ถ้าพูดถึงมหาวิทยาลัยด้านศิลปะอันดับต้นๆของประเทศ เชื่อว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรคงเป็นที่แรกในความคิดของหลายคน และสาขาวิชาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เป็นคณะอันดับต้นๆ ที่นักเรียนมัธยมปลายเลือกเป็นคณะในดวงใจเสมอ นักศึกษาที่นี่ขึ้นชื่อว่า “มีสไตล์” และไม่ใช่แค่มีสไตล์แบบ “ตามกระแส” แต่จะเห็นได้ว่าพวกเขาต่างมีความคิดสร้างสรรค์และมีสไตล์เป็นของตัวเอง จนทำให้เป็นผู้ “นำกระแส” อยู่บ่อยๆ
และสาขาออกแบบภายในของที่นี่ก็เป็นหนึ่งในผู้นำกระแสและบุกเบิกสาขาวิชาชีพมัณฑนากรในประเทศไทยด้วย หลักสูตรการเรียนการสอนที่เข้มข้นทำให้ที่นี่ผลิตบุคลากรคุณภาพในสาขาอาชีพนี้ออกไปมากมาย อัตราของนักศึกษาที่เรียนจบแล้วมีงานทำก็สูงมาก ทำให้สาขาวิชานี้มีการสอบแข่งขันกันค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นวันนี้ เรามาทำความรู้จักกับรุ่นพี่นักศึกษาและอาจารย์ของสาขาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กันดีกว่า ว่าอาจารย์และรุ่นพี่จะมีคำแนะนำดีๆ อะไรให้น้องๆ ที่สนใจสาขาวิชานี้บ้าง
นิธิกานต์ หรเวชกุล ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาตกแต่งภายใน คณะมัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
ทำไมถึงเลือกเรียนคณะมัณฑนศิลป์
คือจริงๆ ณินเรียนพิเศษวาดรูปมาตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ ก็ไม่ได้เก่งมากแต่ว่ารู้สึกว่าก็สนุกดี แล้วก็ตอนนั้นก็เลยเลือกคอร์สเรียนสำหรับติว Interior แล้วก็รู้สึกชอบก็เลยโอเค ตั้งใจเอนทรานซ์สาขานี้ดูค่ะ
ทำไมถึงเลือกมัณฑนศิลป์ของศิลปากร ทำไมไม่เป็นที่อื่น
เพราะว่าถ้าสาขา Interior ที่ศิลปากรมันดังที่สุดแล้ว แล้วณินก็เลือกแค่ภาควิชาเดียวด้วย ก็คือตั้งใจอันนี้อันเดียวคือไม่ได้ก็ไม่เรียนอย่างอื่นค่ะ
การเตรียมตัวก่อนสอบเข้าและการเตรียมสอบวิชาความถนัด
ณินก็เรียนพิเศษค่ะ เรียนมานานเหมือนกัน หลายคอร์สมาก ยิ่งตอนที่ใกล้จะสอบจะเรียนหนักมาก ต้องไปเรียนทุกวันซ้อมวาดรูปตลอดเวลาค่ะ ที่นี่มีสอบความถนัดก็คือ Drawing แล้วก็มีสอบออกแบบภายใน นอกนั้นก็เป็นสอบวิชาการค่ะ การสอบออกแบบภายในก็จะให้โจทย์มาว่าให้ออกแบบสถานที่ที่หนึ่งแล้วก็ต้องทำภายในเวลาที่กำหนดให้ค่ะ
การเรียนการสอนของมัณฑนศิลป์
ปี1 ส่วนมากก็จะเป็นวิชาพื้นฐาน ยังมีวิชาที่เป็นวิชาการอยู่ นอกนั้นก็เน้นการ Drawing ซึ่งณินก็ยังไม่เก่งมาก ตอนแรกก็ท้อเหมือนกันจนปี1 ผ่านไป ปี 2 Drawing มันก็จะเริ่มน้อยลงกลายเป็น Drawing ด้วยปากกาแบบใช้เส้นมันก็สนุกมากขึ้น และจะเริ่มได้เรียนวิชาเกี่ยวกับ Interior จริงๆ แล้วก็ทำให้รู้สึกโอเคมากขึ้น และเริ่มสนุกขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
