เรื่องและภาพ: ศรินทร เอี่ยมแฟง
เกือบสิบปีที่แล้ว พี่โอ๋-ธรรมศักดิ์ ลือภูวพิทักษ์กุล เป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องนำวงอินดี้ P2WARSHIP (พีทูวอร์ชิพ) เขายังเป็นเจ้าของบริษัทตกแต่งภายใน ทำงานออกแบบและถ่ายภาพไปด้วย วิถีชีวิตคนเมืองแบบฮิปๆ ที่หลายคนใฝ่ฝันกลับไม่สามารถให้ความสุขแก่ผู้ชายคนนี้ได้ ก่อนจะก้าวสู่วัยสี่สิบเขาตัดสินใจถอยกลับมาตั้งหลักด้วยการทำสนามฟุตบอลขนาดไร่ครึ่งที่บ้าน เพื่อให้เวลากับการค้นหาความสุขที่แท้จริง
สนามฟุตบอลนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปรับพื้นที่ชีวิต ก่อนที่เขาจะพบกับจุดเปลี่ยนที่ทำให้หันเหสู่อาชีพเกษตรกรอินทรีย์ และดำเนินวิถีตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เวลาสองปีครึ่งอาจไม่พอเพียงในการชี้วัดว่าต้นกล้าเกษตรกรต้นนี้จะเติบโตอย่างแข็งแรง แต่ก็เพียงพอแล้วสำหรับความสุขที่แท้ที่เขาได้รับในทุกวัน
ถึงจะเป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องแต่ไม่ค่อยมีคนทราบว่าพี่โอ๋เป็นใครมาจากไหน มีพื้นฐานด้านการเกษตรมาก่อนหรือเปล่า
ผมเป็นเด็กลาดพร้าวครับ ตอนประถมไปเรียนโรงเรียนนานาชาติที่ฮ่องกง กลับมาเรียนตกแต่งภายในที่เพาะช่าง แล้วไปเรียน Retail Design and Management ที่อังกฤษ กลับมาสักพักก็เปิดบริษัทตกแต่งภายใน ทำงานออกแบบจิวเวลรี่กับญาติ ช่วงนั้นก็ทำเพลงกับ P2WARSHIP ผมเป็นคนเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ ใช้ชีวิตแบบคนเมือง กินเหล้าเมายา ทำงานหนักเพื่อเงินแล้วก็เจ็บป่วยด้วยโรคออฟฟิศซินโดรม เพราะใช้ร่างกายมากเกินความจำเป็น
ก่อนหน้านี้เป้าหมายในชีวิตคืออะไร
ผมคิดเสมอว่าชีวิตมันสั้น ใช้ชีวิตให้มีความสุขที่สุด เราคิดว่านั่นคือสุขของเราแล้ว ทำงานหนัก เก็บเงิน ใช้เงินเยอะๆ ปาร์ตี้ พาลูกน้องไปเที่ยว มาเริ่มคิดว่าเราจะหยุดชีวิตที่ต้องออกไปดีลกับลูกค้า ช่าง โดนลูกน้องโดนลูกค้าโกงบ้าง มันเครียดมาก แต่หยุดแล้วจะทำอะไรกิน ผมอยากทำอะไรที่เก็บเงินสดอยู่บ้านเหมือนเปิดร้านโชห่วย เรามีที่พอดีก็เลยทำสนามฟุตบอลแล้วปลูกบ้านด้วย ทำแบบนี้น่าจะมีเวลาว่างได้ทำงานศิลปะที่เรารัก อาจจะเดินทางถ่ายรูปเก็บมาทำหนังสือ ก็คิดไว้แค่นั้น
เป็นไปอย่างที่คิดไหม
