ภูมิศาสตร์ประเทศไทย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 143.5K views



ภูมิศาสตร์ประเทศไทย

ประเทศไทยตั้งอยู่ในแหลมอินโดจีน การที่เรียกว่าแหลมอินโดจีนเพราะถือว่าอยู่ระหว่างประเทศอินเดียกับประเทศจีน ซึ่งเป็นการถือเอาประเทศใหญ่เป็นจุดอ้าง แต่ถ้าถือเอาสภาพทางภูมิศาสตร์ เป็นจุดอ้างก็น่าจะเรียกว่าอินโด - แปซิฟิค เพราะเป็นแหลมที่แบ่งน่านน้ำออกเป็นมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิค มีพิกัดทางภูมิศาสตร์ ดังนี้
- ทิศเหนือ จดเส้นรุ้ง 20 องศา 25 ลิบดา 30 พิลิบดา เหนือ ที่กิ่งอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
- ทิศใต้  จดเส้นรุ้ง 5 องศา 37 ลิบดา ที่กิ่งอำเภอเบตง จังหวัดยะลา
- ทิศตะวันออก จดเส้นแวง 105 องศา 37 ลิบดา 30 พิลิบดา ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
- ทิศตะวันตก จดเส้นแวง 97 องศา 22 ลิบดา ตะวันออก ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

สภาพธรรมชาติในเขตร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบตะวันออก - ใต้ของทวีปเอเซียมีอุณหภูมิสูง มีทะเลลมและฝนเป็นปัจจัยให้เกิดป่าดง ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้เขตร้อน และสัตว์ป่านานาชนิด ที่มีปริมาณมากกว่าอีกหลายส่วนของโลก นับว่าเป็นย่านอันอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร และทรัพยากรที่สำคัญแห่งหนึ่งของทวีปเอเซีย 

การที่เส้นแวง 101 องศา ตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นผ่านกลางพื้นที่ประเทศไทย การคิดเวลาของประเทศไทยจึงควรใช้เส้นแวงเส้นนี้เป็นตัวกำหนด แต่เนื่องจากว่าเพื่อให้สะดวกในกิจการรถไฟ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังแหลมมลายู ได้มีเวลาตรงกันทั้งไทย และมลายู (มาเลเซีย) ไทยจึงตกลงใช้เส้นแวง 105 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นศูนย์เที่ยงทางภูมิศาสตร์ของมลายู และเป็นเส้นศูนย์เที่ยงของอินโดจีนด้วย เป็นเส้นศูนย์เที่ยงของไทยด้วยจึงทำให้เวลาที่แท้จริงของไทยเร็วไป 18 นาทีของที่ควรจะเป็น 

ภูมิรัฐศาสตร์ 
ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางของผืนแผ่นดินในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีพรมแดนธรรมชาติที่เหมาะสมในแง่ภูมิศาสตร์ โดยมีเทือกเขาขนาดใหญ่ และทุรกันดารทอดตัวเป็นแนวยาวจากเหนือมาใต้ ดังนี้ 
ด้านทิศตะวันตก มีเทือกเขาอารกันโยมา อันเป็นสาขาของเทือกเขาหิมาลัย ทำให้เกิดป่าดงดิบทึบ เป็นการแยกประเทศพม่าออกจากประเทศอินเดียโดยสิ้นเชิง ไม่มีปัญหาเรื่องการมีสายน้ำร่วมกัน ในสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นได้รุกไปทางตะวันตกผ่านไทย ผ่านพม่า มุ่งสู่อินเดียก็มาสิ้นสุดที่แนวเทือกเขาแห่งนี้เท่านั้น 
ด้านทิศเหนือ เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่บนที่ราบสูง ยูนนานของประเทศจีนตอนใต้ เป็นสาขาปลายตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย ที่ผ่านไปสู่ประเทศจีน เป็นย่านทุรกันดารเป็นป่าเขายากแก่การคมนาคมทางบก 
ด้านทิศตะวันออก เป็นทะเลจีนใต้อันเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก อันเป็นพรมแดนทางธรรมชาติอย่างแท้จริงในทางภูมิรัฐศาสตร์ 
ด้านทิศใต้ เป็นทะเลในด้านอ่าวไทย และมหาสมุทรอินเดีย จึงมีสภาพพรมแดนทางธรรมชาติ เช่นเดียวกับด้านทิศตะวันออก 

ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ ดังกล่าวมาแล้วทำให้ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนที่เป็นผืนแผ่นดินใหญ่ อันประกอบด้วย พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย มีปราการทางธรรมชาติ ที่เกื้อกูลต่อความปลอดภัยร่วมกันได้เป็นอย่างดี 

ขนาดของประเทศไทย 
จากหลักฐานของกรมแผนที่ทหาร ประเทศไทยมีพื้นที่ ประมาณ 511,937 ตารางกิโลเมตร ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2483 จนถึงปัจจุบัน ในระหว่างกรณีพิพาทอินโดจีน ประเทศไทยได้พื้นที่เดิมที่เสียให้แก่ฝรั่งเศส ในพื้นที่สี่จังหวัดทางภาคตะวันออกของไทย คือ จังหวัดพระตะบอง (เขมร) เสียมราฐ (เขมร) นครจำปาศักดิ์ (ลาว) ล้านช้าง (ลาว) เป็นพื้นที่ประมาณ 69,029 ตารางกิโลเมตร และในสงครามมหาเอเชียบูรพา ประเทศไทยได้รับดินแดนคืนจากที่เสียให้แก่อังกฤษ คือ สหรัฐไทยเดิม เป็นพื้นที่ประมาณ 39,855 ตารางกิโลเมตร และ 4 รัฐมาลัย คือ รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี (เคดาร์) และปะลิส เป็นพื้นที่ประมาณ 33,245 ตารางกิโลเมตร เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง ไทยจำต้องคืนดินแดนที่ได้กลับคืนมาคืนกลับไปให้ฝรั่งเศส และอังกฤษ

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศ ที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยแล้ว จะได้ดังนี้ 
- เล็กกว่า ประเทศพม่าอยู่ 61,461 ตารางไมล์ 
- เล็กกว่า ประเทศอินเดีย 7 เท่า 
- เล็กกว่า ประเทศจีน 10 เท่า 
- เล็กกว่า ประเทศตุรกี 1/3 เท่า 
- เล็กกว่า ประเทศฝรั่งเศสเล็กน้อย 
- เล็กกว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา 13 เท่า 

รูปร่างของประเทศไทย 
ประเทศไทยมีความยาวที่สุด จากเหนือ จดใต้ ประมาณ 1,833 กิโลเมตร มีความกว้างที่สุดจากตะวันออก ไปตะวันตกตามแนวเส้นรุ้งที่ผ่านจังหวัดอุบล ฯ - อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาไปทางตะวันตก ประมาณ 850 กิโลเมตร ส่วนที่แคบที่สุดอยู่ที่ตำบลห้วยยาง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความกว้าง ประมาณ 12 กิโลเมตร และตอนแคบที่สุดของแหลมมลายูอยู่ที่ตรงคอคอดกระ กว้างประมาณ 64 กิโลเมตร รูปร่างของประเทศไทยที่กล่าวกันไว้มีอยู่สามภาพด้วยกันคือ เป็นรูปกระบวยตักน้ำ เป็นรูปขวานโบราณ และเป็นรูปหัวช้างมีงวงทอดลงไปในทะเลใต้ สรุปแล้วประเทศไทยมีส่วนยาวเป็นสองเท่าของส่วนกว้าง และครึ่งหนึ่งของส่วนยาวเป็นส่วนแคบ ๆ ทอดยาวลงไปทางใต้ เราอาจแบ่งรูปร่างของประเทศไทยออกอย่างกว้าง ๆ เป็นสองส่วนคือ 

ส่วนบน มีรูปร่างค่อนข้างจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่มีความเว้าแหว่งอยู่มาก ห้องภูมิประเทศที่เกิดจากแนวเทือกเขาที่ทอดตัวจากเหนือไปใต้ ทำให้เกิดส่วนแคบขึ้นสองแนวคือ แนวจังหวัดตาก - อุตรดิตถ์ และแนวอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว - อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย 
ส่วนล่าง มีรูปร่างแคบและยาวมาก มีทะเลขนาบอยู่สองด้าน 

