เป้าหมายของระบบสหกรณ์กับเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งให้เกิดความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งทางวัตถุสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้อย่างดี โดยหลักการดำเนินงานของสหกรณ์ คือ การร่วมมือกัน
ระบบสหกรณ์ เป็นระบบที่มีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกัน และเป็นระบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน สหกรณ์คือ คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือกัน ซึ่งได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542
ส่วนเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน เป็นปรัชญาที่พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานเป็นแนวการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกระดับ โดยยึดหลักทางสายกลาง
เป้าหมายของระบบสหกรณ์กับเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งให้เกิดความสมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งทางวัตถุสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้อย่างดี
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงชีวิตอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์
เงื่อนไขพื้นฐานคือ ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน ประกอบกับการเสริมสร้างจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีจิตสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญาและความรอบคอบ และเป็นการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน
หลักการดำเนินงานของสหกรณ์ คือ การร่วมมือกัน การกระทำการงานร่วมกันของมนุษย์เรา ตั้งแต่เกิดจนตาย ย่อมต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น เริ่มตั้งแต่ครอบครัวญาติพี่น้องไปจนถึงเพื่อนฝูงผู้ร่วมงาน กล่าวคือ คนเราต้องอยู่ในสังคม จึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเจริญรุ่งเรืองอยู่แต่ผู้เดียวโดยที่คนในสังคมเดียวกันยังลำบากเดือดร้อน วิธีการสหกรณ์เข้ามาแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ได้ดี เพราะระบบสหกรณ์เป็นการช่วยเหลือตัวเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ดี
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