การสกัดกั้น (Blocking Out) แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. การสกัดกั้นผู้เล่นที่ไม่มีบอล
ผู้เล่นที่จะสกัดกั้นฝ่ายรุกที่ไม่มีบอลจะใช้วิธีการหมุนตัวบังคู่ต่อสู้ (Blocking Out) โดยใช้ลำตัวของเขากีดขวางทางวิ่งที่คู่ต่อสู้จะเข้าแย่งบอลได้
วิธีปฏิบัติ ขณะที่ฝ่ายรุกขึ้นยิงประตู ผู้เล่นฝ่ายรับควรยืนอยู่ในลักษณะเท้านำ เท้าตาม และเคลื่อนตัวเข้าหาทิศทางที่คาดว่าฝ่ายรุกจะวิ่งผ่าน แล้วหมุนตัวให้หลังกำบังคู่ต่อสู้และใช้การก้าวเท้าไปข้างซ้ายหรือขวาตาม ต้องการ เพื่อกั้นคู่ต่อสู้ไว้ให้อยู่ด้านนอก เท้าแยกออกกว้างกว่าปกติ ย่อเข่าลง ยกศอกขึ้นมาประมาณระดับไหล่ ในขณะเดียวกันสายตามองที่ลูกบอล พร้อมที่จะกระโดดขึ้นแย่งลูกบอลได้ทันที การกระโดดให้กระโดดสูงที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ จับลูกบอลด้วยสองมือและลงสู่พื้นด้วยปลายเท้า พยายามป้องกันลูกบอลจากการถูกแย่งโดยการเคลื่อนไหวลูกบอลไปมาไม่อยู่นิ่ง แต่อย่ายักศอกเป็นอันขาดเพราะอาจะไปถูกคู่ต่อสู้และฟาล์วได้
2. การสกัดกั้นผู้เล่นที่มีบอล
วิธีปฏิบัติ
2.1 การยืน (Stance) ลักษณะการยืนในการป้องกันที่ถูกต้องควรยืนในลักษณะเท้านำเท้าตาม (ข้างหนึ่งอยู่หน้า อีกข้างหนึ่งอยู่หลัง) เข่าและเอวย่อ งอเล็กน้อย ศีรษะตั้งตรง สายตาจับมองคู่ต่อสู้และลูกบอล ให้มือข้างเดียวกับเท้านำยกสูงขึ้นคอยป้องกันและรบกวนในการยิงประตู ส่วนอีกข้างหนึ่งลดต่ำลงคอยสกัดกั้นในการส่งลูกบอล
2.2 การก้าวเท้าในการเคลื่อนไหว (Foot Work) การก้าวเท้าในการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกันฝ่ายรุกถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจุดอ่อนของฝ่ายป้องกันที่ทำให้ฝ่ายรุกทำประตูได้คือ ไม่สามารถเคลื่อนไหวตามฝ่ายรุกได้ทัน เป็นเหตุให้เสียพื้นที่และอยู่ในตำแหน่งที่เสียเปรียบกว่า หลักสำคัญคือ จะต้องยืนด้วยปลายเท้าให้ห่างกันประมาณเท่าช่วงไหล่ ในลักษณะเท้านำเท้าตาม ไม่ยืนปักหลัก และเวลาเคลื่อนไหวอาจใช้วิธีการแบบสืบเท้าไปข้างหน้าหรือ
ก้าวเท้าสลับกันไปก็ได้ แต่โดยปกติแล้วถ้าเป็นการเคลื่อนที่ไปอย่างช้าๆ จะเป็นการเคลื่อนที่แบบสืบเท้า แต่ถ้าเป็นการเคลื่อนที่ที่ต้องการความรวดเร็วมากๆ จะเคลื่อนที่โดยวิธีการก้าวเท้าสลับ