การตั้งถิ่นฐานและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดของโลก ย่อมต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานสำคัญ คือ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์และปัจจัยทางสังคม ในด้านปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งหมด ตั้งแต่ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต พัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ ตลอดจนการเมืองของประเทศในภูมิภาคนั้นๆ
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของทวีปแอนตาร์กติกา
แอนตาร์กติกาเป็นทวีปที่อยู่รอบขั้วโลกใต้ของโลก ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร ตัวทวีปถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดย “เทือกเขาทรานส์แอนตาร์กติก” เป็นดินแดนที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในโลก โดยพื้นที่เกือบทั้งหมดปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และยังนับเป็นดินแดนร้างแล้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก สิ่งมีชีวิตพื้นถิ่นได้แก่ เพนกวิน แมวน้ำ และสาหร่าย ทวีปแอนตาร์กติกามีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ 5 แต่มีประชากรน้อยที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังเป็นทวีปที่มีระดับความชื้นและอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำที่สุดในโลกด้วย
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของทวีปอเมริกาเหนือ
อเมริกาเหนือเป็นเขตเทือกเขาสูงยุคหินใหม่ที่สลับซับซ้อนกันหลายแนว ระหว่างเทือกเขาสูงเหล่านี้มีที่ราบสูงระหว่างเทือกเขา มีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นโกรกธาร หุบเหวลึก มีหน้าผาสูงชัน ซึ่งเป็นผลมาจากการไหลของแม่น้ำ “โคโลลาโด” ทำให้เกิดการกัดเซาะดินและชั้นหิน เกิดเป็นภูมิประเทศที่สวยงาม คือ “แกรนด์แคนยอน” ในรัฐ “แอริโซนา” ส่วนตอนกลางของอเมริกาเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ ส่วนทางตะวันตกเฉียงใต้เป็นเขตที่ราบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย ทางตอนเหนือของทวีปลงมาจนถึงทะเลสาบทั้ง 5 ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งจึงมีประชากรอาศัยอยู่น้อย
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของทวีปอเมริกาใต้
อเมริกาใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตซีกโลกใต้ ลักษณะเด่นคือ มีความแตกต่างทางด้านภูมิศาสตร์อย่างเด่นชัดจากลักษณะเทือกเขา ซึ่งมีแนวต่อเนื่องที่ยาวที่สุดในโลกกับที่ราบลุ่ม “แม่น้ำแอมะซอน” ที่ปกคลุมด้วยป่าดงดิบชื้นใหญ่ที่สุดในโลก
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของทวีปแอฟริกา
แอฟริกาเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากทวีปเอเชีย ทั้งในแง่ของพื้นที่และจำนวนประชากร ทวีปแอฟริกามีพื้นที่ประมาณร้อยละ 6 ของพื้นผิวโลกทั้งหมด ประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน ในดินแดน 61 ดินแดน นับเป็นร้อยละ 14.72 ของประชากรโลก ทวีปแอฟริกาถูกล้อมรอบด้วยทะเล “เมดิเตอร์เรเนียน” ทางตอนเหนือ “คลองสุเอซ” และ “ทะเลแดง” บริเวณ “คาบสมุทรไซนาย” ทางตะวันออกเฉียงเหนือ “มหาสมุทรอินเดีย” ทางตะวันออกเฉียงใต้ และ “มหาสมุทรแอตแลนติก” ทางตะวันตก ประกอบด้วย 54 รัฐ รวมทั้งมาดากัสการ์ หมู่เกาะต่างๆ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาห์ราวี ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแอฟริกา แต่ยังคงถูกโต้แย้งเรื่องสถานภาพความเป็นอธิปไตยโดยโมร็อกโก
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของทวีปยุโรป
ยุโรปมีฐานะเป็นทวีปทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ในทางภูมิศาสตร์ ยุโรปเป็นอนุทวีปที่อยู่ทางด้านตะวันตกของ “มหาทวีปยูเรเชีย” ยุโรปมีพรมแดนทางเหนือติดกับ “มหาสมุทรอาร์กติก” ทางตะวันตกติดกับ “มหาสมุทรแอตแลนติก” ทางใต้ติดกับ “ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” และ “ทะเลดำ” ด้านตะวันออกติดกับ “เทือกเขายูรัล” และ “ทะเลแคสเปียน” ทวีปยุโรปมีพื้นที่ 10,600,000 ตร.กม. เล็กที่สุดเป็นอันดับสองรองจากทวีปออสเตรเลีย แต่มีจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ยุโรปมีประชากรราว 799,466,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 8 ของประชากรโลก
ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของทวีปออสเตรเลีย
ทวีปออสเตรเลียประกอบไปด้วยหมู่เกาะจำนวนมาก ซึ่งมีการกำเนิดและขนาดแตกต่างกัน เกาะที่มีขนาดใหญ่สุดคือ ประเทศออสเตรเลีย ส่วนหมู่เกาะขนาดเล็กของประเทศต่างๆ จะเรียงตัวเป็นแนวจากด้านตะวันตกเฉียงเหนือไปยังตะวันออกเฉียงใต้ในมหาสมุทรแปซิฟิก ภาคตะวันออกเป็นเขตที่มีเทือกเขาสูงวางตัวจากทิศเหนือไปยังทิศใต้ขนานกับชายฝั่งและมีที่ราบสูงระหว่างภูเขาอยู่หลายแห่ง ส่วนนอกชายฝั่งตะวันออกของ “รัฐควีนส์แลนด์” มีแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก เรียกว่า “เกรตแบร์ริเออร์รีฟ” วางตัวขนานกับชายฝั่ง
เรียบเรียงโดย : ถาปกรณ์ กำเนิดศิริ