สะพานไฟ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 162.3K views



              
สะพานไฟ

     สะพานไฟ (Cut out) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ตัดต่อวงจรไฟฟ้าในบ้านหรืออาคาร ซึ่งเปรียบเสมือน กับสวิตซ์ขนาดใหญ่ของบ้าน สายไฟที่ต่อมาจากมาตรไฟฟ้า จะมีสะพานไฟขนาดใหญ่เป็นตัวเชื่อมโยงเข้ากับวงจรไฟฟ้า ในบ้าน เพื่อควบคุมการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในบ้าน และจะมีสะพานไฟขนาดรองลงมาเชื่อมโยงแยกเอา กระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในส่วนต่าง ๆ ของบ้าน ดังแผนผัง 
 
              
      ภาพที่ 16 การใช้สะพานไฟควบคุมกระแสไฟฟ้าที่ต่อแยกไปใช้ในส่วนต่าง ๆ ของบ้าน
ที่มา : รัตนาภรณ์ อิทธิไพสิฐพันธุ์ และคณะ. สมุดเสริมความรู้ ทักษะปฏิบัติ และแบบทดสอบตามจุดประสงค์  วิทยาศาสตร์ ว 306 ชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 3. 2543. หน้า 23.
 

ส่วนประกอบของสะพานไฟ 
 
         
                              ภาพที่ 17 ลักษณะและส่วนประกอบของสะพานไฟ
ที่มา : รัตนาภรณ์ อิทธิไพสิฐพันธุ์ และคณะ. สมุดเสริมความรู้ ทักษะปฏิบัติ และแบบทดสอบตามจุดประสงค์  วิทยาศาสตร์ ว 306 ชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 3. 2543. หน้า 23. 

     สะพานไฟมีหลายขนาด โดยกำหนดเป็นปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผ่านได้สูงสุด เช่น 10, 30, 60 แอมแปร์ สะพานไฟขนาด 30 A หมายความว่าสะพานไฟอันนี้สามารถให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านมากที่สุด 30 แอมแปร์ ถ้ากระแสไฟฟ้าไหลผ่านมากกว่า 30 แอมแปร์ ฟิวส์ในสะพานไฟจะหลอมละลาย ทำให้วงจรไฟฟ้าขาด 

           
                      ภาพที่ 18 สะพานไฟขนาดต่าง ๆ 
ที่มา : ปรีชา สุวรรณพินิจ นงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ม.3 เล่มรวม 5-6.
ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ หน้า 318.
 
การเลือกใช้สะพานไฟ
     การเลือกใช้สะพานไฟต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลในวงจร สะพานไฟขนาดใหญ่ใช้สำหรับเชื่อมโยงให้กระแสไฟฟ้าทั้งหมดผ่านเข้าสู่วงจรไฟฟ้าในบ้าน สะพานไฟขนาดเล็กใช้สำหรับเชื่อมโยงแยกกระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนต่าง ๆ ของบ้าน

วิธีใช้สะพานไฟ 
     ถ้าต้องการต่อวงจรให้ใช้กระแสไฟฟ้าได้ตามปกติต้องดันคันโยกขึ้น แต่ถ้าดันคันโยกลงมาจะตัดวงจรไฟฟ้า เช่น เมื่อต้องการซ่อมแซมหรือติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า การดันคันโยกขึ้นต้องสับคันโยกของสะพานไฟให้แน่นสนิทกับที่รองรับ หากสัมผัสกันไม่แน่นสนิทจะเกิดความร้อน ตรงจุดสัมผัส ทำให้ฟิวส์ขาดกระแสไฟฟ้าไม่ไหลในวงจรไฟฟ้า 
 
                   
ภาพที่ 19 การสับคันโยกของสะพานไฟเพื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าวงจรไฟฟ้า
ที่มา : ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียน ว 306  วิทยาศาสตร์ เล่ม 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. 2542. หน้า 17.
 
