เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก ภาพ:พรพิรุณ พงษ์นครสกุล
“สถาปัตย์คือวิทยาศาสตร์กับศิลปะมาบวกกัน” บอย-พีระสิฐ พลตาล หรือ บอย LOMOSONIC นักร้องนำเจ้าของเพลงและมิวสิควิดีโอ “ขอ (Warm Eyes)” ที่มียอดวิวแซงหน้าค่ายใหญ่ๆ เกริ่นนำถึงศาสตร์แห่งสถาปัตยกรรม ก่อนจะเริ่มเจาะลึกถึงสาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้ได้ฟังกัน
เพราะสถาปัตย์เท่
สถาปัตย์คือวิทยาศาสตร์กับศิลปะมาบวกกัน ผมว่าเท่นะกับการเรียนสถาปัตย์ ตอนนั้นไม่รู้อะไรเลย แต่ว่ามีเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งเขาตั้งใจจะเรียนคณะนี้อยู่แล้วแนะนำกันมา เราเป็นคนชอบวาดรูป ชอบศิลปะอยู่แล้วครับ และที่สนใจคณะนี้เพราะว่าเป็นภาควิชาภาษาอังกฤษด้วย มันท้าทายตัวเองและน่าจะได้เรื่องภาษา ผมสอบโควตาเข้าที่นี่ได้เป็นอันดับหนึ่งของสาขาวิชา เลยได้ทุน “เพชรพระจอม” เพื่อสนับสนุนการศึกษาและพวกอุปกรณ์ด้วย
หลักสูตรสถาปัตยกรรมและการออกแบบ
ที่พระจอมเกล้าธนบุรีจะแบ่งเป็นสี่สาขา มีสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมภายใน การออกแบบอุตสาหกรรม และสุดท้ายเป็นออกแบบนิเทศศิลป์ ซึ่งให้เลือกสาขาก่อนเข้าเรียน ตอนเรียนปีหนึ่งเทอมแรกจะเรียนดีไซน์รวม และให้ตัดสินใจได้ว่าอยากย้ายวิชาหรือเปล่า ก่อนจะเข้าไปเรียนปีหนึ่งจะต้องเรียนการวาด perspective ก่อน คลาส Design Fundamental คือการเรียนดีไซน์รวมทุกสาขาวิชาสนุกมาก อาจารย์จะให้อิสระเรื่องของความคิด เรื่องของการออกแบบ พอเทอมสองจะเริ่มแยกไปเรียนตามสาขาตัวเองบ้างนิดหน่อย มีวิชาหนึ่งที่ผมชอบมาก พวกประวัติศาสตร์ศิลปะมีประโยชน์มากๆ ในการที่เราจะรู้ว่าทำไมถึงต้องมีสถาปัตยกรรม และเราสามารถหยิบข้อดีเป็นข้อมูลในเชิงงานสร้างสรรค์ต่อไปว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร
พอปีสองจะเริ่มเรียนแยก แต่ว่าออกแบบภายในจะเรียนรวมกับสถาปัตยกรรมอยู่ เริ่มมีเขียนแบบมือ แล้วก็เริ่มมีการวาดภาพ perspective มือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบมากอีกเหมือนกัน คือผมชอบวาดสีน้ำ เริ่มเรียนเบื้องต้นในการออกแบบภายใน ปีสามก็เริ่มมีการเขียนแบบภายใน ทำรายละเอียด ทำพรีเซ็นต์ มีการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกโปรแกรม 3D MAYA จะมีโปรเจ็คต์เป็นการรีแบรนด์ดิ้ง สมมติว่าเรามีแบรนด์มาแบรนด์หนึ่ง อย่างค่าย Smallroom เป็นแบรนด์ เขาควรมีพื้นที่สำหรับทำอะไรบ้าง มีโปรแกรมมิ่งอย่างไร มีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วพื้นที่ตรงนี้ตอบสนองอย่างไร
ปีสี่จะเริ่มเป็นโปรเจ็คต์ใหญ่ วิชาดีไซน์จะเริ่มใหญ่ขึ้น เป็นการดีไซน์องค์กรใหญ่ๆ อย่างทำโรงหนัง ปีห้าคือการทำโปรเจ็คต์จบ ซึ่งผมจะทำเรื่องพิพิธภัณฑ์ความทรงจำวัยเยาว์ ในเวลานั้นยังไม่มีเพลินวาน ไม่มีอะไร ผมรู้สึกว่าเป็นการบำบัดเวลาเราได้ยินเพลงที่เคยฟังตอนเด็กๆ ทำไมภาพเก่าๆ กลับมา ทำไมเราได้ยิน ได้บรรยากาศ ได้เรียกความทรงจำ
