วันคุ้มครองโลก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 6.3K views



วันคุ้มครองโลก

 วันที่  ๒๒  เมษายน ของทุกปีถือเป็นวันคุ้มครองโลก   (Earth Day)   เป็นวันสำคัญที่ขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจะจัดกิจกรรมเพื่อปลุกจิตสำนึก และ เรียกร้องให้ชาวโลกทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม  จะได้ช่วยกันเร่งอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ให้ทันการ  ก่อนที่จะเกิดเหตุเภทภัยทางธรรมชาติขึ้นแก่มนุษย์บ่อยขึ้น หรือรุนแรงขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  กิจกรรมที่ว่านี้ก็จะประกอบด้วยการส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ทั่วทุกหนทุกแห่ง   การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ๆ  ที่เหลืออยู่ในเมือง  ในหมู่บ้านและภูเขา  รณรงค์ให้อนุรักษ์ป่าธรรมชาติ – แหล่งต้นน้ำลำธาร และสัตว์ป่า  ร่วมกันรักษาความสะอาดตามถนนหนทาง ชายหาด อุทยาน และสถานที่สาธารณะ  รวมถึงให้การศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชนและประชาชนให้มากขึ้นเป็นต้น

วันคุ้มครองโลกถือกำเนิดที่สหรัฐอเมริกา  โดยที่ได้มีนักอนุรักษ์ธรรมชาติกลุ่มหนึ่งจัดแสดงพลังครั้งใหญ่เพื่อปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งถูกมนุษย์ทำลายเมื่อวันที่  ๒๒  เมษายน ปี  ๒๕๑๓  ซึ่งปรากฏว่าตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วสหรัฐฯ  ได้มีผู้เข้าร่วมอุดมการณ์ชุมนุมแสดงพลังด้วยถึงกว่า ๒๐ ล้านคน  ส่งผลให้มีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐฯ มีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น และกำหนดให้วันที่ ๒๒ เมษายนของทุกปี เป็นวัน “คุ้มครองโลก”หรือ “ Earth Day” โดยมีเป้าหมายคือ 

          ๑. เพื่อลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ
          ๒. เพื่อกำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป
          ๓. เพื่ออนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ
          ๔. เพื่อห้ามการซื้อ-ขาย สิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป
          ๕. เพื่อคงสภาพระดับประชากรโลกไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติ
          ๖. เพื่อสร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่างๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่นๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์
          ๗. เพื่อสร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโรคไว้ทั้งบุคคล ชุมชน และชาติ

คนเราทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม   และผลจากการทำลายสิ่งแวดล้อมนั้นก็รู้ ๆ กันอยู่  จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่ทุกคนจะได้มาร่วมกันเป็นผู้สร้างสิ่งแวดล้อมและช่วยกันป้องกันไม่ให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายมากกว่าไปกว่านี้  ทุกคนช่วยกัน “คุ้มครองโลก”  ก็เท่ากับคุ้มครองตัวเอง

ตัวอย่างการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์  
ใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย  พลังงานกับสิ่งแวดล้อมนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์  กล่าวคือเมื่อมนุษย์ใช้พลังงานมาก ก็ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่จะมาเป็นตัวป้อนให้เกิดพลังงานมากขึ้นด้วยเช่นกัน   ต้องมีการขุดค้นหาแร่ธาตุเช่น ก๊าซธรรมชาติ  น้ำมันปิโตรเลียม  ลิกไนต์ ซึ่งอยู่ใต้พื้นพิภพ   ถูกขุดค้นขึ้นมาใช้มากทรัพยากรธรรมชาติก็จะถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง  สิ่งแวดล้อมก็ต้องเสื่อมโทรม  แม้แต่พลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน  ก่อนที่จะเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า ก็ต้องทำลายป่าไม้เหนือเขื่อน  เมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลายดุลย์ธรรมชาติก็จะเสียไป ฤดูกาลและอุณหภูมิของโลกก็จะเปลี่ยนแปลง  เห็นได้จากภาวะฝนตกไม่เป็นไปตามฤดูกาล  หรือปรากฏการณ์การเพิ่มอุณหภูมิของโลกจากการเกิดภาวะเรือนกระจก และการทำลายบรรยากาศชั้นโอโซน

- ภาวะเรือนกระจก (Green House Effect) เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงและสิ่งอื่นๆ บนพื้นโลก  จะก่อให้เกิดก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกอยู่  ๔ ชนิด ได้แก่คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  มีเธน (CH2)  คลอโรฟลูออโรคาร์บอนด์ (CFC)  และไนโตรเจนออกไซด์  (N2O)  ซึ่งจะสะสมตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ  ก๊าซนี้คุณสมบัติของมันคือจะกั้นความร้อนจากผิวโลกไม่ให้ผ่านพ้นขึ้นไป   จึงทำให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่เข้ามาตอนกลางวันไม่สามารถสะท้อนทะลุชั้นก๊าซที่รวมตัวกันนั้นออกไปได้ด้วยเช่นกัน  เป็นผลให้ความร้อนที่บริเวณผิวโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

- การเกิดช่องโหว่ของโอโซน (Ozone Depletion) คือกลุ่มโมเลกุลของก๊าซโอโซนบางๆ บนชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ มีคุณสมบัติในการดูดซึมรังสีอุลตราไวโอเลตคลื่นสั้นของดวงอาทิตย์เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตไว้ก่อนที่รังสีนั้นจะลงมาสู่พื้นโลก ทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่ได้  การที่บรรยากาศชั้นโอโซนถูกทำลาย  จะทำให้รังสีอุลตราไวโอเลตคลื่นสั้นผ่านเข้ามาได้โดยตรง และผลเสียที่จะเกิดต่อสิ่งมีชีวิตในโลกก็อย่างเช่น  จะเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง   ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะเสื่อมง่ายทำให้เป็นโรคติดต่อเพิ่มขึ้น

 

ที่มา  
     - https://www.tungsong.com/
     - https://www.yahoo.com/
     - วัฒนธรรมกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม: สมพงษ์ สุวรรณชาตรี:วารสารวัฒนธรรมไทย กพ.-มีค. ๒๕๔๓

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษ   ประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง "วันคุ้มครองโลก"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ


Thailand Web Stat
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราต้องการให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ เราจึงนำคุกกี้ที่บันทึกการเข้าชม และการใช้งานบนหน้าเว็บไซต์จากเครื่องของคุณมาวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ รวมทั้งนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจคุณยิ่งขึ้น
ยอมรับรายละเอียด
x