เงินเฟ้อกับเงินฝืด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 105.2K views



เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบของเงินเฟ้อคือ อำนาจซื้อของเงินลดลง อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำ ส่วนเงินฝืด คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อยๆ และต่อเนื่อง ผลกระทบของเงินฝืด คือ ทำให้ผู้ผลิตขายสินค้าไม่ออก การผลิตการลงทุนและการจ้างงานลดลงทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น

ภาพ : shutterstock.com

 

เงินเฟ้อ

หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (หากสินค้ามีระดับราคาสินค้าสูง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งยังไม่ถือว่าเกิดเงินเฟ้อ) โดยอาจมีสินค้าบางชนิดที่ราคาสูงขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าบางชนิดคงที่หรือลดต่ำลง แต่เมื่อรวมราคาสินค้าทั้งหมดโดยเฉลี่ยแล้วสูงขึ้น เครื่องมือที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคา คือ “ดัชนีราคา” ซึ่งนิยมวัดในรูปดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาขายส่ง ดัชนีราคา คือ เครื่องวัดราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการจำนวนหนึ่ง หรือตะกร้าหนึ่งของปีใดปีหนึ่ง เปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ยของสินค้าและบริการจำนวนหรือตะกร้าเดียวกันในปีที่อ้างอิง

เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ จะมีผลกระทบต่อหน่วยเศรษฐกิจในลักษณะต่างๆ กัน และผลกระทบจะมีมากน้อยเพียงใดนั้น จะขึ้นอยู่กับการคาดคะเนเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้น ถ้าหน่วยเศรษฐกิจคาดคะเนเงินเฟ้อได้ถูกต้อง ผลกระทบของเงินเฟ้ออาจจะไม่ก่อให้เกิดปัญหารุนแรงนัก เพราะว่าหน่วยเศรษฐกิจอาจจะหาวิธีป้องกันความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อได้ ในทางตรงข้าม ถ้าการคาดคะเนเงินเฟ้อของหน่วยเศรษฐกิจผิดพลาด ผลกระทบของเงินเฟ้อจะมีมากจนเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบขึ้น ผลกระทบของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทำให้อำนาจซื้อของเงินลดลง การกระจายรายได้เกิดความเหลื่อมล้ำ อัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินสูงขึ้น ส่งผลต่อการคลังของรัฐบาล และดุลการชำระเงินของประเทศ

 

เงินฝืด

คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อยๆ และต่อเนื่อง ผลของภาวะเงินฝืดจะตรงข้ามกับภาวะเงินเฟ้อ กล่าวคือ ผู้มีรายได้ประจำ และเจ้าหนี้ จะได้รับประโยชน์ ส่วนพ่อค้า นักธุรกิจ และผู้ถือหุ้นจะเสียเปรียบ ในภาวะเช่นนี้ทำให้ผู้ผลิตขายสินค้าไม่ออก การผลิตการลงทุน และการจ้างงานลดลง ทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น การวัดการเปลี่ยนแปลงจะใช้ดัชนีราคาเป็นตัวชี้วัดเช่นเดียวกับเงินเฟ้อ

ภาวะเงินฝืด เป็นภาวะที่ประชาชนมีความสามารถที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการได้น้อยกว่าปริมาณสินค้าและบริการที่มีอยู่ เมื่อสินค้าที่ผลิตได้ขายไม่ออก ผู้ผลิตจะต้องลดราคาสินค้าและบริการจนขาดทุน หรือได้รับกำไรน้อยลง ไม่คุ้มกับทุน ผู้ผลิตบางส่วนอาจเลิกการผลิต หรือลดปริมาณการผลิตลง จนเกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมาก และเมื่อมีคนว่างงานจำนวนมาก คนเหล่านั้นไม่มีรายได้พอที่จะจับจ่ายใช้สอยตามปกติได้ ทำให้ระดับการผลิตและการจ้างงานลดต่ำลงไปอีก ในภาวะเช่นนี้ รายได้ของคนส่วนรวมจะลดต่ำลงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด ในที่สุด ภาวะเงินฝืดจะมีผลกระทบต่อประชาชนในทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร พ่อค้าและนักธุรกิจ ผู้มีรายได้ประจำ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ และรัฐบาลเอง

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