สนามฟุตบอลใช่ตรงที่เป็นรายได้ได้ แต่ผมก็ไปเจอคำตอบที่ใช่กว่า ช่วงปลายปี 2554 น้ำท่วมบ้านคุณแม่ที่มีนบุรี แม่อพยพมาอยู่ด้วย แม่เริ่มเก็บผักข้างรั้วกิน เริ่มมีเมนูประหลาดจากผักที่ไม่ได้ซื้อ ลูกตำลึงดองแกงคั่ว มะละกอต้มกะทิปลาทู เฮ้ย เดินไปเก็บหลังบ้านได้ของอร่อยแบบนี้เลยเหรอ ผมตื่นเช้ามาปลูกผักกับแม่ทุกวันรู้สึกมีความสุข ช่วงนั้นมีรายการเฉลิมพระเกียรติ ผมได้ดูโครงการพระราชดำริหลายโครงการเลยคิดว่าหรือเราควรทำเกษตร เลยบอกแม่ว่าสนามฟุตบอลที่ปิดซ่อมเราเอามาปลูกผักดีกว่า
สนามฟุตบอลที่ลงทุนไป คุณพ่อคุณแม่ที่ฝากความหวังไว้กับลูกชาย ตัดสินใจยากแค่ไหน
ลงทุนไป 5-6 ล้าน แต่เราทำสนามฟุตบอลเราไม่ต้องการเงินอยู่แล้ว เราต้องการความสุขและจะอยู่กับมันตลอดชีวิต เศรษฐกิจพอเพียงมีอยู่มีกินเลยนะ แม่ผมเป็นคนปลูกผักกินออร์แกนิคมา 20 ปี คุณพ่ออยากทำเศรษฐกิจพอเพียงแต่ไม่มีแรงทำ ไม่มีคนงาน เราก็เป็นให้พ่อนี่แหละ เราคุยกันว่าอยากปลูกกล้วย ผลไม้ เลี้ยงไก่ไข่ ทำแปลงปลูกผัก ผมหาข้อมูลเศรษฐกิจพอเพียง โมเดลที่ใกล้เคียงพื้นที่หนึ่งไร่อย่าง “หนึ่งไร่ไม่จน” “หนึ่งไร่หนึ่งแสน” เป็นอย่างไร แล้วเอามาดัดแปลงเป็นสวนของเรา ผมเป็นอินทีเรียก็ขึ้นแบบ 3D เลย
พอคิดว่าจะเป็นเกษตรกรปลูกผักขายผัก ผมก็ใช้เงินเก่าไปก่อน เดือนแรกประหยัดไปหมื่นกว่าบาท เพราะไม่เสียค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน กาแฟในห้างไม่ได้กินเลย พอเริ่มเก็บกินก็ประหยัดไปอีก ช่วงแรกเรายังไม่เก่ง ผลผลิตยังไม่ดี มีงานถ่ายรูปงานออกแบบก็ทำแต่ไม่เยอะ เพราะต้องคิดเสมอว่าเราจะเป็นเกษตรกร ถ้าตั้งใจรับงานอื่นๆ การปลูกผักก็จะกลายเป็นงานอดิเรก ผมตั้งใจไว้ก่อนว่ามันต้องเป็นอาชีพ วันหนึ่งจะไปกรอกใบอะไร ต้องเขียนว่าเป็นเกษตรกร ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นคนชอบปลูกต้นไม้
Hip Incy Farm รูปแบบเป็นอย่างไร
หลังจากเขียนแปลนเสร็จก็ทำตามจนเต็มใช้เวลาครึ่งปีกว่า สวนเศรษฐกิจพอเพียงชื่อ “Hip Incy” จะบอกคนเมืองว่ามาทำสิ ฮิปนะ อะไรคืออินทรีย์ ในนี้ไม่มีเคมีเลยแม้แต่อย่างเดียว ผมโชคดีที่ไปเรียนกับคุณปรินซ์ เจ้าชายผัก (นคร ลิมปคุปตถาวร) เขาสอนเกษตรธรรมชาติ ไม่ปลูกไฮโดรโปนิกส์ ผมปลูกเป็นสวนผสมเพราะเชื่อว่าการทำพืชเชิงเดียวไม่ยั่งยืน เช่น ทำสวนคะน้า ทำไร่ส้ม ถ้ามีปัญหาขึ้นมาจะไม่เหลืออะไรเลย ถ้าโรคแคงเกอร์ลงส้ม ไร่ส้มจะตายหมด แต่ถ้ามีหลายอย่าง มีอยู่มีกินตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบอก มีสมุนไพร มีอาหาร มีผลไม้ เหลือเยอะเอาไปขายได้ด้วย มันใช่กว่าเยอะ
