พระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอน 2
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 16.5K views



พระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอน 2

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ 
พ.ศ. ๒๔๕๓-๒๔๖๘ ครองราชย์ ๑๖ ปี พระชนมายุ ๔๖ พรรษา 

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนเทพทวาราวดี เมื่อพระชนมายุได้ ๘ พรรษา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๑ พรรษา ได้เสด็จไปศึกษาวิชาการที่ประเทศอังกฤษ ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และศึกษาวิชาการทหารบก ที่โรงเรียนนายร้อยแซนด์เฮิสต์ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมารเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗  เสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งจเรทัพบก และทรงบัญชาการทหารมหาดเล็ก ดำรงพระยศพลเอก 

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้ทรงปรับปรุงด้านการศึกษาของไทย โปรดให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาให้เป็นการศึกษาภาคบังคับ ทรงตั้งกระทรวงการทหารเรือ กองเสือป่าและกองลูกเสือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรมศิลปากร โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน คลังออมสิน กรมสถิติพยากรณ์ กรมสรรพากร กรมตรวจเงินแผ่นดิน กรมมหาวิทยาลัย กรมรถไฟหลวง และเปิดเดินรถไฟไปเชื่อมกับมลายู ตั้งสถานเสาวภาและกรมร่างกฎหมาย ทรงเปลี่ยนการใช้รัตนโกสินทรศก (ร.ศ) เป็นพุทธศักราช (พ.ศ.) 

พระองค์ได้ทรงปลูกฝังความรักชาติให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชาวไทย ทรงเป็นศิลปิน และส่งเสริมงานประพันธ์เป็นอย่างมาก ทรงเป็นผู้นำในการประพันธ์วรรณคดีไทย ทั้งที่เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ทรงเขียนหนังสือทางด้านประวัติศาสตร์ และด้านการทหารไว้เป็นจำนวนมาก ประมาณถึง ๒๐๐ เรื่อง พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงเป็นนักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทย 

การปกครองประเทศ ได้ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระราชบิดาสานต่องานที่ยังไม่เสร็จสิ้นในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยมีสมรภูมิอยู่ในทวีปยุโรปทรงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมัน โดยเข้าร่วมกับสัมพันธมิตรได้ส่งทหารไทยไปร่วมรบ ณ ประเทศฝรั่งเศส ผลที่สุดได้เป็นฝ่ายชนะสงคราม ทำให้ไทยได้รับการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบต่างประเทศได้เป็นอันมาก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๗ ครองราชย์ ๙ ปี พระชนมายุ ๔๘ พรรษา

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๖ มีพระนามเดิมว่าสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ เป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้รับสถาปนาเป็นกรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษาได้เสด็จไปศึกษาวิชาการทหารบก ที่ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส สำเร็จการศึกษาแล้วเสด็จกลับประเทศไทยเข้ารับราชการที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ ในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย ต่อมาได้รับราชการในตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นปฐม ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๒ แล้วได้ทรงกรมเป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา 

เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศและของโลกกำลังทรุดหนัก อันเป็นผลเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงแก้ไขอย่างเต็มพระกำลังความสามารถจนประเทศไทยได้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์นั้นได้ 

ในรัชสมัยของพระองค์ ไทยสามารถติดต่อกับนานาประเทศทางวิทยุ และโทรเลขได้โดยทั่วไปเป็นครั้งแรก ทรงพระราชทานนามหอสมุดแห่งชาติ พิมพ์พระไตรปิฎกเล่มใหม่ สร้างโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เปิดเดินรถไฟไปถึงชายแดนไทยติดต่อกับเขมร แก้ไขระบบการจัดเก็บภาษีอากรใหม่ ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประกาศพระราชบัญญัติเงินตรา และทรงตรากฎหมายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก  สร้างสะพานพระปฐมบรมราชานุสรณ์   (สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ)   

วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะราษฎร์ ได้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระองค์ได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ ต่อมาได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ ประเทศอังกฤษ พระราชหัตถเลขาที่ทรงลาออกจากราชบัลลังค์ มีความตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร" 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘
พ.ศ.๒๔๗๗- ๒๔๘๙ ครองราชย์ ๑๓ ปี พระชนมายุ ๒๑ พรรษา 

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมันทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

เมื่อพระชนมายุได้ ๓ เดือน ได้ตามเสด็จพระบรมชนกนาถและพระราชมารดาไปประทับอยู่ ณ ประเทศฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาจนพระชนมายุได้ ๓ พรรษา   จึงเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๑ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสมเด็จพระราชชนนีได้นำเสด็จไปประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ เมื่อ วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ พระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐ พรรษาจึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวรรตน์จาตุรงต์ เป็นประธานต่อมาพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นประธาน 

พระองค์มีน้ำพระราชหฤทัยเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณาในพสกนิกร โปรดการศึกษา การกีฬา การช่างและการดนตรี ได้เสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบได้เสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้ถวายราชกิจเพื่อให้ทรงบริหารโดยพระราชอำนาจ 

เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ ได้เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน พระองค์ต้องอาวุธปืน เสด็จสวรรคต ณ ที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง ยังความเศร้าสลด และความอาลัยรักจากพสกนิกรเป็นที่ยิ่ง 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙
ครองราชย์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน 

เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ณ มลรัฐแมซซาชูเซทส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นพระราชโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

เมื่อพระชนมายุได้ ๑ พรรษา ได้เสร็จนิวัตสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ภายหลังจากที่สมเด็จพระราชบิดาเสด็จทิวงคตแล้วได้เสด็จกลับไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเข้ารับการศึกษา ณ ที่นั้น เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบแทน เมื่อพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษาโดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แล้วทรงเสด็จไปศึกษาต่อในวิชานิติศาสตร์ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

พระองค์ได้เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและได้ทรงเข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศ เป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ และได้ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ได้มีพระบรมราชาภิเษกเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร์ รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๓ 

ได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๓ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงเสด็จนิวัติพระนคร ได้เสด็จออกผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๙ แล้วเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างที่ทรงผนวช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นเอนกประการ แผ่ไพศาลไปทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทั้งในยุโรป เอเชีย และ อเมริกา เพื่อเจริญพระราชไมตรีอย่างกว้างขวาง ปรากฎพระเกียรติคุณอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้านในประเทศทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบทที่อยู่ห่างไกล เพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ โดยตรงและได้ทรงริเริ่มโครงการตามพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น พร้อมทั้งพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยตนเองได้ 

พระราชกรณียกิจของพระองค์ ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ และในฐานะส่วนพระองค์เป็นไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทรงเต็มเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม ทรงมีพระอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ ยากที่จะหาผู้เสมอเหมือน ทรงมีพระราชศรัทธาตั้งมั่น และแตกฉานในพระศาสนาและทรงถ่ายทอดแก่พสกนิกรของพระองค์ในทุกโอกาส ดังเราจะได้พบในพระบรมราโชวาทที่พระราชทานแก่ประชาชนในโอกาสต่าง ๆ อย่างมิรู้สิ้น