เรื่องและภาพ: ศรินทร เอี่ยมแฟง
หากคุณหญิงหมอพรทิพย์เปรียบได้กับ DNA Queen ของวงการนิติวิทยาศาสตร์ พันโทนายแพทย์ เอนก ยมจินดา ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ย่อมเทียบค้ำตำแหน่ง DNA King กับบทบาทผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หลากหลายคดีอันโด่งดังมีคุณหมอนักสืบร่วมค้นหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ภารกิจที่สำคัญกว่าคือการใช้ความรู้ทางการแพทย์เพื่อหยิบยื่นความยุติธรรมแก่ผู้บริสุทธิ์
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เรียนแพทย์ทหาร
เป็นธรรมดาของคนสมัยนั้นที่เน้นแต่วิชาชีพ หมอ พยาบาล วิศวกร ผมคิดแต่จะเป็นหมออย่างเดียว แต่ที่มาเป็นหมอทหาร เพราะสมัยอยู่สวนกุหลาบผมเรียน รด. เพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นทหาร เรียนได้ประมาณสองเดือนก็ทนไม่ไหว ผมไม่ชอบให้ใครบังคับ ต่อต้านการบังคับบัญชาเลยเลิกเรียน พอจะเข้ามหาวิทยาลัยก็มีคนเตือนว่า ถ้าไม่ได้เรียน รด. ต้องไปเป็นพลทหาร ถูกกดขี่ข่มเหง เราเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์เลยเลือกเป็นหมอทหาร แต่หลักการของโรงเรียนทหารคือการฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยไม่ต้องมีเหตุผล การอดทนต่อการเจ็บช้ำน้ำใจ ซึ่งตรงนั้นก็มีปัญหากับนักเรียนแพทย์มาก เพราะเราเป็นคนมีเหตุผล
ความสนใจด้านสาขานิติเวชศาสตร์เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่
ถ้าลองสังเกตหมอนิติเวช ในครอบครัวมักมีคนที่สัมพันธ์กับอาชีพทางกฎหมาย เช่น พ่อแม่เป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผมมีพี่ชายเป็นผู้พิพากษา เย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์กลับบ้านจะมาเจอพี่ชายและเพื่อน ๆ มาคุยกันเรื่องคดีความ คุยไปคุยมาเกิดหงุดหงิดเรื่องหมอ รูปคดีแบบนี้ทำไมหมอไม่ให้การที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เป็นไปได้ว่าท่านอาจประยุกต์ใช้ความรู้ทางการแพทย์กับคดีความไม่เต็มที่ เรานั่งฟังก็คิดว่าหมอให้ความยุติธรรมกับคดีความได้ ผมเลยอยากทำงานด้านนี้
รวมถึงสมัยผมจบมา พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ท่านเป็นคนสถาปนาสร้างตึกอุบัติเหตุ ท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้เป็นศูนย์กลางของการรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุ ให้บริการผู้ป่วยแบบครบวงจร ซึ่งรวมไปถึงการดูแลเรื่องคดีความและการให้การในชั้นศาลด้วย ผมเลยได้รับการสนับสนุนให้ไปศึกษาต่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
แพทย์นิติเวชทำหน้าที่อะไร
สมัยก่อนเราจะโฟกัสไปที่นิติวิทยาศาสตร์ ทำงานแปดสาขา หนึ่งคือการชันสูตรพลิกศพ สอง ผู้ป่วยคดี ชันสูตรบาดแผล สาม นิติจิตเวช ตรวจสภาพจิตผู้ป่วยว่าขณะกระทำความผิด เขาบ้าหรือวิกลจริตหรือเปล่า สี่ การตรวจอสุจิในคดีความผิดทางเพศ ห้า การตรวจความรู้ทาง DNA หก การตรวจทางพิษวิทยา สารพิษต่าง ๆ เจ็ดคือสารพิษที่สำคัญมาก คือแอลกอฮอล์ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย และฆาตกรรม แปดคือเรื่องกฎหมายการแพทย์และการประยุกต์ใช้การแพทย์
