การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 207.6K views



การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างของปัจจัยการผลิตและสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันของแต่ละประเทศ ส่งผลให้ราคาสินค้าของแต่ละประเทศแตกต่างกัน การเลือกปฏิบัติที่เป็นลักษณะของข้อจำกัดทางการค้าของแต่ละประเทศ ที่เกิดจากนโยบายการค้า และการเงินของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ระบบการเงินการธนาคารที่แตกต่างกัน พิธีการศุลกากรที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ

ภาพ : shutterstock.com

 

วิธีการกีดกันทางการค้าในการค้าระหว่างประเทศ

1. การตั้งกำแพงภาษี

เป็นวิธีการที่เคยมีการใช้กันมาโดยตลอด ประเทศต่างๆ มักตั้งภาษีศุลกากรไว้สูง เพื่อกีดกันสินค้าจากต่างประเทศ ภาษีศุลกากรโดยทั่วไปจะมี 2 ลักษณะคือ

- พิกัดอัตราเดี่ยว เป็นการตั้งภาษีศุลกากรอัตราเดียว ไม่ว่าสินค้าชนิดนั้นจะนำเข้ามาจากประเทศใด หรือส่งออกไปยังประเทศใด

- พิกัดอัตราซ้อน เป็นการตั้งภาษีศุลกากรโดยแต่ละประเทศ จะมีความแตกต่างกันตามข้อตกลงที่มีให้แก่กัน ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติในแต่ละประเทศไม่เท่าเทียมกัน

ผลจากการจัดเก็บภาษีศุลกากรทำให้ราคาสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคของสินค้าชนิดนั้นลดลง โดยผู้บริโภคจะหันมาบริโภคสินค้าในประเทศที่สามารถทดแทนกันได้ ทำให้อุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าทดแทนประเภทเดียวกันภายในประเทศมีการขยายตัวขึ้น

 

2. การควบคุมสินค้า

เป็นการควบคุมการส่งออกสินค้า และควบคุมการนำเข้าสินค้าบางชนิด ดังนั้น หากต้องการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าชนิดนั้น จำเป็นต้องขออนุญาตจากทางการก่อน หรืออาจเป็นการกำหนดโควต้าการนำเข้าและส่งออกสินค้าบางชนิดไว้ โดยการควบคุมสินค้าเหล่านี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต่างกันดังนี้

- การควบคุมสินค้าส่งออก เพื่อให้สินค้าชนิดนั้นสามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ในประเทศอย่างเพียงพอ และรักษาระดับราคาสินค้าภายในประเทศมิให้สูงเกินไป

- การควบคุมสินค้านำเข้า เพื่อแก้ไขดุลการค้าที่ขาดดุล รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการผลิตสินค้าในประเทศในระยะเริ่มแรกให้สามารถแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศได้

 

3. การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

โดยการจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้ซื้อสินค้าที่รัฐบาลแต่ละประเทศเห็นว่าไม่มีความจำเป็น หรือเป็นประเภทที่รัฐบาลห้าม หรือจำกัดการนำเข้า

 

4. การห้ามนำเข้าสินค้าจากบางประเทศ

เป็นมาตรการที่รุนแรงที่สุดในการตอบโต้ทางการค้า โดยรัฐบาลของบางประเทศอาจกำหนดมาตรการการนำเข้าสินค้าบางประเภทจากบางประเทศ

 

5. ให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศ

เป็นการให้ความคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ เช่น ลดภาษีการนำเข้าวัตถุดิบ ลดอัตราค่าขนส่งเป็นกรณีพิเศษ การให้สินเชื่อในอัตราภาษีต่ำ เป็นต้น


เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