คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
อยากเป็นผู้กำกับ อยากเป็นตากล้อง อยากเป็นนักเขียนบท อยากเป็นนักแสดง อยากเป็นนักวาดการ์ตูน อยากเป็นคนทำแอนิเมชัน อยากเป็นช่างแต่งหน้า อยากเป็นคนตัดต่อ อยากทำหนัง อยากทำโฆษณา อยากทำสารคดี อยากทำรายการทีวี อยากทำเสียงประกอบ อยากออกแบบโปสเตอร์
ความอยากทั้งหมดนี้เป็นจริงได้ เมื่อเราได้มาเรียนที่ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
บ่อยครั้งที่เราโดนถามว่า เราเรียนอะไรนะ และถ้าเราตอบไปว่า เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทุกคนก็จะคิดว่าเราต้องสร้างบ้านหรือออกแบบภายในบ้านได้ หรือถ้าเราตอบว่า เราเรียนนิเทศศิลป์ ทุกคนก็จะคิดว่าเราต้องเป็นกราฟฟิกดีไซน์เนอร์ หรือประหลาดหน่อยเลยก็คือคิดว่าต้องไปเป็นนักแสดง ขอตอบเป็นครั้งสุดท้าย เราเรียนภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย (หรือชื่อเดิมคือ ภาพยนตร์และวิดีโอ) ที่อยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ เฉย ๆ นะ
การสอบเข้าที่นี่ ก็ไม่ได้มีขั้นตอนที่ยากอย่างที่คิด ถ้าหากเรามีความสนใจ มีความรู้เบื้องต้น หรือมีผลงานที่เกี่ยวกับงานด้านภาพยนตร์อยู่แล้วก็เรียกได้ว่าสบาย สามารถสมัครสอบได้เลย แต่ถ้าใครยังไม่มีแต่มีความสนใจ ก็มาเตรียมความพร้อมในการสอบเข้าที่นี่กันเถอะ
คุณสมบัติหลักที่ควรมีก็คือ เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรต้องไม่ต่ำกว่า 2.00
เมื่อมีคุณสมบัติครบแล้ว หลังจากนั้นเราก็ทำการสมัครผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบัน
วิชาที่สอบคือ
1.ความรู้พื้นฐานและความถนัดทางภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย ภาคทฤษฎี
2.ความถนัดทางภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย ภาคปฏิบัติ
ดูรายละเอียดการรับสมัคร รับตรง ปี 2559 ได้ที่
http://www.trueplookpanya.com/new/guidance/admission_news_detail/1565/
หลังจากนั้นถ้าเราผ่านการสอบข้อเขียน ก็จะมีการสอบสัมภาษณ์ และสิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมไปวันสัมภาษณ์นั้นเลยก็คือ แฟ้มรวบรวมผลงานทางศิลปะ หรือ portfolio เพียงแค่นี้เราก็ใกล้เคียงคำว่านักศึกษาของที่นี่กันแล้ว
ข้อความต่อไปนี้เป็นความลับ....
เพราะเรากำลังจะบอกเคล็ดลับที่สำคัญที่จะพิชิตข้อสอบและการสอบสัมภาษณ์รวมถึงการทำ portfolio ของที่นี่กัน
1.ควรจะศึกษาทฤษฏีเบื้องต้นของศิลปะ และทฤษฏีเบื้องต้นของภาพยนตร์ไปให้มากที่สุด
2.ถ้าออกแบบวาดโปสเตอร์ภาพยนตร์และวาดสตอรี่บอร์ด (storyboard) ได้ดี จะเป็นอะไรที่ดีมาก
3.ถ้ารู้จักคำเหล่านี้ “มุมกล้อง ขนาดภาพ คาแรคเตอร์ (character) สกรีนเพลย์ (screenplay) ทรีทเมนต์ (treatment)” สัก 3-4 คำ ถือว่าโอเค
4.ถ้ากล้าพูด กล้าแสดงออก ใช้ชีวิตแบบอดนอน ทนยุงกัด ได้ดี ถือว่าผ่าน (ยุงลาดกระบังดุจริงๆ นะ)
5.ผลงานที่ควรมีใน portfolio ก็คือ ภาพผลงาน drawing painting คาแรคเตอร์ดีไซน์ สตอรี่บอร์ด หรือจะเป็นงานที่เกี่ยวกับภาพยนตร์เลย ก็จะดีมากๆ
6.สุดท้ายแล้วถ้ามีความสนใจและรักในงานภาพยนตร์จริงๆ เราก็จะมีความสนุกและมีชีวิตที่ดีในการสอบเข้าและเรียนที่นี้อย่างแน่นอน
และถ้าถามว่าเรียนที่นี้จบไป ทำงานอะไรได้บ้าง ให้ย้อนกลับไปอ่านข้อความนี้ใหม่อีกหนึ่งรอบ