เกษตรกรมือใหม่เรียนรู้และรับมือกับปัญหาต่างๆ อย่างไร
ผมมีคุณครูอยู่ในอินเทอร์เน็ต ปลูกมะนาววันแรกเป็นโรคแคงเกอร์ ผมถ่ายรูปขึ้นเว็บเกษตรพอเพียงก็มีคนมาตอบ จากเรียนออนไลน์ก็มีคนบอกว่าแถวลาดพร้าวมีศูนย์การเรียนรู้เกษตรในเมือง “บ้านเจ้าชายผัก” ผมก็ไปลงเรียน ไป เรียนกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนได้เรียนรู้หลายอย่าง พออยากปลูกข้าวผมก็ไปเรียนที่มูลนิธิข้าวขวัญ กับอาจารย์เดชา ศิริภัทร
ที่ดินในกรุงเทพฯ ปลูกข้าวได้จริงหรือ
ปลูกมาแล้ว ปีที่แล้วก่อนเดือนสิงหาคม คุณปรินซ์มาบอกว่ามีโครงการ “ปลูกข้าววันแม่ เกี่ยวข้าววันพ่อ” ใช่เลยคอนเซ็ปต์นี้ ผมมีเวลา 2-3 อาทิตย์ไถที่ร้อยตารางเมตร หมักปุ๋ยทันด้วย แต่ดินผมเก็บน้ำไม่อยู่ ที่ดินสูงกว่าถนนหนึ่งเมตร เติมน้ำวันนี้พรุ่งนี้ก็หมดแล้ว ผมก็เติมน้ำทุกวัน คันนาเราก็ขุดดินขึ้นมาทำ ขุดไปเจอก้อนอิฐ เศษแก้ว ขวดเป็นตันกว่าจะเอาออกหมด คือไม่มีข้ออ้างว่าดินปลูกไม่ได้เพราะมีวิธีต่อสู้แก้ไข อาจจะไม่ดีเท่าเขาแต่เรามีกิน ข้าวผมสูงสองเมตรกว่านะ
วันแรกที่เอาผลิตผลจากสวนของเราไปขายรู้สึกอย่างไร
มันไม่ถึงวันนั้นเสียที เพราะเก็บชะอมมาหมดเลยได้แค่ 5 กำ เก็บกล้วยได้เครือหนึ่ง ตัดไปขายได้ 5-6 หวี ฝรั่ง 2 ลูก เก็บไข่ได้วันละ 10 ฟอง ค่าเช่าแผง 50 บาทแล้วจะไปขายได้อย่างไร แปรรูปขายน่าจะดีกว่า ตอนนี้เลยแปรรูปเป็นซอสเพสโต้ เอาโหระพาอิตาลีมาปลูก ทำเนยถั่วเม็ดมะม่วงหิมพานต์ขาย ผลผลิตอื่นถือว่าเป็นกำไร กิน แจกคนแถวนี้ เราได้ค่าน้ำค่าไฟก็พอแล้ว แฮปปี้
วางแผนในอาชีพเกษตรกรต่อไปอย่างไร
ปลูกให้พอกับแปรรูปขาย ปลูกสิ่งที่เรากินให้ดี ดูแลให้ดี พื้นที่สามโซน โซนหนึ่งผมตั้งใจจะทำนาวันแม่เกี่ยวข้าววันพ่อทุกปี ปีที่แล้วผมลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าวในพื้นที่แค่นี้แหละ อีกโซนปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้ยืนต้น พยุง ชิงชัน สัก 3-4 ปีน่าจะได้ร่มเงากลายเป็นลานกิจกรรม มีศูนย์เรียนรู้เล็กๆ สำหรับเด็ก ให้เขามาถอดรองเท้าวิ่งเล่นในขี้เลน นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่มีที่ที่หนองจอก 11 ไร่กว่าให้เขาเช่าทำนาเคมี ก็จะไปเปลี่ยนเป็นนาอินทรีย์สักครึ่งหนึ่งตาม “โคก หนอง นาโมเดล”
