เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
ด้วยพรสวรรค์ด้านกีฬาที่มีอยู่ในดีเอ็นเอและถูกปลูกฝังมาอย่างดีจากที่บ้าน บวกกับความมุ่งมั่น มีวินัย หมั่นฝึกซ้อมพัฒนาฝีมืออย่างสม่ำเสมอ จนก้าวเข้าสู่ตำแหน่งกัปตันทีมวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติ หน่อง-ปลื้มจิตร์ ถินขาว นักตบบอลเร็วประจำทีม แต่เส้นทางของนักกีฬาและการแข่งขันของสาวเท่คนนี้ไม่หยุดแค่ตรงนี้ ยังคงมีสนามแข่งขันและหน้าที่ที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทีมชาติและวอลเล่ย์บอลสิ่งที่เธอรัก
ทำไมต้องวอลเล่ย์บอล ตอนนั้นคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ไหม
ตอนเด็ก ๆ เล่นกีฬาทุกชนิด เพราะว่าที่บ้านคุณพ่อเป็นนักกีฬาเก่าก็สอนให้เล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก เป็นนักปิงปองของโรงเรียน แล้วจะไปเข้าม.1 ทางด้านความสามารถพิเศษหน่องก็เขียนไปว่าปิงปอง พ่อก็บอกว่าปิงปองไม่น่ารุ่งให้เลือกเล่นวอลเล่ย์บอลดีกว่าทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเล่นเลยนะคะ แต่คุณพ่อบอกว่าให้เลือกเล่นวอลเล่ย์บอล ก็อ่ะก็ได้ก็ขีดฆ่าปิงปองเลือกวอลเล่ย์บอล แล้วพ่อก็ซื้อลูกวอลเล่ย์มาซ้อมให้สองวัน พอไปคัดตัวโรงเรียนก็ติด เขาเอา 6 คน ติดคนที่ 7 แต่ว่ามีคนหนึ่งไม่มา เราก็เลยถูกเรียกตัวไปเป็นทีมของโรงเรียน ม.1 ต้องเข้าไปอยู่แคมป์เพราะมีทีมวอลเล่ย์บอลของโรงเรียน และก็เข้าไปกินนอนที่โรงเรียนตั้งแต่ ม.1
ย้อนกลับไปที่สนามแข่งครั้งแรก
ก่อนที่จะติดเยาวชนทีมชาติ แมตช์นี้ ม.4 ช่วงปิดเทอม นอนเล่นอยู่ที่บดินทร์ฯ โค้ชเรียกเข้ามาว่ามีรุ่นพี่สามคนติดสอบ ก็เรียกเด็กใหม่ ๆ เข้ามาเสริมทีมสามคนให้ติดทีมไปที่เวียดนาม ซึ่งตอนนั้นเป็นแมตช์ invitation เชิญแข่งขันและทีมชาติได้ไปทุกปี เขาก็เลยเรียกหน่อง เรียกพี่วรรณาและก็อีกคนเข้ามาเสริม ก็ไม่โดนบอลเลยค่ะ (ฮา) คือโค้ชเปลี่ยนลงไปแต้มที่ 24 ให้ลงไปสัมผัสเกม แล้วบอลก็ไม่ได้มาทางเรา แต่ว่ามันก็เป็นความรู้สึกที่แบบเออเราได้มาสัมผัสกับพี่ ๆ ทีมชาติ นี่คือวอลเล่ย์บอลทีมชาตินะ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่านักกีฬาเขามีทีมชาติด้วยเหรอเพราะว่าเราไม่ได้ติดตามหรือใฝ่ฝันว่าจะเป็นตัวทีมชาติค่ะ ก็รู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกดีที่ไม่ได้โดนบอลเพราะว่าไม่อยากโดน ไม่อยากทำเสียค่ะ (ฮา)
