เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หลังจากที่รัชกาลที่ 7 ทรงครองราชย์ได้ 7 ปี คณะผู้ก่อการซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร์” ประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือและพลเรือน จำนวน 99 คน ได้ทำการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ และได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือ “ราชาธิปไตย” มาเป็นระบอบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตย” และได้อัญเชิญล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 กลับขึ้นเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนับแต่นั้น จึงนับได้ว่ารัชกาลที่ 7 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตยของไทย
มูลเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีดังนี้
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หลังสงครามโลก รัฐบาลต้องการลดรายจ่าย โดยปลดข้าราชการบางส่วนออก จึงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ถูกปลดออก
- ผู้ที่ได้รับทุนหลวงไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศ เมื่อได้ซึมซับแนวคิดการเมืองการปกครองแบบตะวันตก จึงต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันสมัยเหมือนชาติตะวันตก
ลักษณะการปกครองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
1. พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ
2. รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
3. อำนาจอธิปไตย เป็นของปวงชนชาวไทยและเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ
4. ประชาชนใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา รัฐบาล และศาล
5. ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน
6. ประชาชนเลือกตัวแทนในการบริหารประเทศ ซึ่งเรียกว่า รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี
7. ในการบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ หนึ่ง การปกครองส่วนกลาง แบ่งเป็น กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ สอง การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งเป็น จังหวัด และอำเภอ และสาม การปกครองส่วนท้องถิ่นแบ่งเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล
การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเป็นไปอย่างสงบ ไม่รุนแรงเหมือนบางประเทศ อย่างไรก็ตาม ลักษณะการเมืองการปกครองมิได้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ อำนาจในการปกครองตกอยู่กับผู้นำทางการเมือง หรือผู้บริหารประเทศ ซึ่งมักมีความขัดแย้งกันในด้านนโยบาย มีการแย่งชิงผลประโยชน์ เป็นเหตุให้เกิดการทำรัฐประหารขึ้นหลายครั้ง ระบบการปกครองของไทยจึงมีลักษณะกลับไปกลับมาระหว่างประชาธิปไตย และคณาธิปไตย
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