Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา
Education > TCAS > บทความ
เส้นทางสารคดีของ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

  Favorite
เส้นทางสารคดีของ สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

เรื่องและภาพ : กัลยาณี แนวเล็ก


 เส้นทางสารคดีของ 
 สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ 


สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ


ท่ามกลางนิตยสารที่ทยอยปิดตัวลงไปทีละฉบับในยุคดิจิทัล สื่อต่าง ๆ ได้ปรับให้เป็นในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น แต่ยังมีนิตยสารอีกหลายฉบับยังยืนหยัดในความเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หนึ่งในนั้นก็คือ นิตยสารสารคดี ที่ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวความจริงมากว่า 30 ปี สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี หัวเรือใหญ่ในปัจจุบัน ที่ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่บันทึกสังคม และเชื่อในความเป็นหนังสือกระดาษที่ยังคงคุณค่าในตัวมันเอง


จาก “แฟนหนังสือ” สู่ “บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี”
เริ่มจากการเป็นแฟนของนิตยสารสารคดีตั้งแต่ตัวเราเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยครับ พอเรียนจบปุ๊ปเราก็ไปทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์อยู่สามสี่ปี เผอิญทางนิตยสารสารคดีเปิดรับสมัครตำแหน่งนักวิชาการ ประจำกองนิตยสารสารคดี ด้วยพื้นฐานที่เราเป็นคนที่รักการอ่านหนังสือ อยากเขียนเรื่องและอยากถ่ายรูปด้วย เลยลองเปลี่ยนชีวิตตัวเองกับงานประจำที่ทำอยู่มาสมัครเข้าที่นี่ โดยนักวิชาการจะเป็นทีมงานที่เข้าไปศึกษาและนำประเด็นต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนให้กับกองบรรณาธิการนิตยสารสารคดีเอาไปพัฒนางานต่อ อันนี้ก็เป็นงานแรก ๆ ของฝ่ายวิชาการที่ได้เข้าไปร่วมครับ
 

“บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี” ต้องทำอะไร
ต้องเข้าใจหลายอย่างนะครับ ต้องเข้าใจตัวว่าสารคดีคืออะไร หัวใจของสารคดีคืออะไร ซึ่งมันจะมีการทำงานสองด้านคืองานเขียนและภาพ เป็นตัวหลักที่เราใช้นำเสนอในตัวนิตยสาร สำหรับคนที่เป็นบรรณาธิการพื้นฐานแรกต้องมีความเข้าใจนักเขียนว่าในการทำงานเขียนจะต้องทำงานยังไง และการถ่ายภาพสารคดีที่ดีมันเป็นยังไง เพื่อที่จะมองงานออกว่าเรื่องราวที่เราจะนำเสนอ จะถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของเราให้ดีที่สุดได้ยังไง

พื้นฐานที่สองสารคดีเป็นนิตยสารรายเดือน ก็เป็นประเด็นที่ต้องคิดเยอะเลยว่าแต่ละฉบับเราจะทำอะไรที่อยู่ในความสนใจของผู้อ่าน และสามสิบปีที่ผ่านมาเราก็ทำเรื่องไปเยอะมาก ในภาระหน้าที่ของความเป็นสารคดีคือ เราพยายามจะบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเพื่อเก็บเป็นหลักฐานของประเทศ คนในรุ่นต่อไปได้กลับมาอ่านจะได้รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อก่อนคืออะไร
 

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ 

คุณสมบัติของบก.บห.
ต้องมีวิสัยทัศน์ในการมอง ติดตามบ้านเมืองทำหน้าที่คล้าย ๆ นักข่าวที่มองว่าบ้านเมืองกำลังเกิดอะไรขึ้น แล้วอะไรกำลังจะเปลี่ยนแปลง เราก็เตรียมพร้อมเพื่อที่จะตื่นตัว เตรียมจัดทำเรื่องราวพวกนี้ เพราะว่าพอเกิดขึ้นปุ๊ป ต้องมีความฉับไวในการที่จะลงไปถ่ายรูปเหตุการณ์นั้นทันที หน้าที่ของบก.บห.มันเป็นเป็ดมาก คือทำทุกอย่างตั้งแต่ดูว่าตัวเรื่องเล่าเรื่องได้ดีไหม ภาพถ่ายมีรูปที่ครบถ้วนไหม มีช็อตเด็ดไหม เราถึงจะนำทั้งหมดมาออกแบบ ต้องดูทั้งกระบวนการไปจนถึงเรื่องของการพิมพ์กระดาษที่จะใช้ในตัวหนังสือว่าเราจะใช้กระดาษแบบไหน เพราะว่าประเด็นหนึ่งที่สารคดียึดถือมาโดยตลอดคือว่าเรานำเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมมายาวนานตั้งแต่คนยังไม่ตื่นตัวเรื่องนี้ และการใช้กระดาษรีไซเคิลสมัยก่อนหายากมาก เราเป็นเจ้าแรก ๆ เลยที่เอากระดาษสีน้ำตาลหายากที่เป็นรีไซเคิลสมัยก่อนมาใช้เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในตัวสารคดีบางส่วนเพื่อที่จะกระตุ้นให้คนรู้สึกว่ามันใช้งานได้นะ
 

