ความขัดแย้งในสังคม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 129.2K views



ความสามัคคีปรองดอง ความสมานฉันท์ เป็นสิ่งที่ดี ที่พึงปรารถนาสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งตรงกันข้ามกับ ความขัดแย้ง แต่ทว่าในบางมุมมอง ความขัดแย้งก็มีประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมเช่นกัน โดยเฉพาะสังคมแบบประชาธิปไตย ที่ขับเคลื่อนด้วยความเห็นที่แตกต่างกันของคนในสังคม

ภาพ : shutterstock.com

ความขัดแย้ง เกิดจากความแตกต่างกันของแต่ละบุคคล ความขัดแย้งมีหลากหลายมิติ เช่น ความขัดแย้งทางด้านวิชาการ ข้อมูลข่าวสาร ความขัดแย้งในผลประโยชน์ ความขัดแย้งทางด้านความเชื่อ หรือความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ อย่าง ศาสนา การเมือง และค่านิยม หรือความขัดแย้งทางด้านรสนิยม ความชื่นชอบ เป็นต้น หากพิจารณาถึงความสามารถในการหาข้อยุติ อาจแบ่งความขัดแย้งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ความขัดแย้งที่หาข้อยุติได้

ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งทางด้านความรู้ ด้านวิชาการ ซึ่งเกิดจากความไม่รู้จริง ความเข้าใจผิดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือแม้แต่ทุกฝ่าย และอาจแก้ไขได้โดยการให้ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นผู้ตัดสิน หรือความขัดแย้งด้านผลประโยชน์และอำนาจ ซึ่งอาจเกิดจากความเห็นแก่ได้ ความละโมบ ความทะเยอทะยาน หรือแม้แต่ความเข้าใจผิด การแก้ไขทำได้โดยการให้ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องวินิจฉัย เช่น การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน เป็นต้น

 

2. ความขัดแย้งที่หาข้อยุติไม่ได้

ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งทางด้านความเชื่อ เช่น ความเชื่อในสิ่งสูงสุดตามคติของแต่ละศาสนา หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ ซึ่งเกิดจากการเลือกเชื่อในสิ่งที่แตกต่างกัน หรือความขัดแย้งทางด้านความคิดเห็น เช่น ความคิดเห็นทางการเมือง ความเห็นในเรื่องคุณค่าของชีวิต ความเห็นในเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ซึ่งเกิดจากการคิดคนละแบบ มองคนละมุม เหตุผลคนละชุด หรือความขัดแย้งทางด้านรสนิยม ซึ่งเกิดจากการมีความชื่นชอบแตกต่างกัน เป็นต้น

ความขัดแย้งเหล่านี้ ไม่อาจหาข้อยุติได้ เพราะความแตกต่างนั้นตั้งอยู่บนสิ่งที่ไม่มีถูก ไม่มีผิด เช่น รสนิยม หรืออาจมีถูกมีผิด แต่ไม่สามารถตัดสิน หรือพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนจนเป็นที่ยอมรับได้ เช่น ความเชื่อ และความคิดเห็น

ความขัดแย้งกันเป็นธรรมดาของโลก เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ความขัดแย้งที่หาข้อยุติไม่ได้ ก็ไม่ใช่ปัญหาโดยตัวของมันเอง ความขัดแย้งนั้นทำให้สังคมเกิดความคิด และมุมมองที่เปิดกว้างมากขึ้น มีการถ่วงดุล ให้เกิดการสำรวจตรวจสอบ เป็นพลังขั้วตรงข้ามที่ผลักดันให้สังคมเคลื่อนไปด้วยความระมัดระวัง แต่หากคนในสังคมไม่รู้จักการอยู่ร่วมกับความขัดแย้ง พยายามที่จะยุติความขัดแย้งโดยการกำจัดคู่ขัดแย้งด้วยการใช้กำลัง ก็จะกลายเป็นปัญหาการใช้ความรุนแรง ซึ่งอาจบานปลายเป็นวิกฤตสังคมได้ในที่สุด

 

การอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน หรือการอยู่ร่วมกับความขัดแย้งทางความคิดในสังคมประชาธิปไตยนั้น มีข้อที่พึงระลึกไว้เสมอดังนี้

1. ตรวจสอบตนเอง คือ ควรคิดทบทวนความเชื่อ ความคิดเห็นของตนเองอยู่เสมอ ว่าเราเองหรือไม่ ที่มีความเห็นไม่ถูกต้อง มองหรือเข้าใจอะไรผิดพลาดไปบ้างหรือไม่

2. เปิดใจให้กว้าง คือ ควรเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายอย่างจริงใจ แทนที่จะดูหมิ่นคนที่คิดต่างกัน ควรลองทำความเข้าใจให้ได้ว่า เหตุใดคนอื่นถึงได้คิดหรือเชื่อเช่นนั้น แม้ว่าในที่สุดแล้วเราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่หากสามารถเข้าใจมุมมองหรือแนวคิดของอีกฝ่ายได้อย่างแท้จริง อาจจะช่วยลดความโกรธหรือเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามได้มาก

3. ประนีประนอม หรือใช้สันติวิธี คือ หาทางอยู่ร่วมกับความขัดแย้งโดยรอมชอม พยายามตกลงกับอีกฝ่าย โดยยอมลดราวาศอก ต่างฝ่ายต่างยอมเสียสละบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้โดยสันติ

4. หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง คือ ปฏิเสธการใช้กำลังในการแก้ปัญหาในทุกกรณี แม้ว่าอีกฝ่ายจะเป็นผู้เริ่มใช้ความรุนแรงก่อนก็ตาม ต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงกลับ เพราะจะทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลายจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวมทั้งหมด


เรียบเรียงโดย : มรุตเทพ วงษ์วาโย