กิจกรรมที่ประทับใจ
ปี 1 ก็ต้องมีการรับน้อง ปี 2 ก็คือเราต้องจัดกิจกรรมของคณะเหมือนกัน ส่วนปี 3 ก็จะมีทำงาน Gift ที่ขายของแล้วก็มีดนตรีที่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของเราอยู่แล้ว ส่วนปี 4 ก็เป็นปีที่ทำทีสิสค่ะ
เล่าถึงผลงานที่ประทับใจ
ผลงานที่เราประทับใจก็คงเป็นงานล่าสุดเลย ก็คือตอนปี3 เทอม2 อาจารย์ให้เราออกแบบพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสิ่งที่หายไปนานแล้ว เช่นของที่มีอยู่ในอดีตของประเทศไทยน่ะค่ะ ณินออกแบบพิพิธภัณฑ์โทรเลขค่ะ พื้นที่มันจะไม่เยอะมาก แต่คราวนี้อาจารย์ไม่ได้ให้ทำเป็นแบบ Working Drawing เป็นรูปเล่มจริงจังอะไรขนาดนั้น แต่ให้ทำโมเดล ก็สนุกมากค่ะเน้นคอนเซ็ปต์มากๆ
ขั้นตอนในการออกแบบ
คือปกติอาจารย์จะกำหนดหัวข้อมาอย่างเช่นสมมติว่าครั้งแรกอาจจะเป็นออกแบบห้องครัวหรือห้องนั่งเล่นตามโจทย์อาจารย์ให้ ตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 3 ต้องทำตามที่อาจารย์กำหนด อาจารย์ก็จะให้แปลนให้อะไรมาเรียบร้อยแล้ว เราก็อาจจะเลือกดู สมมุติว่าเป็นร้านอาหารก็ลองคิดดูว่าเราอยากจะทำร้านอาหารอะไร ก็ไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารประเภทนั้น เกี่ยวกับความเป็นมา แล้วก็อาจจะเลือกจุดที่เราสนใจมาใช้เป็นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบค่ะ
ความท้าทายของการเรียนมัณฑนศิลป์
จริงๆ ณินก็ไม่ได้เป็นคนเก่งศิลปะมากนะคะแต่ก็สนุกกับงานออกแบบและชื่นชอบงานออกแบบค่ะ แล้วก็งาน Interior ณินคิดว่าความสวยงามแต่ละคนมองไม่เหมือนกัน คือถ้าสมมุติว่าทำออกมาแล้วมันมีเนื้อหาให้คนเข้าใจได้ แล้วมันก็ตรงประเด็น และยังมีความสวยงามด้วยอย่างนั้นณินคิดว่าดีที่สุดค่ะ
ฝากถึงน้องๆ ที่คิดอยากเรียนมัณฑนศิลป์
ณินว่าจริงๆ เรียนที่ไหนก็คงหนักเหมือนกัน แต่อาจารย์แต่ละท่านอาจจะหนักคนละแบบค่ะ ก็ให้เราทำให้เต็มที่ ทำให้มันดีที่สุด ถึงมันจะออกมาเป็นยังไงก็คืออย่างน้อยเราภูมิใจในตัวเองแล้วว่าเราทำได้แค่นี้ ยังไงมันก็ยังมีความสุขถ้าได้เห็นงานตัวเอง
คุณสมบัติของคนที่เหมาะจะเรียนมัณฑนศิลป์
อาจจะต้องทันโลกทันสมัย หาความรู้ให้ตัวเองตลอดเวลาว่าเทรนด์มันเป็นยังไงบ้างแล้ว โลกมันไปถึงไหนแล้ว ตอนนี้ดีไซน์อะไรกำลังมากแรงแล้วก็ต้องเป็นคนช่างสังเกตใส่ใจรายละเอียดด้วยค่ะ
ความใฝ่ฝันหลังเรียนจบ
