การบริหารจิตและการเจริญปัญญา เป็นการบำรุงเลี้ยงจิตใจให้แข็งแรง เช่นเดียวกับการให้อาหารแก่ร่างกาย จิตใจที่ได้รับการฝึกสมาธิจะบริสุทธิ์สะอาด มีคุณธรรม มีความเข้มแข็ง มีความผ่อนคลาย สงบสุข พร้อมแก่การพัฒนาทางด้านปัญญา ผ่านการอ่าน การฟัง หรือการคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนจนเกิดความรู้ การบริหารจิตเจริญปัญญาในศาสนาพุทธมีอยู่ในหลัก “โยนิโสมนสิการ”
การเจริญปัญญาโดยการคิดแบบโยนิโสมนสิการ หมายถึง การคิดพิจารณาอย่างละเอียด ถี่ถ้วนและลึกซึ้ง หรือการคิดที่ถูกวิธี มีระเบียบและสร้างสรรค์ มี 10 วิธีดังนี้
1. วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย คือ คิดแบบมีเหตุผล เช่น พิจารณาว่าที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์นี้ เกิดขึ้นโดยมีอะไรเป็นปัจจัย ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร
2. วิธีคิดแบบแยกแยะส่วนประกอบ คือ การคิดจำแนกแยกแยะองค์รวมของสิ่งต่างๆ ออกเป็นองค์ย่อย ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยเหล่านั้นว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร
3. วิธีแบบสามัญลักษณะ คือ คิดแบบไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) คือคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา ชีวิตของคนเราก็เป็นเช่นนี้เอง เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้ เป็นทุกขัง มีแต่ความทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตนที่แน่นอน
4. วิธีคิดแบบอริยสัจ คือ การพิจารณาปัญหาว่าคืออะไร (ทุกข์) มีอะไรเป็นสาเหตุ (สมุทัย) เป้าหมายของการแก้ปัญหาคืออะไร (นิโรธ) หนทางเพื่อบรรลุเป้าหมายเป็นอย่างไร (มรรค)
5. วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ คือ การคิดแบบสัตบุรุษอันเป็นคุณสมบัติของคนดี คือ คิดตามหลักการและความมุ่งหมาย รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักบุคคล รู้จักชุมชน
6. วิธีคิดแบบเห็นคุณเห็นโทษและเห็นทางออก คือ มองในเชิงคุณค่าว่าสิ่งนั้นๆ มีคุณในแง่ไหน มีโทษในด้านใด แล้วก็พิจารณาหาทางออก
7. คิดแบบคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม คือ รู้จักแยกแยะสิ่งดีสิ่งชั่ว สิ่งแท้จริงสิ่งปลอมอย่างมีเหตุผล
8. วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม คือ คิดหาประโยชน์ในการกระตุ้น และส่งเสริมความดี
9. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในขณะปัจจุบัน คือ คิดอยู่ในปัจจุบัน ไม่รำพึงถึงอดีต และไม่กังวลถึงอนาคต
10. วิธีคิดแบบวิภัชชวาท คือ คิดแบบรอบด้าน แยกแยะ มองสิ่งต่างๆ ในหลายๆ มุมมองอย่างละเอียดรอบคอบ
การคิดแบบโยนิโสมนสิการทั้ง 10 ข้อที่กล่าวมา สรุปได้ว่า คือการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และคิดเพื่อให้เกิดการกระทำที่เป็นกุศล
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