เรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 25.2K views



ความหมายของคอมพิวเตอร์

     คอมพิวเตอร์ (Computer) เมื่อพิจารณาศัพท์คำว่า คอมพิวเตอร์ ถ้าแปลกันตรงตัวตามคำภาษาอังกฤษ จะหมายถึงเครื่องคำนวณ ดังนั้นกล่าวอย่างกว้าง ๆ คอมพิวเตอร์ก้คือเครื่องคำนวณที่มีส่วนประกอบเป็นเครื่องกลไกหรือเครื่องไฟฟ้า ต่างก็จัดเป็นคอมพิวเตอร์ได้ทั้งสิ้น เช่น ลูกคิดที่เคยใช้กันในร้านค้า เครื่องคิดเลข ล้วนเป็นคอมพิวเตอร์ได้ทั้งหมด

     ในปัจจุบันความหมายของคอมพิวเตอร์จะระบุเฉพาะเจาะจงหมายถึงเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำงานคำนวณผลและเปรียบเทียบค่าตามชุดคำสั่งด้วยความเร็วสูงอย่างต่อเนื่องและอัตโนมัติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำจำกัดความของคอมพิวเตอร์ได้ค่อนข้างกะทัดรัดว่า เป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ ทำหน้าที่เสมือนสมองกลใช้สำหรับแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งที่ง่ายและซับซ้อน โดยวิธีทางคณิตศาสตร์
 
วิวัฒนาการของคอมพิวเตอร์

     อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2488 ถึง พ.ศ.2501 เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้หลอดสุญญากาศ ซึ่งใช้กำลังไฟฟ้าสูง จึงมีปัญหาเรื่องความร้อน ซึ่งใช้ไส้หลอดขาดย่อยถึงแม้จะมีระบบระบายความร้อนที่ดีมาก การสั่งงานใช้ภาษาเครื่องซึ่งเป็นรหัสตัวเลขที่ยุ่งยากซับซ้อน เครื่องคอมพิวเตอร์ของยุคนี้มีขนาดใหญ่โต เช่น มาร์ค วัน (Mark I) อีนิแอค (ENIAC) ยูนิแวค (UNIVAC)

     คอมพิวเตอร์ยุคที่สอง อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2506 เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทรานซิสเตอรื มีอุปกรณ์เก็บข้อมูลสำรองในรูปของสื่อบันทึกแม่เหล็ก เช่น จานแม่เหล็ก ส่วนทางด้านซอฟต์แวร์ก็มีการพัฒนาดีขึ้น โดยสามารถเขียนโปรแกรมด้วยภาษาระดับสูงซึ่งเป็นภาษาที่เขียนเป็นประโยคที่คนสามารถเข้าใจได้ เช่น ภาษาฟอร์แทน ภาษาโคบอล เป็นต้น ภาษาระดับสูงนี้ ได้มีการพัฒนาและใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน

     คอมพิวเตอร์ยุคที่สาม อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2507 ถึง พ.ศ. 2512 เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้วงจรรวม (Integrated Circuit :IC) โดยวงจรรวมแต่ละตัวจะมีทรานซิสเตอร์บรรจุอยู่ภายในมากมายทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์จะออกแบบซับซ้อนมากขึ้น และสามารถสร้างเป็นโปรแกรมย่อย ๆ ในการกำหนดชุดคำสั่งต่าง ๆ ทางด้านซอฟต์แวร์ก็มีระบบควบคุมที่มีความสามารถสูง ทั้งในรูประบบแบ่งเวลาทำงานให้กับงานหลาย ๆ อย่าง

     คอมพิวเตอร์ยุคที่สี่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน เป็นยุคของคอมพิวเตอร์ที่ใช้วงจรรวมความจุสูงมาก เช่น ไมโครโฟรเซสเซอร์ที่บรรจุทรานซิสเตอร์นับหมื่นนับแสนตัว ทำให้ขนาดเครื่องคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลง สามารถตั้งบนโต๊ะในสำนักงานหรือพกพาเหมือนกระเป่าหิ้วไปในที่ต่าง ๆ ได้ ขณะเดียวกับระบบซอฟต์แวร์ก็ได้พัฒนาขีดความสามารถสูงขึ้นมาก มีโปรแกรมสำเร็จให้เลือกใช้กันมากทำให้เกิดความสะดวกในการใช้งานอย่างกว้างขวาง