พรมแดนไทย 
พรมแดนของไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กำหนดขึ้นด้วยสัญญาระหว่างประเทศ กับประเทศอังกฤษ และประเทศฝรั่งเศส ในสมัยที่ประเทศทั้งสองมีอาณานิคมอยู่ติดกับประเทศไทยในทุกด้าน ดังนี้ 
- สนธิสัญญา ปี พ.ศ. 2435 - 36 ระหว่างไทยกับอังกฤษ กำหนดพรมแดนไทยกับพม่า 
- สนธิสัญญา เมื่อ 3 ตุลาคม 2473 (ร.ศ.116) ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 
- สนธิสัญญา เมื่อ 7 ตุลาคม 2445 ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 
- สนธิสัญญา เมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2447 ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส 
- สนธิสัญญา เมื่อ ปี พ.ศ. 2455 ระหว่างไทยกับอังกฤษ 

พรมแดนไทยกับพม่า 
เริ่มต้นจากจังหวัดระนอง ที่ลำน้ำกระ (เส้นรุ้ง 10 ลิบดา เหนือ) เป็นแนวเส้นเขตแดนต่อไปทางเหนือ ตามแนวสันเขาตะนาวศรี สันเขาถนนธงชัย สันเขาแดนลาว ไปจดแม่น้ำโขง ที่จุดเส้นรุ้ง 25 องศา 5 ลิบดา เหนือ ที่กิ่งอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แนวพรมแดนด้านนี้ยาว ประมาณ 1,450 กิโลเมตร ไม่สู้คดโค้งมากนัก ส่วนใหญ่เป็นทิวเขาสูงใหญ่

พรมแดนไทยกับลาว 
เริ่มจากบ้านใหม่ (เส้นรุ้ง 20 องศา 15 ลิบดา เหนือ) มีลำน้ำโขงเป็นแนวเส้นเขตแดน แล้ววกเข้าหาทิวเขาหลวงพระบาง ลงมาทางใต้ แล้ววกไปหาแม่น้ำโขงไปจนจดปากน้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี ช่วงนี้ยาวประมาณ 1,200 กิโลเมตร 

พรมแดนไทยกับกัมพูชา 
เริ่มจากปากแม่น้ำมูล แนวพรมแดนเป็นสันเขาพนมดงรัก ซึ่งโค้งมาทางตะวันตก จนถึงจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นระยะทาง ประมาณ 320 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นเขตแดนจะเป็นที่ราบจนจดทะเลที่อ่าวไทย 

พรมแดนไทยกับมาเลเซีย 
เริ่มที่ลำน้ำนราธิวาสทางอ่าวไทยไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เล็กน้อย แล้วใช้สันเขาสันกาลาคีรี เป็นแนวเขตแดนไปจนจดมหาสมุทรอินเดีย ที่จังหวัดสตูล 

นอกจากนี้ไทยยังมีพรมแดนที่เป็นฝั่งทะเล คือ ด้านอ่าวไทย จากจังหวัดตราด ถึง นราธิวาส มีความยาวประมาณ 1,870 กิโลเมตร และด้านมหาสมุทรอินเดีย จากจังหวัดระนอง ถึงจังหวัดสตูล ยาวประมาณ 740 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของไทย แบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะคือ 
พื้นที่ราบอันกว้างใหญ่ภาคกลาง แบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือที่ราบดินตะกอนและที่ราบซึ่งเกือบไม่มีดินตะกอนเลย ที่ราบใหญ่ภาคกลาง มีขนาดกว้าง ประมาณ 50-150 กิโลเมตร ยาวประมาณ 300 กิโลเมตร แบ่งออกได้เป็น 2 ตอนด้วยกันคือ 
ตอนบน เป็นพื้นที่ราบ ซึ่งมีลักษณะเป็นลุ่มแอ่งน้อย ๆ ตั้งอยู่ในระหว่างย่านภูเขาทางเหนือ มีทิวเขาถนนธงชัยอยู่ทางด้านทิศตะวันตก และทิวเขาเพชรบูรณ์อยู่ทางด้านทิศตะวันออก พื้นที่ตอนกลางระหว่างทิวเขาทั้งสองเป็นที่ลุ่ม มีระดับสูงประมาณ 3 - 4 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่ทางตอนใต้บริเวณ จังหวัดชัยนาท เป็นที่ค่อนข้างดอน มีความสูงประมาณ 18 เมตร จากระดับน้ำทะเล 
ตอนล่าง เป็นพื้นที่ราบ ซึ่งมีความลาดจาก จังหวัดชัยนาทลงไปทางใต้ ลงสู่ทะเลที่อ่าวไทยพื้นที่ต่ำสุดอยู่ตอนกลาง ซึ่งเป็นรางของลำน้ำ พื้นที่ทางด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จะมีความลาดลงมาน้อยๆ จากแนวทิวเขา มีระดับสูง 18 เมตร ที่ชัยนาท 4 เมตรที่อยุธยา และ 1.8 เมตรที่กรุงเทพฯ 

