เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
หลังจากได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก “ตั้งวง” ในเวทีสุพรรณหงส์ และรางวัลศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ ประจำปี 2557 คงเดช จาตุรันต์รัศมี ก็นำผลงานชิ้นถัดมาคือภาพยนตร์สารคดี “เอวังฯ” ไปฉายรอบ World Premiere ที่งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 19 แม้จะถูกขนานนามว่าเป็นผู้กำกับหนังอินดี้ แต่ผลงานที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น สยิว เฉิ่ม กอด แต่เพียงผู้เดียว และตั้งวง ล้วนแต่เป็นหนังย่อยง่าย ต่างจากงานของผู้กำกับมือรางวัลคนอื่น ตามคำบอกเล่าของเขา ภาพยนตร์ “ยี่ห้อคงเดช” มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือเนื้อหาซึ่งสะท้อนสังคมคนตัวเล็ก ที่เขาต้องการทิ้งคำถามให้คนดูได้กลับไปตั้งคำถามต่อ
ก่อนเป็นผู้กำกับหนัง ผ่านการทำงานมาหลากหลายรูปแบบ
ตั้งใจอยากทำงานหนังมาตั้งแต่มัธยมแล้วครับ และเรียนในคณะที่สอนทำหนังจบออกมา แต่ว่าก่อนหน้าจะเริ่มงานหนังมันก็ไม่ใช่ของทำง่ายเท่าไหร่ในยุคยี่สิบกว่าปีที่แล้วนะครับ ตอนที่จบออกมาเรามีความสนใจหลายอย่าง เราก็ไปทำวงดนตรีก่อน (วงสี่เต่าเธอ) เสร็จแล้วก็ไปเป็นอาจารย์อยู่พักหนึ่ง จริงๆ ก็ทำมิวสิควิดีโอตั้งแต่จบมาใหม่ๆ และเริ่มไปเป็นผู้ประกาศสปอตโฆษณาทางทีวีและวิทยุ จนในที่สุดก็ได้เข้ามาทำหนัง ใช้เวลาอยู่ประมาณหนึ่ง เริ่มเขียนบทก่อนและในที่สุดก็ได้ทำหนัง
20 กว่าปีในวงการสร้างต้นทุนอย่างไรในการผลิตภาพยนตร์ของตัวเอง
ผมคิดว่าการที่ได้ผ่านงานมาหลายๆ อย่าง และพบปะปะทะกับคนหลายๆ รูปแบบ คือในที่สุดในการทำหนังมันต้องใช้วัตถุดิบคือชีวิตและผู้คน ดังนั้นการได้พบผู้คนหลายๆ รูปแบบมันก็เป็นวัตถุดิบที่ดีสำหรับเรา ให้เรากักตุนเอาไว้และสามารถทำออกมาเป็นหนังได้
“ตั้งวง” ที่คุณทั้งเขียนบทและกำกับ มาพร้อมกับประเด็นวัฒนธรรม ตั้งใจจะบอกอะไร
อย่างตั้งวงนี่ไม่รู้จะพูดว่าต้องการจะบอกอะไร คือเราว่ามันเหมือนกับการสะท้อนภาพที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้มากกว่า นอกจากเรื่องของการสะท้อนภาพแล้ว เราคิดว่าน่าจะเป็นในเรื่องของการตั้งคำถาม ว่าถ้าทุกวันนี้เราเป็นอย่างนี้ มันเลยจุดที่จะต่อว่าใคร และมานั่งพูดว่าวัฒนธรรมไทยจะไม่เหมือนเดิมแล้วนะ คือวัฒนธรรมไม่สามารถคงอยู่แบบเดิมได้ตลอดไปเราก็ต้องยอมรับ ในวันที่ทั้งโลก เอกลักษณ์มันเบลอไปหมด ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย มันเป็นทั้งโลกเลยนะ เราจะมีชีวิตอยู่อย่างไรมากกว่า