ทุกคนเล่นกีฬาแต่จะรู้ได้ยังไงว่าเราเกิดมาเพื่อกีฬาจริง ๆ
หน่องว่ามันก็ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง คือหน่องมองว่าสมัยใหม่ พ่อแม่เห็นฟุตบอลฟีเวอร์ วอลเล่ย์บอลฟีเว่อร์ก็อยากให้ลูกเป็นแบบนั้นบ้าง ก็บังคับลูกให้ไปเล่น ทั้ง ๆ ที่ตัวเด็กเองเล่นไปแล้วมันไม่ใช่ พอใจมันไม่ได้รักจริง ๆ มันก็เล่นได้แป๊ปเดียว แต่ว่าสำหรับหน่องก็ใช้เวลานานพอสมควร กว่าที่จะมาเริ่มสนุกกับวอลเล่ย์บอลจริง ๆ คือพอมาอยู่บดินทร์ฯ แล้วก็ไม่ได้ลงตัวจริงด้วยซ้ำ ทีมบดินทร์ฯ เขาก็มีคนเก่ง ๆ เรามาแล้วเป็นตัวสำรองบ้าง ได้ลงบ้าง ก็คิดว่ามันยังไม่ใช่สำหรับเรา จนติดทีมชาติหน่องก็ยังมองว่ามันอาจจะครั้งเดียวก็ได้ มันอาจจะเป็นแค่ฟลุ๊กเข้ามา แล้วปีหน้าอาจจะไม่ติดแล้วก็ได้ เราก็ยังมองเลยว่าเข้ามหา'ลัย ไป เดี๋ยวก็ไปเล่นแค่เป็นตัวมหา'ลัยแค่ปีหนึ่งครั้งหนึ่งแล้วก็ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา แต่มันไม่ใช่พอเราติดทีมชาติแล้วเราติดเรื่อย ๆ ได้มาอยู่ตรงนี้คลุกคลีอยู่กับทีมชาติจนไม่รู้เหมือนกันว่ามันรักไปตอนไหนหรือเราจะเดินมาสายนี้จริง ๆ หรือเปล่ายังไง คือมันต้องใช้เวลานานมากกว่าที่จะรู้ตัวค่ะ
อะไรที่บอกว่าเรามีพรสวรรค์ว่าต้องมาทางนี้
หน่องก็ถามโค้ชว่าทำไมถึงเรียกหน่องเข้าไปติดทีมชาติเพราะว่าตอนนั้นหน่องก็ไม่ได้เป็นตัวจริงของหกคนแรกที่รร.บดินทร์ฯ ยังเป็นตัวสำรองอยู่เลยแต่ว่าโค้ชเรียกหน่องเข้ามาซ้อมกับทีมชาติ เพื่อน ๆ ในทีมก็หาว่าเป็นเด็กเส้น ก็งงเหมือนกัน จนมาหลัง ๆ สนิทกับโค้ชก็เลยถามอ.อ๊อด ถามอ.ณัฐพลว่าทำไมถึงเรียกหน่องเข้ามา ซึ่งมันมีนักกีฬาที่เก่งกว่าหน่องหลายคน เขาก็บอกว่าแววมันได้ คืออาจจะด้วยสรีระ รูปร่าง ท่าทาง เขาบอกว่ามันน่าปั้น ก็เลยลองเรียกเข้ามาซ้อมกับทีมชาติดู แล้วมันก็ใช่ก็คือเรามีพรสวรรค์ด้านนี้ค่ะ
จากเด็กที่ชอบเล่นกีฬา จนกลายมาเป็นนักกีฬาทีมชาติ มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง
โห เปลี่ยนเยอะนะคะจากเด็กธรรมดามาเป็นเราคือทีมชาติ ก็ชีวิตเด็กธรรมดามันก็มีไปกินไปเที่ยว อยู่กับเพื่อนเข้าเรียน เรียนเสร็จไปเที่ยวกับเพื่อน แต่ว่าชีวิตเราตั้งแต่ม.1หน่องก็เข้ามาเก็บตัวที่โรงเรียน กินนอนกับทีม ซึ่งมันไม่ใช่เด็กธรรมดา ทั่วไป เราต้องมีความรับผิดชอบกว่าเด็กคนอื่น เพราะว่าเราต้องตื่นซ้อมตอนเช้า ซ้อมเสร็จก็ไปเรียน เรียนเสร็จก็มาซ้อมอีก คือมันไม่มีเวลาส่วนตัวอะไรเลย อยากไปไหนก็ไปไม่ได้ แต่หน่องก็มองว่ามันได้กลับมาเยอะสำหรับตัวเรานะคะ คือเราโตกว่าคนอื่น ต้องมีความรับผิดชอบกว่าเด็กคนอื่นในรุ่น ๆ เดียวกัน ต้องบริหารเวลาให้เป็น ต้องมองว่าเออมันก็ฝึกสภาพจิตใจของเราด้วย คือมันได้อะไรกลับมาหลายอย่างมากกว่าจากที่เสียไปค่ะ ก็ต่างกันเยอะมาก
กว่าจะเป็นมือตบบอลเร็ว
อื้อหือ แต่ก่อนไม่เล่นบอลเร็ว เป็นตัวตบหัวเสา เพราะว่าอาจารย์เขาคงไม่รู้จะจับไปลงตำแหน่งไหน ก็คงอ่ะเล่นตำแหน่งนี้ไปก่อน จนมาเล่นทีมชาติ อ.อ๊อด อ.ยะ อ.ด่วนก็คงเห็นแววเพราะว่าเราสรีระสูง เพรียว และมีความคล่องตัวสูง ก็เลยย้ายมาเล่นบอลเร็ว และฝึก ๆ ทุกวันนี้หน่องก็คิดว่าบอลเร็วมันก็เหมาะกับตัวหน่องค่ะ ด้วยความคล่องตัว ความเร็วและสรีระ และหน่องไม่ได้ตีบอลหนักเหมือนอรอุมา โอเค เขาตบแบบตู้ม หนัก แต่เราไม่ได้หนักแบบนั้น แต่เรามีความเร็วมีความคล่องตัว หน่องคิดว่าเออตำแหน่งนี้มันเหมาะกับเราแล้วมันใช่เลยสำหรับเรา และทุกวันนี้ก็พยายามสอนรุ่นน้องใหม่ ๆ ที่ขึ้นมาเล่นตำแหน่งเดียวกับเรา เออสอนวิทยายุทธ์ สอนวิชาคายตะขาบแล้วค่ะ พยายามสอนให้เข้าบอลเร็ว ๆ เพราะว่าปัจจุบันหลัง ๆ เขายังช้ากันอยู่มาก ก็ต้องพยายามฝึกความคล่องตัวเยอะ ๆ
สนามแข่งไหนที่ประทับใจมากที่สุด
ถ้าถาม ณ ตอนนี้ที่ไปญี่ปุ่นคัดโอลิมปิก 2016 เป็นอะไรที่ อย่างเราเองพวกพี่ ๆ หกเจ็ดคนเล่นมาเป็นสิบ ๆ ปีมันมีจิตวิญญาณของการเป็นนักกีฬาอยู่แล้ว แต่ว่าน้อง ๆ ที่เข้ามาใหม่ ๆ เขาเริ่มซึมซับจากพวกเรา เขาก็เริ่มอินเริ่มรู้สึกว่าไม่ได้นะ เราต้องทุ่มเท่มากขนาดไหนในแต่ละลูก ไม่ใช่ลูกเสียไปไม่เป็นไรเอาใหม่ แต่เขาซึมซับความเป็นนักสู้จากตัวพวกเรา ดีใจทุกแมตช์เลยไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ทุกคนเต็มที่มากแล้วก็สู้มาก ๆ ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าเรารู้แล้วว่าเราไม่ได้ไปโอลิมปิก แต่เรายังมีแข่งอยู่วันต่อไป ทุกคนก็ยังทำผลงานออกมาได้ดี ถึงมันจะไม่มีผลอะไรแล้วหรือไม่เล่นก็ได้ เราแพ้ก็ได้ แต่เหมือนเรายังมีสปิริตที่เราจะต้องเป็นนักกีฬาที่ดีค่ะ
ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งกัปตันทีมต้องปรับอะไรบ้าง
ปรับพอประมาณนะคะ เพราะว่าด้วยลักษณะตัวหน่องเองไม่ได้มีบุคลิกความเป็นผู้นำที่โดดเด่นอย่างกิ๊ฟ วิลาวัณย์ ที่เขาเป็นกัปตันมาก่อนสิบปี คือบุคลิกเขาเป็นผู้นำอยู่แล้ว ชอบจัดแจง กระตุ้นน้อง ๆ แต่เราจะเป็นคนไม่ค่อยพูด เงียบ ๆ ก็ตามเขาแต่ว่าพอมารับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีม ลงไปในสนามก็ต้องคอยซัพพอร์ตความรู้สึกน้อง ๆ ต้องคอยกระตุ้นแทนกิ๊ฟ ต้องคอยดูแลจัดแจงอะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ว่าทุกอย่างก็ปรึกษากันตลอดไม่ว่าจะเป็น กิ๊ฟ นุช พี่นา อร คุยกันกลุ่มพี่ ๆ ก็เหมือนเป็นหัวหน้าทีมกันหมดทุกคน เพราะว่าช่วยกันดูแลช่วยกันจัดแจงน้อง ๆ บทบาทหน้าที่ก็เยอะขึ้น ต้องรับผิดชอบมากขึ้นกับการเป็นหัวหน้าทีมค่ะ กดดันเยอะด้วย กิ๊ฟทำได้ดีมากอย่างตอนที่กิ๊ฟเขาเป็นก็จะมาปรึกษาตลอด คุยกันว่าอย่างนี้โอเคไหม พรุ่งนี้โปรแกรมอย่างนี้โอเคไหม จะมีการคุยกันตลอดอยู่แล้ว พอเราได้รับหน้าที่ตรงนี้ มันก็เป็นเหมือนเดิมเราก็คุยกันอยู่แล้ว เป็นเราที่ต้องไปคุยกับโค้ช ชี้แจงกับโค้ช เวลามีงานอะไรก็จะสั่งมาที่เรา ต้องรับภาระตรงนี้เหมือนเป็นสื่อกลางเชื่อมโค้ชกับนักกีฬาน้อง ๆ อีกทีหนึ่ง
จากการแข่งขันที่ได้เจอทีมเก่งระดับแนวหน้า เราเอามาปรับใช้กับตัวเองอย่างไรบ้าง
พวกหน่องหกเจ็ดคนได้ออกเป็นเล่นอาชีพต่างประเทศทุกปี เป็นสิบปีแล้วที่ไม่ได้อยู่เมืองไทยเลย จากตรงนั้นได้ประสบการณ์แล้วก็วิชาตรงนั้นมาเยอะพอสมควร แล้วก็มาปรับใช้ในทีมชาติเพราะว่าอย่างเจอกับอเมริกา รัสเซีย ยุโรปที่ตัวสูงใหญ่ อย่างเราตัวเล็ก ๆ เราจะตีผ่านบล็อกเขามันก็ยากเกิน การที่เราไปเล่นกับเขาบ่อย ๆ ไปซ้อมไปแข่งกับเขา ก็รู้ว่าลูกแบบนี้เราจะเอาตัวรอดอย่างไรคือมันเป็นประสบการณ์และการเรียนรู้ที่เราสามารถเรียนรู้ได้เอง ไม่ใช่ที่โค้ชมาซ้อมให้ในสนามซ้อมคืออันนั้นมันจำลองไม่ได้ แต่อันนี้มันเหมือนเราไปแข่งในสนามซ้อมของจริงเลย เราจะต้องเจอ เราจะต้องลอง พอเราเรียนรู้ตรงนั้นแล้วมันก็เหมือนเป็นเทคนิคติดตัวเรามา พอเราเจอลูกนี้อีกเราก็รู้เลยว่าจะทำอย่างไร ก็พยายามคุยกับเพื่อนเวลาไปแข่ง เวลาไปเล่นอาชีพก็จะมีเพื่อนต่างชาติหลายชาติก็สนิทกัน คุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดกันอะไรอย่างนี้ แล้วเราเอากลับมาที่เมืองไทยมาแชร์มาบอกน้อง ๆ