ที่ราบลุ่มแม่น้ำป่าสัก เป็นที่ราบแคบๆ ในภาคกลาง คั่นอยู่ระหว่างที่ราบใหญ่ภาคกลาง กับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบแคบๆ และยาวอยู่ระหว่างหุบเขาของทิวเขาเพชรบูรณ์ กับทิวเขาเลย 

ที่ราบภาคตะวันออก เป็นที่ราบซึ่งคั่นระหว่างภาคกลางของไทยกับประเทศเขมร แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ 
ตอนบน คือที่ราบปราจีนบุรี เป็นที่ราบลุ่มน้ำบางปะกง มีลักษณะเป็นชานของที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงค่อนข้างจะเป็นที่ดอนเล็กน้อย อยู่ระหว่างทิวเขาสันกำแพง ทิวเขาพนมดงรัก กับทิวเขาบรรทัด ตอนแคบที่สุดกว้างประมาณ 30 กิโลเมตร ที่ช่องวัฒนา 
ตอนล่าง เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นที่ราบแคบ ๆ อยู่ระหว่างทิวเขาบรรทัดกับฝั่งทะเล เป็นที่ราบที่ลาดลงสู่ฝั่งทะเล ในเขตสี่จังหวัด คือ ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด 

ที่ราบลุ่มน้ำแม่กลองและแม่น้ำเพชรบุรี เป็นที่ราบทางตะวันตกเฉียงใต้ของภาคกลาง ทางด้านทิศตะวันตกมีภูเขาตะนาวศรี ทางด้านทิศตะวันออก ตอนจังหวัดนครปฐมถึงอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเนินกับระหว่างที่ราบใหญ่ภาคกลางกับที่ราบลุ่มแม่กลอง 

ที่ราบในย่านภูเขาภาคเหนือ ประกอบด้วยที่ราบหลายผืน เป็นที่ราบระหว่างทิวเขา ทำให้มีพื้นที่ไม่ติดต่อถึงกัน ที่สำคัญได้แก่ 
- ที่ราบเชียงใหม่ มีความสูงประมาณ 300 เมตร 
- ที่ราบเชียงราย มีความสูงประมาณ 400 เมตร 
- ที่ราบแพร่ มีความสูงประมาณ 200 เมตร 
- ที่ราบน่าน มีความสูงประมาณ 200 เมตร 

ที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสูง ประมาณ 200 - 300 เมตร อยู่ในวงล้อมของทิวเขาเป็นที่ราบอันกว้างใหญ่อีกผืนหนึ่ง มีพื้นที่ประมาณ 154,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งออกได้เป็นสองตอนคือ
ตอนบน ได้แก่พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง
ตอนล่าง ได้แก่พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล 

ที่ราบภาคใต้ ภาคใต้อยู่บนแหลมแคบๆ ที่มีความกว้างที่สุดไม่เกิน 200 กิโลเมตร และส่วนที่แคบที่สุด ประมาณ 60 กิโลเมตร ตอนกลางของแหลมเป็นทิวเขาโดยตลอด จึงมีที่ราบชายฝั่งทะเลผืนแคบๆ เป็นตอนๆ ไม่ติดต่อกันที่สำคัญได้แก่ ที่ราบบ้านดอน ที่ราบพัทลุง ที่ราบตานี นอกจากนี้ก็เป็นที่ราบแคบๆ ริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย และด้านทะเลอันดามัน 