ในทุกวันนี้เด็กสี่คนในตั้งวง แต่ละคนเลือกทางชีวิตของตัวเองคนละแบบ มันไม่ใช่หนังแบบเพื่อนเราจะสู้เพื่อฝัน เพราะเด็กทั้งสี่คนไม่ได้รักกันขนาดนั้น และในที่สุดวงแตกด้วยซ้ำไป แต่ละคนมีต้นทุนชีวิตและเงื่อนไขชีวิตไม่เหมือนกัน ดังนั้นหมายความว่าผมพยายามสะท้อนภาพมิติของสังคมด้วยซ้ำไป ว่าเรามีผู้คนที่มีเงื่อนไขทางชีวิตแตกต่างกันอยู่อย่างหลากหลาย และแต่ละคนก็เลือกทางที่ไม่เหมือนกัน แล้วคุณล่ะจะเลือกพรุ่งนี้ของประเทศอย่างไร ผมคิดว่าคนดูแต่ละคนน่าจะเหมือนได้คำถามกลับไปและได้ไปครุ่นคิดเรื่องนี้มากกว่า มันไม่ได้เป็นหนังที่บอกว่า เฮ้ย ฉันคิดแบบนี้นะ มันเป็นการโยนคำถามไปมากกว่า“เอวังฯ” ก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรม ซึ่งก็คือศาสนาและความเชื่อเช่นเดียวกัน
โปรเจ็คต์นี้เริ่มมาจากทรูก่อน วันหนึ่งทรูติดต่อมาว่าเขามีรายการสามเณรปลูกปัญญาธรรมอยู่ อยากจะให้ลองต่อยอดทำภาพยนตร์สารคดีจะเป็นไปได้ไหม เราก็สนใจเพราะว่าเรื่องศาสนาเป็นสิ่งที่เราสนใจอยู่แล้ว ถ้าเราทำคงทำในไอเดียบางอย่าง เรากลับไปนั่งรื้อรายการสามเณรปลูกปัญญาธรรมดู ซึ่งตอนที่เราเริ่มทำมันเพิ่งจบซีซั่นสองไป แล้วค้นพบว่าสามเณรวิลเลียมน่าสนใจมากที่สุด เนื่องจากเขาอายุน้อยที่สุด และเป็นเด็กอเมริกันเพียงเจ็ดขวบที่ขอพ่อแม่มาบวช เราก็เริ่มสนใจ ทำไมไม่เล่นเกมหรือดูการ์ตูนอยู่บ้าน เขาต้องการอะไรจากศาสนา เราก็เลยอยากจะติดตามชีวิตของเด็กคนนี้ คือในที่สุดความเป็นเด็กฝรั่งหน้าตาน่ารักก็ทำให้เขามีแฟนคลับอยู่เหมือนกัน
พอได้วิลเลี่ยมเราก็อยากจะหาอีกด้านหนึ่ง เด็กอีกคนหนึ่งที่อาจจะไม่ได้มีต้นทุนทางชีวิตมากนัก แต่ว่าจำเป็นต้องมาอยู่ใกล้วัด นั่นก็คือพวกเด็กวัด ในที่สุดเราก็มาลงตัวที่วัดสระแก้ว จ.อ่างทอง พื้นที่นั้นมีเด็กวัดมหาศาล โรงเรียนมีเด็กวัดที่จะต้องมาอยู่หอ 2,000 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กชนเผ่า เด็กม้ง เด็กชาวเขา แต่ละคนไม่ค่อยมีฐานะ พ่อแม่ส่งมาเพราะว่าที่นี่เรียนฟรี ชีวิตแบบนี้มันต้องมีอะไรที่มาคานน้ำหนักกับวิลเลียม น่าสนใจทั้งสองฝั่งแน่ๆ เลย ในที่สุดเราะพบบัณฑิต เราลืมสายตาบัณฑิตไม่ได้ บัณฑิตสายตาแข็งมากเลย และเป็นเด็กไม่พูด เฮ้ย อะไรทำให้เด็กคนนี้สายตาแข็งขนาดนี้ เราก็เลยรู้สึกว่าอยากตามคนนี้ ทั้งๆ ที่ก็รู้นะว่าการเป็นคนไม่พูดของเขาเท่ากับว่าเขาเป็นคนไม่เปิด การถ่ายสารคดีถ้าไม่เปิดก็ยาก แต่ปรากฏว่าเขาสื่อสารกับเราด้วยสายตา ด้วยท่าทางของเขานั่นแหละ คือเรารู้อารมณ์ว่าเขามีความสุขไม่มีความสุข แต่เขาจะไม่มาพูดเจื้อยแจ้วให้เราฟัง มันก็ทำให้เราทำงานยากแหละ แต่ว่าคุ้มค่า
