พระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอน 1
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 196K views



พระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอน 1

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
พ.ศ. 2325-2352 ครองราชย์ 27 ปี พระชนมายุ 74 พรรษา

องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ตรงกับวันพุธแรม 5 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ได้รับราชการตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี เป็นพระยาราชนรินทรในกรมพระตำรวจ เจ้าพระยาจักรี และสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก สมุหนายกและแม่ทัพใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยาม เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีมาเป็นกรุงเทพมหานคร เริ่มสร้างพระบรมมหาราชวังและสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต เสร็จในปี พ.ศ. 2327 

ทรงเป็นนักรบและตรากตรำการสงครามมาตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ตลอดสมัยกรุงธนบุรีและในรัชสมัยของพระองค์เอง ในด้านการศาสนาได้โปรดให้มีการสังคายนาชำระพระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา ฯลฯ ณ วัดมหาธาตุ โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างหอมณเฑียรธรรมขึ้นในบริเวณวัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวังสำหรับเป็นที่เก็บคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและทรงจัดการปกครองคณะสงฆ์ให้เรียบร้อย

พระราชานุกิจ (กิจวัตรประจำวัน) ของพระองค์ ตลอดรัชสมัย เป็นที่น่าประทับใจ พระองค์ทรงงานตั้งแต่เช้าตรู่ จนดึกดื่นทุกวันมิได้ขาด เริ่มตั้งแต่ ทรงบาตรถวายภัตตาหารพระสงฆ์ ฟังรายงานจากพระคลังมหาสมบัติ ออกรับพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนาง ฟังรายงานและ วินิจฉัยคดีจากจางวางและปลัดกรมตำรวจ วินิจฉัยเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งข้าราชการจากฝ่ายทหารและพลเรือน แล้วจึงเสวยพระกระยาหารเช้า แล้วพบข้าราชการฝ่ายใน หลังพระกระยาหารค่ำทรงฟังพระธรรมเทศนา ฟังรายงานการใช้จ่ายเงินคลัง การก่อสร้างเสร็จแล้วเสด็จออกรับขุนนางทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน กรมท่านำใบบอกหัวเมืองมากราบทูล ทรงวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ อยู่จน 4 ทุ่ม หรือดึกกว่านั้นแล้วจึงเสด็จขึ้นบรรทม

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 
พ.ศ. 2352-2367 ครองราชย์ 15 ปี พระชนมายุ 58 พรรษา

เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 พระนามเดิมว่า ฉิม เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์มีความสามารถทางอักษรศาสตร์เป็นอย่างดี ทรงร่วมนิพนธ์วรรณคดี กับสมเด็จพระราชบิดาไว้หลายเรื่อง ได้แก่ อุณรุท รามเกียรติ์ อิเหนา และดาหลัง ซึ่งเรียกว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ทรงนำบทละครเก่ามานิพนธ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ไกรทอง คาวี ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง มณีพิไชย ฯลฯ ด้านดนตรี ทรงเป็นเอตทัคคะในทาง สีซอสามสาย ด้านศิลปะ โปรดการเขียนลวดลายอันวิจิตรงดงาม ตัวอย่างที่เด่นชัดปรากฎที่บานประตูวัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อปฐมวัยได้ ทรงติดตามพระราชบิดาไปในงานสงครามแทบทุกครั้ง ตั้งแต่พระชมมายุได้ 8 พรรษา 

ทรงผนวช เมื่อพระชนมายุ 22 พรรษา ทรงจำพรรษา ณ วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) เป็นเวลา 1 พรรษา ลาผนวชแล้วทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชสมัยของพระองค์ ประเทศโปรตุเกส และประเทศอังกฤษ ได้ส่งผู้แทนทางการทูต มาเจริญสัมพันธไมตรีเป็นครั้งแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์ คือ ได้ส่งมาเมื่อ พ.ศ. 2361 และ พ.ศ. 2363 ตามลำดับ ด้านกฎหมายทรงปรับปรุงและออกกฎหมายต่างๆ ได้แก่ กฎหมายห้ามขายฝิ่น สัญญาเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน พินัยกรรม และกฎหมายอาญาอื่นๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับการลงโทษ ทั้งฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักร สุนทรภู่ กวีเอกของไทย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในรัชกาลนี้ 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 
พ.ศ. 2367-2394 ครองราชย์ 26 ปี พระชนมายุ 64 พรรษา 

เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2330 มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าทับ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าจอมมารดาเรียบ ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงเคยว่าราชการมาหลายตำแหน่ง เช่น กรมท่า (กระทรวงการต่างประเทศ) กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมตำรวจและผู้ว่าความในศาลฎีกา 

