พระพุทธรูปสำคัญปางต่างๆ สร้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้าในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธคุณ และเป็นแบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิตประจำวันของเหล่าชาวพุทธ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
พระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางคว่ำลงที่พระชานุ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา
ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โพธิบัลลังก์ พญามารวสวัตตีประทับบนหลังช้างคีรีเมขล์สูง 150 โยชน์ ยกทัพมาจะทำลายความเพียรของพระองค์ พญามารเนรมิตร่างสูงใหญ่ มีมือนับพันถือศัสตราวุธพร้อม นำเหล่าเสนามารมากมาย แต่พระบรมโพธิสัตว์มิได้หวาดกลัว พวกมารซัดศัสตราวุธเข้าใส่พระบรมโพธิสัตว์ แต่ศัสตราวุธเหล่านั้นกลายเป็นบุปผามาลัยไปสิ้น พญามารยังกล่าวทึกทักว่า รัตนบัลลังก์เป็นของตน พระบรมโพธิสัตว์ ทรงกล่าวว่า รัตนบัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมาแต่ปางก่อน โดยอาศัยแม่พระธรณีเป็นพยาน
พระพุทธรูปปางลีลา
ลักษณะกำลังก้าวพระบาท (ก้าวเดิน) ห้อยพระหัตถ์ขวาท่าไกว พระหัตถ์ซ้ายยกเสมอพระอุระป้องไปเบื้องหน้า
เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยเหล่าเทวดา และพรหมที่ตามมาส่งเสด็จนั้น ขบวนตามเสด็จมาหยุด ณ ประตูสังกัสสนคร เมืองที่พระสารีบุตรจำพรรษาอยู่ พระพุทธองค์ทรงมีพุทธลีลา และพระสิริงดงามยิ่ง ครอบงำรัศมีของเหล่าเทวดา และพรหมทั้งหลาย เป็นภาพที่งดงามเหนือคำบรรยาย เป็นที่ชื่นชมโสมนัสแก่พุทธบริษัทที่เฝ้ารับเสด็จ
พระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา
เป็นพระพุทธรูปลักษณะประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์เป็นเครื่องหมายพระธรรมจักร
ในวันขึ้น 15 ค่ำ หรือวันเพ็ญ เดือน 8 (อาสาฬหปูรณมี) หลังจากทรงตรัสรู้ได้ 2 เดือน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร มีใจความสำคัญคือ ทรงให้งดเว้นทางสุดโต่ง 2 สาย คือ กามสุขขัลลิกานุโยค ได้แก่ การประกอบตนให้หมกมุ่นในกาม และอัตตกิลมถานุโยค คือ ทำตนเองให้ลำบาก ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ และอริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
พระพุทธรูปปางถวายเนตร (พระประจำวันอาทิตย์)
พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ข้างหน้า
เป็นเหตุการณ์หลังตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงจ้องต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตรเป็นเวลาเจ็ดวัน
พระพุทธรูปปางห้ามญาติ และห้ามสมุทร (พระประจำวันจันทร์)
พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน ยื่นพระหัตถ์ไปข้างหน้าแบพระหัตถ์ ตั้งข้างหน้าเสมอพระอุระ
ปางห้ามญาติจำลองเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไประงับศึกแย่งน้ำทำนา ระหว่างพระประยูรญาติทั้งสองฝ่าย
ส่วนปางห้ามสมุทรจำลองเหตุการณ์ขณะพระพุทธเจ้าประทับที่โรงไฟของพวกชฎิล แล้วเกิดฝนตกหนักน้ำหลากมาท่วมบริเวณที่ประทับอยู่ พระพุทธเจ้ามิได้เสด็จหนีน้ำ เช้าขึ้นมาเมื่อพวกชฎิลได้พบพระองค์ทรงยืนอยู่ภายในวงล้อมของน้ำ ที่ท่วมท้นเป็นกำแพงรอบด้านเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก
พระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระประจำวันอังคาร)
พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียร มีพระเขนยรองรับ
เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ครั้งนั้นอสุรินทราหูจอมอสูร สำคัญว่าตนมีร่างกายใหญ่โต แสดงความกระด้างกระเดื่องไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์จะลดทิฏฐิของจอมอสูร จึงทรงเนรมิตกายจนใหญ่กว่า อสุรินทราหูจึงยอมอ่อนน้อมลง
พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร (พระประจำวันพุธกลางวัน)
พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตร
เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติ ที่กรุงกบิลพัสดุ์ รุ่งขึ้นอีกวันถัดจากวันเสด็จไปถึง ในเวลาเช้าพระพุทธองค์ก็ทรงบาตร พาภิกษุสงฆ์ออกไปโปรดสัตว์ เสด็จพุทธดำเนินไปตามถนนในกรุงกบิลพัสดุ์
พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ (พระประจำวันพุธกลางคืน)
พระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ขวาวางหงาย
เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งพระภิกษุเมืองโกสัมพีทะเลาะกันขนานใหญ่ พระพุทธองค์เสด็จไปห้ามปราม แต่ไม่มีใครฟัง พระองค์จึงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ในป่า โดยมีพญาช้างป่าลิไลยกะ และลิงคอยเฝ้าปรนนิบัติ
พระพุทธรูปปางสมาธิ (พระประจำวันพฤหัสบดี)
พระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระบาทขวาทับพระบาทซ้าย พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายบนพระเพลา โดยพระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
เป็นเหตุการณ์เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
พระพุทธรูปปางรำพึง (พระประจำวันศุกร์)
พระพุทธรูปในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันยกขึ้นทาบพระอุระ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย
เป็นเหตุการณ์เมื่อทรงรำพึงถึงธรรมะที่ตรัสรู้ว่า มีความลึกซึ้งคัมภีรภาพ ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ก็ทรงมีพระทัยน้อมไปในความเป็นผู้ขวนขวายน้อย คือไม่อยากไปสอนใคร แต่เมื่อสหัมบดีพรหมมาทูลอัญเชิญ จึงตัดสินพระทัยไปเทศนาสั่งสอนประชาชน
พระพุทธรูปปางนาคปรก (พระประจำวันเสาร์)
พระพุทธรูปประทับขัดสมาธิ เหนือขนดพญานาคที่มาขดให้ประทับ และแผ่พังพานบังลมและฝนให้
เป็นเหตุการณ์หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขณะประทับใต้ต้นมุจลินทร์ หรือต้นจิก มีฝนตกพรำๆ 7 วัน เมื่อฝนหยุดแล้ว พญานาคได้จำแลงกลายเป็นมาณพหนุ่ม ยืนประคองอัญชลีอยู่ข้างๆ
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