นโยบายทางเศรษฐกิจ หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมีจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจที่ได้ตั้งเอาไว้ นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ นโยบายทางการเงิน และนโยบายทางการคลัง การดำเนินบทบาทและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐบาล มีเป้าหมายคือ เพื่อให้ประชาชนได้รับสวัสดิการมากที่สุด โดยที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ การกระจายรายได้ การรักษาเสถียรภาพ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจัดสรรทรัพยากรโดยรัฐบาลมีบทบาทและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตสินค้าและบริการ การเก็บภาษีและการแทรกแซงและควบคุมราคาสินค้า
1. นโยบายการเงิน
หมายถึง นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรการต่างๆ ในการกำหนด และควบคุมปริมาณเงินและสินเชื่อ ให้มีความเหมาะสมกับความต้องการ และความจำเป็นของระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ การรักษาเสถียรภาพของราคา การส่งเสริมให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การรักษาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการชำระเงินระหว่างประเทศ
นโยบายการเงินนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เป็นการแก้ไขปัญหาเงินฝืดของรัฐบาล ซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจการซื้อให้ประชาชน
- นโยบายการเงินแบบเข้มงวด หรือแบบรัดตัว เป็นการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของรัฐบาล โดยลดอำนาจการซื้อของประชาชนลง
2. นโยบายการคลัง
หมายถึง นโยบายการหารายได้และการวางแผนการใช้จ่ายของรัฐบาล นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพของรายได้ในประเทศ เพราะผลจากการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามเป้าหมายหรือจุดประสงค์ของรัฐบาลที่วางไว้ โดยมี 3 ประเภทดังนี้
- นโยบายการคลังกับการเปลี่ยนแปลงรายได้ประชาชาติ การเก็บภาษีอากร และการใช้จ่ายของรัฐบาล มีผลกระทบกับรายได้ และค่าใช้จ่ายของประเทศ
- นโยบายการคลังกับการแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบหดตัวเพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินเฟ้อ โดยการเพิ่มอัตราภาษี และลดรายจ่ายของรัฐบาล เพื่อลดปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ
- นโยบายการคลังกับการแก้ปัญหาภาวะเงินฝืด รัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว โดยการเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาล และลดอัตราภาษี เพื่อเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มความต้องการบริโภคของประชาชน เพิ่มการลงทุนทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