เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
ท่ามกลางผืนฟ้าและท้องทะเลไทย มีแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมเพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบขนาดมหึมาเป็นทั้งที่ทำงานและที่พักอาศัยของผู้คนมากหน้าหลายตา ต่างหน้าที่รับผิดชอบ การทำงานบนแท่นขุดเจาะเป็นหนึ่งในอาชีพที่หลายคนฝันใฝ่เพราะได้อยู่ใกล้ทะเลและยังให้ผลตอบแทนสูง โดยเฉพาะหน้าที่สำคัญอย่างวิศวกรปิโตรเลียม ไม่น่าเชื่อว่าจะมีวิศวกรหญิงทำงานอย่างขยันขันแข็งบนแท่นกลางทะเลไม่แพ้ชายอกสามศอก พี่ตอง-จีรดา นิยมแก้ว ศิษย์เก่า ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ยกพลขึ้นบกมาเล่าประสบการณ์และการเตรียมพร้อมสู่อาชีพในฝันให้เราฟัง
ชอบฟิสิกส์ รักเคมี
วิชาที่ชอบคือวิชาฟิสิกส์ เพราะฉะนั้นเลยมองหาสายงานที่สามารถทำด้านวิทยาศาสตร์เยอะๆ ก็มีคณะวิทยาศาสตร์ หมอ วิศวกร วิศวกรน่าจะตอบโจทย์เรา หลังจากนั้นเขาจะให้เลือกภาคตอนขึ้นปีสอง เราเลือกเรียนวิศวกรรมเคมีเพราะเราก็ชอบเคมีด้วย สองคือวิชาที่เราชอบเป็นเรื่องของเทอร์โมไดนามิกส์ หรือการเปลี่ยนสาร สถานะ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เราอยากจะเป็น
หลักสูตรวิศวกรรมเคมี
ตอนปีหนึ่งจะเรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ สำหรับวิศวะ พวกคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ดรออิ้ง หรือแม้กระทั่งการเขียนภาษาต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ พอเริ่มขึ้นปีสองนิสิตจะเลือกสาขาเรียน ม.เกษตรศาสตร์มีหลายสาขาให้เลือก หลักๆ คือเคมี วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมโยธา และก็มีที่แตกย่อยออกไป ในส่วนของตองเลือกวิศวกรรมเคมี พอปีสอง ปีสาม ปีสี่ ก็จะเริ่มเรียนลึกลงไปในวิชาของภาคจนจบ ซึ่งแม้จะชื่อว่าเคมี แต่ เราก็จะเรียนฟิสิกส์เป็นหลัก เรียนการสร้างอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เช่น vessel หรือถัง หรือแม้กระทั่งการออกแบบเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน การออกแบบคอมเพรสเซอร์ หรือพวกปั๊มน้ำต่างๆ ค่ะ
วิศวกรรมคือการออกแบบเพื่อแก้ปัญหา
ตองคิดว่าพื้นฐานของคนที่เรียนวิศวะน่าจะชอบวิชาวิทยาศาสตร์และการคำนวณ หลังจากที่มาทำงานแล้ว วิศวกรรมเคมีจะยุ่งกับการดีไซน์การแก้ปัญหาเป็นหลัก ทักษะที่ทุกคนอาจจะได้หลังจากเรียนวิศวกรรม ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม คือทักษะการแก้ปัญหาหรือการคิดเป็นระบบ การคิดเป็นตรรกะเพื่อให้แก้ปัญหาออกมาได้
ทดลองลงสนามและทำธีสิส
ตอนปีสี่ตองฝึกงานที่เชฟรอน ตองทำโปรเจ็คต์เกี่ยวกับเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน กับพวกคอมเพรสเซอร์หรือปั๊มที่เป็นเครื่องเพิ่มความดัน การวัดประสิทธิภาพ การวิเคราะห์ระบบต่างๆ ในส่วนของธีสิส อาจารย์จะมีหัวข้อมาให้ นักศึกษาแต่ละคนดูว่าสนใจหัวข้อไหน ตองได้เรื่องของการสังเคราะห์สาร เรียกว่า ซีโอไลต์ เป็นสารในผงซักฟอก โดยที่เราไปดูปัญหาที่เกิดขึ้นจริงที่โรงงานและช่วยเขาแก้ปัญหา พยายามหาวิธีล้านแปด หลังจากที่คิดค้นวิธีที่ดีที่สุดก็จะเอาไปปรึกษากับอาจารย์
ทีเด็ด “วิ่งเกียร์”
ที่เกษตรฯ มีประเพณีการวิ่งเกียร์ ต้องทำทุกปีหลังจากกิจกรรมรับน้อง ร้องเพลง วันสุดท้ายเราจะวิ่งรอบคณะตามจำนวนรุ่น เช่น รุ่นของตอง 61 ก็วิ่ง 61 รอบ เริ่มตั้งแต่ตีห้ายันดึกเลยค่ะ พอวิ่งรอบคณะครบพี่ๆ จะมอบสร้อยเกียร์ก็คือเฟืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวิศวกร ทำให้เราภูมิใจว่า เฮ้ย ได้รุ่นมาแล้ว ไม่ได้ได้มาด้วยความง่ายและได้มาพร้อมเพื่อนๆ เลยรู้สึกผูกพันกับเพื่อนๆ และคณะมากขึ้น
อาชีพวิศวกรปิโตรเลียม
ถ้าอยากทำงานเป็นวิศวกรที่แท่นขุดเจาะ จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม วิศวกรรมเคมี หรือวิศวกรรมปิโตรเคมี ซึ่งวิศวกรรมเคมีกับวิศวกรรมปิโตรเคมีคล้ายคลึงกันในความรู้สึกตอง แต่วิศวกรรมปิโตรเคมีกับวิศวกรรมปิโตรเลียมต่างกัน ตรงที่ปิโตรเลียมคือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น ก๊าซ น้ำมัน คอนเดนเซทหรือก๊าซธรรมชาติเหลว ที่เราผลิตอยู่อ่าวไทยค่ะ ส่วนวิศวกรรมเคมีหรือวิศวกรรมปิโตรเคมีจะเอาโปรดักส์เหล่านั้นมาทำการผลิตหรือแปรรูปต่อค่ะ ในส่วนของตองจบวิศวกรรมเคมี แต่ได้ทำในส่วนกระบวนการผลิต ส่วนอุตสาหกรรมต้นน้ำหรือ upstream ที่ผลิตก๊าซ น้ำมัน คอนเดนเซท
ตลาดงานยังต้องการ
ทำได้หลายอย่างมากเลย น่าแปลกนะตอนเรียนเราเรียกว่าวิศวะเคมี แต่พอจบไปแล้วเราเรียกว่า process engineer หรือวิศวกรกระบวนการ ดูแลกระบวนการผลิตหรือโรงงานต่างๆ โดยเฉพาะโรงงานที่เกี่ยวกับสารเคมีต่างๆ อย่างโรงงานผลิตผงซักฟอก วิศวกรเข้าไปดูกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามที่กำหนด อีกอาชีพที่เห็นเพื่อนๆ ไปทำเยอะคือเป็น sale engineer เพราะว่าเราเรียนเศรษฐศาสตร์ด้วยทำให้สามารถขายของได้ หรือทำให้คนอื่นเห็นว่าจุดคุ้มทุนเป็นอย่างไรกับการที่คุณมาลงทุนกับเรา และวิศวกรในส่วนอื่นๆ ก็สามารถเอาไปปรับใช้ได้ค่ะ
อนาคตวิศวกร
สำหรับน้องๆ ที่สนใจวิศวกรรม โดยเฉพาะวิศวกรรมเคมี จริงๆ การเรียนวิศวะไม่ได้ยากอย่างที่คิด ขอให้มีใจรักในเรื่องคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ เตรียมตัวเรียนรู้เปิดใจ เปิดความรู้ เปิดสมอง เตรียมรับรู้กับสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ แล้วที่เหลืออาจารย์และเพื่อนๆ จะเป็นคนช่วยน้องเองเพื่อที่เราจะได้ไปถึงฝั่งพร้อมกันค่ะ
ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นสาขาวิชาที่ว่าด้วยการออกแบบและควบคุมการทำงานของกระบวนการทางเคมี รวมถึงหลักการของกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนส่วนผสม สถานะและลักษณะสมบัติของวัตถุดิบไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามความต้องการอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ระบบกลาง ใช้ผลคะแนน O-NET และ GAT/PAT ระบบรับตรง ม.เกษตรศาสตร์ เลือกได้ 4 อันดับ ใช้ผลการสอบวิชาสามัญ 7 วิชา และ GAT/PAT ระบบโควตา และระบบรับตรงโดยคณะ/โครงการ/วิทยาลัย ทุกวิทยาเขต |