วันต่อต้านยาเสพติด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
18 ม.ค. 65
 | 14K views



วันต่อต้านยาเสพติด

 วันที่  ๒๖  มิถุนายนของทุกปีถือเป็นวันต่อต้านยาเสพติด  โดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้มีมติขึ้นก่อน เมื่อเดือนมิถุนายน ปี  ๒๕๓๐   ส่วนประเทศไทยเราก็มีมติ ครม. เมื่อวันที่  ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๑  กำหนดให้วันที่ ๒๖ มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพย์ติดเช่นเดียวกัน  เพื่อแสดงเจตนารมย์ที่จะร่วมกับประชาคมโลกในการรณรงค์ต่อต้านยาเสพย์ติด   เพราะต่างก็รู้ดีว่าสิ่งนี้เป็นมหันตภัยต่อมวลมนุษยชาติ  เมื่อใดก็ตามที่ยาเสพย์ติดผ่านเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้  ไม่ว่าจะโดยการกิน ดม สูบ หรือฉีด  มนุษย์จะไม่สามารถระงับความต้องการเสพครั้งต่อๆไปได้เลย   กลับจะมีความต้องการเสพในปริมาณที่มากขึ้น รุนแรงขึ้นและอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจะทำให้ผู้เสพย์มีสุขภาพที่ทรุดโทรม รูปลักษณ์ไม่น่าดูเพราะจะขาดความสนใจตัวเอง  เมื่อใดที่ต้องการยาแล้วไม่ได้   หรือได้ แต่ยานั้นเป็นประเภทที่ออกฤทธิ์ให้คลุ้มคลั่ง  หวาดระแวง ก็จะสามารถทำให้ก่ออาชญากรรมได้ง่าย  นับตั้งแต่ลักเล็กขโมยน้อยไปจนถึงฆ่าผู้อื่นดังที่เป็นข่าวอยู่บ่อย ๆ   ในท้ายที่สุดตนเองก็จะอายุไม่ยืน     บ้านเมืองใดปล่อยให้ประชาชนติดยาเสพย์ติดกันมากๆ ไม่เร่งแก้ปัญหา หรือปราบปรามให้เรียบร้อย   บ้านเมืองนั้นจะไม่สามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้เลย  กลับจะมีแต่เสื่อมโทรมลง  เพราะมีพลเมืองที่สุขภาพไม่ดีเต็มไปหมดเนื่องจากยาเสพย์ติดทำลายสมองและร่างกายจนเสียหายไปแล้วไม่มีศักยภาพพอจะเป็นผู้พัฒนาประเทศชาติได้  แถมยังจะก่ออาชญากรรมได้ง่าย เป็นใหญ่ปัญหาของสังคมอีกด้วย   นี่เองจึงเป็นเหตุให้ทุกๆ ประเทศต่างก็ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพย์ติดอย่างมากและต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังจึงจะได้ผลเพราะเดี๋ยวนี้การคมนาคมสะดวก และผู้คนมีความสามารถในการตบตาเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมากกว่าแต่ก่อน

เมืองไทยของเราก็มีการปราบปรามยาเสพย์ติดกันมาอย่างต่อเนื่อง หลายยุคหลายสมัย  คงจะจำกันได้ว่าสมัยรัชกาลที่สามได้ทรงปราบฝิ่นอย่างจริงจัง  มีการตรวจจับพวกที่ลักลอบนำฝิ่นเข้ามาจำหน่ายอย่างเข้มงวด ได้ของกลางมาก็นำไปเผาที่ท้องสนามหลวง  ทรงปราบจนคนค้าท้อถอย   ต่อมาเมื่อมีคณะรัฐบาลมาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ต่าง ก็มีความพยายามดำเนินการแก้ปัญหายาเสพย์ติดกันมาโดยตลอด  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงช่วยให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น  ด้วยการนำพันธุ์พืชเมืองหนาวมาทดลองปลูกจนได้ผลดี  แล้วพระราชทานให้นำไปปลูกทดแทนฝิ่นอย่างที่เราทุกคนทราบอยู่แล้ว

รัฐบาลปัจจุบันก็มีการประกาศสงครามกับยาเสพย์ติดอย่างเอาจริงเอาจังต่อเนื่องกันมาหลายปี  ขณะนี้ก็ยังอยู่ในช่วงเวลาของการดำเนินงานต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพย์ติด โดยตั้งเป้ากำหนดเวลาดำเนินการไปจนถึงปี  ๒๕๕๑  ซึ่งได้กำหนดทิศทางไว้ว่าให้ทุกพื้นที่มีมาตรการเฝ้าระวังปัญหายาเสพย์ติด มีการสร้างเครือข่ายเยาวชนต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพย์ติดขึ้นทั่วประเทศ  เพื่อให้เป็นกำลังในการคอยเฝ้าระวังและป้องกันปัญหายาเสพย์ติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน   ตลอดจนจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลยังถือ ปัญหายาเสพย์ติดเป็นนโยบายสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพูดถึงการช่วยกันเฝ้าระวังฯ ก็คิดว่าควรจะนำความรู้เกี่ยวกับยาเสพย์ติดมาให้รับทราบกันสักหน่อย  เป็นต้นว่า ยาเสพย์ติดมีกี่อย่าง  มีเหตุอะไรบ้างที่จะทำให้ติดยา  วิธีสังเกตุคนติดยา  และวิธีป้องกันจะป้องกันอย่างไร  จะได้นำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงาน   ซึ่งก็ได้รวบรวมมาให้ฟังดังนี้

ประเภทของยาเสพย์ติด  
- ประเภทกดประสาท  ได้แก่ฝิ่น  มอร์ฟีน เฮโรอีน ยานอนหลับ  ยาระงับประสาท  ยากล่อมประสาท  เครื่องดื่มมึนเมาทุกชนิด  สารระเหยจำพวกทินเนอร์  น้ำมันเบนซิน  แล็กเกอร์  และกาวเป็นต้น  พวกนี้ผู้เสพติดมักจะมีอาการอ่อนเพลีย  ฟุ้งซ่าน  อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย  ปฏิกิริยาในการตอบสนองภาวะฉุกเฉินช้า 

- ประเภทกระตุ้นประสาท  ได้แก่ยาบ้า  กระท่อม  โคเคน  พวกนี้มักพบว่าผู้เสพติดจะหงุดหงิด  กระวนกระวาย  สับสน  หวาดระแวง  บางครั้งมีอาการก้าวร้าว คลุ้มคลั่ง  ทำในสิ่งที่คนปกติไม่กล้าทำเช่นทำร้ายตนเอง หรือผู้อื่น

- ประเภทหลอนประสาท  ได้แก่แอลเอสดีเห็ดขี้ควายเป็นต้น ผู้เสพติดจะมีอาการประสาทหลอน  ฝันเฟื่อง เห็นแสงสีวิจิตรพิสดาร หรือภาพหลอนที่น่าเกลียดน่ากลัว  หูจะแว่ว  ได้ยินเสียงประหลาด และควบคุมตัวเองไม่ได้  พวกนี้ในที่สุดมักป่วยเป็นโรคจิต

- ประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน  (ทั้งกระตุ้นและกดประสาท) ได้แก่กัญชา  มักพบว่าผู้เสพติดมีอาการหวาดระแวง  ความคิดสับสน  เห็นภาพลวงตา  หูแว่ว  ควบคุมตนเองไม่ได้  อุปนิสัยใจคอผิดเพี้ยน  พวกนี้ในที่สุดก็จะกลายเป็นโรคจิตได้

สาเหตุที่ทำให้ติดยา
- ความคึกคะนอง  ความอยากรู้-อยากลอง  ความต้องการให้กลุ่มเพื่อนยอมรับตนหรือเพื่อนชักชวน หรือถูกหลอกให้ใช้ยาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ครอบคลุมไปถึงการใช้ยารักษาโรคอย่างขาดความระมัดระวัง  ใช้พร่ำเพรื่อ หรือใช้ติดต่อกันนานๆ โดยแพทย์ไม่ได้สั่ง  จะทำให้เกิดการติดยาได้โดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน

- ความต้องการที่จะหนีปัญหาที่ตนเองแก้ไม่ตก  และมีความเชื่อผิดๆ ว่าเสพยาแล้วจะทำให้ลืมความทุกข์ไปได้  หรือช่วยให้ทำงานได้มากๆ

วิธีสังเกตุคนติดยา
     - ร่างกายทรุดโทรม  ซูบผอม
     - ใส่เสื้อแขนยาวตลอดเวลาเพื่อปกปิดรอยเข็มฉีดยาบริเวณท้องแขนด้านใน  หรือรอยกรีดตรงต้นแขนด้านใน
     - ติดต่อกับเพื่อนแปลกๆ  ใหม่ๆ ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ
     - อารมณ์ฉุนเฉียว ชอบทะเลาะวิวาทและทำร้ายคนอื่น  ในทางกลับกันก็มีอีกบางคนที่เงียบขรึมผิดปกติ ชอบแยกตัวจากพรรคพวกเพื่อนฝูง
     - ถ้าเป็นนักเรียน ผลการเรียนจะแย่ลง  ถ้าเป็นคนทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดลงหรือไม่ยอมทำงานเลย  
     - ใช้เงินเปลืองผิดปกติ  ขอเงินเพิ่มบ่อย หรือไม่ก็ยืมเพื่อนฝูงไปซื้อยา  เป็นหนี้เป็นสิน

จากข้อมูลข้างต้นนี้ จะทำให้เห็นว่า ยาเสพย์ติดนั้นป้องกันได้ โดยในส่วนของการป้องกันตนเอง  ก็คือต้องศึกษาหาความรู้ให้เท่าทันว่าโทษภัยของยาเสพย์ติดนั้นมีมากขนาดไหน  และไม่ใช่สิ่งที่สามารถจะทดลองดูโดยคิดว่าหนเดียวไม่เป็นไร  เพราะถ้าหนเดียวไม่เป็นไรจริงคงไม่มีคนติดยาให้เห็น   ต้องเลือกคบเพื่อนที่ดี ซึ่งก็คือเพื่อนที่จะแนะนำสิ่งที่ดี  เพื่อนที่แนะนำให้ลองยาต้องไม่หวังดีต่อเราแน่นอน  ต้องเลิกคบทันที  และในเรื่องนี้ครอบครัวที่อบอุ่น  สมาชิกมีรักใคร่สัมพันธ์อันดีต่อกัน มีอะไรปรึกษากัน ช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ทอดทิ้งกัน นั่นจะเป็นปราการด่านสำคัญที่สุดในการป้องกันยาเสพย์ติดไม่ให้เข้ามาสู่สมาชิกในครอบครัวได้เป็นอย่างดี   ในส่วนของชุมชนที่จะช่วยกันเฝ้าระวังไม่ให้ปัญหายาเสพย์ติดระบาดเข้าสู่ชุมชนของตนก็ทำได้ด้วยการช่วยกันเป็นหูเป็นตา เมื่อทราบแหล่งเสพ  แหล่งค้า หรือแหล่งผลิต ต้องควรแจ้งให้ทางการบ้านเมืองได้ทราบโดยเร็ว  ที่ศูนย์รับแจ้งข่าวยาเสพย์ติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ได้  เพราะมีเบอร์โทร.ติดต่อที่จำง่าย คือ โทร. ๑๖๘๘

เรื่องของยาเสพย์ติดเป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันทุก ๆ ฝ่าย  อย่าถือว่าธุระไม่ใช่ เพราะไม่เช่นนั้น ณ วันหนึ่งเมื่อมันมีโอกาสแพร่หลายมากเข้า บุตรหลานของเราเองก็อาจจะยากที่จะป้องกัน

 

ที่มา   
- วันต่อต้านยาเสพย์ติด (๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘) : ข่าวสารสำนักงาน  ป.ป.ส.  
- https://www.tungsong.com/Important day/DayDrug/drug.asp
- https://google.com/

ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท.  เรื่อง  "วันต่อต้านยาเสพย์ติด"  ผลิตโดย  งานบริการการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