ประเภทของคอมพิวเตอร์
     คอมพิวเตอร์แบ่งได้ออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
          1. ไมโครคอมพิวเตอร์

                เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็ก เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานส่วนบุคคลหรือเรียกว่าพีซี (Presonal Computer : PC) ไมโครคอมพิวเตอร์แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
                    • คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop Computer) เป็นไมโครคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กถูกออกแบบมาให้ตั้งแบบโต๊ะ มีการแยกชิ้นส่วนประกอบเป็น ซีพียู จอภาพ และคีย์บอร์ด
                    • โน๊ตบุ๊คคอมพิวเตอร์ (Nootbook Computer) เป็นไมโครคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายสะดวกจอภาพที่ใช้เป็นแบบราบชนิดจอภาพผนึกเหลว (Liquid Crystal Display : LCD)
                    • ปาล์มท็อปคอมพิวเตอร์ (Palmtop Computer) เป็นไมโครคอมพิวเตอร์สำหรับทำงานเฉพาะอย่าง เช่น เป็นพจนานุกรม เป็นสมุดจดบันทึกประจำวัน บันทึกการนัดหมาย และการเก็บข้อมูลเฉพาะบางอย่างที่สามารถพกพาติดตัวไปมาได้สะดวก

          2. มินิคอมพิวเตอร์

               มินิคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องที่สามารถใช้งานพร้อม ๆ กันได้ หลายคน มินิคอมพิวเตอร์เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีราคาสูง นำมาใช้สำหรับประมวลผลในงานสารสนเทศขององค์กรขนาดกลาง จนถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการวางระบบเป็นเครือข่ายเพื่อใช้งานร่วมกัน เช่น งานบัญชีและการเงิน งานออกแบบทางวิศวกรรมงานควบคุมการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
 มินิคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์การที่เรียกว่าเครื่องให้บริการ (Server) มีหน้าที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการ (Client) เช่น ให้บริการแฟ้มข้อมูล ให้บริการข้อมูล ให้บริการช่วยในการคำนวณ และการสื่อสาร

          3. เมนเฟรมคอมพิวเตอร์

               เมนเฟรมคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วยตู้ขนาดใหญ่ภายในตู้มีชิ้นส่วนและอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก เมนเฟรมเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีราคาสูงมาก มักอยู่ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์หลักขององค์กร ละต้องอยู่ในห้องที่มีการควบคุมอุณหภูมิและมีการดูแลรักษาเป็นอย่างดี
 ข้อเด่นของการใช้เมนเฟรมอยู่ที่งานที่ต้องการให้มีระบบศูนย์กลาง และกระจายการใช้งานไปเป็นจำนวนมาก เช่น ระบบเอทีเอ็มซึ่งเชื่อมกับฐานข้อมูลที่จัดการโดยเครื่องเมนเฟรม

          4. ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์

               ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าคอมพิวเตอร์ชนิดอื่น ใช้ในการคำนวณตัวเลขจำนวนหลายล้านตัวภายในเวลาอันรวดเร็ว เช่น งานพยากรณ์อากาศ งานควบคุมขีปนาวุธ งานควบคุมทางอวกาศ งานประมวลผลทางการแพทย์ และงานด้านวิศวกรรมการออกแบบ

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์
     หมายถึง องค์ประกอบทางกายภาพของระบบคอมพิวตอร์ซึ่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ 
     เมนบอร์ด คือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์หลักของคอมพิวเตอร์ เมนบอร์ดทำหน้าที่ควบคุม ดูแลและจัดการ การทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ แทบทั้งหมดในเครื่องคอมพิวเตอร์

     ซีพียู เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โปรเซสเซอร์ (Processor) หรือซิป (Chip) เป็นอุปกรณ์ ที่มีความสำคัญมากที่สุด ซีพียูทำหน้าที่เปรียบเสมือนสมองของคอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ประมวลข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้ใช้ป้อนเข้ามาตามคำสั่งหรือโปรแกรมที่ผู้ใช้ต้องการใช้งาน

     การ์ดแสดงผล หรือวีจีการ์ด (VGA Card) เป็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่นำข้อมูลที่ประมวลผลจาก CPU แสดงออกมาทางจอภาพ

     หม้อแปลงไฟฟ้า หรือเพาเวอร์ซัพพลาย (Power Supply) ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) มาเป็นไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เพื่อจ่ายกำลังไฟฟ้าให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์

