งาน อย่างเครื่องบิน ถ้าใบพัดต้องหมุนแต่ดีไซน์ไม่ดี มันก็อาจจะเกิดอันตรายได้ หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ตัวเล็ก ๆ ที่เห็นว่าไม่มีพิษภัยอะไร แต่มันมีน้ำหนัก 5 กก. เวลามันเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแล้วชนเข้าที่ขาก็ทำให้บาดเจ็บได้ ตรงนั้นคือการออกแบบ ทำให้หุ่นยนต์นิ่มเป็นไปได้ไหม ทีนี้คนที่จะออกแบบ ประกอบหุ่นยนต์ และทดสอบหุ่นยนต์ก็คือทีมคนทำหุ่นยนต์ ซึ่งประกอบไปด้วยคนหลากหลายสาขาวิชา ไม่ใช่แค่ผมเขียนโปรแกรมเป็น แล้วผมก็จะทำหุ่นยนต์ได้ ใครจะช่วยผมออกแบบเครื่องยนต์กลไก หลัก ๆ ก็คือทีมที่เห็นภาพเดียวกันว่าเราจะทำหุ่นยนต์ คนที่มีความสามารถของตัวเองลึก ๆ และทำงานเป็นทีมได้ นั่นก็คือ คีย์สำคัญในการที่จะทำให้หุ่นยนต์สำเร็จ
ทำไมมนุษย์ต้องสร้างหุ่นยนต์
พูดตรง ๆ ก็คนขี้เกียจ เรามีล้อเพราะเราขี้เกียจยกของ เรามีรถยนต์เพราะเราอยากจะวิ่งให้เร็วขึ้นก็จะคล้าย ๆ กัน แต่ว่าหุ่นยนต์อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องขี้เกียจอย่างเดียว เพราะว่าปัจจุบันสิ่งที่เราได้มาเป็นของที่เขาเรียกว่าฉลาดแต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมได้ หมายความว่ารถยนต์ดีแค่ไหนก็ต้องมีคนขับ โทรศัพท์มือถือก็มีคนใช้อยู่ข้างหลัง มีอีกคนหนึ่งที่เราคุยด้วยอยู่ แต่สิ่งที่หุ่นยนต์ทำจะเหมือนกับว่าเป็นจุดเชื่อมคอมพิวเตอร์กับพวก AI ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์จะลุกขึ้นมาเดินด้วยตัวมันเอง ทีนี้มันจะเดินแบบไหน ทำยังไง ลองนึกถึงวันที่สังคมมีคนแก่มากขึ้น ถ้าคนหนุ่มคนสาวยังต้องดูแลคนแก่อยู่ ใครจะเป็นคนขับเคลื่อนประเทศให้เดินต่อไป คือเราผลักภาระบางอย่างที่หุ่นยนต์น่าจะทำได้ดีกว่าเราให้เขาช่วย แล้วตัวเราจะได้ฟรีจากภาระตรงนั้นเพื่อจะได้พัฒนาอะไรบางอย่างต่อไป ผมเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น
มองอนาคตหุ่นยนต์ในไทยอย่างไร
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เติบโตติดอันดับโลกคือปีหนึ่งร่วม ๆ 20 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เรามีหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมไทยเป็นหมื่นตัว ส่วนหุ่นยนต์ประเภทอื่น เช่น หุ่นยนต์บริการต่าง ๆ เริ่มมีการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะทางฝั่งกองทัพ พวกเครื่องบินไร้คนขับมีการใช้งานค่อนข้างเยอะ แล้วหุ่นยนต์ทางการเกษตรก็เริ่มเข้ามาเรื่อย ๆ และอุตสาหกรรมอาหารก็มีความพยายามในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในหลาย ๆ องค์กร เพราะฉะนั้นมันค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปกับหุ่นยนต์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ส่วนว่าจะหนักหน่วงแค่ไหนน่าจะขึ้นอยู่กับว่าโครงสร้างประชากรเราจะพลิกไปทางด้านไหนมากกว่า
หุ่นยนต์จะครองโลกได้ไหม
ผมไม่ได้รู้สึกอคติอะไรขนาดนั้น แต่ผมเชื่อว่าหุ่นยนต์จะฉลาดมาก คอมพิวเตอร์จะฉลาดมาก ถ้าเคยได้ยินข่าวช่วงหลัง ๆ ก็ Deep Learning ที่โปรแกรม AI ของกูเกิลสามารถเอาชนะคนเล่นโกะได้ ผมมีโอกาสได้ทดลองล่าสุดคือทดลองทำระบบตัดคำภาษาไทยด้วยการเอาข้อมูลใส่เข้าไปแล้วให้คอมพิวเตอร์ค่อย ๆ ดู ก่อนผมไปนอนคำว่า ตาก-ลม กับ ตา-กลม ยังตัดไม่ได้ แต่ตื่นมามันตัดได้แล้ว ยังไม่ได้ทำอะไรเลย นี่แหละคอมพิวเตอร์ก็เป็นแบบนี้ครับดีขึ้นเรื่อย ๆ หุ่นยนต์ก็จะเป็นทางออกของคอมพิวเตอร์ให้มันฉลาดขึ้น ผมว่าปัญหามันอยู่ที่เราว่าจะคอนโทรลบังคับหุ่นยนต์ไปทางไหนมากกว่า ทำให้มันเป็นประโยชน์กับเรา หรือทำให้มันเป็นโทษกับเรา อันนี้ผมว่ามันขึ้นอยู่กับเรา ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับหุ่นยนต์
ก้าวต่อไป
ก้าวใกล้ ๆ เลยคือ ทำให้สำเร็จตามที่เราตั้งใจไว้เกี่ยวกับโดรน ระบบจัดการหุ่นยนต์ที่ผมบอกว่ามีความจำเป็น ความตั้งใจของคนในบริษัทเราอยากเป็นบริษัทเทคโนโลยีของไทยที่ไม่ใช่แค่ทำอยู่ในประเทศ เราอยากขายไปทั่วโลก และเราอยากเป็นบริษัทที่สามารถจะส่งจรวดหรือทำอะไรในลักษณะนั้นเพื่อออกไปนอกอวกาศได้ด้วย นั่นคือก้าวที่เราคิดว่าเราจะก้าวไปให้ได้
เรื่องและภาพ : กัลยาณี แนวเล็ก