ถ้าน้ำท่วมอีกครั้ง
ที่หนองจอกของผมเป็น flood way เลยล่ะ ถ้าทำโคก หนอง นาโมเดล อย่างน้อยตรงโคกก็น่าจะเหลือวะ ไม่เหลือก็เริ่มใหม่ การเริ่มใหม่เจ็บปวดอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นหนี้หรือเปล่า ถ้าไปกู้มาจะเจ็บปวดมากกว่า ก็ต้องถอยกลับไปว่าอย่าเพิ่งกู้ ผมโดนฝึกให้พึ่งพาตัวเอง อยากให้คนหันกลับมาพึ่งพาตัวเอง ถ้าไม่จ้างเขามาฉีดยา หว่านปุ๋ย ไม่ซื้อสารเคมี ไม่จ้างปลูก เงินเหลือเยอะนะ ต้นทุนต่อไร่จาก 6,000 บาทเหลือพันกว่าบาท อาจจะเป็นความขี้เกียจ ความอยากสบาย หรือเพราะเกิดมาก็เห็นพ่อแม่ทำแบบนี้ จริงๆ เกษตรเคมีเพิ่งเกิดขึ้นแค่ 40-50 ปีเอง เราแค่กลับไปวิถีก่อนหน้านี้ มือยังมีก็ทำไป
ขณะที่คนเมืองหันมาทำเกษตรกรรมมากขึ้น ทำไมเกษตรกรกลับอยากเปลี่ยนอาชีพมาทำงานในเมือง
เคยได้ยินกับหูว่าชาวนาพูดว่าไม่มียุ้งข้าวแล้ว ทำไมถึงไม่มียุ้งล่ะน้า ไม่กล้ากิน ฉีดยาเยอะ แล้วน้ากินข้าวไหนล่ะ ซื้อเอา ทุนนิยมนี่แหละตัวปัญหา เขาทำปุ๋ย ทำยา ทำเมล็ดเป็นแพ็คเกจ แล้วรณรงค์ให้เกษตรกรทำตาม เช้าก็ไปซื้อเมล็ดมาเพาะ พรุ่งนี้ไปจ้างคนมาหว่าน ซื้อยามาพ่น ไม่ได้ใช้มือใช้แรงเลย ทุนอย่างเดียว เพื่อทำให้ได้เยอะๆ ปลูกได้ 3 รอบต่อปี พอทำเชิงอุตสาหกรรมก็ต้องปลูกนอกฤดู แมลงก็มา ต้องฉีดยากันอีก
ผมไปเรียนได้เห็นนาเคมีกับนาไม่เคมีอยู่ติดกันเลยนะ ชาวนาคิดว่านาฉันเป็นอินทรีย์อยู่เจ้าเดียว แมลงก็แห่มากันหมดสิ เลยไปโฉบแมลงดูกันเห็นๆ นาเคมีมีเพลี้ยอยู่ในกอข้างใต้ครบเลย ข้างบนไม่มีแมลงที่กินเพลี้ยเหลือ เพราะเขาฉีดยาข้างบนซึ่งไม่ลงมาโดนเพลี้ย แต่นาอินทรีย์ เพลี้ยก็มี แมงมุม แมลงปอ แมลงเต่าทองครบหมด ไม่ต้องทำอะไรเพราะเขากินกันเองเป็นระบบนิเวศน์ เก็บเกี่ยวได้เยอะเหมือนกัน ถึงคนทำนาเคมีจะหัวเราะว่าได้ข้าวแค่นี้เหรอ สมมติว่าเขาได้หนึ่งตัน เราได้ 600-700 กิโลกรัม แต่ต้นทุน 6,000 กับ 1,500 บาทมันคนละเรื่อง
สำหรับลูกหลานเกษตรกรที่มองว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่ยากจน