เวลาที่ท้อหรือฝึกซ้อมเหนื่อย ๆ บอกกับตัวเองอย่างไร
สมัยเด็ก ๆ ก็จะเป็นการระบายกับคุณแม่ เวลาเหนื่อยจะต้องนั่งรถไปเรียนมหา’ลัยกลับมาซ้อมอีก คือเห็นพี่ ๆ ที่เขาเรียนจบแล้ว เขาซ้อมเช้าเสร็จนอน รอซ้อมตอนเย็น แต่ว่าพวกนักศึกษาคือซ้อมเช้าเสร็จต้องนั่งรถแต่งตัวไปเรียน เรียนเสร็จกลับมาซ้อมอีกแล้ว ไม่ได้พักผ่อนก็เหนื่อยก็โทรไปบ่นกับแม่ โชคดีด้วยที่มีเพื่อนร่วมทีมที่ดี ก็ยังคอยให้กำลังใจกันคนหนึ่งท้อคนหนึ่งจะเลิกอีกคนก็ดึงขึ้นมา ไม่ได้ต้องสู้ไปด้วยกันนะ แล้วก็ครอบครัวที่ดีที่คอยซัพพอร์ตแล้วก็สนับสนุนเราตลอด ก็หาวิธีระบายด้วยการปรึกษาครอบครัว คุยกับแม่ กับเพื่อนค่ะ
เวลาแข่งเคยรู้สึกว่าทำไมเราไม่ทำแบบนี้ไหม
มีค่ะ มีบ่อยด้วยก็จะเป็นอารมณ์เหมือนลูกนี้เราเห็นนะว่ามันจะตีทางนี้ แต่ทำไมเรารับทางนี้มันเป็นช่วงเวลาที่เป็นเสี้ยววินาทีที่เราต้องตัดสินใจ แล้วก็ตัดสินใจผิดก็มี แต่ว่าอย่างที่บอกเป็นการเรียนรู้ พอเราเจอลูกแบบนี้อีกเราก็จะนึกขึ้นได้ว่าลูกนี้เคยเจอแล้ว เราจะต้องทำอย่างไร ตอนเด็ก ๆ ที่ยังจัดการกับความรู้สึกตัวเองไม่ได้ พอตีเสีย โห เป็นบ้าคือแบบก็จะติดอยู่อย่างงั้นจนลูกต่อไปก็เสียอีก พออารมณ์เสียเครียดลูกต่อไปก็เสียอีกมันยังตัดไม่ได้แต่พอเราเล่นมาบ่อย ๆ เล่นมาเยอะ เราก็มีประสบการณ์แล้วว่าลูกที่เสียคือต้องรีบตัดทิ้งเลยเพราะว่ามันมีผลกับลูกต่อไป มันอยู่ที่ประสบการณ์แล้วก็การควบคุมสภาพจิตใจของเรา คือทีมชาติไทยโชคดีที่เราไม่มีการด่ากัน คือใครเสียก็ให้กำลังใจกัน แล้วก็ชี้แนะกันว่าลูกนี้มันควรจะเป็นแบบนี้นะ คุยกันมากกว่า แต่ว่าพอหมดจากการแข่งขัน ฝึกซ้อม ตรงนี้นี่แหละที่โค้ชจะต้องชี้ว่าใครผิดใครถูก ตรงนี้ลูกไหนใครผิดก็มาซ่อมมาแก้ไขในสนามซ้อม
สมมติว่าถ้าวันนี้ไม่ได้เป็นนักกีฬา คิดว่าตัวเองทำอะไรอยู่
เลี้ยงควายอยู่บ้าน (ฮา) ไม่รู้เลย ก็คงอยู่บ้านที่อ่างทอง คือนึกไม่ออกจริง ๆ ถ้าใครถามว่าไม่ได้เป็นนักกีฬาแล้ว มันมองไม่ออกว่าจะทำอะไรเพราะว่าเรียนก็ไม่ได้เก่งไปเลย ความสามารถอย่างอื่นก็ไม่ได้เด่น ก็คงอยู่กับแม่ที่บ้าน พอชีวิตมาอยู่แบบนี้ เราไม่เคยชินกับการตื่นเช้าไปทำงาน ทำงานทั้งวัน เย็นออกจากออฟฟิศ คือเราใช้ชีวิตที่ไม่ใช่พนักงานมาตลอด เพราะว่าชีวิตซ้อมเช้ากลางวันว่างเย็นซ้อม มันฟรีกว่านั้น ก็มองไม่ออกว่าหลังจากเล่นวอลเล่ย์บอลแล้ว จะเป็นพนักงานออฟฟิศได้ไหม จะทำงานแบบราชการได้ไหมเพราะมันต้องเข้าตรงเวลาออกตรงเวลามันไม่ใช่ชีวิตที่เราชอบ