คาแรกเตอร์ของนิตยสารสารคดี
ยังนำเสนอเรื่องจริง เราไม่ใช่คนพูดเพ้อเจ้อและเชื่อถือได้ แต่ว่าสนุกนะ เพราะว่าในแต่ละยุคจะมีความเปลี่ยนแปลง ยุคก่อนนี้หน้าตาหรือว่าทิศทางก็รูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าการอ่านของคนมีความแข็งแรงลดน้อยลง อย่างเช่น สมัยก่อนสารคดีเรื่องหนึ่งเรานำเสนองานเขียน 20 กว่าหน้า คนอ่านก็ยังรู้สึกว่ายังไม่พอ (หัวเราะ) แต่ปัจจุบันคนอ่านอาจจะแข็งแรงน้อยลง เพราะอ่านเรื่องยาว ๆ อาจจะรู้สึกว่าเหนื่อยแล้วไม่อยากอ่าน พอผมได้เข้ามาเป็นบก.บห.ก็พยายามจะปรับในส่วนตรงนี้ให้การนำเสนอเรื่องราวกระชับขึ้น ทำให้คนอ่านรู้สึกว่าสบายมากขึ้น
 

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ


กลุ่มเป้าหมายในยุคดิจิทัล

ยังเป็นเหมือนเดิมครับเป็นคนอ่านทั่วไปในประเทศไทย อันนี้ที่เรากังวลก็คือนิตยสารแก่ไม่ได้ เพราะว่าสามสิบปีแล้ว ถ้าแก่ตามอายุไปด้วยคนอ่านก็แก่ขึ้นไปเรื่อย แล้วคนรุ่นใหม่ล่ะ จะอ่านสารคดีไหม ที่กังวลเรื่องนี้เพราะว่าเราคิดว่าคอนเทนต์หรือว่าตัวเนื้อหาของเราเป็นคอนเทนต์ที่ดี แล้วจะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสที่จะมาอ่านเรื่องราวของเรา เป้าหมายหนึ่งในตัวสารคดีเองเราก็พยายามออกแบบรูปเล่มหรือหาวิธีพรีเซนต์ที่จะทำให้เรื่องราวที่เรารู้สึกว่ามันหนักแต่จะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่อ่าน มันก็สะท้อนมาหลายอย่างครับ อย่างเช่น การเลือกเรื่องที่จะขึ้นแต่ละเล่ม เราไม่ได้ทำแต่เรื่องที่เก่ามาก บางฉบับเราก็ต้องเลือกทำเรื่องที่วัยรุ่นสนใจบ้าง
 

เคล็ดลับการเลือกเรื่อง
ประเด็นแรกคือเราเน้นที่ความหลากหลายของเรื่องก่อนเลย เพราะว่าเรามีโอกาสพูดคุยกับผู้อ่านแค่ปีหนึ่งสิบสองครั้ง เราพยายามหาเรื่องราวในแต่ละด้าน บางฉบับก็เป็นเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ อย่างเช่น เรื่องของการปลูกผักคนเมือง เรื่องของขยะที่คนทิ้งแล้วแต่ว่าเอามาดีไซน์ใหม่ เราต้องไปทำเรื่องวัฒนธรรมบ้าง กลุ่มชนบ้าง อีกประเด็นหนึ่งเป็นประเด็นสังคม หรือเป็นเรื่องประวัติบุคคลสำคัญเมื่อถึงวาระที่สำคัญ หรือจะเป็นพวกเหตุการณ์ด้านการเมือง 40 ปีของ 14 ตุลา เป็นการเลือกเรื่องซึ่งพยายามจะมิกซ์หลาย ๆ ด้าน อีกอันหนึ่งที่นำเสนอคือในภาระของความเป็นนิตยสารสารคดีคือการบันทึกสังคมและถ้าเกิดเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วนหรืออะไรขึ้นมาเราจะต้องนำเสนอเรื่องนั้นทันที ต้องตัดสินใจที่จะทำเพื่อให้ภาระหน้าที่การบันทึกสังคมของนิตยสารสารคดีมันสมบูรณ์ที่สุด
 