ประโยชน์ของสะพานไฟ 
     ช่วยทำให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยในการซ่อมแซมหรือติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า เพราะ สามารถใช้สะพานไฟตัดวงจรไฟฟ้าไม่ให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าบริเวณที่กำลังซ่อมแซมหรือติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าได้
 
สวิตซ์ 
     สวิตซ์ (Switch) คือ อุปกรณ์ที่ใช้ตัดหรือต่อวงจรไฟฟ้าในส่วนที่ต้องการ โดยต่ออนุกรมเข้ากับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและต่อกับสายไฟ ถ้าต่อสวิตซ์กับสายกลาง เมื่อกระแสไฟฟ้ารั่วจะไม่สามารถป้องกัน อันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วได้

           
                         ภาพที่ 20 การต่อสวิตซ์เข้ากับวงจรของเครื่องใช้ไฟฟ้า
ที่มา : รัตนาภรณ์ อิทธิไพสิฐพันธุ์ และคณะ. สมุดเสริมความรู้ ทักษะปฏิบัติ และแบบทดสอบตามจุดประสงค์ วิทยาศาสตร์ ว 306 ชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 3. 2543. หน้า 25.

ส่วนประกอบของสวิตซ์
     • คาน เป็นที่กดปิดเปิดทำด้วยฉนวน 
     • แผ่นโลหะใต้คาน สำหรับต่อเชื่อมกับปุ่มโลหะที่ติดอยู่กับฐานสวิตซ์ เพื่อทำให้ไฟฟ้าครบวงจร 
     • ขดลวดสปริง เป็นส่วนที่อยู่บริเวณกึ่งกลางคาน ส่วนนี้จะทำหน้าที่ดันคานให้ค้างอยู่ในตำแหน่งเปิดหรือปิดตามต้องการ 
 
         
             ภาพที่ 21 ส่วนประกอบของสวิตซ์ (ผ่าตามยาว)
ที่มา : รัตนาภรณ์ อิทธิไพสิฐพันธุ์ และคณะ. สมุดเสริมความรู้ ทักษะปฏิบัติ และแบบทดสอบตามจุดประสงค์  วิทยาศาสตร์ ว 306 ชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 3. 2543. หน้า 25.
 
ข้อควรปฏิบัติในการใช้สวิตซ์ 
     1. ไม่ควรใช้สวิตซ์อันเดียวควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชิ้นให้ทำงานพร้อมกัน เนื่องจากสวิตซ์สามารถทนกระแสไฟฟ้าสูงสุดได้จำกัด ถ้ากระแสไฟฟ้าไหลผ่านสวิตซ์มากเกินไป จะทำให้เกิดความร้อนสูงบริเวณจุดสัมผัสของแผ่นโลหะจนสวิตซ์ไหม้ได้ 
     2. ไม่ควรใช้สวิตซ์ธรรมดาควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านมาก เช่น มอเตอร์ เครื่องปรับอากาศ ควรใช้ฟิวส์อัตโนมัติหรือสะพานไฟ เนื่องจากสามารถทนกระแส ไฟฟ้าไหลผ่านได้สูงกว่าสวิตซ์ 
                                  

เต้ารับและเต้าเสียบ 
     เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด เช่น กาต้มน้ำไฟฟ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า พัดลม จะมีสายไฟที่ติดมากับเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ปลายสายไฟจะมีเต้าเสียบ เมื่อนำไปเสียบกับเต้ารับแล้วจะทำให้กระแสไฟฟ้าไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ครบวงจร ภายในบ้านควรจะติดตั้งเต้ารับไว้ในที่ต่าง ๆ หลาย ๆ จุด เพื่อความสะดวกในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า
 
เต้ารับและเต้าเสียบมีหลายชนิดให้เลือกใช้ดังนี้ 
     เต้ารับและเต้าเสียบชนิด 2 ขา 
          เต้าเสียบโดยทั่วไปจะมีขาโลหะ 2 ขา ต่ออยู่กับสายไฟที่จะนำกระแสไฟฟ้าเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้า 
 
              
                              ภาพที่ 22 เต้ารับและเต้าเสียบชนิด 2 ขา
ที่มา : บัญชา แสนทวี อารี โพธิ์พัฒนชัย เจียมจิต กุลมาลา. หนังสือเรียนสมบูรณ์แบบวิชาวิทยาศาสตร์ ม.3 เล่ม 6. 2542. หน้า 39. 
  
     เต้ารับและเต้าเสียบชนิด 3 ขา 
 
              
                                        ภาพที่ 23 เต้ารับและเต้าเสียบชนิด 3 ขา
ที่มา : รัตนาภรณ์ อิทธิไพสิฐพันธุ์ และคณะ. สมุดเสริมความรู้ ทักษะปฏิบัติ และแบบทดสอบตามจุดประสงค์ วิทยาศาสตร์ ว 306 ชั้นมัธยมศึกษาปี่ที่ 3. 2543. หน้า 27. 
 
          เต้าเสียบจะมีขาโลหะ 3 ขา และเต้ารับจะมีช่องรับ 3 ช่องด้วยดังรูปข้างบน โดยขากลางของเต้าเสียบจะต่ออยู่กับโลหะที่เป็นเปลือกนอกของเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนที่ช่องกลางของเต้ารับจะมีสายไฟที่เรียกว่า สายดิน ต่อเข้ากับแท่งโลหะซึ่งฝังอยู่ใต้ดินที่มีความชื้นมาก ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโครงเปลือกนอกเป็นโลหะ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ควรใช้เต้ารับและเต้าเสียบชนิดนี้ เพราะเมื่อเกิดกระแสไฟฟ้ารั่วขณะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านลงดินทางสายดิน ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ที่สัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น 

          การติดตั้งสายดินต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการช่วยป้องกันชีวิตคนในบ้านไม่ให้ถูกไฟฟ้าดูดจนถึงแก่ชีวิตได้

การใช้เต้ารับและเต้าเสียบ 
     • ขณะใช้งาน เต้าเสียบจะต้องแน่นสนิทกับเต้ารับ เพื่อให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้สะดวก เพราะถ้าเต้าเสียบหลวมหรือโยกคลอนจะเกิดความต้านทานไฟฟ้าสูงตรงรอยต่อของเต้าเสียบและเต้ารับ ทำให้บริเวณนั้นร้อนจนอาจทำให้เต้ารับและเต้าเสียบไหม้ได้ 
     • ไม่ควรต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิดเข้ากับเต้ารับอันเดียวกัน เพราะกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่าน สายไฟและเต้ารับมากเกินไป ทำให้เกิดความร้อนสูงในสายไฟและเต้ารับ ซึ่งอาจทำให้เกิด ไฟไหม้ได้ 
  
           
                                   ภาพที่ 24 การใช้เต้ารับกับเครื่องใช้ไฟฟ้า
ที่มา : ปรีชา สุวรรณพินิจ นงลักษณ์ สุวรรณพินิจ. คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ม.3 เล่มรวม 5-6. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ หน้า 321. 
 
     การดึงเต้าเสียบออกจากเต้ารับต้องใช้มือจับที่ฉนวนของเต้าเสียบแล้วดึง อย่าดึงที่สายไฟ เพราะอาจทำให้สายไฟหลุดจากเต้าเสียบและเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ 
 
         
                         ภาพที่ 25 การดึงเต้าเสียบออกจากเต้ารับ
ที่มา : ส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบัน. กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือเรียน ว 306 วิทยาศาสตร์ เล่ม 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. 2542. หน้า 20. 
 
     ต้องเลือกเต้ารับและเต้าเสียบให้มีขนาดเหมาะสมกับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่าน