ก็อยากจะทำงานในสายที่เรียนมาก่อนค่ะเพราะว่าเรียนมาใครๆ ก็ต้องอยากใช้วิชาตัวเองใช่ไหมคะ จบมาณินอาจจะทำงานสัก 2 ปีในสาขานี้ แล้วก็จะลองดูอีกทีว่ามีความสนใจด้านไหนเป็นพิเศษรึเปล่าแล้วค่อยไปเรียนต่อค่ะ
จริงๆ ก็มีความสนใจในเรื่อง Fashion และ Interior อยู่ด้วยกันก็คืออาจจะลองดูว่าพอจะประยุกต์อะไรเข้าด้วยกันได้บ้างค่ะเพื่อจะได้ดูว่าอนาคตจะเป็นยังไง
---------------------------------------------------------
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
แนะนำคณะมัณฑนศิลป์
คณะมัณฑนศิลป์เปิดการศึกษาตั้งแต่ปี 2499 ครับ หลักสูตรเราก็เริ่มตั้งแต่ปี 2498 ในปัจจุบันนี้มีทั้งสิ้น 7 ภาควิชาครับ ตั้งแต่ภาควิชาออกแบบภายใน ภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ ภาควิชาออกแบบประยุกต์ศิลปศึกษา ภาควิชาออกแบบเครื่องเคลือบดินเผา ภาควิชาออกแบบเครื่องประดับและอัญมณี แล้วก็ภาควิชาเครื่องแต่งกายครับ
จุดเด่นของภาควิชาออกแบบภายในของศิลปากร
ครับก็ภาควิชาออกแบบภายในนี้เป็นภาควิชาบุกเบิกในสาขาวิชาชีพที่เรียกว่า มัณฑนากรในประเทศไทยครับ สมัยก่อนเราจะมีคณะสถาปัตยกรรมในมหาวิทยาลัยศิลปากร และมีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมก่อน จากนั้นก็เป็นคณะโบราณคดี แล้วค่อยมาเป็นคณะมัณฑนศิลป์
ที่เกิดขึ้นเพราะว่าเราต้องการศิลปะตกแต่งเข้ามาช่วยสร้างความงามต่างๆ ประกอบในพื้นที่และบรรยากาศสำหรับสถาปัตยกรรมบ้านเรือนของประเทศที่กำลังจะรุดหน้าขึ้นเรื่อยๆ ให้นักศิลปะตกแต่งหรือว่าวันนี้เราเรียกว่ามัณฑนากรมีบทบาทมากในอาคารสาธารณะขนาดกลางและขนาดใหญ่
ความโดดเด่นของหลักสูตรของภาควิชาออกแบบภายในของคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรก็คือ เราเชี่ยวชาญในศิลปะวิธีในการสร้างสรรค์ผลงานโดยการใช้ศาสตร์และศิลป์มาผสมผสานกันแล้วก็สร้างผลงานตกแต่งภายในหรือว่างานมัณฑนศิลป์ให้มีคุณภาพ ช่วยยกระดับจิตใจมนุษย์ที่เข้าไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้นจำเป็นจะต้องมีประโยชน์ใช้สอยภายในอาคาร แต่ว่าในแต่ละประโยชน์ใช้สอยเหล่านั้นก็ต้องประกอบไปด้วยคุณภาพหรือคุณค่าของงานตกแต่งที่จะช่วยยกระดับจิตใจคนเหล่านั้นให้สูงขึ้น มีความเข้าใจศิลปะแล้วก็ความงามในพื้นที่เหล่านั้นได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น จึงมีความแตกต่างกับหลักสูตรทางด้านสถาปัตยกรรมอยู่พอสมควร
การเรียนการสอนของหลักสูตรมัณฑนศิลป์
ในหลักสูตรคณะมัณฑนศิลป์ เรามีวิชาแกนทั้งสิ้นอยู่ 8 วิชา ซึ่งเป็นวิชาแกนที่นักศึกษาปี1 จะต้องเรียนเหมือนๆ กัน คือศิลปะวิธีในการถ่ายทอดแรงบันดาลใจภายในออกมาสู่งานสร้างสรรค์
ในชั้นปีที่1 ทุกภาควิชาจะต้องเรียนเหมือนกัน ก็คือรายวิชาทักษะพื้นฐาน เช่น รายวิชาวาดเส้น วิชาออกแบบนะครับ วิชาศิลปะไทยปริทัศน์ ที่เราจะต้องออกไปดูคุณค่าความงามของสถาปัตยกรรมในประเทศไทยต่างๆ เหมือนกับเป็นวิชาท่องเที่ยวนะ แต่จริงๆ แล้วจะมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิหรือคณาจารย์มาถ่ายทอดว่าความงามของศิลปะหรือสถาปัตยกรรมมันส่งเสริมต่อโลกยุคปัจจุบันนี้ยังไง ก็ทำให้มีความภาคภูมิใจกับคนในชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้วิชาเหล่านี้จะปูพื้นให้เกิดรสนิยมแล้วก็เกิดคุณภาพทางการออกแบบที่สร้างสรรค์หรือเป็นภาระความรับผิดชอบของหลักสูตรที่ทำให้เด็กๆ ติดตัวจนนักศึกษาโตขึ้นไป
เพราะฉะนั้นปีที่ 2-3 จนถึงชั้นปีที่ 4 ก็จะเป็นรายวิชาที่นักศึกษาจะต้องเรียนนอกจากศิลปะ เช่นวิธีในการสร้างสรรค์ เรื่องของเหตุผลในการออกแบบ เรื่องของรายวิชาพื้นฐานทางด้านสถาปัตยกรรมเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นวิชาโครงสร้าง วิชาออกแบบเครื่องเรือน วิชาออกแบบย่อยต่างๆ ซึ่งก็จะมีประกอบในวิชาเลือกมากมายครับ ด้วยความที่อาจารย์ในหลักสูตรมีความสามารถที่หลากหลาย มีทั้งเป็นศิลปินชั้นเยี่ยม มีทั้งเป็นนักวิชาการ แล้วก็เป็นนักออกแบบอาชีพมาอยู่รวมกัน จึงทำให้มีองค์ความรู้อยู่มากมายแล้วก็พร้อมจะถ่ายทอดให้นักศึกษาของเราได้อย่างดี
พอถึงในชั้นปีที่4 ก็จะมีรายวิชาที่เรียกว่าศิลปะนิพนธ์หรือว่าทีสิสซึ่งก็จะเป็นสนามประลองสุดท้ายแบบฝึกหัดสุดท้ายก่อนที่นักศึกษาจะจบออกไปทำงาน โดยที่นักศึกษาก็จะได้สร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง แล้วก็สามารถจะนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ของตนเองออกสู่สาธารณะชน โดยที่เรามีข้อกำหนดว่างานจะต้องเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชนด้วยโดยการจัดแสดง ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้นักศึกษารู้จักภาระรับผิดชอบที่ตัวเองมีต่อสังคมด้วย ภาพรวมของหลักสูตรก็ประมาณนี้ครับ
คุณสมบัติของคนที่เหมาะจะเรียนภาควิชาออกแบบภายใน
การจบออกมาเป็นสถาปนิกหรือเป็นมัณฑนากร แน่นอนว่าส่วนหนึ่งจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต้องมีจิตสำนึกอาสาสาธารณะนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาด้านมัณฑนศิลป์หรือว่าภาควิชาออกแบบภายในของเรา มันไม่ใช่แค่เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมในแง่นี้อย่างเดียว แต่ว่าตัวนักเรียนเองที่เข้ามาจะต้องมีความสามารถในเรื่องของทักษะในการถ่ายทอดผลงานทางศิลปะ จะต้องมีรสนิยมพื้นฐานที่จรรโลงใจครับ สามารถที่จะแยกแยะประเภทของงานที่มีความงามและความไม่งามออกจากกันได้ในระดับหนึ่ง
