ฟีโรโมน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
15 ก.ย. 67
 | 12.7K views



ฟีโรโมน (Pheromone) หมายถึง สารเคมีที่สัตว์ขับออกมานอกร่างกายโดยต่อมมีท่อ (exocrine gland) ซึ่งไม่มีผลต่อตัวเอง แต่จะไปมีผลต่อสัตว์ตัวอื่นที่เป็นชนิดหรือสปีชีส์เดียวกัน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม และสรีรวิทยาเฉพาะอย่างได้

 

ฟีโรโมนจัดเป็นสารเคมีที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสารสัญญาณดังนี้

1. สารดึงดูดเพศตรงข้าม (sex attractant)
2. สารเตือนภัย (alarm pheromone)
3. สารส่งเสริมการรวมกลุ่ม (aggregation-promoting substances)

 

ประเภทของฟีโรโมน

1. releaser pheromone เป็นฟีโรโมนที่มีผลโดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้พฤติกรรมต่างๆ เปลี่ยนไปเช่น

- สารที่มีผลดึงดูดเพศตรงข้าม (sex attractant)
- สารที่ใช้เตือนภัย (alarm substance)
- ฟีโรโมนนำทาง (trail pheromone)

ในผีเสื้อกลางคืนบางชนิดพบว่า ตัวเมียสามารถหลั่งสารดึงดูดเพศตรงข้ามจากต่อมบริเวณท้อง และถ้านำสารนี้ไปป้ายที่วัตถุใดๆ ตัวผู้จะสามารถเวียนรอบวัตถุนี้ และแสดงท่าต้องการผสมพันธุ์

ในมดจะปล่อยฟีโรโมนนำทาง (trial pheromone) ออกมา ทำให้มดตัวอื่นๆ เดินตามได้ถูกต้อง

2. primer pheromone มีผลต่อสรีระภายใน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระของร่างกาย เช่น

- ฟีโรโมนราชินีผึ้ง (queen substance) ทำให้ผึ้งเป็นหมัน
- Bruce's effect ทำให้หนูตัวเมียแท้งลูกถ้าได้รับฟีโรโมนของหนูตัวผู้

3. imprinting pheromone มีผลต่อการฝังใจในช่วงวิกฤติ เช่น แมลงสาบระยะตัวอ่อนได้รับฟีโรโมนจากตัวเต็มวัยตัวผู้ ทำให้เกิดการเจริญเติบโต และจำเพาะต่อสัตว์ species เดียวกันในการผสมพันธุ์

 

กลไกการทำงานของฟีโรโมน

เมื่อสัตว์ตัวหนึ่งปล่อย pheromone ออกมานอกร่างกายแล้ว สัตว์ตัวอื่นจะได้รับฟีโรโมนผ่าน 3 ช่องทางด้วยกัน คือ

1. ทางกลิ่น (olfaction) พบในแมลงหลายชนิด ซึ่งส่วนมากก็เพื่อประโยชน์ในการดึงดูดเพศตรงข้าม หรือไม่ก็เป็นการบอกให้รู้ว่าอยู่ที่ไหน หรือเป็นสัญญาณอันตรายเตือนภัยให้รู้

ฟีโรโมนที่มีผลทางกลิ่นในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ กลิ่นตัวแรงของชะมด ซึ่งสร้างฟีโรโมนมาจากต่อมใกล้ๆ อวัยวะสืบพันธุ์ แล้วปล่อยออกมานอกร่างกายทั้งในตัวผู้และตัวเมีย คนเราไปสกัดฟีโรโมนแบบนี้มาจากธรรมชาติหลายชนิดแล้ว อีกทั้งยังสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองเช่นกัน

2. การกิน (ingestion) เช่น ผึ้ง ที่เป็นแมลงที่อยู่กันเป็นสังคม แบ่งเป็น 3 วรรณะ คือ นางพญา (queen) ตัวผู้ (drone) และผึ้งงาน (worker) โดยนางพญาจะสร้างสารจากต่อมบริเวณระยางค์ของปากส่วน mandible เรียกสารนั้นว่า queen substance เอาไว้ล่อผึ้งงาน โดยไปยับยั้งรังไข่ของผึ้งงาน (ผึ้งงานมีเฉพาะตัวเมีย) ไม่ให้มีการเจริญเติบโตและสร้างรังไข่ จึงไม่มีโอกาสสืบพันธุ์

3. การดูดซึม (absorption) พบเฉพาะในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเท่านั้น เช่น แมงมุมบางชนิด และแมลงสาบ ตัวเมียจะปล่อยฟีโรโมนทิ้งเอาไว้ จนกระทั่งตัวผู้มาสัมผัสก็จะซึมเข้าไปกระตุ้นให้เกิดความต้องการทางเพศ จากนั้นก็ติดตามหาตัวเมียจนพบและผสมพันธุ์ แต่ในตั๊กแตน ตัวผู้จะปล่อยฟีโรโมนทิ้งเอาไว้หลังผสมพันธุ์ เมื่อตัวอ่อนมาสัมผัสฟิโรโมนนั้น ก็จะดูดซึมเข้าไปกระตุ้นให้เติบโตเป็นตัวเต็มวัย และสืบพันธุ์ได้

 

ประโยชน์ของฟีโรโมน

การใช้ฟีโรโมนอีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้เป็นเหยื่อล่อในกับดัก แต่วิธีนี้ไม่สามารถควบคุมปริมาณประชากรศัตรูพืชได้ เนื่องจากแมลงที่เข้ามาติดกับมีเพียงแมลงตัวผู้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม กับดักฟีโรโมนก็ยังมีประโยชน์ในการใช้ตรวจสอบประชากรศัตรูพืช ถ้าจับแมลงตัวผู้ได้มาก แสดงว่าประชากรศัตรูพืชในแปลงกำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้น และแสดงว่าผีเสื้อกลางคืนเพศเมียพร้อมจะวางไข่แล้ว

วิธีอื่นๆ ในการใช้ฟีโรโมนเพื่อขัดขวางการจับคู่ของแมลง คือ การปล่อยฟีโรโมนจำนวนมากในฟาร์ม จะทำให้อากาศในฟาร์มเต็มไปด้วยกลิ่นฟีโรโมน แมลงตัวผู้จะไม่สามารถหาที่อยู่ของแมลงตัวเมียได้ และการจับคู่ก็จะถูกขัดขวาง อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ยังคงมีการพัฒนาต่อไป และในขณะนี้วิธีการนี้ก็มีราคาที่แพงมาก

 

พัดชา วิจิตรวงศ