ชาดก เป็นเรื่องราวในอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนที่จะเสวยพระชาติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พุทธสาวก โดยเรื่องราวของพระบรมโพธิสัตว์ในชาติต่างๆ จะแฝงไว้ด้วยคติ แง่คิด หรือหลักธรรมหนึ่งๆ ส่วนประวัติของพุทธสาวกก็คือ ประวัติของพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ตลอดจนคฤหัสถ์ ที่มีส่วนอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล ซึ่งแต่ละท่านก็เปี่ยมไปด้วยคุณธรรมข้อต่างๆ ซึ่งควรแก่การนับถือ และเอาเป็นแบบอย่าง และสำหรับในปัจจุบัน ผู้ที่มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนา มีความประพฤติดีประพฤติชอบ ชาวพุทธเราจะยกย่องนับถือว่า เป็นพุทธศาสนิกชนตัวอย่าง
ชาดก
ชาดกปรากฏในพระไตรปิฎก โดยจัดอยู่ในพระสุตตันตปิฎก อันเป็นหมวดหมู่ของพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังมาแต่พระพุทธเจ้า ชาดกเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ ซึ่งจะเรียกว่า “พระโพธิสัตว์” หมายถึง สัตว์ที่บำเพ็ญบารมีมุ่งหมายการตรัสรู้
พระโพธิสัตว์ได้สั่งสมบารมีในด้านต่างๆ เช่น ความเมตตา ความเพียร ความตั้งใจมั่น ความรอบรู้ ความอดทนอดกลั้น ความเที่ยงตรง การรักษาคำพูด การเสียสละ เป็นต้น ก่อนที่จะทรงเสวยพระชาติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด
พุทธสาวก
พุทธสาวิกาตัวอย่างที่น่าศึกษาประวัติ คือ พระธรรมทินนาเถรี เมื่อท่านเจริญวัยแล้ว ได้แต่งเป็นภริยาของท่านวิสาขเศรษฐี ซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาวิสาขเศรษฐีบรรลุเป็นพระอนาคามี เลิกยุ่งเกี่ยวทางกาม ธรรมทินนาจึงขออนุญาตสามีออกบวช
เมื่อบวชแล้วไม่นานก็ลาพระอุปัชฌาย์ไปปฏิบัติธรรมในป่า เพียงไม่กี่วัน ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านจึงคิดจะโปรดวิสาขเศรษฐี และเหล่าญาติ จึงกลับบ้านเดิม วิสาขเศรษฐีคิดว่าท่านไปไม่นานก็กลับมา คงเพราะอยากสึก จึงนิมนต์ไปฉันภัตตาหาร และลองถามปัญหาธรรม
พระธรรมทินนาเถรีตอบได้อย่างแจ่มแจ้ง จนวิสาขเศรษฐีจนปัญญาที่จะถามต่อ จึงรู้แน่แก่ใจว่าพระธรรมทินนาเถรีได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว จึงมีความยินดียิ่ง และกล่าวอนุโมทนา พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องพระธรรมทินนาเถรี ว่าเป็นภิกษุณีที่เป็นเลิศทางด้านธรรมกถึก มีปัญญาเฉียบแหลมแสดงธรรมได้อย่างแตกฉาน
คุณธรรมของพระธรรมทินนาเถรีที่ควรถือเป็นแบบอย่างคือ
หนึ่ง ความเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เมื่อสามีบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี ก็ขอบวชเพื่อปฏิบัติธรรมบ้าง
สอง เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที คือเมื่อบรรลุอรหันตผลแล้ว ก็ได้เดินทางกลับบ้านเดิมเพื่อแสดงธรรมโปรดวิสาขเศรษฐีและหมู่ญาติ
พุทธศาสนิกชนตัวอย่าง
- สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร มีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์มายังประเทศไทย บาทหลวงของศาสนาคริสต์ได้นำหลักคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลมาให้พระองค์ทรงศึกษา เมื่อพระองค์ศึกษาแล้วทรงตอบว่า
“ถ้าพระผู้เป็นเจ้าในคัมภีร์ของท่านมีอยู่จริง พระผู้เป็นเจ้าของท่านก็คงทราบว่า ประเทศไทยนี่เป็นเมืองนับถือพระพุทธศาสนา แล้วพระผู้เป็นเจ้าให้ข้าพเจ้ามาเกิดในประเทศไทย ก็เท่ากับว่าให้มาเป็นหัวหน้าของพุทธบริษัท ถ้าข้าพเจ้าเปลี่ยนจิตมานับถือศาสนาคาทอลิค ที่พวกท่านให้ข้าพเจ้านับถือ มันก็ขัดกับความต้องการของพระผู้เป็นเจ้า จะเป็นโทษเป็นบาป”
พระราชดำรัสของพระองค์แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในทางการทูต ที่ทรงเลี่ยงการถูกชักชวนเข้ารีตของศาสนาอื่นด้วยความละมุนละม่อม ไม่ทำให้เสียสัมพันธภาพระหว่างประเทศ ไม่เลยเถิดจนเกิดเป็นสงคราม และยังรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ในดินแดนสยามได้สืบมา
- พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ)
ท่านปัญญานันทภิกขุ เป็นพระมหาเถระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ นอกจากการแสดงปาฐกถาธรรม ท่านยังทุ่มเททำงานที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ประกอบกิจกรรมสาธารณประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการแพทย์ และพยาบาล ส่งเสริมการศึกษาของภิกษุสามเณร ท่านทำงานหนักจวบจนสิ้นอายุขัยของท่าน พุทธบริษัททั้งในและต่างประเทศ จึงเลื่อมใสศรัทธาหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุกันโดยสนิทใจ
ผลงานของท่านปัญญานันทภิกขุบางส่วน
- เดินทางเผยแผ่ธรรมรอบโลก ช่วยเหลือกิจการพุทธศาสนาใน ประเทศอังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน และเป็นเจ้าอาวาสววัดพุทธธรรม วัดไทยในชิกาโก สหรัฐอเมริกา
- เป็นประธานมูลนิธิ "ชาวพุทธมูลนิธิต้านโกง" จังหวัดเชียงใหม่
- เป็นประธานหาทุนสร้างโรงพยาบาล และรวบเงินบริจาคสำหรับซื้อเครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาล
- หาเงินบริจาคเพื่อก่อการสร้างวัด
- แสดงธรรมเพื่อหาเงินสบทบทุนในจัดสร้างอาคารเรียน
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