ประสบการณ์ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก
ตอนแรกก็คิดว่าจะทำหนังสารคดีสวยๆ แต่ปรากฏว่าเราดีลกับเด็ก เราก็คอนโทรลเขาไม่ได้ วันดีคืนดีเราเตี๊ยมกันไว้แล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้พี่จะถ่ายอันนี้นะ เช้าตื่นขึ้นมาพอไปถึงปุ๊บ หายไปแล้ว คือหนีไปเลย หรือบางวันวิ่งตามถ่ายทั้งวันแต่ไม่ได้อะไรที่ใช้ได้เลย
อย่างที่บอกว่าเราไม่เคยทำสารคดีมาก่อน เป็นการสอนเราอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะว่ามันแตกต่างจากการทำหนังฟีเจอร์ปกติ เราจำเป็นต้องยืดหยุ่นและลื่นไหลไปตาม subject ที่เราติดตามอยู่ แล้วปกติทำหนังเราจะเขียนบทเสร็จก่อนแล้วไปถ่ายตามเอา แต่ว่าการทำสารคดีเราต้องมานั่งเขียนบททุกวันหลังจากที่ถ่ายเสร็จว่าได้อะไรมาแล้วบ้าง แล้วเราค่อยๆ มาประกอบร่าง แล้วเราก็จะมาดูว่าขาดอะไรอีก เอ๊ะ เราอยากจะเล่าอย่างไรถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแบบนี้ แล้วเราจำเป็นที่จะต้องเล่าตามสภาพความเป็นจริงด้วย ค้นพบเหมือนกันนะว่างานสารคดีเป็นงานที่ไม่มีวันถึงจุดที่เราจะบอกว่าถ่ายพอแล้ว เพราะว่าชีวิตของ subject ที่เราตามอยู่เขายังไม่จบ มันยังมีเรื่องใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็เหมือนได้เรียนรู้ที่จะปล่อยวางอ่ะ ต้องละวางและก็เอาสิ่งที่มีอยู่เล่าเรื่องแบบที่เราต้องการ
เสน่ห์ของ “เอวังฯ”
เราคิดว่ามันเรื่องของเด็กสองคน แล้วก็ในที่สุดมันเรียบง่ายมากนะ เราก็ไม่ได้ทำมันบิ้วดราม่าหรือว่าอะไรอย่างนี้ด้วยนะ เราคิดว่าพยายามจะสะท้อนอย่างซื่อสัตย์เท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างที่บอกเราเริ่มคำถามแรกจากวิลเลียมว่าวิลเลียมต้องการอะไรจากการบวช วิลเลียมต้องการอะไรจากศาสนา และในที่สุดมันเลยไปจนถึงว่าเราทุกคนต้องการศาสนาไปเพื่ออะไร คิดว่าในที่สุดหนังอาจจะได้ตั้งคำถามนี้กลับไปสู่คนดูเหมือนกัน
สังเกตว่าผลงานยี่ห้อคงเดชเลือกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดาในสังคม
ก็หนังบอกซ์บัสเตอร์หรือว่าหนังสตูดิโอเขาทำหนังเกี่ยวกับคนที่สำคัญมากๆ ไปแล้ว คือเราแค่มองว่าคนตัวเล็กๆ จริงๆ ก็มีชีวิตไม่ต่างอะไรกับคนที่เป็นดาราหรือคนสำคัญของโลก ทุกคนมีปัญหาในแบบของตัวเองเหมือนกัน มีสิ่งที่ต้องเผชิญเหมือนกัน เราเลยสนใจคนตัวเล็กๆ มากกว่า เพราะไม่ค่อยมีใครหยิบมาพูดถึง ไม่ต้องเป็นมือปืนเข้มข้น ไม่ต้องเป็นเจ้าพ่อมาเฟียหรอก เป็นคนทำกุญแจบ้าง เป็นเด็กมัธยมเนิร์ดๆ บ้าง แต่ว่าสิ่งที่เขาเผชิญมันเข้มข้นไม่แพ้กันหรอก ไม่แพ้กับดาราสาวที่ศัลยกรรมที่เธอทำไว้กำลังจะพังลงอะไรอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ มันก็มีหนังประเภทนั้นอยู่นะ และไม่ได้หมายถึงว่าชีวิตคนพวกนั้นจะไม่น่าสนใจ เพียงแต่เราแค่รู้สึกว่ามีคนสนใจพวกเขาเยอะแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำนะ ถ้าสมมติว่าเรามีพล็อตแล้ว เฮ้ย อันนี้มันต้องเป็นเรื่องของดาราว่ะ หรือว่าต้องเป็นเรื่องของคนที่พิเศษหน่อย เราก็ไม่ได้ปิดกั้น
รางวัลศิลปาธรบอกอะไรกับตัวเองได้บ้าง
ที่ผ่านมาเราก็ทำงาน แม้แต่ตอนที่เรายังทำอยู่กับสตูดิโอไม่ว่าจะ “สยิว” “เฉิ่ม” “กอด” อยู่กับสหมงคลฟิล์มหรือ GTH เราก็ทำแต่หนังที่เราเชื่อ ซึ่งมันก็จะมีความแปลกๆ มาโดยตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในยุคนั้นอุตสาหกรรมหนัง หรือนายทุนผู้ลงทุนเขายังลองอะไรแปลกๆ บ้าง พล็อตอย่าง “สยิว” ถ้าถือมาเสนอนายทุนทุกวันนี้ ทุกคนก็จะต้องบอกว่านี่มันเป็นหนังอินดี้ มันเป็นหนังอิสระ เอามาทำกับสตูดิโอไม่ได้หรอก แต่วันนั้นทำได้เพราะว่าอุตสาหกรรมไม่ play safe เท่านี้ ดังนั้นเราเลยรู้สึกว่าอาจจะเพราะที่ผ่านมาเราทำแต่สิ่งที่เราเชื่อและอาจจะมีรสชาติที่แปลกหน่อย เราเชื่อว่าหนังไม่ใช่แค่มหรสพ ไม่ใช่แค่บันเทิงแล้วจบไป คือหนังแบบนั้นก็ควรจะมีแหละ หนังอย่างที่ได้พันล้านแล้วทุกคนก็แฮปปี้ แต่ว่าเราอยากทำหนังแบบมันควรจะเป็นหมายเหตุอะไรด้วย หรือว่าควรจะสะท้อนอะไรได้บ้าง อาจจะเป็นเรื่องการเมือง สังคม หรือว่าอะไรก็ตาม มันควรจะมีหมุดหมายเมื่อหยิบหนังเรื่องนี้มาดู มันเห็นภาพอะไรบางอย่างมากกว่าให้ความบันเทิง เหมือนกับว่าสิ่งที่เราเชื่อมั่นและทำอยู่ตลอดทุกวันนี้ แม้มันจะไม่ได้รีเทิร์นกลับมาเป็นเงิน ได้รายได้แบบถล่มทลายกับเขาสักที แต่เราก็เชื่อว่ามันมีคุณค่าอะไรสักอย่างเหมือนกัน เราเชื่อว่าอย่างนั้น
ปัจจุบันวงการภาพยนตร์ไทยจะต้องอยู่อย่างไรให้รอด