     หน่วยความจำ หรือ แรม (RAM: Read Access Memory) มีหน้าที่เก็บชุดคำสั่งและข้อมูลชั่วคราว ในขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์กำลังทำงานอยู่ เมื่อปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ข้อมูลที่มีการประมวลผลจะหายไปทันที

     ฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) คือ อุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูล ของคอมพิวเตอร์ในลักษณะถาวร โดยแฟ้มจะไม่สูญหายแม้ขณะปิดเครื่องฮาร์ดดิสก์ประกอบด้วยแผ่นโลหะทรงกลมแบนซ้อนกันหลายชั้น และจะหมุนรอบตัวเองและมีหัวอ่านและเขียนแทรกอยู่ระหว่างชั้น ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปมาเพื่อหาข้อมูล

     ฟลอบปี้ไดร์ฟ (Floppy Drive) เป็นอุปกรณ์ในการอ่าน-เขียนข้อมูลลงแผ่นดิสก์ซึ่งที่มีใช้ในปัจจุบันมีขนาด 3.5 นิ้ว ความจุ 1.44 เมกะไบต์ ใช้สำหรับเก็บข้อมูล โอนย้ายข้อมูลจากเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่ง

     ซีดีรอมไดร์ฟ (CD-ROM Drive) เป็นอุปกรณ์สำหรับอ่านแผ่นซีดี ตัวซีรอมไดร์ฟ ส่วนใหญ่จะติดตั้งด้านหน้าและเมื่อกดปุ่มจะมีถาดเลื่อนออกมาสำหรับใส่แผ่นซีดี เมื่อกดปุ่มอีกครั้งถาดก็จะเคลื่อนกลับเข้าไปพร้อมที่จะเล่นแผ่น

     การ์ดเสียง (Sound Card) เป็นอุปกรณ์ทำหน้าที่สังเคราะห์เสียง ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถประยุกต์ใช้กับงานด้านมัลติมีเดียเป็นอย่างดี เช่น การดูภาพยนต์ ฟังเพลง ฯลฯ

     การ์ดแลน (LAN Card) เป็นอุปกรณ์ทำหน้าที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ 2 เครื่องขึ้นไปเข้าด้วยกัน และสามารถทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและแบ่งปันทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่ เช่น โปรแกรม เครื่องพิมพ์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ

     พัดลม CPU (CPU Fan) เป็นพัดลมระบายความร้อนจากตัว CPI ซึ่งในขณะที่ CPU ประมวลผลจะมีความร้อนเกิดขึ้น พัดลมจะระบายความร้อนเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่มีความจำเป็นมิฉะนั้นการประมวลผลของ CPU มีโอกาสผิดพลาดได้ หรืออาจทำให้ CPU หยุดทำงานได้

     จอภาพ (Monitor) ทำหน้าที่แสดงอักษร ข้อความและรูปภาพที่สร้างจากการ์ดแสดงผล จอภาพที่มีลักษณะเหมือนจอโทรทัศน์ เรียกว่าจอแบบ CRT ปัจจุบันมีจอภาพที่กำลังเป็นที่สนในมากคือ จอแบบ LCD ซึ่งกินพื้นที่ในการติดตั้งน้อยมาก

     คีย์บอร์ด (Keybord) เป็นอุปกรณ์รับเข้าพื้นฐานที่ต้องมีในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง จะรับข้อมูลจากการกดแป้นแล้วทำการเปลี่ยนเป็นรหัสเพื่อส่งต่อไปให้กับคอมพิวเตอร์

     โมเด็ม (Modem) เป็นอุปกรณ์สำหรับคอมพิวเตอร์อย่างหนึ่งที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์ของเราสื่อสารกับคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ได้ทั่วโลก ซึ่งโมเด็มจะทำการแปลงสัญญาณดิจิตอล (digital signals) จากเครื่องคอมพิวเตอร์ใหเป็นสัญญาณอนาล็อก (Analog signals) เพื่อให้สามารถส่งไปบนคู่สายโทรศัพท์ ซึ่งทำให้เราสามารถใช้อินเตอร์เน็ต

     เมาส์ (Mouse) เมาส์จัดเป็นอุปกรณ์รับข้อมูลเข้าประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นปุ่มครอบอยู่กับลูกยางทรงกลม เมื่อลากเม้าส์จะมีการส่งสัญญาณไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์และสามารถสั่งให้ทำงานโดยการกดปุ่มที่ตัวเมาส์

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน