พระจันทร์กับดวงจันทร์
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 29.4K views



พระจันทร์กับดวงจันทร์

ปี  ๒๕๔๙  นี้  วันไหว้พระจันทร์ตรงกับวันที่  ๖  ตุลาคม ในเรื่องของตำนานที่ก่อให้เกิดประเพณีไหว้พระจันทร์ รวมถึงข้าวของเครื่องไหว้ต่างๆ ได้เคยบอกเล่าไว้แล้ว ซึ่งจะสามารถดูได้จาก Intranet แต่รวบรวมมาเล่าให้ฟังครั้งนี้  จะเป็นตำนานเกี่ยวกับกำเนิดของพระจันทร์ความเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์  และวิทยาศาสตร์

กำเนิดและความเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์
แสงสว่างที่นวลงามจากพระจันทร์ยามค่ำคืน ทำให้คนมักเข้าใจผิดว่า  พระจันทร์น่าจะเป็นหญิงสาว เพราะความสวย ความนุ่มนวลเป็นคุณสมบัติของผู้หญิง แต่ในตำนานโหราศาสตร์ พระจันทร์กลับเป็นเทวะรูปงาม แถมเจ้าชู้มากด้วย  เพราะพระอิศวร  หรือพระศิวะได้ร่ายพระเวทย์ให้นางฟ้า ๑๕ องค์ ป่นละเอียดเป็นผง แล้วห่อด้วยผ้าขาว ประพรมด้วยน้ำอมฤต บังเกิดเป็นเทวบุตรที่มีวรกายสีขาวนวล ทรงทิพย์อาภรณ์  ทรงอัศวราชเป็นพาหนะ มีวิมานแก้วมุกดาเป็นที่สถิต  ณ ทิศบูรพา    บางตำราก็กล่าวว่าพระจันทร์เกิดจากการกวนน้ำอมฤตในทะเลเกษียรสมุทรของเหล่าอสูรเทพและเทวะเพื่อเพิ่มฤทธานุภาพ  แต่พระจันทร์จะถือกำเนิดจากตำนานใดก็ตาม  สำหรับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของพระจันทร์ซึ่งมีอยู่หลายเรื่องนั้น ก็ค่อนข้างจะตรงกัน  เช่น  พระจันทร์นี้นอกจากจะมีมเหสีหลายองค์แล้วยังมีชายาอีกถึง ๒๗ องค์ ล้วนเป็นธิดาของพระทักษะประชาบดีทั้งสิ้น  แต่มีความสนิทเสน่หาในนางโรหิณีมากเป็นพิเศษ  พระพี่นางและพระน้องนางของนางโรหิณีจึงไปฟ้องพระทักษะประชาบดีผู้เป็นพระบิดา  พระจันทร์จึงถูกสาปให้เป็นหมันและเป็นฝีในท้อง  จึงเป็นเทวะองค์เดียวที่ไม่มีโอรสและธิดา  เมื่อใดฝีในท้องกำเริบ พระจันทร์ก็มีรูปเว้าแหว่ง ธิดาทั้งหลายก็พากันไปทูลขอให้พระบิดาผ่อนโทษให้กับพระจันทร์ลงบ้าง

ในบางคัมภีร์กล่าวว่า พระจันทร์ลักลอบเป็นชู้กับชายาของพระพฤหัส  ทำให้พระพฤหัสกริ้วก่อให้เกิดเทวะสงครามขึ้น พระพรหมผู้เป็นใหญ่ได้มาห้ามและลงทัณฑ์มิให้พระจันทร์เข้าประชุม
เทวสภา  แต่บางตำราก็พูดถึงความเป็นศัตรูระหว่างพระจันทร์กับพระพฤหัสว่า เกิดจากในชาติหนึ่งที่พระพฤหัสเป็น พ่อนางจันทร์  ก็ได้นำความลับของลูกสาวที่เป็นชู้กับอังคาร  ไปบอกลูกเขย คืออาทิตย์  ก็เลยทำให้นางจันทร์ผูกโกรธ - เกลียดพฤหัส  จึงเป็นที่มาของวันคู่มิตรและศัตรูทางโหราศาสตร์อีกทางหนึ่ง  คือคนเกิดวันจันทร์จะไม่ถูกกับคนเกิดวันพฤหัส  แต่จะเป็นคู่มิตรกับคนวันอังคาร

ยังมีนิทานเล่าไว้ด้วยว่า  นานมาแล้ว โลกมีพระจันทร์สองดวง  ดวงหนึ่งเป็นชาย ดวงหนึ่งเป็นหญิง  พระจันทร์ดวงที่เป็นหญิงเกิดไปหลงใหลในแสงอันเจิดจ้าของพระอาทิตย์ จึงได้เลื่อนตัวตามพระอาทิตย์ไปเรื่อยๆ จนแยกกันกับพระจันทร์ที่เป็นชาย  ทำให้พระจันทร์ชายต้องตามหาพระจันทร์หญิงคืนแล้วคืนเล่าก็ไม่พบ  ในที่สุดก็ระเบิดตัวเองออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยทั่วจักรวาล เพื่อหวังว่าช่วยกันตามหาพระจันทร์หญิง   ต่อมาพระจันทร์หญิงได้รู้ความจริงว่า พระอาทิตย์นั้นมิได้ส่องแสงเจิดจ้ามาเพียงที่เธอเท่านั้น  แต่ส่องไปยังดาวดวงอื่นๆ อีกมากมาย  ก็จึงกลับมาหาพระจันทร์ชายอีกครั้ง  แต่ไม่ได้พบ  เพราะพระจันทร์ชายได้ระเบิดตัวเองเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเกิดเป็นดวงดาวไปแล้ว และถึงแม้จะได้พยายามเปล่งแสงซึ่งมีอยู่น้อยนิด พร่างพรายเต็มท้องฟ้า เพื่อให้พระจันทร์หญิงได้เห็นก็ตาม  แต่พระจันทร์หญิงก็คงไม่อาจรู้ได้ว่าดวงดาวระยิบระยับที่แวดล้อมอยู่ใกล้บ้าง ไกลบ้างนั้นคือพระจันทร์ชายที่ตนตามหานั่นเอง

ถึงแม้หลายๆ ตำราจะบอกว่าพระจันทร์เป็นเทพบุตร  แต่ในทฤษฎีแพทย์ของจีนที่แบ่งสรรพสิ่งในธรรมชาติออกเป็นสองฝ่ายคือหยิน อันหมายถึงผู้หญิง  กลางคืน  น้ำ  และความนิ่ง กับหยาง อันหมายถึงผู้ชาย  ไฟ  และความเคลื่อนไหวเป็นต้นนั้น  พระจันทร์กลับถูกจัดให้เป็นหยิน  ส่วนพระอาทิตย์ถูกจัดให้เป็นหยาง  และในทางโหราศาสตร์ ดาวจันทร์ก็ยังหมายถึงรูปร่างหน้าตา จริตมารยา  ความรู้สึกนึกคิด  จินตนาการ  ความอ่อนไหวง่าย   ปรับตัวง่าย   ถิ่นที่อยู่อาศัยและญาติพี่น้อง รวมถึงเป็นดาวธาตุน้ำ มีสัญลักษณ์เป็นเลข ๒  

การสร้างพระพุทธรูปปางประจำวันจันทร์  อันได้แก่ “ปางห้ามญาติ” กับ “ปางห้ามสมุทร” ก็มีนัยที่เกี่ยวพันกับน้ำ และญาติ อันเป็นความหมายและอิทธิพลของดาวจันทร์เช่นกัน “ปางห้ามญาติ” อันมีพุทธลักษณะประทับยืนยกพระหัตถ์ขวาขึ้นห้ามนั้น มาจากเหตุที่พระญาติของพระพุทธเจ้าทั้งสองเมืองคือกบิลพัสดุ์ กับเทวทหะ ทะเลาะกัน แย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี  แล้วพระพุทธองค์ได้เสด็จไปทรงห้าม   ส่วน “ปางห้ามสมุทร”ซึ่งมีพุทธลักษณะประทับยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นห้าม  มาจากเหตุเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปปราบชฎิลสามพี่น้อง ซึ่งเป็นนักบวชที่บูชาไฟ และตั้งตัวเป็นใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชลา  ได้ทรงแสดงปาฏิหารย์ห้ามลม ฝน พายุ และน้ำ ไม่ให้ทำอันตรายแก่พระองค์ จนเหล่าชฎิลเลื่อมใสและขอบวชตาม  การสร้างพระพุทธรูปปางประจำวันจันทร์ในลักษณะดังกล่าวก็เพื่อแก้เคล็ดมิให้เป็นคนหวั่นไหวง่าย ให้รู้จักหักห้ามใจตนเอง รวมทั้งขจัดปัดเป่าให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี


กำเนิดในทางดาราศาสตร์  หรือวิทยาศาสตร์
ถ้าจะกล่าวถึงพระจันทร์ในทางดาราศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ก่อนอื่นก็จะต้องเรียกชื่อเสียใหม่ให้เหมาะสมว่า  “ดวงจันทร์”  

กำเนิดของดวงจันทร์มีสมมติฐานหลายอย่าง  บ้างก็ว่าโลกและดวงจันทร์เกิดพร้อมๆ กัน จากกลุ่มก้อนก๊าซมหึมาของเนบิวลา ต้นกำเนิดระบบสุริยะ  บ้างก็ว่าดวงจันทร์แตกตัวออกจากโลก  ขณะที่โลกเริ่มก่อรูปร่างขึ้นและมีการหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว  มวลสารบางส่วนจึงหลุดออกมาเป็นดวงจันทร์เป็นต้น 


ข้อมูลทั่วไป

     - พื้นผิวดวงจันทร์มีสองลักษณะ คือเป็นเทือกเขาเก่าแก่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต และบริเวณ
ที่ราบเรียบที่มีอายุน้อยกว่า เรียกว่า “ทะเล” (Maria) ซึ่งมิใช่ทะเลจริง แต่สันนิษฐานว่าเป็นหลุมขนาดใหญ่ที่ลาวาไหลท่วมภายหลัง และจะมีเฉพาะด้านที่หันเข้าหาโลกเท่านั้น  

    
- ในดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศ เพราะมีแรงโน้มถ่วงต่ำกว่าโลก ๑ ใน ๖ เราจึงเห็นมนุษย์อวกาศเดินตัวลอยบนดวงจันทร์ และแรงโน้มถ่วงระหว่างโลกกับดวงจันทร์ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงด้วย  

     - เป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเองเหมือนกับดาวพุธ  ดาวศุกร์ และดาวอังคาร  แต่ที่มีแสงสว่างเป็นที่สองรองจากดวงอาทิตย์นั้นเพราะได้รับแสงสะท้อนมาจากดวงอาทิตย์ อีกทีหนึ่ง  

     - เป็นบริวารดวงเดียวของโลกที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ระยะห่างจากโลกโดยเฉลี่ย ๓๘๔,๔๐๐ กิโลเมตร


วัฏจักรของดวงจันทร์

ถ้านับทางจันทรคติ ดวงจันทร์จะใช้เวลา ๒๙ วันครึ่งในการโคจรรอบโลกหนึ่งรอบ  ถ้าเรานับจุดเริ่มต้นของดวงจันทร์ที่วันเดือนดับ (New moon) เป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่เป็นเส้นตรงระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงจันทร์ทึบแสง  คนบนโลกก็จึงมองไม่เห็นดวงจันทร์  จากนั้นก็จะเป็นวันข้างขึ้นที่ เราจะเห็นดวงจันทร์สว่างเป็นเสี้ยวขึ้นสูงทางขอบฟ้าทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก  พร้อมกับมีเสี้ยวสว่างมากขึ้นๆ  พอถึงช่วงวันขึ้น ๗-๘ ค่ำ ดวงจันทร์ก็จะสว่างครึ่งซีกอยู่ตรงกลางท้องฟ้าพอดี  วันต่อๆ มาเสี้ยวสว่างก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งวันขึ้น ๑๔ – ๑๕ ค่ำ  ดวงจันทร์จะมาอยู่ตรงเส้นระหว่างดวงอาทิตย์และโลก  ทำให้เกิดแสงสว่างเต็มดวง (Full moon) แล้ว  หลังจากนั้น ก็จะกลายเป็นข้างแรม  โดยดวงจันทร์จะขึ้นช้าไปเรื่อยๆ จนหายไปในท้องฟ้า จะเห็นเดือนดับ แล้วก็เริ่มต้นใหม่เช่นนี้เรื่อยไป  

การเกิดข้างขึ้นข้างแรมก็เนื่องจากดวงจันทร์โคจรรอบโลก ๑ รอบ เท่ากับมันโคจรรอบตัวเอง ๑ รอบพอดี ซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน ดังนั้นเราจึงเห็นดวงจันทร์เพียงซีกเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่


ที่มา  -   สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม
        -   web1.dara.ac.th/


ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง  "ของพระจันทร์กับดวงจันทร์" ผลิตโดยงานบริการผลิต  ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ  ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