วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง หลักสูตรการเรียนการสอนที่ทำให้รู้ว่าเครื่องสำอางมีอะไรที่มากกว่าความสวยงาม และสีสันที่ช่วยแต่งเติมบนใบหน้าทั้งหญิงชาย แล้วความสวยงามและวิทยาศาสตร์มาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร อาหลี-อัฐริญญา อึ้งศิลป์ศรีกุล รุ่นพี่ปี 3 สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ม.แม่ฟ้าหลวง พร้อมขยายความให้น้อง ๆ ได้รู้จักทุกซอกทุกมุม
จุดเริ่มต้น
ตอน ม.ปลาย มาทัศนศึกษาที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้มาเจอกับบูธของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ได้เห็นพี่ ๆ ที่ทั้งสวยและเก่ง สามารถผลิตเครื่องสำอางและมีความรู้ด้านนี้แบบเฉพาะด้านมาก มันเป็นความประทับใจในตอนนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากเรียนสาขาวิชานี้ และปัจจุบันเครื่องสำอางเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำกำไรสูง ความฝันส่วนตัวก็อยากจะมีแบรนด์เป็นของตัวเอง อยากจะผลิตเครื่องสำอางในแบบที่เราชอบ และอยากให้คนอื่นได้ลองใช้ในแบบที่เราชอบด้วยเหมือนกัน
วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์แขนงหนึ่ง เรียนเกี่ยวกับการทำเครื่องสำอางทั้งหมด ตั้งแต่เครื่องสำอางที่เกี่ยวกับการบำรุงผิว ทั้งผิวหน้าและผิวกาย เครื่องสำอางบำรุงเส้นผม การทำสปา และเครื่องสำอางสีสันที่เราใช้ในการแต่งหน้า เราจะได้เรียนทุกกระบวนการที่เกี่ยวกับธุรกิจเครื่องสำอาง การคัดเลือกวัตถุดิบ การพัฒนาและวิจัยสูตรตำหรับเครื่องสำอาง การประเมิณคุณภาพ ประสิทธิภาพ การควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยต่าง ๆ กฎหมายและจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการตลาดด้วย
การเรียนแต่ละชั้นปี
วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง เน้นวิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้นั่งเครียดเกี่ยวกับการท่องสูตรเคมีอย่างเดียว มีการลงมือปฏิบัติ ผลิตเครื่องสำอาง การทำครีม ทำแป้ง ซึ่งไม่เครียดอย่างคิด ปีหนึ่ง เราก็จะเรียนเกี่ยวกับพื้นฐานทั่วไป พื้นฐานภาษาอังกฤษ พื้นฐานวิทยาศาสตร์ ส่วนปีสอง ก็เริ่มเรียนเกี่ยวกับออแกนิคเคมี ไบโอเคม ซึ่งก็จะยากขึ้น พอมาถึงปีสาม ก็จะมีวิชาชีพบังคับมากขึ้น ซึ่งวิชาชีพบังคับหลัก ๆ ก็จะมีอยู่ 4 ตัว ก็คือ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอางสำหรับผิว วิทยาศาสตร์เครื่องสำอางสำหรับผม สุคนธศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางสีสัน และปีสี่ จะได้เริ่มเรียนเกี่ยวกับวิชาชีพเลือกมากขึ้น อย่างเช่น การประเมิณเครื่องสำอาง และก็จะมีการทำวิจัย ทำโปรเจคค่ะ
ต้องรักสิ่งสวยงาม
สำหรับคนที่อยากเรียนวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง อย่างแรกคืออยากให้ถามตัวเองก่อนว่า เราชอบสิ่งสวยงามไหม เราชอบเครื่องสำอางไหม สิ่งหนึ่งที่จะทำได้ดีในการเรียนวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คือต้องเป็นคนที่ตามเทรนด์เครื่องสำอางอยู่เสมอ จะต้องชอบเดินดูเครื่องสำอาง ตามห้างหรือในชอปต่าง ๆ และอยากรู้ว่าแต่ละตัวเนื้อเป็นยังไง มีส่วนผสมอะไรบ้าง แบบนี้ค่ะ มันคือความอยากรู้อยากเห็น อยากทดลอง อยากคิดผสมสูตรต่าง ๆ มันคือหัวใจของนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางค่ะ
ความสุขในการเรียน
คือเราเป็นผู้หญิง ธรรมชาติของผู้หญิงก็รักสวยรักงาม ชอบดูแลตัวเองอยู่แล้ว เราใช้เครื่องสำอาง เราก็จะรู้เลยว่าส่วนประกอบแต่ละตัวมันเป็นยังไง หรือว่าเราควรใช้แบบไหน เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก เราชอบ เราก็จะทำมันได้ดี ถ้ามองว่าเราแค่ใช้เครื่องสำอางแค่นั้น มันก็คือจบอยู่แค่นั้น แต่เมื่อเรามามองว่า แล้วเครื่องสำอางแต่ละตัวมันทำยังไง มีส่วนผสมของอะไรบ้าง เราอยากรู้ เราอยากเห็น เราอยากพัฒนาในสิ่งที่มันดีขึ้น เราอยากพัฒนาเนื้อของครีม ให้มันแปลกใหม่ มีลูกเล่นมากขึ้น ให้มันมีประสิทธิภาพดีขึ้น มันคือความอยากที่จะทำงานในส่วนนี้ มันคือความสุขที่เราได้เรียนรู้จากวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
ตลาดงาน
ปัจจุบันนี้ธุรกิจเครื่องสำอางเป็นธุรกิจที่เติบโตค่อนข้างสูงมาก เครื่องสำอางอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ตื่นเช้ามาเราก็มีการล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ สระผม แม้ว่าเราจะไม่ได้แต่งหน้าหรือทาครีมบำรุง แต่อย่างน้อยเราก็ใช้เครื่องสำอางเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวัน แต่พอเรากลับมามองในส่วนของการผลิต คนที่มีความรู้ความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางยังมีน้อยมาก แล้วก็ขาดแคลนมากด้วย ตรงส่วนนี้จึงเป็นความน่าสนใจของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง เมื่อเรียนจบแล้วสามารถทำงานเป็นนักวิจัยและพัฒนาเครื่องสำอาง ซึ่งอาจจะอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทเครื่องสำอาง หรือจะอยู่ในสถาบันวิจัยต่าง ๆ หรือบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพของเครื่องสำอาง นอกจากนี้ก็ยังจะทำงานในสายของนักวิชาการหรืออาจารย์ก็ได้ ประกอบธุรกิจส่วนตัวที่เกี่ยวกับด้านเครื่องสำอางค์ หรือเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับความงามและเครื่องสำอางค์ก็ได้ด้วยค่
ข้อมูลการสอบเข้า
สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เว็บไซต์ www.mfu.ac.th
รับตรง
โควตาภาคเหนือ
ระบบรับตรงทั่วประเทศ
โครงการความสามารถด้านดนตรี นาฎศิลป์ และกีฬา
โครงการรับนักเรียนนานาชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เกณฑ์การคัดเลือก : 9 วิชาสามัญ, สอบข้อเขียน, สอบสัมภาษณ์
Admissions
GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10%, PAT 1 10%, PAT 2 30%