สิ่งสำคัญของการเป็นนักกีฬาวอลเล่ย์บอล
คิดว่าไม่ใช่เฉพาะของวอลเล่ย์บอล สิ่งสำคัญของการเป็นนักกีฬาต้องมีวินัย เราต้องเสียสละ รับผิดชอบมากกว่าคนอื่น ต้องจัดแจงตารางเวลาของเราให้ได้ดีกว่าคนอื่น คือถ้าคุณเล่นเก่ง มีฝีมือ มีพรสวรรค์กับการกีฬามาก แต่ว่าคุณไม่มีระเบียบวินัย ซ้อมเสร็จไปเที่ยว มาซ้อมบ้างไม่มาซ้อมบ้าง นึกจะซ้อมก็ซ้อม คือถ้าเก่งแค่ไหนก็ได้แค่ช่วงระยะเวลาเดียวมันไม่ได้แบบนาน ๆ คือหน่องคิดว่าการที่จะเป็นนักกีฬาที่ดี ต้องแสวงในการฝึกซ้อมด้วย แล้วก็ต้องมีวินัยกับตัวเองด้วย
คิดว่าตอนนี้ตัวเองมาถึงจุดไหนแล้ว และเป้าหมายสูงสุดคืออะไร
เรียกได้ว่าท้าย ๆ ของชีวิตนักกีฬาแล้วนะคะ เพราะว่าการเป็นนักกีฬาไม่ใช่ชีวิตที่ยาวอย่างมากก็สิบปี สิบสี่ปี สิบห้าปีก็รีไทร์ เพราะเราต้องใช้ร่างกาย พอเราอายุมากขึ้นร่างกายเราก็แย่ลงไปแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะรักษาร่างกายไว้ใช้ได้นานแค่ไหน ตอนนี้ก็พยายามสอนน้อง ๆ โดยที่ไม่ขาดตอนขึ้นมาแทนเราได้เลย ก็เป็นช่วงสุดท้ายแล้วจริง ๆ
ถ้าถามถึงเป้าหมายของการเป็นนักกีฬาวอลเล่ย์บอล หน่องเชื่อว่าของหน่องเองและของทีมวอลเล่ย์บอลก็น่าจะเป็นโอลิมปิก ซึ่งมันก็เกือบจะได้ไป คือมันเป็นแบบนี้มาทุก ๆ สี่ปี มองว่าหลังจากที่ได้ไปคัดโอลิมปิกมาหลาย ๆ ปีแล้วมันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราได้ประสบการณ์มากขึ้น แฟน ๆ ชาวไทยครั้งสุดท้ายที่เราไปญี่ปุ่น เขาไม่ได้แคร์ผลแพ้ชนะเลย แต่เขากลับรู้สึกอินไปกับเราว่า พวกเราได้สู้อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง เราได้ลงไปในสนามแล้วได้ทำเต็มที่หรือยัง เราสู้อย่างมีสปิริต คือไม่ต้องการชัยชนะก็ได้ แค่ขอให้ทำเต็มที่ หน่องก็มองว่าตรงนี้แหละสำคัญที่สุดค่ะ
“ทุกวันนี้หน่องก็คิดว่าบอลเร็วมันก็เหมาะกับตัวหน่องค่ะ ด้วยความคล่องตัว ความเร็วและสรีระ”
“เราสู้อย่างมีสปิริต คือไม่ต้องการชัยชนะก็ได้ แค่ขอให้ทำเต็มที่”