วัฒนธรรม คือ ความเจริญในทางวิชาความรู้ ภูมิปัญญาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วรรณคดี กวีนิพนธ์ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี จรรยามารยาท และค่านิยม ที่สังคมหนึ่งๆ ได้สั่งสม อนุรักษ์ และพัฒนาสืบมา ถ่ายทอดส่งต่อเป็นมรดกจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ของสังคมนั้นๆ ในที่สุด เช่น วัฒนธรรมไทยนั้น ได้แก่ ภาษาไทย วรรณคดีไทย นาฏศิลป์ไทย การละเล่นไทย มวยไทย อาหารไทย ชุดไทย สถาปัตยกรรมไทย ศิลปหัตกรรมไทย ประเพณีไทย วิถีชีวิตไทย มารยาทไทย เช่น การไหว้ การแต่งกายที่ถูกต้องตามกาลเทศะ เป็นต้น
วัฒนธรรมไทยมีความเป็นมายาวนาน เกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของชาติต่างๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขายผูกสัมพันธ์กับไทย ตั้งแต่ครั้งอดีตกาล ผ่านการสืบสาน และพัฒนาต่อยอด จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นมรดกจากบรรพบุรุษที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และควรที่ลูกหลานไทยจะภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของชนชาติตน
การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยสามารถทำได้ดังนี้
1. ศึกษา ค้นคว้า และวิจัย วัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ได้มีการรวบรวมไว้แล้วและที่ยังไม่ได้ศึกษา ความรู้ที่ได้ศึกษาจะกลายเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิตเมื่อได้เห็นคุณค่า และนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสม
2. ส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่า และร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจ และความมั่นใจแก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยน และตอบสนองกระแสวัฒนธรรมอื่นๆ
3. ขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรม รณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญ และตระหนักว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องของทุกคน ที่จะต้องรับผิดชอบร่วมมือกันส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน การบริการด้านความรู้ วิชาการ และทุนทรัพย์จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม
4. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นสื่อกลางสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน
5. สร้างทัศนคติ ความรู้ และความเข้าใจ ว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และทางวัฒนธรรม เป็นสมบัติของทุกคน ดังนั้น ทุกคนจึงมีหน้าที่ในการเสริมสร้าง ฟื้นฟู และดูแลรักษา
6. จัดทำระบบเครือข่ายสารสนเทศทางด้านวัฒนธรรม เพื่อเป็นศูนย์กลาง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้ประชาชนเข้าใจ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในการดำเนินชีวิต
7. ส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยรู้จักสิทธิ และหน้าที่ ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
การค้นคว้าวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยนั้น สามารถสืบค้นได้จากคำบอกกล่าวของผู้เฒ่า ผู้อาวุโส หรือผู้รู้ จากนิยาย นิทานชาวบ้าน คัมภีร์ทางศาสนา หรือวรรณคดีประเภทต่างๆ จากคำคม สุภาษิต หรือคำพังเพย ที่มีมาแต่โบราณ
อย่างไรก็ตาม การอนุรักษณ์วัฒนธรรมไทยนั้น ไม่ใช่การเก็บรักษาไว้บนหิ้ง การปฏิบัติต่อวัฒนธรรมดุจดังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ ก็เปรียบได้กับการกราบไหว้รูปเคารพของบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว การสืบสานวัฒนธรรมที่ถูกที่ควรนั้น ต้องทำให้วัฒนธรรมมีชีวิต ซึ่งก็คือ การนำมาปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต และเป็นธรรมดาของสิ่งที่มีชีวิต ที่ย่อมจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ
ดังนั้น การผสมผสานวัฒนธรรมไทย กับภูมิปัญญาจากนานาชาติที่หลั่งไหลเข้ามา ก็เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้มีชีวิตชีวาเช่นกัน เหมือนกับที่วัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน เป็นผลรวมของการปรับเปลี่ยน และพัฒนาภูมิปัญญาและอารยธรรมชนชาติต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในดินแดนไทยตั้งแต่ครั้งอดีตกาล
การเลือกรับวัฒนธรรมสากลเข้ามาใช้ในการดำเนินชีวิตนั้น สามารถเลือกรับวัฒนธรรมสากลที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ควรเลือกรับเฉพาะวัฒนธรรมที่ดี เหมาะกับสังคมไทยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยในยุคปัจจุบัน
และต้องพิจารณาถึงข้อดีข้อเสียควบคู่กันไป เนื่องจากสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมจากวัฒนธรรมภายนอก มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งถ้าหากเราศึกษาให้ดี ใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็จะก่อให้เกิดความสะดวกสบาย ช่วยแก้ไขปัญหาในชีวิต และตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
เรียบเรียงโดย :