กฐินกาล
พ้นวันออกพรรษาไปแล้ว ก็จะย่างเข้าสู่เทศกาลกฐิน ซึ่งเป็นกาลทาน คือไม่ใช่ว่าจะทำได้ตลอดเวลา เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุกรานกฐินได้ เพียง ๑ เดือนเท่านั้น คือ จากวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หลังจากนั้นแล้วไม่นับเป็นกฐิน
การทอดกฐินนั้น ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายก็คือการนำผ้าไปถวายพระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนให้ท่านใช้ทำจีวรนุ่งห่มผลัดเปลี่ยนทดแทนของเก่าที่ขาดชำรุดนั่นเอง คำว่า “ทอด” คือการเรียกตามบุญกิริยา การ “วางผ้า” หรือ “ทอด” ลงไป ก่อนกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ ส่วนคำว่า “กฐิน” แปลว่า “ไม้สะดึง” และไม้สะดึงนี้เป็นคำเรียกอุปกรณ์ที่สำคัญต่อการตัดเย็บจีวร ในสมัยพุทธกาล คือใช้เป็นแบบสำหรับจะวางผ้าทาบลงไปแล้วจึงตัดเย็บ เพื่อให้ได้รูปลักษณะตามกำหนด กิริยาวางผ้าทาบลงไปนี้เรียกว่า “กรานกฐิน” ดังนั้น คำว่า “กฐิน” จึงมีความหมายเกี่ยวข้องกันอยู่ ๔ ประการ ได้แก่ ๑. เป็นชื่อกรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ที่เรียกกันว่าไม้สะดึง ๒. เป็นชื่อผ้าที่ถวายแด่พระสงฆ์เพื่อทำจีวรตามกรอบไม้แบบนั้น ๓. เป็นชื่อบุญกิริยาในการถวายผ้ากฐินเพื่อให้สงฆ์ทำจีวร และ ๔. เป็นชื่อของสังฆกรรม ซึ่งต้องขยายความว่าในเรื่องของการจะกรานกฐินนั้น ทางฝ่ายสงฆ์จะต้องมีการประชุมกันเพื่อถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบกันแล้วก็ต้องหารือกันต่อไปด้วยว่า ผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแด่ภิกษุรูปใด เพราะสมัยก่อนการจะได้ผ้ามาทำจีวรนั้นไม่ใช่จะได้มาเพียงพอแก่พระภิกษุทุกรูป ดังนั้น สงฆ์จึงต้องพิจารณาร่วมกันว่ารูปใดสมควรจะเป็นผู้ได้รับ การปรึกษาหารือนี้เรียกว่าอปโลกน์กฐิน (อ่านว่า อะ-ปะ-โหลก) เมื่อลงความเห็นแล้ว หรืออปโลกน์เสร็จแล้ว ต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ด้วย ปัจจุบันแม้เรื่องจีวร ครื่องนุ่งห่มของพระภิกษุมิได้ขาดแคลนและไม่มีความยุ่งยากในการตัดเย็บย้อมเช่นดังสมัยก่อน แต่การเรียกขานต่าง ๆ ก็เหมือนเดิม และเป็นประเพณีนิยมที่ยังแพร่หลายทั่วไป
อานิสงส์หรือผลดีที่เชื่อกันว่าผู้กระทำกาลทานคือทอดกฐินจะได้รับมีดังนี้
๑. ความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลของผู้นั้นย่อมสำเร็จได้
๒. ได้ชื่อว่าได้สงเคราะห์สงฆ์ผู้จำพรรษาครบถ้วนให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ชื่อว่าได้ถวายแด่สงฆ์เป็นส่วนรวม มีพุทธภาษิตว่าผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ
๓. ได้ชื่อว่าเป็นผู้บำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติปฏิบัติชอบและเป็นตัวอย่างแห่งคุณความดีของประชาชนสืบไป
๔. คนที่มีจิตเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ
๕. ก่อให้เกิดความสามัคคีธรรม คือร่วมมือกันทำคุณงามความดี โดยถ้าการถวายกฐินมีส่วนร่วมในการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามด้วย ก็ถือเป็นการร่วมสามัคคีกันรักษา ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ให้ยั่งยืนสถาพร
ส่วนผลดีทางฝ่ายพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ว่าภิกษุผู้กรานกฐินแล้วย่อมได้รับประโยชน์ คือ
๑. รับนิมนต์ฉันไว้แล้วไปไหนไม่ต้องบอกลาภิกษุในวัดตามความในสิกขาบทที่ ๖ แห่ง อเจลกวรรค ปาจิตตีย์ และฉันอาหารเป็นคณะโภชน์ได้
๒. ไปไหนไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ
๓. เก็บผ้าที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษไว้ได้ตามปรารถนา
๔. จีวรอันเกิดในที่นั้น เป็นสิทธิของภิกษุเหล่านั้น
๕. ขยายเขตแห่งการทำจีวร หรือเก็บจีวรไว้ได้จนถึงสิ้นฤดูหนาว คือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันสุดท้าย
การทอดกฐินนั้นทำได้เพียงปีละ ๑ ครั้ง ตามกำหนดเวลาที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ย่อมถือกันว่าให้บุญกุศลแรง พุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาจะทอดกฐิน จะต้องไปนมัสการกราบเรียนความประสงค์ต่อเจ้าอาวาสของวัดที่ตนประสงค์จะทอด เพื่อกำหนดนัดหมายในรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อเตรียมการทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าไม่สะดวกจะเป็นเจ้าภาพเอง ใครเขามาบอกบุญก็รีบทำด้วยจิตกุศลเต็มเปี่ยม ไม่ลังเล ก็เชื่อกันว่าได้กุศลเหมือนกัน
เรียบเรียงจาก : หนังสือวันสำคัญ จัดพิมพ์โดย สวทช. กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในปีรณรงค์และสืบสานด้านวัฒนธรรม 2537-2540
ตำนานประกอบ
ครั้งพุทธกาลมีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์พระวินัยปิฎก กฐินขันธกะว่า ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ ๓๐ รูป ถือธุดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี แคว้นโกศลจึงพากันเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองนั้น พอถึงเมืองสาเกต ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสาวัตถีประมาณ ๖ ประโยชน์ ก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เดินทางต่อไปมิได้ต้องจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาเกตตามพระวินัยบัญญัติขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกต เกิดความร้อนรนอยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ดังนั้น พอออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทาง แต่ระยะนั้นยังมีฝนตกมาก หนทางที่เดินชุ่มไปด้วยน้ำเป็นโคลนตม ต้องบุกต้องลุยมาจนกระทั่งถึงกรุงสาวัตถี ได้เข้าเฝ้าสมความประสงค์ พระพุทธเจ้าทรงมีปฏิสันถารกับภิกษุเหล่านั้นถึงเรื่องการจำพรรษาอยู่ ณ เมืองสาเกตและการเดินทาง ภิกษุเหล่านั้นจึงกราบทูลถึงความตั้งใจ ความร้อนรนกระวนกระวาย และการเดินทางที่ลำบากให้ทรงทราบทุกประการ
พระพุทธเจ้าทรงทราบและเห็นความลำบากของภิกษุจึงทรงยกเป็นเหตุและมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้ และเมื่อกรานกฐินแล้ว จะได้รับอานิสงส์ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "กฐินกาล" ผลิตโดย ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ งานบริการการผลิต ฝ่ายออกอากาศวิทยุ กรุงเทพ