เนื่องจากว่าเป็นคณะวิชาที่คนก็อยากจะเข้าเยอะพอสมควร และปัจจุบันนี้รัฐบาลก็มอบให้คณะมัณฑนศิลป์เป็นคณะวิชาแห่งการสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาหรือเพิ่มมูลค่าผลผลิต เพราะฉะนั้นจึงทำให้คณะของเราต้องมีภาระรับผิดชอบต่อรัฐบาลแล้วก็สังคมในแง่ที่ว่า นอกจากจะสร้างสรรค์ให้สวยงามแล้วยังจะต้องเพิ่มมูลค่าวัสดุ มูลค่าของงานออกแบบเพื่อกำหนดให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ของงานของนักออกแบบแต่ละคนเพื่อให้มีคุณค่ามากขึ้น ดังนั้นการจะเข้ามาเรียนได้มันเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรต้องมีวิชาพื้นฐาน เช่นว่า นักเรียนอาจจะต้องมีความรู้เรื่องวิชาวาดเส้น หรือ Drawing มีความรู้ทางด้านศิลปะ ในการถ่ายทอดวิชาความถนัดในการออกแบบภายใน ต้องเขียนทัศนียภาพเป็น บางคนก็อาจจะต้องมีการฝึกมือหรือว่ามีการเรียนพิเศษมาก่อนเพื่อจะได้สามารถสอบเข้าแข่งขันกับคนที่อยากเข้าได้จำนวนมาก ดังนั้นศิลปะแล้วก็ความชอบ แล้วรสนิยมจึงเป็นเรื่องสำคัญมากครับ
จบสาขานี้สามารถประกอบอาชีพด้านใดได้บ้าง
ในธุรกิจของงานออกแบบภายในจะค่อนข้างกว้างนะครับ นักเรียนแต่ละคนก็จะมีความถนัดที่แตกต่างกัน บางคนเสามารถจะหารายได้พิเศษได้ตั้งแต่ชั้นปีต้นๆ เลย อาจจะเป็นนักเขียนภาพประกอบ เขียนภาพประกอบเรื่องสั้น เขียนการ์ตูน เขียนแอนิเมชั่นอย่างนี้ก็ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่สาระสำคัญของภาควิชาออกแบบภายใน มัณฑนากรจะต้องทำงานด้านการออกแบบภายใน ซึ่งก็คือเรื่องของการสร้างสรรค์พื้นที่แวดล้อม แล้วก็สามารถกำหนดบรรยากาศให้เกิดความสอดคล้องกับพื้นที่ได้ ดังนั้นชั้นปีต่อๆ มานักศึกษาสามารถจะทำงานอีกหลากหลายอาชีพ เช่น จะต้องเข้าใจเรื่ององค์ประกอบศิลป์ก็จะสามารถถ่ายภาพได้ดี แล้วก็สามารถจะเข้าใจภาษา เข้าใจฉันทลักษณ์ ความรู้ด้านวรรณกรรมต่างๆ เพื่อจะทำตัวเองมีความใกล้ชิดกับความเป็นศิลปะหรือศิลปินมากขึ้น ดังนั้นก็จะมีงานที่หลากหลาย
ส่วนงานที่มันอยู่ในธุรกิจ ณ ปัจจุบันก็จะมีหลายอย่างคุณอาจจะไปเป็นนักออกแบบเวที อาจจะไปเป็นนักออกแบบฉากละคร หรือว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในการอยู่เบื้องหลังต่างๆ ในงานภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทงานที่เกี่ยวข้องกับสไตล์ ซึ่งที่นี่จะค่อนข้างได้รับความเชื่อถือว่าจะค่อนข้างแม่นยำเรื่องสไตล์ ก็จะสามารถทำหนังพีเรียดละครย้อนยุคก็จะมีอยู่เยอะ แต่สุดท้ายแล้วคำตอบสุดท้ายเมื่อคุณจบไปทำทีสิสก็คือคุณต้องเป็นมัณฑนากร ซึ่งสามารถจะดูแลงานสเกลขนาดใหญ่ได้ อาคารสาธารณะขนาดใหญ่ การกำหนดแนวความคิดในการสร้างบรรยากาศงานให้เกิดความสวยงาม ความจรรโลงใจ