ภูเขาและทิวเขา ลักษณะของทิวเขาเกือบจะขนานกัน ส่วนใหญ่มีแนวจากทิศเหนือลงใต้แบบเดียวกันทุกภาค ภูเขาในประเทศไทยมีอยู่ไม่หนาแน่นมากนัก ที่มีทิศทางขวางก็มีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก 
ภูเขาหิน มีอยู่ทั่วไป มีลักษณะติดต่อกันเป็นทิวใหญ่ เช่นทิวเขาถนนธงชัย ทิวเขาตะนาวศรี ภูเขาหินแบ่งออกเป็นสองชนิดคือ ชนิดหินแกรนิต เป็นหินแข็งแกร่ง มักมีลักษณะยอดไม่ใคร่แหลมชลูด มีลาดไม่ชันนัก มีน้ำอยู่ทั่วไปจึงมีป่าไม้ขนาดสูงขึ้นปกคลุม ทิวเขาชนิดนี้มีอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้เป็นส่วนมาก ส่วนภูเขาชนิดหินปูน เป็นหินที่ไม่เหนียวและไม่แกร่ง จึงมักถูกธรรมชาติกัดเซาะจนมีลักษณะเป็นยอดแหลมสูง มีผาชัน หาน้ำได้ยาก จึงมีแต่ป่าไม้เล็ก ๆ ขึ้นปกคลุม หรือบางส่วนก็จะไม่มีต้นไม้เลย บริเวณเชิงเขามักมีเนินดินสีเทา ๆ อันเกิดจากหินปูนที่แตกสลายลงมา มีลักษณะร่วนซุยเมื่อถูกฝนจะกลายเป็นเปือกตม เขาหินปูนส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง และภาคใต้ตอนบน เช่น เขาในเขตจังหวัดลพบุรี สระบุรี ราชบุรี เพชรบุรี (เขาหลวง) และประจวบคีรีขันธ์ (เขาสามร้อยยอด) 
ภูเขาดิน ประกอบด้วยดินร่วน หรือหินลูกรังปนกับหินก้อนขนาดย่อม เป็นภูเขาสูงปานกลาง ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเนินเตี้ย ที่ทางภาคใต้เรียกว่า ควน ลาดเขามีลักษณะเป็นลาดโค้งบนเชิงเขา โดยรอบมักเป็นพื้นราบกว้างขวาง เช่น บริเวณตอนใต้ของเขาสามมุก จังหวัดชลบุรี หรือในภาคใต้ตั้งแต่สถานีรถไฟมาบอัมฤทธิ์ถึงสถานีห้วยสัก เป็นต้น 
ภูเขาไฟ ภูเขาไฟในประเทศไทย เป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทมานานแล้ว เช่นที่ภูเขาหลวง จังหวัดสุโขทัย ซึ่งปรากฎมียอดเป็นปากปล่องภูเขาไฟและมีหินตะกรันอยู่โดยรอบ  ในที่ราบสูงภาคอิสานเป็นพื้นที่ภายในปากปล่องภูเขาไฟใหญ่ในอดีตซึ่งดับไปแล้ว และก่อให้เกิดที่ราบสูงอันกว้างใหญ่ขึ้นมาแทน ภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ และอยู่ใกล้ประเทศไทยเท่าที่สำรวจพบมีอยู่ 2 แห่งคือ ภูเขาไฟโป๊ป่าในพม่า และภูเขาไฟใหญ่กับภูเขาไฟน้อยในล้านช้าง มีความสูงประมาณ 65 เมตร ปากปล่องเป็นรูปไข่กว้างประมาณ 80 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร 