งานของผมไม่ใช่งานรักษาคนไข้ คลินิกนิติเวชศาสตร์เป็นงาน after-sales service โดนรถชนขาหักมาทำการผ่าตัดใส่เหล็กแล้ว ไม่จบ คุณจะต้องมีคดีความ มีการเขียนใบชันสูตรให้พนักงานสอบสวนเพื่อให้พนักงานส่งฟ้อง เราต้องไปเป็นพยานศาลว่าถูกตีด้วยของแข็ง หรือถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาดเท่าไหร่
ว่าไปแล้วสังคมไทยเพิ่งรู้จักนิติเวชศาสตร์เพราะคุณหมอพรทิพย์
ปัญหาของวงการแพทย์สมัยก่อนมักจะปิดตัว ไม่ค่อยให้ข้อมูลด้านการแพทย์แก่ผู้บริโภค เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและเป็นความลับของคนไข้ สาขานิติเวชศาสตร์แรก ๆ ก็มีข้อห่วงใยว่าไม่อยากให้ประชาชนรู้มาก เพราะถ้าประชาชนนั้นเป็นผู้ร้ายก็จะนำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด จนกระทั่ง ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ เริ่มเปิดวิชาให้กับนักศึกษากฎหมาย ไม่ว่าคุณจะประกอบอาชีพทนายความ ผู้พิพากษา หรือแม้แต่ผู้ร้าย คุณก็มีความรู้นี้ สำคัญที่ว่าใครจะมีความสามารถในการประยุกต์ใช้ ส่วนเครดิตต้องยกให้กับ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เพราะท่านเป็นคนทำให้เกิดการตื่นตัวด้านการนำนิติเวชศาสตร์เข้ามาคลี่คลายคดีหั่นศพเจนจิรา ทั้งในวงการนักศึกษาแพทย์ที่มาสนใจด้านนิติเวชศาสตร์มากขึ้น และนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่หันมาสนใจด้านนิติวิทยาศาสตร์มากขึ้น
นิติวิทยาศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ เหมือนหรือแตกต่างกัน
นิติวิทยาศาสตร์คือการเอาวิทยาศาสตร์มารับใช้นิติศาสตร์หรือกระบวนการยุติธรรม เอามาบูรณาการกันนั่นเอง ส่วนนิติเวชศาสตร์ เวชศาสตร์ก็คือการแพทย์ ก็หมายความว่าการเอาวิชาแพทย์มารับใช้วิชากระบวนการยุติธรรม เพียงเราจะพูดกว้าง ๆ ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ หรือจะเจาะจงเป็นแพทย์เท่านั้นเอง นับวันนิติเวชศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์ก็ทับซ้อนกันมากขึ้น ถือว่านักวิทยาศาสตร์กับหมอต้องทำงานร่วมกัน
คุณหมอเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำไมต้องมีสถาบันนี้
งานนิติเวชศาสตร์เคยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองพิสูจน์หลักฐานว่าอย่างไรก็อย่างนั้น เมื่อคนเริ่มสงสัยเคลือบแคลง ฟางเส้นสุดท้าย กรณีฆาตกรรมแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ ทำให้เกิดการปฏิรูปนิติเวชศาสตร์และมีการก่อตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นกรมใหม่ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม เพื่อทำให้งานนิติวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศที่กระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ ประชาชนรู้สึกสบายใจ ไม่มีอคติ คดีธรรมดาอย่าง street crime ลักวิ่งชิงปล้น ต้องใช้องค์ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ก็ให้กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติดูแล ส่วนกรณีคดีพิเศษ ซับซ้อน คดีการเมือง คดีที่มีความสำคัญต่อสาธารณชน กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ก็จะให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ดูแล
นิติวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความยุติธรรมยังไง
ทันทีที่ความยุติธรรมมีเรื่องวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วนักวิทยาศาสตร์หรือคุณหมอนึกถึงมุมมองว่า เราจะให้ความยุติธรรมกับคู่ความได้หรือไม่ ถ้าผู้ป่วยวิกลจริตหรือไม่สบายแล้วไปทำร้ายใคร เขาก็ไม่ต่างจากเด็กซึ่งไม่รู้ผิดชอบชั่วดีขณะกระทำความผิด ดังนั้นเขาไม่ควรติดคุกหรือนำไปประหารชีวิตนะครับ ไม่ได้หมายความว่าคนที่ถูกยิงจะเจ็บตัวฟรี ผู้ปกครองของคนวิกลจริตก็ต้องไปจ่ายเงินค่าเสียหาย ส่วนผู้วิกลจริตก็ไม่ได้กลับบ้าน ต้องเอาไปรักษา
หลายคดีที่ผลออกมาแล้วแคลงใจคนดู
หมอนิติเวชเป็นงานที่ให้คุณและให้โทษกับผู้ป่วยและคู่กรณี ตรงกันข้ามกับแพทย์ที่รักษาพยาบาล ซึ่งให้คุณอย่างเดียว คนเราเวลาบาดเจ็บก็อยากให้ตัวเองเจ็บหนัก เพื่อเอาผลที่เจ็บหนักให้คู่กรณีไปรับโทษเยอะ ๆ ส่วนคู่กรณีก็อยากจะให้เจ็บน้อย ๆ จะได้มีโทษเบา ๆ แล้วมันมาลงที่หมอนี่แหละ เราสอนหนังสือเสมอเลยว่า แพทย์มีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ ส่วนการประยุกต์ใช้ข้อมูลแพทย์ในทางกฎหมายเป็นเรื่องของคุณ เราไปศาล เราไปในนามของความเป็นกลาง ความจริง ส่วนผู้พิพากษาจะว่าอย่างไรเป็นเรื่องของพยานหลักฐานอื่น ๆ ประกอบกัน
อยากให้เล่าถึง “คดีเณรคำ” ผลงานช่วงที่เป็น ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
เป็นเทคนิคการทำคดีที่น่าสนใจและทันสมัยมาก เราใช้หลักทางพันธุกรรมก็คือการตรวจ DNA พ่อแม่จะถ่ายทอดพันธุกรรมคนละครึ่งไปยังลูก ไม่ว่าจะมีลูกกี่คนก็ตาม กรณีนี้ผู้หญิงถูกข่มขืนแล้วท้องตอนอายุต่ำกว่า 15 ปี ถ้าอายุต่ำกว่า 15 ปี ต่อให้บอกว่าผู้หญิงยินยอมก็ถือว่าเป็นการข่มขืน ลูกของผู้หญิงคนนี้เป็นหลักฐานสำคัญว่าเณรคำมีการร่วมประเวณีกับผู้หญิง ปัญหาคือเณรคำไม่ได้อยู่ที่เมืองไทย เราจะหา DNA ในเซลล์ที่ติดอยู่ตามเหงื่อ ตามปกเสื้อ หมวกกันน็อค ถ้าได้แปรงสีฟันมาก็ยิ้มเลย เณรคำเคยปลุกเสกพระเครื่องซึ่งมีมวลสารประกอบด้วยเส้นผมและเศษจีวร ปลุกเสกไว้นานแล้วสมัยกำลังพีค เส้นผมจะให้ดีต้องกระตุกออกมาแล้วยังมีรากผม จะมีโอกาสตรวจเจอได้ง่าย ส่วนเศษจีวรถ้าเป็นส่วนที่ติดตัวอย่างสบง อังสะ ก็จะตรวจได้ง่าย ผลคือเราตรวจไม่เจอ ไม่สามารถสกัด DNA ได้ แต่เราโชคดีคือมีซิการ์ซึ่งท่านคาบไว้ในปาก เซลล์เยื่อบุริมฝีปากก็ติดที่ปลายซิการ์ ก่อนที่ท่านจะมอบให้ศิษยานุศิษย์นำไปบูชา เมื่อศรัทธาเสื่อมคลาย เราได้หลักฐานนี้มาเป็นตัวสกัด DNA ซึ่งตรงกับเด็กคนนี้ว่าเป็นครึ่งหนึ่งที่มาจากเณรคำ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของแม่เด็กแน่นอน
การตรวจพ่อแม่ลูกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ใช้ได้ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา การตรวจคดีนี้อันตรายอย่างยิ่ง ตอนนั้นผมเครียดจริง ๆ ถ้าผลออกมาแล้วเณรคำไม่ใช่พ่อ คนที่ได้รับผลกระทบจากคดีนี้จริง ๆ คือเด็ก แต่มันเป็นคดีอาญาเพราะแม่เขาท้าทายให้ตรวจ เราก็จำเป็นต้องทำ
อีกโครงการคือการเก็บ DNA fingerprint พื้นที่ชายแดนภาคใต้ นิติวิทยาศาสตร์ช่วยเรื่องนี้ยังไง