คิดไปเลยว่าคิดถูกแล้ว เกษตรกรอย่างพ่อแม่ยากจน แล้วทำอย่างไรจะกลับไปช่วยให้พ่อแม่รวย หาวิธีไปพัฒนาดีกว่าเปลี่ยนอาชีพ แล้วพ่อแม่จะทำอะไรล่ะ ไปใส่ใจกับสิ่งที่พ่อแม่ทำเขาก็จะรู้ เหมือนผมปลูกต้นไม้แล้วต้นไม้ไม่ขึ้น ถ้าใส่ใจทำก็จะรู้ว่าทำไมมันตาย ทำไมพ่อแม่ทำแบบนั้นแล้วจน ต้องปลูกแบบไหน ขายแบบไหน อยู่แบบไหนถึงจะรวย
อะไรเป็นสิ่งสำคัญในการทำอาชีพเกษตรกร
มีสองแง่คือแง่คนเมืองไปทำเกษตรกร ทำเรื่องแปลกกว่าชาวบ้านก็ไม่ง่าย ยิ่งถ้าไม่มีประสบการณ์ยิ่งต้องอดทนสู้ ถ้าคิดว่าจะทำก็ควรเริ่มทำเลย ปกติของคนเมืองคือจะหาข้อมูลให้พร้อมก่อน ทำงานเก็บเงินสักพัก สักพักนี่ยาวจนเกษียณ เดี๋ยวจะไปซื้อที่ตรงนั้น โอ๊ย เริ่มที่บ้านเลย ถ้าคิดอย่างนั้นไม่ได้ทำสักที พ่อผมเกษียณแล้วยังไม่ได้ทำเลย อายุ 60 ก็ไม่มีแรงทำแล้ว ต้องจ้างคนทำแล้ว ส่วนแง่เกษตรกร ควรพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุดในทุกเรื่อง
สองปีครึ่งที่ผ่านมาได้เรียนรู้อะไรบ้าง
มหาศาลเลย เรื่องเกษตรก็เยอะแล้ว และในแง่การใช้ชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงอีก คำว่าพอเพียงเรายังรู้ไม่หมดหรอก แต่ถึงจุดที่เข้าใจแล้วว่าทำอย่างไรแล้วปรับตัวเอง มันก็มีวันจนวันรวย มีวันที่ขายของได้บ้าง กับวันที่ไม่มี แต่ไม่มีวันไหนไม่สุขเลย เรียนรู้ได้เลยว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่เราทำอะไร
เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงครอบครัวได้จริงไหม
เป็นคำถามที่ทุกคนถาม เศรษฐกิจพอเพียงเอาเศรษฐกิจปกติมาวัดไม่ได้ เพราะ breakeven point (จุดคุ้มทุน) ต่างกัน เราทำเศรษฐกิจพอเพียง breakeven ไปแล้ว เงินยังไม่มีแต่มีความสุขแล้ว สุขภาพดีขึ้นมหาศาล ถ้าเอาเศรษฐกิจปกติมาชี้วัดว่าคุ้มทุนหรือยัง ค่าที่ก็ไม่คุ้มแล้ว ปลูกกี่ปีจะได้ค่าที่ตารางวาละ 60,000 บาทคืน ลองมองกลับกันว่าถ้าต้องหาเงินเพื่อทำให้ชีวิต breakeven ขนาดนั้น พอเกษียณก็ต้องหาเงินรักษาโรคมะเร็งโรคนั้นโรคนี้อีกหลายล้าน
ที่บอกว่าเป้าหมายในชีวิตคือการใช้ชีวิตให้มีความสุขที่สุด
ใช่ ใช้ชีวิตเพราะชีวิตสั้น มีความสุข enjoy life ตอนนี้ก็ยังเป็นคำเหล่านั้นอยู่ แต่คนละวิถี ความสุขคนละแบบเลยนะ
“มันก็มีวันจนวันรวย มีวันที่ขายของได้บ้าง กับวันที่ไม่มี แต่ไม่มีวันไหนไม่สุขเลย เรียนรู้ได้เลยว่าความสุขไม่ได้อยู่ที่เงิน แต่อยู่ที่เราทำอะไร”
ที่มา: นิตยสาร plook ฉบับที่ 43 กรกฎาคม 2557