ฝากถึงน้องๆที่อยากเรียนที่นี่
แน่นอนครับต้องมีการเตรียมตัวเพราะว่าคนสอบเข้ามันแข่งขันกันมาก นักเรียนก็ต้องมีความเข้าใจและความสามารถระดับหนึ่งเพราะว่ามีทั้งการสอบปฏิบัติ และการสอบทฤษฎี ข้อสอบปฏิบัติเป็นตัวที่แยกเลยระหว่างนักเรียนที่มีความสามารถพ้นเกณฑ์มาตรฐาน แล้วก็สูงถึงเกณฑ์มาตรฐานเท่าไหร่แยกออกจากกัน ดังนั้นก็คงต้องมีความรู้ด้านศิลปะอยู่มากพอสมควร โดยยิ่งมากก็ยิ่งดีเพราะจะทำให้นักเรียนสามารถจะต่อยอดทางด้านงานที่หลากหลายในชั้นปีที่สูงขึ้นได้มากขึ้น ดังนั้นนักศึกษาก็ต้องมีความอดทน มีความพยายามนะครับ ใส่ใจในสิ่งที่อยากจะเข้า แล้วก็บอกตรงๆ ว่าอายุเฉลี่ยของนักเรียนที่นี่ก็ไม่ได้จบมัธยม6 เท่านั้น ส่วนหนึ่งเลยส่วนใหญ่ๆ ก็จะเป็นนักเรียนที่สอบแล้วอาจจะตกค้างจากรุ่นที่ผ่านมาอาจจะเป็นมัธยม 7 มัธยม 8 ก็มีนะครับ บางคนก็มาจากสายวิชาชีพนะครับ เพราะฉะนั้นต้องเป็นคนที่มีความสามารถในด้านนี้โดยเฉพาะเจาะจงพอสมควรเลย ดังนั้นต้องให้กำลังใจถ้าอยากจะเข้ามาเรียนครับ เข้ามาแล้วก็เรียกว่ารับประกันผลความสำเร็จในอาชีพแน่นอนครับ
ภาควิชาออกแบบภายใน เป็นหนึ่งใน 7 ภาควิชาของ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วัตถุประสงค์ของภาควิชาคือ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษา เป็นบัณฑิตในสาขาวิชาการออกแบบตกแต่งภายใน มีความรู้ ความสามารถ ในการออกแบบ ตกแต่งภายใน โดยผสมผสานการใช้ประโยชน์ในเนื้อที่ กับความคิดสร้างสรรค์ ทางสุนทรียศาสตร์ และ เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าด้วยกัน มีความสามารถในการปฏิบัติ ในการออกแบบตกแต่ง ภายในอาคาร ที่พักอาศัย และอาคารเพื่อธุรกิจต่าง ๆ ทุกประเภท ศึกษาโครงสร้าง อาคาร เทคนิคในการก่อสร้าง การจัดเนื้อที่ใช้สอย การออกแบบและ การจัดวางเครื่องเรือน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ทุกประเภท ศึกษาศิลปะ การตกแต่ง ทั้งที่เป็นลักษณะศิลปกรรมไทย และแนวนิยมทางตะวันออก และตะวันตก มีความสามารถในการบริหาร งานออกแบบ และเข้าใจ ในเรื่องการตลาด การประมาณราคา และหลักการดำเนินการออกแบบ ตกแต่ง ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะมัณฑนศิลป์ได้ที่ http://www.decorate.su.ac.th |