ในรัชสมัยของพระองค์ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์เอาใจออกห่างกระด้างกระเดื่องเป็นกบฎไปเข้ากับญวณ แล้วฉวยโอกาสยกทัพเข้าตีเมืองอุบล ร้อยเอ็ด ตัวเจ้าอนุวงศ์เองยกทัพจากเวียงจันทร์ลงมาตีเมืองนครราชสีมาได้ แล้วให้ทัพหน้าเข้าตีสระบุรี พระองค์ได้จัดทัพใหญ่เตรียมรับศึก ในกรุงเทพ ฯ ได้จัดการป้องกันพระนครวางกำลังรายรอบเมืองตั้งแต่ทุ่งบางเขนถึงทุ่งหัวลำโพง จัดกำลังทหารไปตั้งรับที่สระบุรี ทัพเจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนผู้คนไปเวียงจันทร์ทุกวัน คุณหญิงโมภรรยาปลัดเมืองนครราชสีมา เป็นหัวหน้ารวบรวมพวกเชลยไทยต่อสู้ พอทัพจากกรุงเทพ ฯ ยกขึ้นไปช่วย เจ้าอนุวงศ์จึงถอยทัพกลับไปเวียงจันทร์ โดยวางกำลังคอยต้านทานกองทัพไทย ที่ยกไปตีเวียงจันทร์ไว้ที่เมืองหล่มเก่าและเมืองภูเขียว โปรดให้กรมพระราชวังบวรเป็นแม่ทัพ ยกทัพผ่านนครราชสีมา  ขึ้นไปตีเวียงจันทร์สายหนึ่ง อีกสายหนึ่งให้กรมหมื่นสุรินทร์รักษ์เป็นแม่ทัพยกไปตีฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ ที่มายึดเมืองอุบล และเมืองร้อยเอ็ด แล้วไปบรรจบกับกองทัพใหญ่ที่เวียงจันทร์ อีกสายหนึ่งให้เจ้าพระยาอภัยภูธรเป็นแม่ทัพ ยกไปตีฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ที่เมืองหล่มสัก แล้วไปบรรจบทัพใหญ่ที่เวียงจันทร์ กองทัพไทยปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ได้ราบคาบตีกรุงเวียงจันทร์แตก จับเจ้าอนุวงศ์ได้ ในปี พ.ศ. 2371 เสร็จศึกแล้วได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี 

ในรัชกาลของพระองค์ ประเทศไทยได้เริ่มเปิดประเทศรับชาวยุโรปอย่างกว้างขวาง อังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย การค้าขายกับ อังกฤษรุ่งเรืองมาก บางคราวมีเรือสินค้าเข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 50 ลำ ทางสหรัฐอเมริกาได้ส่งมิชชันนารีเข้ามาสอนศาสนา และนำเอาวิชาการแพทย์แผนใหม่ โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ และสอนภาษาอังกฤษให้คนไทย ผู้ที่ควรได้รับเกียรติในผลงานนี้ คือ หมอบรัดเลย์ ทรงโปรดให้มีประกาศห้ามนำฝิ่นเข้ามาขายในประเทศ และให้เก็บฝิ่นที่มีอยู่ในประเทศ นำไปเผาทั้งหมด 

ด้านพระศาสนา ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา สร้างวัดใหม่ 9 วัด บูรณะวัดเก่า 60 วัด โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระนอนใหญ่ที่วัดโพธิ์ และในรัชกาลนี้  ได้มีกวีแก้วแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เกิดขึ้น คือ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์วาสุกรี พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1) 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พ.ศ. 2394-2411 ครองราชย์ 16 ปี พระชมมายุ 66 พรรษา

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามหามาลา เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษาได้รับสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ มีพระราชอนุชาร่วมพระราชมารดา คือ เจ้าฟ้าจุฬามณี ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระชนมายุได้ 21 พรรษา ได้ออกผนวชตามประเพณีและอยู่ในเพศบรรพชิต ตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อรัชกาลที่ 3 สวรรคตจึงได้ลาสิกขามาขึ้นครองราชสมบัติ 

ระหว่างที่ทรงผนวชประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ แล้วทรงย้ายไปอยู่วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) พระองค์ได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ ชื่อ " คณะธรรมยุตินิกาย " ขึ้น ต่อมาทรงย้ายไปอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ และได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศองค์แรก ทรงรอบรู้ภาษาบาลีและแตกฉานในพระไตรปิฎก นอกจากนั้น ยังศึกษาภาษาลาติน และภาษาอังกฤษจนสามารถใช้งานได้ดี 