พื้นที่ย่านภูเขา คือบริเวณที่มีทิวเขาอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นพื้นที่ต่อเนื่องมาจากที่ราบสูงยูนนานทางด้านทิศเหนือ ทิวเขาส่วนมากมีทิศทางจากเหนือทอดลงมาทางใต้ ทิวเขาเหล่านี้ก่อให้เกิดพื้นที่ราบระหว่างหุบเขา ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง เป็นช่วงๆ มีลักษณะพื้นที่ต่างกับพื้นที่แถบอื่นๆ และมีที่ตั้งอยู่ลำพังทางส่วนเหนือสุดของประเทศไทย ทิวเขาที่สำคัญได้แก่ 
ทิวเขาแถบตะวันตกของประไทย เป็นทิวเขาต่อจากชายตะวันตกของภาคเหนือ ต่อเนื่องลงไปทางใต้จนถึงภาคใต้ตลอดผืนแผ่นดินที่เป็นแหลม ทิวเขาที่สำคัญได้แก่ ทิวเขาถนนธงชัย และทิวเขาตะนาวศรี ซึ่งเชื่อมต่อกันเป็นปมที่บริเวณชายแดนด้านตะวันตกของจังหวัดกาญจนบุรี มีลักษณะเป็นย่านภูเขาน้อย ๆ แผ่อาณาบริเวณเข้าไปในประเทศพม่า และเข้ามาในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ 
ทิวเขาตอนใจกลางของประเทศ ได้แก่ทิวเขาซึ่งเป็นเทือกเดียวกับ ทิวเขาทางด้านทิศตะวันออกของภาคเหนือของไทย มีแนวทอดลงมาทางทิศใต้ ขนานกับอีกทิวเขาหนึ่งทางด้านทิศตะวันออก พื้นที่ระหว่างทิวเขาทั้งสองนี้เป็นหุบเขาแคบๆ อยู่ตอนใจกลางของประเทศ ได้แก่ที่ราบสูงเพชรบูรณ์ 
ทิวเขาบนที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยทิวเขาหลายทิว ซึ่งกั้นเป็นขอบของที่ราบสูงแห่งนี้ มีแนวทิศทางการทอดตัวอยู่สองแนวคือ ทางด้านตะวันตกแนวหนึ่ง กับทางด้านใต้อีกแนวหนึ่ง ทิวเขาดังกล่าวนี้จะกันเอาที่ราบสูงออกไปต่างหากจากที่ราบภาคกลาง เป็นทิวเขาที่สูงใหญ่พอสมควร ถ้าดูจากที่ราบภาคกลาง แต่ถ้าดูจากที่ราบสูงแล้วจะเห็นเป็นทิวเขาเตี้ยๆ เท่านั้น 
ทิวเขาแถบฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย เป็นทิวเขาที่มีแนวเกือบขนานกับฝั่งทะเล เมื่อทิวเขาออกพ้นเขตแดนไทยเข้าไปในกัมพูชา เป็นทิวเขาที่เก่าแก่ทิวเขาหนึ่ง

ทางน้ำ
เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในย่านมรสุม มีฝนตกชุกในฤดูฝนที่ค่อนข้างยาวนานถึง 6 เดือน โดยเฉลี่ยจึงก่อให้เกิดลำน้ำมากมาย แต่ลำน้ำที่สำคัญและมีประโยชน์มีอยู่ไม่มากนัก ลำน้ำโดยทั่วไปจะเป็นลำน้ำสายสั้นๆ มีน้ำเฉพาะในฤดูฝน เมื่อแบ่งลำน้ำออกเป็นพวกๆ ตามลักษณะของพื้นที่และตามกำเนิดของลำน้ำพอจะแบ่งออกได้เป็นสี่กลุ่ม ดังนี้ 

ลำน้ำในภาคเหนือ
นอกจากลำน้ำใหญ่สองสายคือ ลำน้ำสาละวิน ซึ่งไหลผ่านชายแดนด้านตะวันตก และลำน้ำโขง ซึ่งไหลผ่านชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือแล้วลำน้ำในภาคเหนือมีอยู่หลายสาย และมีต้นน้ำที่เกิดจากพื้นที่ย่านภูเขาในภาคเหนือเองแทบทั้งสิ้น ได้แก่ 

สาขาของลำน้ำสาละวิน ได้แก่ ลำน้ำปาย เกิดจากเทือกเขาถนนธงชัย และเทือกเขาแดนลาวไหลผ่าน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงสู่แม่น้ำสาละวิน ลำน้ำเมย เกิดจากเทือกเขาถนนธงชัย ไหลไปตามซอกเขาที่กั้นเขตแดนไทยกับพม่า ลงสู่แม่น้ำสาละวิน ลำน้ำยวม เกิดจากทิวเขาถนนธงชัย ผ่านอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วไปบรรจบกับลำน้ำเมย ลำน้ำสาละวิน เกิดจากบริเวณประเทศธิเบต ไหลผ่านประเทศไทย ตามแนวเส้นกั้นเขตแดนไทยกับพม่า ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้วไหลผ่านพม่าไปลงอ่าวเมาะตะมะ 