สิ่งที่ทำให้นิตยสารสารคดียังคงอยู่คู่แผงหนังสือ
คิดว่าเกิดจากการที่เราสร้างคาแรกเตอร์หรือว่าความน่าเชื่อถือของสารคดีและมีความถูกต้อง เกิดจากการทำงานที่ค่อนข้างเป็นระบบ อย่างเช่น นักเขียนจะเขียนเรื่องก็ต้องมีบอกว่าแหล่งข้อมูลหรือว่าเอกสารประกอบการเขียนของเราว่ามาจากไหน แล้วยังมีอีกสองส่วนที่ยังไม่ได้พูดถึงคือบรรณาธิการต้นฉบับ และพิสูจน์อักษร ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นคีย์สำคัญเลย ในการที่จะตรวจสอบว่าสิ่งที่เขียนมาถูกไหม พวกนี้คือมาตรฐานที่เราทำงานหนักกันมาตลอด เพราะฉะนั้นสารคดีเลยได้รับความน่าเชื่อถือในจุดนี้ค่อนข้างสูง เราสร้างมาจากการทำงานหนักเพื่อผู้อ่านเห็นคุณค่าของมัน และเรื่องราวที่นำเสนอซึ่งเขาหาอ่านที่ไหนไม่ได้ ก็เลยทำให้คนอ่านติดตาม
 

อนาคตของนิตยสารสารคดีในยุคดิจิทัล
อนาคตของสารคดีก็ต้องสู้ต่อไปนะครับ คือหนึ่งเรายังเชื่อในความเป็นหนังสือกระดาษ ผมรู้สึกว่าอารมณ์ของการอ่านนิตยสารที่เป็นกระดาษยังเป็นอารมณ์ที่คุณไม่สามารถสัมผัสได้จากหน้าจอของเครื่องมือสื่อสารยุคใหม่ สารคดี ณ ปัจจุบันเราก็ยังมองว่าสื่อกระดาษคือสื่อที่ดีที่สุดแล้วสำหรับการนำเสนอภาพถ่ายสารคดีและเรื่องสารคดี แต่การที่จะยืนอยู่รอดได้ต้องยืนอยู่บนทั้งสามขาคือโฆษณา ผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำและแฟนที่ติดตามเป็นฉบับไป ต้องยอมรับว่ามันเป็นธุรกิจเหมือนกันว่าจะทำยังไงให้สารคดียังได้ทำภาระหน้าที่ในการบันทึกสังคมบนกระดาษนี้ต่อไปได้ อย่างเหตุการณ์ล่าสุดพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสวรรคต ขณะที่โลกออนไลน์มันปึ้ด ๆ หน้าก็หายไปละ เราจะไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้มันเป็นสมบัติของเราเลย ในขณะที่หนังสือหรือนิตยสารที่เป็นเล่ม ๆ ให้ความรู้สึกว่าเป็นสมบัติที่จับต้องได้
 

หัวใจสำคัญของนิตยสารสารคดี
สารคดีคือการเล่าเรื่องจริงให้คนรู้สึกกับเรื่องนั้นเหมือนได้ไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วยเหมือนกัน ทั้งข้อมูลและความรู้สึก สองผมคิดว่าสารคดีกำลังทำหน้าที่บันทึกสังคม ทีนี้ความเข้าใจว่าสังคมคืออะไรเป็นหัวใจอีกอันหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งหัวใจอันนี้ต้องบอกว่าปัจจุบันเราเลือกใช้คำว่าเป็นสังคมหลากหลายค่อนข้างสูงมาก เพราะฉะนั้นความเป็นสารคดีเราพยายามนำเสนอให้กับทุกส่วนของสังคม ถ้าสังเกตปกสารคดีก็จะรู้ได้เลยว่าคนที่จะมาเป็นปกของเรามีได้เยอะมากตั้งแต่ชาวเล หรือเป็นปกากะญอ เพราะฉะนั้นหน้าที่สารคดีคือพยายามจะบอกเล่าทุก ๆ ส่วนของสังคม นอกจากตัวมนุษย์แล้วมันยังรวมถึงตัวธรรมชาติ มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ สูงมาก ตรงนี้คือความเข้าใจที่จะบอกผู้อ่านว่าจริง ๆ คนไม่ได้อยู่เป็นสปีชีส์เดียวบนโลก ไม่ได้เป็นชาติพันธุ์เดียวด้วยซ้ำ มันมีคนที่ต่างวัฒนธรรม มีสิ่งมีชีวิตที่ต่างสปีชีส์ มีอะไรต่าง ๆ ที่อยู่ด้วยกันแล้วทำให้โลกนี้มันอยู่ได้
 

