ปัญหาการว่างงาน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 227.3K views



ปัญหาการว่างงาน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของทุกประเทศที่ประสบกัน โดยสาเหตุหลักๆ ของการว่างงานก็คือ การว่างงานตามฤดูกาล การว่างงานแอบแฝง หรือการว่างงานที่มาจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ บริษัทล้มละลาย และแม้กระทั่ง การว่างงานที่มาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ไม่อำนวย ทำให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างพนักงานได้ ซึ่งผู้ที่ประสบปัญหาการว่างงาน ต่างก็ได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

ภาพ : shutterstock.com

 

ภาวะเงินฝืดคือภาวะที่เงินหมุนเวียนในระบบน้อย คนไม่กล้าเสี่ยงลงทุน มักออมเงินหรือเก็บเงินไว้กับตัวเพื่อประกันความเสี่ยง คนลดการบริโภค อุปสงค์ลดลง ทำให้อุปทานล้น ราคาสินค้าต้องปรับลดลง หากยังไม่สามารถกระตุ้นการซื้อขายได้อีก ภาวะเงินฝืดยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หลายธุรกิจอาจต้องปิดตัวลง ธุรกิจใหม่ไม่เกิด ทำให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก ทั้งจากการตกงาน และจากการที่ไม่มีตำแหน่งงานให้นักศึกษาจบใหม่ทำ

พลเมืองของรัฐเป็นผู้เล่นหลักในระบบเศรษฐกิจของรัฐ สวมบทบาทเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ทุกคนจึงควรมีงานทำเพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำรงชีพ ซึ่งทำให้เงินเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ การว่างงานจึงนับเป็นปัญหาสำคัญทั้งในระดับตัวบุคคลเอง และในระดับองค์รวม

ในระดับปัจเจกบุคคล การว่างงานทำให้ไม่มีแหล่งรายได้ แต่รายจ่ายยังคงมีอยู่ แม้จะพยายามลดรายจ่ายลงแล้วก็ตาม ผลของการว่างงานทำให้เกิดความเครียด เสียสุขภาพจิตและลามไปถึงสุขภาพกาย ทำให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว กลายเป็นปัญหาครอบครัว หัวหน้าครอบครัวตกงาน ลูกๆ ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ คุณภาพชีวิตลดลง กลายเป็นปัญหาสังคมต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น คนเลือกมิจฉาชีพ อาจฉ้อโกง ลักขโมย ไปจนถึงค้ายาเสพติดและก่ออาชญากรรม

ในระดับรัฐ นอกจากการว่างงานจะส่งผลกระทบกลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงแล้ว ยังทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหายมากอีกด้วย การว่างงานจะยิ่งทำให้ภาวะเงินฝืดรุนแรงขึ้นๆ

ดังนั้น ปัญหาการว่างงานจึงเป็นภารกิจที่สำคัญของรัฐบาลที่จะต้องแก้ไข โดยมีนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ซึ่งนโยบายการคลังนั้น เริ่มเป็นที่รู้จักและมีบทบาทในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจเมื่อครั้งที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง ทำให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ที่แนะนำให้แต่ละประเทศแก้ปัญหาการว่างงานดังกล่าวโดยใช้นโยบายการคลังคือ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์

เคนส์มองว่า กลไกการตลาดไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่จุดดุลยภาพได้ด้วยตัวเอง ซึ่งหมายถึง การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ดังนั้น ภาครัฐต้องทำหน้าที่ในการกระตุ้นอุปสงค์โดยใช้นโยบายการคลังขาดดุล เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการว่างงานนี้ได้ และช่วยให้ประชาชนผู้ว่างงานได้กลับมามีงานทำ และมีรายได้เช่นเดิมนั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