สาขาของแม่น้ำโขง ได้แก่ ลำน้ำแม่กก เกิดจากภูเขาในรัฐฉาน ไหลผ่านเมืองสาด เข้าเขตไทยในจังหวัดเชียงราย แล้วไหลไปบรรจบลำน้ำโขงในเขต อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลำน้ำฝาง เกิดจากทิวเขาแดนลาวและทิวเขาผีปันน้ำ ไหลไปบรรจบแม่น้ำกก ในเขตตำบลปางเดิม ลำน้ำแม่สาย เกิดจากทิวเขาในรัฐฉาน เป็นแนวเขตแดนระหว่างไทยกับรัฐฉาน แล้วไหลไปบรรจบลำน้ำรวกที่สบสาย ลำน้ำรวก เกิดจากทิวเขาในรัฐฉาน ไหลไปบรรจบลำน้ำโขงที่สบรวก ลำน้ำแม่จัน เกิดจากดอยสามเส้าในทิวเขาผีปันน้ำ ไหลไปบรรจบลำน้ำโขง ในเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลำน้ำแม่อิง เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำ ในเขตจังหวัดเชียงราย ไหลไปบรรจบลำน้ำโขง ในเขตอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ลำน้ำโขง มีต้นน้ำอยู่ในธิเบตไหลผ่านไทยทางภาคเหนือ ในเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และไหลผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเส้นเขตแดนไทยกับลาวโดยตลอดตั้งแต่ อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย ไปจนถึงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แล้วไหลผ่านประเทศลาว กัมพูชา เวียดนามลงสู่ทะเลจีน ในเวียดนาม 

สาขาของลำน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ลำน้ำปิง ยาวประมาณ 775 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาแดนลาว ไหลเลาะไปตามทิวเขาถนนธงชัยผ่านจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร ไปบรรจบกับสาขาอื่นของลำน้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ลำน้ำวัง ยาวประมาณ 300 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำ และเทือกเขาขุนตาล ในเขตจังหวัดลำปาง ไหลผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ไปบรรจบลำน้ำปิง ในเขตอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ลำน้ำยม ยาวประมาณ 500 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาผีปันน้ำ ไหลผ่านจังหวัดสุโขทัย ไปบรรจบลำน้ำน่าน ในเขตอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ลำน้ำน่าน ยาวประมาณ 600 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาหลวงพระบาง ไหลขนานกับลำน้ำยมลมาทางใต้ ผ่านจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร แล้วไหลไปบรรจบกับสาขาอื่นของลำน้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง ฯ จังหวัดนครสวรรค์ 

ลำน้ำในภาคกลาง
สายน้ำที่สำคัญคือ ลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งก็เป็นลำน้ำสายสำคัญที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากเป็นลำน้ำขนาดใหญ่ ไหลผ่านที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศ ส่วนลำน้ำสายอื่น ๆ ก็มีความสำคัญรองลงไป ลำน้ำที่สำคัญในภาคกลางได้แก่
ลำน้ำเจ้าพระยา ยาวประมาณ 700 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดนับเป็นเส้นโลหิตใหญ่ของประเทศ เริ่มต้นจากตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ไหลผ่านจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
ลำน้ำป่าสัก ยาวประมาณ 450 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาเพชรบูรณ์ ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ไหลผ่านที่ราบในหุบเขาเพชรบูรณ์ ผ่านจังหวัดลพบุรี สระบุรี ไปบรรจบลำน้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดอยุธยา
ลำน้ำท่าจีน  ยาวประมาณ 230 กิโลเมตร เป็นสาขาแยกจากลำน้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดอุทัยธานี แล้วไหลขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทางด้านตะวันตก ลงสู่อ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรสาคร
ลำน้ำลพบุรี เป็นสาขาแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางพุทรา จังหวัดสิงห์บุรี ไหลผ่านจังหวัดลพบุรี แล้วไหลไปบรรจบ ลำน้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอยุธยา นอกจากนี้ยังมีสาขาแยกเล็ก ๆ อีกหลายสาย เช่น ลำน้ำสะแกกรัง ในเขตจังหวัดอุทัยธานี ลำน้ำโผงเผง ในเขตจังหวัดอ่างทอง และลำน้ำบางบาน ในเขตจังหวัดอยุธยา 

ลำน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทยด้านตะวันออก
ที่สำคัญได้แก่ 
ลำน้ำบางปะกง ยาวประมาณ 300 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาพนมดงรัก แล้วไหลไปทางตะวันตก ผ่านจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก ลงสู่อ่าวไทยในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ลำน้ำสายนี้มีชื่อเรียกต่างกันตามท้องถิ่นที่ลำน้ำไหลผ่าน เช่นลำน้ำพระปรง ลำน้ำประจีน
ลำน้ำระยอง ยาว 30 กิโลเมตร เกิดจากภูเขาในเขตจังหวัดระยองไหลลงสู่ทะเลในเขตจังหวัดระยอง 
ลำน้ำประแส ยาว 27 กิโลเมตร ลำน้ำจันทบุรียาว 86 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาจันทบุรี ไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอท่าแฉลบ จังหวัดจันทบุรี
ลำน้ำเวฬ ยาว 64 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาจันทบุรี ไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
ลำน้ำตราด เกิดจากทิวเขาจันทบุรี และทิวเขาบรรทัด ไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอ แหลมงอบ จังหวัดตราด 