ก็ต้องอึดครับ และต้องไม่ฟุ่มเฟือย (หัวเราะ) จริงๆ ไม่ใช่แค่ทุกวันนี้ด้วยนะ หมายความว่าคนที่ทำหนังอยู่ไม่ว่าจะเป็นในกระแสหรือนอกกระแส ในสตูดิโอหรืออิสระแบบเรา เราคิดว่าทุกคนทำด้วยความรักครับ เหมือนกับว่าพอทำแล้วเลิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นหมายความว่าคนที่ยังทำอยู่ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างสมดุลในชีวิต บางคนเลือกที่จะทำงานโฆษณาเพื่อจะเลี้ยงชีพ แล้วนานๆ ทีโดดมาทำหนัง หรืออย่างเราเองทำหนังอิสระ เราจำเป็นเหมือนกันที่จะต้องหาวิธีทำในงบประมาณที่ไม่เยอะมาก แล้วหาวิธีที่จะสื่อสารออกไปแบบไม่ใช้เงิน แต่ใช้สมองเยอะๆ ซึ่งดีเหมือนกันนะ หลายครั้งมันได้ผลที่เวิร์กกว่าการใช้เงิน
เอาเข้าจริงๆ ตอนนี้ในวงการหนังทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะไทย หนังเทศเองก็ถือว่ารายได้ลดต่ำลง เพราะว่าพฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้กิจกรรมดูหนังเป็นกิจกรรมที่กลุ่มเป้าหมายหลักคือวัยรุ่น แล้วเขาคงรู้สึกว่าราคาไม่ถูกนัก เข้าโรงหนังซีนีเพล็กซ์มีค่าใช้จ่ายสูง และการที่เขามีทางเลือกหลากหลาย สามารถดู stream movie หรือว่าบางทีก็ดูแบบผิดกฎหมายหน่อย ตามยูทูปหรือว่าโหลดบิทก็ได้นี่หว่า เขารู้สึกแบบนั้น และในยี่สิบสี่ชั่วโมงเขาเริ่มใช้เวลากับอย่างอื่นมากขึ้น เดี๋ยวนี้วัยรุ่นก็ไม่ค่อยดูทีวีแต่จะอยู่กับโซเชียลเน็ตเวิร์กมากกว่า พฤติกรรมแบบนี้เราจำเป็นจะต้องเตรียมตัว ปรับตัว และก็รับมือ เพราะว่ามันห้ามไม่ได้ แต่ว่าเราจะปรับตัวอย่างไรให้ไหลไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้
หนังแนวไหนที่อยากทำอีก
อยากทำไปเรื่อยๆ นะ ส่วนใหญ่แล้วเราไม่ได้เริ่มจากการตั้งเป้าว่าอยากทำแนวนี้ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากคอนเทนต์เสมอ เรามีคำถามบางอย่างเสร็จแล้วเราก็เขียนบทขึ้นมา แม้แต่ “เอวังฯ” ซึ่งเป็นสารคดีก็เริ่มจากคำถามอยู่ดี แล้วเราก็เซ็ตทุกอย่างขึ้น อย่างเช่น การเลือกบัณฑิตหรือการเลือกวิลเลียมก็เกิดมาจากคำถามของเรานั่นแหละ ดังนั้นหมายความว่าการทำหนังทุกเรื่องจะเริ่มจากการมีคำถามบางอย่าง เหมือน “ตั้งวง” เรามีคำถามเรื่องวัฒนธรรมไทย หรือว่าเอกลักษณ์ หรือว่าวันพรุ่งนี้ของประเทศ “สยิว” “เฉิ่ม” “กอด” ก็มีคำถามหมดเลย ถ้าทุกคนได้ดูน่าจะเข้าใจ
“เราเชื่อว่าหนังไม่ใช่แค่มหรสพ ไม่ใช่แค่บันเทิงแล้วจบไป…เราอยากทำหนังแบบมันควรจะเป็นหมายเหตุอะไรด้วย หรือว่าควรจะสะท้อนอะไรได้บ้าง”