หน้าที่และมารยาทของชาวพุทธ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา
|
06 ส.ค. 64
 | 268.2K views



ชาวพุทธ คือ ผู้ที่เคารพเลื่อมใส และศรัทธาในพระรัตนตรัย มีหน้าที่ในการศึกษา และปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ให้ความเคารพนับถือต่อพระรัตนตรัย เอาใจใส่ทำนุบำรุง และบำเพ็ญประโยชน์ต่อวัดและพระสงฆ์ รวมเรียกว่า “หน้าที่ชาวพุทธ” นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติตนอย่างมีมารยาทที่เหมาะสมต่อพระสงฆ์ หรือที่เรียกว่า “มารยาทชาวพุทธ” ด้วย

ภาพ : shutterstock.com

 

หน้าที่ชาวพุทธ

- หน้าที่ชาวพุทธโดยทั่วไป คือ ให้ความสนใจศึกษาค้นคว้าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และน้อมนำหลักธรรมที่ได้ศึกษาแล้ว มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมแก่ฐานะของตน รวมทั้งการทำบุญบำเพ็ญกุศล เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในโอกาสสำคัญต่างๆ

- หน้าที่ชาวพุทธในด้านการอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ได้แก่ การอุปถัมภ์พระภิกษุสามเณร ให้มีกำลังในการปฏิบัติศาสนกิจ ช่วยทำนุบำรุงวัดและศาสนสถาน

- หน้าที่ชาวพุทธในด้านการปฏิบัติตน ได้แก่ การดำรงตนอยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ละเมิดกฎระเบียบ และกติกาของสังคม

- หน้าที่ชาวพุทธด้านการปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา คือ ไม่นิ่งดูดายเมื่อมีวิกฤตการณ์เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา

 

มารยาทชาวพุทธ

- เวลาพบปะพระสงฆ์ในสถานที่ต่างๆ แสดงความเคารพด้วยการประนมมือไหว้ กราบ หรือลุกขึ้นยืนรับตามสมควรแก่โอกาสและสถานที่ ไม่ควรนั่งบนอาสนะเดียวกับพระภิกษุ สำหรับสตรีจะนั่งบนม้ายาว หรือเก้าอี้ยาวเดียวกันไม่ได้โดยเด็ดขาด แม้จะนั่งคนละมุมก็ตาม ในกรณีที่จำเป็น จะต้องมีบุรุษมานั่งคั่นกลางให้ หากพบพระภิกษุบนเรือ หรือบนรถโดยสาร พึงลุกให้ที่นั่งแก่ท่านด้วย

- การถวายภัตตาหารและปัจจัย ให้สมควรแก่สมณะ เวลาใส่บาตรพึงถอดรองเท้าตักข้าว และอาหารใส่บาตรด้วยความเคารพ แล้วย่อตัวลงไหว้ เมื่อจะถวายปัจจัยไม่พึงประเคนให้ท่าน พึงเอาปัจจัยใส่ซองใส่ลงในย่ามให้ท่านเอง เวลานิมนต์พระสงฆ์ไปฉันภัตตาหารที่บ้านตน ไม่พึงระบุชื่ออาหาร ถ้าจะนิมนต์พระสงฆ์ไปรับสังฆทาน ไม่พึงเจาะจงภิกษุผู้รับ

- เวลาสนทนากับพระสงฆ์หรือฟังโอวาท ให้ใช้สรรพนามให้เหมาะสม คือใช้สรรพนามแทนผู้ชายว่า “ผม” หรือ “กระผม” ผู้หญิงใช้คำว่า “ดิฉัน” ใช้สรรพนามแทนตัวท่านว่า “พระคุณเจ้า” หรือ “หลวงพ่อ” หรือ “พระเดชพระคุณ” ตามควรแก่กรณี เวลารับคำผู้ชายใช้คำว่า “ครับ” หรือ “ขอรับ” ผู้หญิงใช้คำว่า “ค่ะ” หรือ “เจ้าค่ะ” เวลาพระท่านพูดให้โอวาทหรืออวยพร หรือเวลารับไตรสรณคมน์และรับศีล พึงว่าตามด้วยเสียงดัง ไม่ควรนั่งเงียบเฉยๆ ควรประนมมือฟังด้วยความเคารพ ไม่คุยกัน หรือทำอย่างอื่นในระหว่างที่ท่านกำลังสวด

 

เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