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ


ผลงานอันภาคภูมิใจ

ถ้าเป็นบทบาทนักเขียนก็ต้องบอกว่าเป็นสารคดีเล่มแรกที่เขียน ชื่อว่าดาราเวหาจักรวาล เรื่องราวดาราศาสตร์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจอยู่แล้ว บก.บห.สมัยนั้นให้โอกาสเราเขียนเรื่องนี้ ในยุคที่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงเรื่องดาราศาสตร์มากนัก เป็นสกู๊ปที่ยาวมากเรื่องหนึ่งและก็ได้ขึ้นปกของสารคดีด้วยอันนี้ก็ถือว่าเป็นหมุดหมายของชีวิตของเราเองว่าเราทำได้ เราก็เป็นนักเขียนที่เขียนสารคดีที่ดีได้จากการทำงานชิ้นนั้น
 

คุณค่าของหนังสือ
คุณค่าหนังสือสำหรับผมถือว่าเป็นตัวที่เปลี่ยนชีวิตเลยนะครับ ทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นอีกโลกใบหนึ่งสมัยเด็ก เนื่องจากโตมาแบบเด็กเมือง เด็กกรุงเทพฯ ไม่เหมือนเด็กบ้านนอกที่มีลำคลอง มีทุ่งนาให้ไปสัมผัส เมื่อเราเปิดอ่านหนังสือ ตอนนั้นอ่านหนังสือเด็กเรื่องบ้านเล็กในป่าใหญ่ ของลอรา อิงกัลส์ ไวล์เดอร์ ซึ่งเล่าถึงชนบทของอเมริกาต้องเจอหมี เจอฤดูหนาวอันแสนลำเค็ญ เจออะไรหลาย ๆ อย่างที่มันโอ้โห ไม่ได้อยู่ในชีวิตเรา มีโลกที่มันออกไปจากห้องแถวที่เราอยู่อีกกว้างไกล และหลังจากนั้นพอเราอ่านนิยายวรรณกรรมคลาสสิก เรารู้สึกว่ามันลึกซึ้งลงไปในเรื่องของปรัชญาชีวิต เรื่องของวิธีคิดอะไรต่าง ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของคนไม่ได้มีแค่เรื่องของการทำอาชีพเพื่อที่จะแค่ร่ำรวยหรือว่าประสบความสำเร็จสูงในแง่มุมมาตรฐานทั่วไป เรารู้สึกว่ามีอะไรมากกว่านั้นเยอะ สุดท้ายแล้วเราก็ตัดสินใจเปลี่ยนจากอาชีพที่รู้ว่ามั่นคงที่สุดในการเป็นอาชีพวิศวกรและก็มาทำงานหนังสือซึ่งเสี่ยงอันตรายมากกว่าเดิมครับ
 

สำหรับนักอ่านหน้าใหม่
ก็ลองหยิบมาสักเล่มครับ (หัวเราะ) เพราะว่าสารคดีค่อนข้างมีความหลากหลายในประเด็นเรื่องที่นำเสนอ ผมเชื่อว่าคงจะมีปกสักเดือนหนึ่งที่ถูกใจนักอ่านรุ่นใหม่ หยิบขึ้นมาแล้วก็จะพบว่าเอ๊ะสารคดี หนังสือเล่มนี้ทำไมเราไม่รู้จักมันก่อนหน้านี้ สารคดีในปัจจุบันค่อนข้างมีความทันสมัย ทั้งการออกแบบ และการนำเสนอเรื่องคิดว่าน่าจะถูกใจผู้อ่านยุคใหม่มาก ๆ ต้องเป็นคนที่อยากรู้อะไรลึก ๆ หน่อย ซึ่งคุณจะหาอ่านจากที่อื่นไม่ได้ ผมก็คิดว่าสารคดีเป็นคำตอบหนึ่งครับ
 

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

Tags
Posted by
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
ข่าวค่ายและกิจกรรม
ข่าวรับตรงล่าสุด
Follow us