ในรัชสมัยของพระองค์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ต่างก็ส่งทูตมาขอทำสนธิสัญญาในเรื่อง สิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่คนในบังคับของตน และสิทธิการค้าขายเสรี ต่อมาไทยได้ทำสัญญาไมตรีกับประเทศนอร์เวย์ เบลเยี่ยมและอิตาลี และได้ทรงส่งคณะทูตออกไปเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ นับเป็นครั้งที่สองของไทย นับต่อจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยไปยังประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส ทรงจ้างชาวยุโรปมารับราชการในไทย ในหน้าที่ล่ามแปลเอกสารตำรา ครูฝึกวิชาทางทหารและตำรวจ และงานด้านการช่าง ทรงตั้งโรงพิมพ์ของรัฐบาล ตั้งโรงกษาปณ์เพื่อผลิตเงินเหรียญ แทนเงินพดด้วงและเบี้ยหอยที่ใช้อยู่เดิม มีโรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร เปิดที่ทำการศุลกากร ตัดถนนสายหลัก ๆ ได้แก่ ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร ถนนเจริญกรุง และถนนสีลม มีรถม้าขึ้นใช้ครั้งแรก ขุดคลองผดุงกรุงเกษม คลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก และคลองหัวลำโพง 

ด้านการปกครอง ได้จัดตั้งตำรวจนครบาล ศาล แก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา 

ด้านศาสนา ได้สร้างวัดราชประดิษฐ์ วัดมกุฎกษัตริยารามและวัดปทุมวนาราม เป็นต้น ทรงเชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์ สามารถคำนวณการเกิดจันทรุปราคา และสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาหมดดวงในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปี พ.ศ. 2411 ณ ตำบลหว้ากอ (คลองวาฬ) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างถูกต้อง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พ.ศ. 2411-2453 ครองราชย์ 42 ปี พระชนมายุ 58 พรรษา 

เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ก่อนขึ้นครองราชย์ทรงดำรงพระยศเป็น กรมขุนพินิตประชานาถ 

พระองค์ได้ทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศนานัปการ ทรงบริหารประเทศก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ ทรงประกาศเลิกทาส ปรับปรุงระบบการศาล ตั้งกระทรวงยุติธรรม ปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ส่งเสริมการศึกษาอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนทั่วไป ตั้งกระทรวงธรรมการ ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครู ส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในยุโรป สร้างการรถไฟ โดยทรงเปิดเส้นทางเดินรถไฟสายกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2421 สร้างโรงไฟฟ้า จัดให้มีการเดินรถรางขึ้นในกรุงเทพฯ จัดตั้งการไปรษณีย์โทรเลขเมื่อ พ.ศ. 2421 สร้างระบบการประปา ฯลฯ 

ด้านการต่างประเทศทรงมีวิสัยทัศน์กว้างไกลยิ่งนัก ได้ทรงนำประเทศไทยให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกได้ตลอดรอดฝั่ง โดยดำเนินวิเทโศบายผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศมหาอำนาจเพื่อคานอำนาจ พระองค์ได้เสร็จประพาสยุโรปถึงสองครั้งโดยได้เสร็จเยือนประเทศฝรั่งเศส รัสเซีย เยอรมนี อังกฤษ ออสเตรีย ฮังการี เบลเยี่ยม อิตาลี สวีเดน และเดนมาร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2440 ทรงแต่งตั้งราชทูตไปประจำ ประเทศต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2424  ได้แก่ อิตาลี เยอรมัน   เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ออสเตรีย ฮังการี เดนมาร์ก สวีเดน โปรตุเกส นอร์เวย์ สเปน อังกฤษ ในปี พ.ศ. 2425 สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2427 รัสเซียในปี พ.ศ. 2440 และญี่ปุ่นใน ปี พ.ศ. 2442 

พระองค์ทรงปกครองอาณาประชาราษฎรให้เป็นสุขร่มเย็นโปรดการเสด็จประพาสต้น เพื่อให้ได้ทรงทราบความเป็นอยู่ที่แท้จริงของพสกนิกร ทรงสนพระทัยในวิชาความรู้ และวิทยาการแขนงต่างๆ อย่างกว้างขวาง และนำมาใช้บริหารประเทศให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยะมหาราช 

ด้านการพระศาสนา ทรงทำนุบำรุง และจัดการให้เหมาะสม เจริญรุ่งเรือง ทรงสถาปนามหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยขึ้น ณ วัดมหาธาตุและมหามงกุฎราชวิทยาลัยขึ้น ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อให้เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม และวิชาการชั้นสูง นอกจากนั้นยังทรงสร้างวัดเทพศิรินทราวาส และวัดเบญจมบพิตร ซึ่งนับว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามยิ่งแห่งหนึ่งของกรุงเทพ ฯ