ภาษาไทย ม. ปลาย การโต้แย้งและการโน้มน้าวใจ โดยครูเกี๊ยวซ่า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 24.3K views



ภาษาไทย ม. ปลาย การโต้แย้งและการโน้มน้าวใจ โดยครูเกี๊ยวซ่า

การโต้แย้งและการโน้มน้าวใจ

       การโต้แย้ง คือ การแสดงทรรศนะที่ต่างกัน โดยต่างฝ่ายต่างหาเหตุผลมาสนับสนุนทรรศนะตนและคัดค้านทรรศนะของอีกฝ่ายหนึ่ง 

       โครงสร้างของการโต้แย้งจะประกอบด้วยทรรศนะที่มีข้อสรุปไม่ตรงกัน 2 ทรรศนะ และเหตุผลที่ผู้แสดงทรรศนะจะหามาหักล้างทรรศนะของอีกฝ่าย

 

      การโน้มน้าวใจ คือ  การพยายามเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ทัศนคติ การกระทำของบุคคลอื่นด้วยกลวิธีที่เหมาะสม ให้มีผลกระทบใจผู้นั้น จนเกิดการยอมรับและเปลี่ยนตามผู้โน้มน้าวใจต้องการ

 

วัตถุประสงค์ของการโน้มน้าวใจ

1. เพื่อชักนำหรือโน้มน้าวใจให้เกิดความเชื่อถือ  ศรัทธาในเรื่องที่พูดหรือเขียน  เช่น  การชักนำให้ทำประกันชีวิต  การโฆษณาคุณภาพของสินค้า  การโน้มน้าวใจให้ศรัทธาในศาสนา เป็นต้น

2. เพื่อกระตุ้นหรือเร้าใจให้เห็นความสำคัญของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น  การพูดให้เห็นความสำคัญของป่าไม้  การพูดให้เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมไทย  การเขียนให้ประทับใจในการทำงานอย่างเสียสละของตำรวจตระเวนชายแดน  เป็นต้น

3. เพื่อปลุกใจให้เกิดความสำนึกและปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น  การปลุกใจให้รักชาติ  การปลุกใจใช้สินค้าไทย  การปลุกใจให้รวมพลังสามัคคีเป็นต้น

4. เพื่อให้ผู้รับสารเกิดความรู้  ความเข้าใจ  มีความเห็นคล้อยตามและนำไปปฏิบัติเช่น  การโน้มน้าวใจให้รู้จักการวางแผนครอบครัว  การโน้มน้าวใจให้รู้จักใช้ถุงยางอนามัยเพื่อ ป้องกันการติดเชื้อเอดส์  เชิญชวนให้เลิกสูบบุหรี่  เป็นต้น