สมัยที่เป็นรองเลขาธิการ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ทำงานเหมือนพระเอก ช่วยเหลือประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับความยุติธรรม ประชาชนขาดความศรัทธาไว้วางใจในเจ้าหน้าที่ของรัฐ เขามีปัญหาเรื่องรักษาพยาบาลและการศึกษาเพราะตอนคลอดลูกเขาไม่ใส่ใจที่จะทำบัตรประชาชน จนกระทั่งเด็กถึงเกณฑ์เข้าเรียนจึงเพิ่งมารู้ว่าเขาไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลฟรี สิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี เขาต้องไปร้องกรมการปกครองให้ออกบัตรประชาชนให้ซึ่งมันยุ่งยาก วิธีที่ง่ายคือการตรวจ DNA พอได้เป็น ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เราก็ลงพื้นที่ทำโครงการนี้ เอาพ่อแม่มาตรวจ DNA ใครพ่อไม่อยู่ก็ใช้พี่ชายหรือน้องชาย
โครงการนี้เป็นบุญกุศลมากและสร้างศรัทธามาก ปัญหาชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งคือการแยกดินแดน คนไม่อยากเป็นคนไทย เราเสียเป็นหมื่นพันล้านทำโครงการให้เขากลับมาเป็นคนไทย แต่คนกลุ่มนี้ที่อยากเป็นคนไทยแท้ ๆ ทำไมเราไม่สนใจล่ะฮะ ถ้าได้กลับไปเป็น ผอ. อีกครั้งก็ยังอยากทำโครงการนี้เพราะคนรอทำเยอะมาก
เคยคิดไหมว่าเป็นหมอในแล็บสบายกว่าการลงพื้นที่
ผมกลับมองว่าเป็นโอกาส ผมไม่ค่อยกลัว ยังมั่นใจว่าถ้าไปทำประโยชน์เราน่าจะปลอดภัย พื้นที่นั้นเราเคยลงไปปฏิบัติการแบบ CSR เอาทันตแพทย์ไปทำฟัน เอาหมอไปตรวจรักษา เอายาไปแจกให้ประชาชน เราไปเป็นมิตรไม่ได้ไปจับ ผมอยู่เก้าเดือน ทำงานตั้งแต่เจ็ดโมง ออกพื้นที่ถึงเที่ยงคืน ทุกเสาร์อาทิตย์ เราทำงานหนักเพื่อให้ได้ใจประชาชน เพื่อตีคืนเอาประชาชนกลับมาเป็นของเรา แต่มันคุ้มเพราะเป็นประสบการณ์ในชีวิตที่หาไม่ได้อีกแล้ว สนุก เหนื่อย เอาอีกไหม ไม่เอาแล้ว (หัวเราะ)
หลักในการทำงานของคุณหมอคืออะไร
เคยได้ยินเรื่องเล่าไหม มีกษัตริย์บอกกับอุปราชคนหนึ่ง จงหาของอะไรมาก็ได้ที่คนที่มีความสุขที่สุดพอเห็นแล้วจะหมดสุข ส่วนคนที่ทุกข์ที่สุดพอเห็นแล้วจะหมดทุกข์ หาไม่ได้ จนกระทั่งไปเจอช่างทำแหวน ช่างให้แหวนมาวงหนึ่งสลักว่า “This too shall pass.” นี่ก็เหมือนกัน แล้วมันก็ผ่านไป ถ้าเรามีความสุขสุดยอด เห็นแหวนวงนี้ เซ็งไหม แล้วมันก็ผ่านไป กูหมดสุขเลย เพราะฉะนั้นถ้ามีอุปสรรคผมก็จะคิดถึงเรื่องนี้
ผมกำเนิดเป็นหมอทหาร ถึงผมจะต่อต้านอำนาจรัฐขนาดไหน แต่ผมถูกฝีกให้เป็นทหาร มีหลักการยึดอยู่สามข้อ หนึ่ง คำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือพรจากสวรรค์ สอง หมากัดเจ้าของ ลูกน้องฟ้องนาย ไม่ตายดี สาม ทะเลาะกับผู้บังคับบัญชา กัดกับหมาดีกว่า
ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์
คุณอาจจะเลือกทุ่มเทชีวิตมาทำอาชีพหลักอย่างนักนิติวิทยาศาสตร์หรือแพทย์นิติเวช กับอีกอย่างคือเป็นผู้เล่นสนับสนุน ต้องฝากไว้ว่าไม่ว่าจะทำงานด้านใดก็ตาม ถ้านึกขึ้นมาได้ว่าความรู้ที่ตัวเองมีอยู่สามารถช่วยคลี่คลายคดีได้ ตัวอย่างง่าย ๆ แม้แต่ศิลปินคนวาดรูป ศพสึนามิหน้าเละไปครึ่งหนึ่ง การพิสูจน์เอกลักษณ์ทำได้โดยให้ศิลปินวาดรูปจำลองหน้าที่เละให้กลายเป็นหน้าดี ถือว่าคุณได้เป็นนักนิติวิทยาศาสตร์แล้ว
“หมอนิติเวชเป็นงานที่ให้คุณและให้โทษกับผู้ป่วยและคู่กรณี ตรงกันข้ามกับแพทย์ที่รักษาพยาบาล ซึ่งให้คุณอย่างเดียว”