ลำน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทยด้านตะวันตก  
ที่สำคัญมีอยู่ 3 สายด้วยกันคือ
ลำน้ำแม่กลอง ยาว 300 กิโลเมตร ประกอบด้วย แควน้อย และแควใหญ่ แควใหญ่ ยาว 300 กิโลเมตร ไหลไปบรรจบลำน้ำแม่กลองที่อำเภอปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี แควน้อย ยาว 227 กิโลเมตร ไหลไปบรรจบลำน้ำแม่กลองที่อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ลำน้ำเพชรบุรี ยาว 100 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาตะนาวศรี ไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 

ลำน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่สำคัญได้แก่ 
ลำน้ำมูล ยาว 620 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาสันกำแพง ไหลขนานกับทิวเขาพนมดงรักไปทางทิศตะวันออก ไปบรรจบลำน้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ลำน้ำชี ยาว 600 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาเพชรบูรณ์ และทิวเขาเก้าลูก ไหลลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปบรรจบลำน้ำมูลที่อำเภอเมือง ฯ จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ก็มี  ลำน้ำเลย และลำน้ำสงคราม 

ลำน้ำในภาคใต้  แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ 
ลำน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทย มีอยู่ 7 สายด้วยกันได้แก่ ลำน้ำชุมพร ยาว 100 กิโลเมตร เกิดจากแคว 2 แควจากทิวเขาตะนาวศรี และทิวเขาระนอง แล้วไหลไปรวมกันที่ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร คลองชุมพร อยู่ทางตะวันออกของลำน้ำชุมพร ลำน้ำหลังสวน เกิดจากทิวเขาระนอง ไหลลงสู่ทะเลที่ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ลำน้ำตาปี ยาว 300 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาภูเก็ต และทิวเขานครศรีธรรมราช ไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบ้านดอน เป็นลำน้ำที่เกิดจากแควคีรีรัฐ และแควน้ำหลวง ลำน้ำปัตตานี เกิดจากทิวเขาสันกาลาคีรี ไหลขึ้นมาทางเหนือ ลงสู่อ่าวไทยที่จังหวัดปัตตานี ลำน้ำสายบุรี ยาว 170 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขาสันกาลาคีรี ไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ลำน้ำโกลก เกิดจากทิวเขาสันกาลาคีรี เป็นแนวเขตแดนไทยกับมาเลเซีย 
ลำน้ำที่ไหลลงมหาสมุทรอินเดีย มีอยู่ 2 สายคือ ลำน้ำปากจั่น หรือลำน้ำกระ ยาว 123 กิโลเมตร เกิดจากเทือกเขาตะนาวศรี ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไหลออกสู่ทะเลที่อ่าวระนอง จังหวัดระนอง ลำน้ำตรัง ยาว 137 กิโลเมตร เกิดจากทิวเขานครศรีธรรมราช ไหลไปทางทิศใต้ลงสู่ทะเลที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง 

ทะเลสาบ บึงและหนอง 
ทะเลสาบ มีอยู่เพียง 2 แห่งคือ ทะเลสาบสงขลา และทะเลน้อย 
บึงและหนอง มีกระจายอยู่ทั่วไปทั้งประเทศที่สำคัญ ในแต่ละภาคมีดังนี้ 
ภาคเหนือ มีหนองเล้งทราย ในเขตบ้านแม่โจ้ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย กว๊านพะเยา อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ จังหวัดพะเยา หนองหล่ม อยู่ในเขตอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 
ภาคกลาง มีบึงบรเพ็ด อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ บึงสีไฟ อยู่ในเขตอำเภอท่าหลวง จังหวัดพิจิตร บึงราชนก ในเขตอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก บึงจอมบึง อยู่ในเขตอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี บึงสระสี่มุม อยู่ทางฝั่งขวาของลำน้ำไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีหนองระหาร อยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร หนองหารอยู่ในเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี หนองพันสัก อยู่ในเขตจังหวัดมหาสารคาม