ผลงานที่ชอบที่สุด
ตอนเรียนจบมาผมทำบ้านจัดสรร ส่วนตอนเรียนโปรเจ็คต์มันเยอะมาก น่าจะเป็นบ้านตอนปีสอง ตอนที่สร้างบ้านรู้สึกมันเป็นสเปซที่ออกมาแล้ว งานดูแน่น สามารถตอบคำถามทุกคนได้ ว่าทำไมมันถึงจะต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมมันถึงต้องอยู่อย่างนี้ หรือว่าจะเป็นโปรเจ็คต์ตอนปีสี่ ที่รีโนเวทโรงหนังสกาล่าให้เป็นมิวสิคฮอลล์ รู้สึกว่าชอบในงานที่ทำออกมาแล้วด้วยส่วนประกอบด้วยแบบ คือชอบงานที่มันสามารถตอบคำถามทุกคนได้แบบไม่มีข้อกังขาว่า เอ๊ะ มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร
สถาปัตยกรรมออกแบบภายในต่างกับมัณฑนศิลป์
มันมีความใกล้เคียงกันค่อนข้างเยอะแต่ในรายละเอียดของการเรียนอาจจะเยอะกว่า อันดับแรกคือเราเรียน 5 ปี อันดับสองน่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายหรือโครงสร้างที่เราอาจจะมีรายละเอียดซับซ้อนกว่า เพราะการทำงานที่คาบเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมครับ
สายใยรุ่นพี่รุ่นน้อง
ในเวลานั้นเป็นประเด็นกันมากเลยว่า รับน้องรุนแรงเกินไปหรือเปล่า ผมเชื่อในโมเดลนี้นะ ถ้ารุ่นพี่ดีจริงๆ ก่อนที่จะไปสอนรุ่นน้อง ถามว่าระบบโซตัสคือละครหรือเปล่า มันคือละคร แต่สุดท้ายแล้วประสบการณ์ที่เด็กปีหนึ่งจะได้ เช่น เราจำชื่อเพื่อนได้ ไม่ดีตรงไหน มีเพื่อน มีรุ่นพี่ มีความรัก มีความกลมเกลียว มีดราม่า มีทุกอย่าง อยากฝากถึงประเพณีการรับน้องคือผมอยากให้มี แต่ตอบเป็นเหตุเป็นผลได้หรือเปล่าว่าสิ่งที่ให้น้องทำดีอย่างไร ผมเชื่อในการรับน้อง ผมเชื่อในความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง ผมเชื่อในความเป็นเพื่อน
สไตล์ของเด็กสถาปัตย์
อันดับแรกมองที่ความคิดสร้างสรรค์ คือชอบคิดโน่นคิดนี่ คนอาจจะเข้าใจว่าการเรียนสถาปัตยกรรมอาจจะต้องชอบวาดรูป ไม่ใช่ทั้งหมด จริงๆ แล้วสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกสาขาวิชาคือระเบียบวินัย สามารถเป็นพื้นฐานในการต่อยอดชีวิต ผมรู้สึกว่าคณะออกแบบทุกโรงเรียนสอนให้คนคิด แล้วก็สร้างสรรค์ แล้วก็เข้าใจ
สิ่งสำคัญของการออกแบบ
เหตุและผลของมัน คือฟอร์มและฟังก์ชั่น ทำไมถึงต้องไปตั้งตรงนั้น มีเก้าอี้ตรงนี้มีประโยชน์อย่างไร ถ้าบอกว่าทำเพื่อความสวยงามแต่ใช้งานไม่ได้ก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ ทุกอย่างต้องตอบปัญหา เรามีวิชาดีไซน์มาเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น
นำมาใช้กับงานดนตรี
ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ชุดแรกร้อยเปอรืเซ็นต์ทำออกมาตามใจตัวเองทุกอย่าง อย่างโลโมโซนิคชุดแรกจะเป็นอาร์ตซะเยอะ คือไฟน์อาร์ต ที่เป็นการแสดงอารมณ์ตัวเองออกมาว่ามันเป็นอย่างนี้เป็นเด็กที่มีมุมมองอย่างนี้ แต่พอเราได้ออกไปเล่นสดแล้วพอเราเห็นปฏิกิริยาคนดูเราก็เริ่มจับทางแล้ว สมมติว่าเราอยากออกแบบดนตรีท่อนนี้ให้คนกระโดด ถ้าสมมติเรา BPM มันเร็วเกินไป คนก็จะทำได้แค่แบบโยกหัว แต่ถ้ามันช้าเกินไปก็ไม่ได้ BPM ที่ดีที่สุดในตอนนั้นที่รีเสิร์ชมาในตอนนั้นคือ BPM ในช่วง 125-135 คนจะกระโดดได้ ถ้าเกิดว่าไม่อยากให้คนโดดละก็เปลี่ยนบีทออกแบบอย่างนี้ อยากให้คนดูรู้สึกอย่างนี้ ใช้เสียงยังไงแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็จะมีส่วนที่ งานดีไซน์มันอาจจะไปไม่ถึง ในแง่ของเสน่ห์ ในแง่ของความสด ในแง่ของการปลดปล่อยอารมณ์ออกมา แต่ผมรู้สึกว่างานดีไซน์ วิธีการคิด การออกแบบ ตัวงานคือ โลโมโซนิคคือกระบวนการ ใช้กระบวนการดีไซน์ในการออกแบบ ก็คือตั้งแต่ชุดแรกออกมาเป็นก้อนเดียวหมดว่า เพลงนี้คืออะไร ตอบโจทย์ยังไง ในบรรยากาศแบบไหน อยากให้คนดูที่มาในคอนเสิร์ตรู้สึกยังไง อยากให้คนฟังในแผ่นรู้สึกยังไง อยากให้คนดูที่ดูเอ็มวีรู้สึกยังไง เราคิดกันทุกอย่าง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่ที่โชคชะตาด้วยนะครับ ผมไม่แน่ใจ (หัวเราะ) ว่าสุดท้ายแล้ว อาจจะคิดมาดี วงดนตรีวงหนึ่ง อาจจะคิดมาดีมากๆ แต่มันไม่ได้ถูกเห็น ถือว่าเป็นความโชคดีของเราด้วยที่ได้มีโอกาสทำงานในตรงนี้ แล้วยังได้ออกแบบยังสนุกกับการออกแบบอยู่ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรือว่าอะไรอย่างนี้
MV ขอ (Warm eyes)
เพลงขอ บรรยากาศมันถูกคิดขึ้นมาตั้งแต่ตอนเขียนเนื้อเพลงแล้วครับ ถ้าดูชื่อเพลงที่เป็นภาษาอังกฤษ เราจะเขียนว่า Warm Eyes แปลว่าดวงตาที่อบอุ่นซึ่งมันก็เป็นประโยคแรกที่ผมเขียนในเพลงเหมือนกันที่เขียนว่า “ตาดวงเดิมคู่นั้นอบอุ่นเหลือเกิน” ผมอยากร้องคำนี้ออกไปแล้วผมจะต่อบรรยากาศออกมายังไง แล้วออกแบบดนตรียังไงภาพที่เราอยากให้เห็นยังไง เราก็คุยกับผู้กำกับเราให้ไอเดียเขาตรงนี้ไปว่า มันเป็นแบบนี้เรื่องมันเกี่ยวกับการที่อย่างตัวผมเอง จริงๆ มันเริ่มที่ตัวผมเป็นคนขี้อายมาก เพราะผมจะโดนแม่ผมด่าบ่อยมาเวลาพูดทำไมตอนเด็กๆ ถึงไม่ชอบมองหน้าคนผมจะมองแต่พื้น แต่เดี๋ยวนี้ผมดีขึ้นมากแล้วฮะ (หัวเราะ) แล้วก็จะโดนว่ามารยาทไม่ดีเวลาพูดให้มองตาคนนะอะไรอย่างนี้ เริ่มจีบสาวเริ่มมีแฟนก็เลยกล้าสบตาคนมากขึ้น เราเริ่มเปิดตัวเองให้คนอื่นมากขึ้นแล้วผมรู้สึกว่าการจะมองตาใครสักคนมันไม่ได้เป็นเรื่องที่ยากก็ยังรู้สึกว่ามันยากอยู่ แต่ถ้าสมมติว่าเราสามารถมองตาใครได้สนิทใจจริงๆ แล้ว ตาคู่นั้นมันจะดูอบอุ่นและมันจะดูเก็บความหมายเก็บทุกๆ อย่าง ได้เก็บความรู้สึกเก็บช่วงเวลาเก็บสเปซเก็บที่ที่เคยไปเก็บอะไรอย่างนี้ เราก็จะพยายามอธิบายให้ทางผู้กำกับฟังแต่ว่าเอ็มวีขอคือได้เป็นเครดิตของคุณพงศ์มากกว่าที่สามารถสื่อออกมาได้เต็มที่และก็ด้วยจังหวะที่ออกมา ผมคิดมาตั้งนานแล้วว่าฟังก์ชั่นมันคือตรงนั้นตัวเอกไม่ใช่พระเอกนางเอกพระเอกนางเอกคือ Dialog เมื่อมี Dialog มาคนดูต้องอ่านอยู่แล้วหรือเปล่า แต่ว่าประโยชน์คือสองต่อเลยนะ เพราะอ่านตอนแรกก็ไม่ดู แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาฟังเพลง แล้วลองคิดดูไหมว่าถ้าบอกว่าภาพดีกว่าเพลง ภาพถ้าปิดเพลงไป เปิดแต่ภาพ ภาพนี้มันก็ไม่ใช่ภาพที่ซึ้งที่สุด โฆษณาไทยประกันชีวิตยังดีกว่าตั้งเยอะ ดูแล้วแบบพอมันปิดเพลงไม่มีภาพก็ไม่ได้ อย่างนี้คือมันเป็นงานออกแบบที่เป็นก้อนเดียวกันครับ อย่าใช้วิจารณญาณในขั้นที่แบบว่าใจด่วนเกินไป คิดว่างานเป็นยังไง เพราะพวกเราคิดมาเป็นแบบนี้ และถ้าสงสัยให้ไปดูเล่นสด(หัวเราะ)
ตลาดงานออกแบบ
ผมรู้สึกว่ายังโตไปเรื่อยๆ ครับ ผมมีมุมมองเรื่องการตกงานว่าเป็นเรื่องยาก ถ้าเราจะหาจริงๆ ถ้าเราเก่งจริงๆ ก็ต้องมีคนจ้างเราอยู่แล้ว ซึ่งงานออกแบบไม่มีที่สิ้นสุด และความน่าสนใจอยู่ที่ทิศทางในอนาคต ปีนี้เทรนด์ของงานดีไซน์ของโลกใบนี้เป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ทำงานเป็นสถาปนิกเต็มตัว แต่ว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่ผมต้องทำให้ได้คือบ้านของตัวเอง ไม่ได้บอกว่าผมเก่งนะ แต่ผมรู้สึกว่าผมเรียนอันนี้เอาไว้รอมีตังค์เดี๋ยวสร้างบ้าน ก็อยากรู้อยู่ว่าบ้านของตัวเองเป็นอย่างไร (หัวเราะ) ก็น่าจะตลกดี
สำหรับว่าที่รุ่นน้องสถาปัตย์
พยายามคิดเยอะๆ สนุกกับความคิดแล้วจะมีประโยชน์กับชีวิตในทุกๆ อย่าง อย่าหยุดที่จะสร้างสรรค์ จริงๆ แล้วการวาดรูปไม่ใช่สิ่งสำคัญแต่คือการสื่อไอเดียออกมาเพื่อตอบคำถาม ผมแนะนำในเรื่องของการอ่านครับ การอ่านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเรียนอะไร มีความฝันอะไรก็ทำ รักแล้วก็โฟกัสไปเลย ทำให้ดีที่สุดแล้วมันจะดีเอง การมีความฝันเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งที่จะทำความฝันให้สำเร็จได้นั่นคือระเบียบวินัย ความทุ่มเทมาด้วยกัน ลองผิดลองถูกเราจะได้รู้ว่า เออ นี่มันผิด จะได้ไม่ทำอีก หมกมุ่นไปเรื่อยๆ ครับ สุดท้ายคือใช้ชีวิตบนความฝันของตัวเองและต้องไม่ดูถูกความฝันของคนอื่น จะมีความสุขในชีวิตและตื่นมามีพลังที่จะออกไปลุยในทุกๆ วัน
สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลิตบัณฑิตให้มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน โดยคำนึงถึงสภาวะแวดล้อม ประโยชน์ใช้สอย และสุนทรียภาพที่เหมาะสม รวมทั้งการศึกษาและพิจารณามิติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การคัดเลือกผู้เข้าศึกษามีทั้งระบบแอดมิชชั่นและการคัดเลือกโดยตรงของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี www.arch.kmutt.ac.th |